ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. วุ้นในตาเสื่อม

 วุ้นในตาเสื่อม          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นกีฬา และเคยเล่นกีฬาจนรู้สึกว่าดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน เป็นผู้ที่มีสายตาสั้น นอนในที่ที่มีแสงไฟสว่างจ้าจนกระทั่งหลับ หรือมีอายุเริ่มเข้าเลขสี่นำหน้า เลขห้า เลขหกกันแล้ว ถ้าคุณเข้าข่ายที่กล่าวมาแล้ว รู้ไว้เลยว่า คุณคือกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นโรควุ้นในตาเสื่อม จากสถิติในประเทศไทยพบว่า คนเป็นโรควุ้นในตาเสื่อมมากถึง 14 ล้านคน ภาวะวุ้นในตาเสื่อมเป็นอย่างไร เรามาเริ่มทำความรู้จักกัน            ถ้าดูจากภาพตัดขวาง จะมีกระจกตากับเลนส์ตา รวมแสงไปโฟกัสที่จอประสาทตา เหมือนเลนส์กล้องกับฟิล์มกล้อง ข้างในตาก็ไม่ใช่อากาศ แต่เป็นเหมือนเจลลี่ ภาษาไทยเราก็เลยเรียกว่าวุ้นในตา ตอนเราเกิดมา ตอนเป็นเด็กก็จะเป็นวุ้นใสๆ เนียนๆ แต่พอเราอายุมากขึ้นหรือว่ามีความเสี่ยงบางอย่าง วุ้นตาบางส่วนก็จะเหลวขึ้น จะเป็นน้ำขึ้นมา บางส่วนก็เลยจะจับกันเป็นจุดๆ เป็นตะกอน เป็นเส้น เป็นวงให้เห็นขึ้นได้ เวลาเริ่มมีความเสื่อมในวุ้นตาเกิดขึ้น ถ้าสังเกตหน่อยก็จะเห็น เวลามองท้องฟ้า หรือวัสดุที่เป็นขาวๆ สว่างๆ จะเห็นเป็นจุดดำๆ หรือเป็นเส้น มองไปทางไหนก็จะลอยตามไปด้วยหรือเห็นแสงไฟคล้ายฟ้าแลบหรือถ่ายรูป คนไข้ก็รู้สึกว่ารำคาญ ที่สำคัญบางคนพอเสื่อมไประดับหนึ่งแล้ว วุ้นตาจะล่อนออกมาจากจอตา พอแยกออกจากกันบ้างครั้งเกิดการดึงรั้งที่จอตา ทำให้จอตาฉีกขาด ต้องได้รับการรักษาก่อนที่จะมีจอประสาทตาลอก             สาเหตุที่ทำให้เสื่อม จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นความเสื่อมจากอายุ คนที่อายุ 60-70 ปี ประมาณ 50-60% ก็จะมีวุ้นในตาเสื่อม ถ้าไปตรวจตาก็จะมี คนที่อายุน้อยๆ ก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มีสายตาสั้น วุ้นตาก็จะเสื่อมเร็วกว่าคนอื่นเขาหน่อย ได้รับอุบัติเหตุทางตา มีอะไรมากระแทกตา ก็จะเสื่อมเร็วขึ้น อันที่สาม คือการได้รับการผ่าตัดข้างในตา อย่างเช่น การผ่าตัดต้อกระจก ก็อาจจะมีความเสื่อมเร็วกว่าคนอื่นได้ หรือภูมิแพ้ที่ชอบขยี้ตาบ่อยๆ            สำหรับคนที่สายตาสั้น แล้วมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นคือ เวลาลูกตาที่สร้างมาความโค้งของกระจกตากับความยาวของลูกตาไม่พอดีกัน พูดง่ายๆ คือ ด้านหลังเหมือนยาวกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นจอประสาทตาก็จะบางกว่าคนอื่นเขาหน่อย วุ้นตาก็เสื่อมง่ายกว่า คือมีโอกาสที่จอประสาทตาจะมีการฉีกขาด หลุดลอกได้ง่ายกว่าคนที่สายตาปกติ แนะนำว่าถ้ามีอาการ หรือถ้าไม่มีอาการ แต่สายตาสั้นเกิน 400 ขึ้นไป อาจจะต้องเช็คจอตาดูเป็นระยะ ขยายม่านตาดู อาจจะทุก 2-3 ปี ถ้ามีปัญหาอะไรก็จะได้ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ส่วนในเรื่องของการใช้สายตาทั่วไป เช่น นอนดูทีวี นอนอ่านหนังสือ แสงเข้าไม่ถูกทาง ใกล้เกินไป ไกลเกินไป นานเกินไป สว่างไป มืดไป กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหากับวุ้นในตาหรือจอตาโดยตรง แต่ถ้ารักษาไม่เหมาะสมก็จะล้าตาได้ง่าย ตาก็อาจจะต้องเพ่งเยอะหน่อย อาจจะมีปัญหาเรื่องตาแห้ง แต่ไม่เกี่ยวกับวุ้นตาเสื่อม สาเหตุหลักไม่ค่อยเกี่ยวกับพฤติกรรม ยกเว้น อุบัติเหตุ กิจกรรมที่เราทำ บางทีเล่นกีฬา กีฬาที่มีวัตถุลูกเล็กๆ วิ่งเร็วๆ แบดมินตัน เทนนิส สค็วอช ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุทางตาเยอะขึ้น             ภาวะของคนที่วุ้นในตาเสื่อม แรกๆ ก็จะเห็นเป็นจุดๆ ลอยๆ ก่อนสักพักหนึ่ง พอส่วนที่เหลวเป็นน้ำเข้าไปเซาะแยกระหว่างตัวมันกับผนังจอตา ก็จะมีการแยกระหว่างวุ้นตา กับจอตา จังหวะนี้แหละ ที่เคยอยู่ติดกันมาตลอด พอถึงวันหนึ่งที่ต้องพรากออกจากกัน บางจุดมันไม่ยอม ก็จะมีการดึงรั้ง โดยเฉพาะตรงขั้วประสาทตา ตรงเส้นเลือด หรือว่าตรงขอบๆ ของจอตา พอมีอะไรไปดึงจอตา เขาไม่เจ็บ เพราะเป็นเซลล์รับแสง แต่คนไข้จะเห็นแสงแวบเหมือนฟ้าแลบ แต่ไม่เจ็บ จะเห็นชัดตอนที่หลับตา หรืออยู่ในห้องมืด อยู่ดีๆ มีไฟแวบขึ้นมาเอง แสดงว่าจอตามีอาการดึงรั้งแล้ว แต่จะไม่ได้เป็นตลอดเวลา จะเป็นบางจังหวะ โดยเฉพาะที่มีการเคลื่อนไหว พอมันดึงรั้งในบางคน ซึ่งมันไม่ยอมพรากจากกันจริงๆ มันก็ดึงแรงมาก ก็จะดึงจอตาฉีกขาดได้ ซึ่งอันตราย เพราะถ้าปล่อยจอตาที่มีรูฉีดขาดไว้ น้ำในจอตาก็จะเข้าไปเซาะ ทำให้มีจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งก็ต้องผ่าตัดใหญ่ ไม่เช่นนั้นการมองเห็นก็จะแย่ลง แต่ถ้าเรามาตรวจตั้งแต่เริ่มเห็นว่ามีรอยฉีกขาด เราก็จะเลเซอร์ล้อมๆ เขาไว้ น้ำก็จะเข้าไปเซาะไม่ได้ ก็จะสามารถป้องกันจอประสาทตาหลุดลอกได้ หลายคนที่ไม่สังเกตตัวเองเลย มาพบอาจจะเป็นในระยะที่เป็นจอตาหลุดลอกแล้ว ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น อาจจะต้องใช้การผ่าตัด แต่ถ้าเราเห็นจุดดำๆ ลอยไปมา เห็นแสงแวบๆ เหมือนฟ้าแลบ แนะนำให้มาตรวจ จะดูแลรักษาได้ง่ายกว่า          ขั้นตอนในการรักษา วันที่มาตรวจตา หมอก็จะหยอดยาขยายม่านตา ด้วยความที่มันอยู่ข้างหลัง ม่านตาเราเล็กๆ ก็จะเห็นไม่ทั่ว ก็ต้องหยอดตาเพื่อขยายม่านตาก่อน หลังหยอดก็จะพร่าๆ หน่อย มองใกล้ไม่ชัด ขับรถอาจจะไม่สะดวก สักช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีคนมาด้วย หลังจากหยอดยาขยายม่านตาประมาณครึ่งชั่วโมง ม่านตาขยายดี หมอก็จะตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด ว่ามีปัญหา ฉีกขาดอะไรบ้างไหม ส่วนใหญ่ก็จะไม่มี แต่ว่าคนที่วุ้นตาเสื่อมและล่อนใหม่ๆ เกือบ 5% จะมีรอยฉีกขาดที่จอตาได้          ถ้าเห็นจอประสาทตาฉีกขาดก็จะแนะนำให้เลเซอร์ ป้องกันไม่ให้จอตาหลุดลอก ก็จะป้องกันได้ 95% ส่วนใหญ่กินยาอะไรก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น หลักๆ ก็คือสังเกตว่า ต้องเฝ้าดูเรื่องจอตาว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าจอตาไม่มีปัญหาอะไร คนไข้ก็จะรู้สึกว่ารำคาญ ซึ่งพักหนึ่งก็จะค่อยๆ ชินไป ในอนาคตก็จะมีการใช้ยาซึ่งไปย่อยวุ้นตา ทำให้ตะกอนตกลงมาข้างล่าง แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ในต่างประเทศบางทีมีการผ่าตัดวุ้นตา เพื่อให้จุดดำหรือเส้นบางๆ ที่ลอย หายไป เพื่อให้คนไข้ไม่รำคาญ แต่เมื่อเทียบประโยชน์กับความเสี่ยงแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้ม ถ้าเห็นจุดลอยเฉยๆ คงไม่แนะนำให้ผ่าตัด ยกเว้นถ้าจอตาหลุดลอก           สำหรับวุ้นในตาเสื่อม ถ้าทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงกับตา แนะนำให้ใส่แว่นป้องกัน สมัยนี้เลนส์ที่ดีก็จะเป็นเลนส์     โพลีคาร์บอเนต เป็นเลนส์เหนียวหน่อย กิจกรรมที่เสี่ยง ตอกตะปู เสื่อมเหล็ก หรือเล่นกีฬา นักกีฬาก็เห็นใส่กันเยอะขึ้น อันนี้ก็ป้องกันอุบัติเหตุทางตาได้ในส่วนหนึ่ง อย่างที่ 2 เวลาออกไปข้างนอกก็ใส่แว่นกันแดดนิดหนึ่ง เพราะแสงยูวีก็ทำให้ความเสื่อมเกิดได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตรงผิวกระจกตา เป็นต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก รวมทั้งข้างหลังที่อาจจะเสื่อมได้ด้วย ถ้ามีอาการจุดดำๆ ลอยไปมา เวลามองท้องฟ้า หรือมีแสงแวบๆ เหมือนฟ้าแลบเวลาอยู่ในห้องมืด  แนะนำให้มาพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสม เพราะถ้าเราเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เราป้องกันไว้ไม่ให้ลุกลามบานปลายก็จะได้ผลดีกว่า    โดย นายแพทย์ธีรวีร์  หงษ์หยก จักษุแพทย์ สาขากระจกตาต้อกระจก และการผ่าตัดแก้ไขสายตา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. เสียงในหู และหูดับ

เสียงในหู และหูดับ       หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical  Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่หูข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น มีอาการหูอื้อ เวียนศีรษะ หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หูจึงมีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง        การได้ยินเสียงดังอยู่ข้างใน โดยทั่วไปจะหมายถึงโรคที่หูเราได้ยินเสียงดังผิดปกติ ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เสียงนั้นอาจจะมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริงก็ได้ สาเหตุมีทั้งโรคที่เกิดจากหูโดยตรง และโรคที่ไม่ได้เกิดจากหู ยกตัวอย่างเช่น ยาบางชนิด หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษก็ทำให้ได้ยินเสียง เหมือนมีเสียงดังในหูได้ หรืออาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับหูโดยตรง เช่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับหู มีความผิดปกติของเส้นเลือดในบริเวณที่อยู่ใกล้ๆ กับหู หรือในสมอง หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องเนื้องอกที่ช่องหูหรือในสมอง โรคเวียนศีรษะ น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือที่เราพบบ่อยที่สุดก็คือ โรคประสาทหูเสื่อม ทำให้เราได้ยินเสียงดังผิดปกติในหูเหมือนกัน          เสียงดังในหูที่ดังผิดปกติที่อาจจะได้ยินเป็นเสียงลักษณะเสียงลม เสียงเครื่องจักร เสียงจิ้งหรีดร้องหรือว่าคล้ายๆ เสียงกลอง เป็นจังหวะ หรือเสียงฟู่ๆ เหมือนจังหวะหัวใจเต้น ก็เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติว่าคือตรงไหน หากไม่แน่ใจ แนะนำให้มาตรวจ พบแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านคอ หู จมูก ทุกราย เพื่อจะได้แยกหาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ โรคบางอย่างทิ้งไว้ก็อันตราย   สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือมักจะมาจากประสาทหูเสื่อม สาเหตุจากประสาทหูเสื่อมจะมาได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเสื่อมตามวัย อายุที่มากขึ้น หรือว่าได้รับเสียงที่ดังมาเป็นเวลานาน ทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าเกิดจากประสาทหูเสื่อม ก็จะรักษาไม่ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดตามหลังประสาทหูเสื่อม ก็อาจจะดังอยู่แบบนั้น รักษาไม่หาย แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก ความผิดปกติของเส้นเลือด ถ้าเรารักษาที่สาเหตุ ก็จะทำให้เสียงดังจากหูหายไปได้   ส่วนโรคหูดับ หมายถึงการสูญเสียการได้ยินแบบทันทีทันใด หรือ เฉียบพลัน โดยทั่วไปไม่เกิน 3 วัน จากที่หูได้ยินชัดเจน อยู่ๆ ก็ได้ยินน้อยลงไปทันที หรือแทบไม่ได้ยินเลย อย่างนี้เรียกกว่ากลุ่มอาการของโรคหูดับ ซึ่งโรคหูดับก็มีสาเหตุหลายอย่างเช่นกัน อาจจะเกี่ยวกับโรคของหูโดยตรง หรืออาจจะไม่เกี่ยวกับโรคของหูก็ได้ หรือโรคของหูก็มีทั้งการติดเชื้อไวรัส ความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนของหูชั้นใน หรือในสมอง หรือเนื้องอก ก็จะเป็นประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลัน การรักษานั้นต้องดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยทั่วไปแนะนำผู้มีปัญหาเรื่องหูดับให้รีบพบแพทย์ เพราะยิ่งพบแพทย์เร็วก็ยิ่งมีโอกาสที่จะหายมากขึ้น โรคบางอย่างที่มีการอักเสบแล้ว ถ้ามาพบแพทย์ช้า ได้รับการรักษาช้า โอกาสฟื้นก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ            อาการที่ทำให้เรารู้ว่าประสาทหูใกล้จะเสื่อมคือ โดยทั่วไปหลังจากที่เราได้ยินเสียงดังๆ มา หูเราจะอื้อไปสักพักหนึ่ง อย่างเวลาไปคอนเสิร์ต หรืออยู่ในที่เสียงดังๆ นั่นแหละคืออาการเตือนว่าเราเริ่มประสาทหูเสื่อมแล้ว  โดยทั่วไปเมื่อเราอายุมากขึ้น ประสาทหูก็จะเสื่อมตามวัย แต่ประสาทหูเสื่อมมีทั้งกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมก็คืออยู่ในที่เสียงดังๆ อย่างเสียงระเบิดเป็นต้น เสียงดังมากๆ เพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เลย หรือเสียงดังไม่มากเท่าไหร่ แต่อยู่เป็นเวลานานๆ ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เหมือนกัน เช่น อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีเครื่องจักรที่เสียงดัง ที่สนามบิน มีเสียงดัง ทำงานอยู่หลายชั่วโมง ก็สามารถประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน และในปัจจุบันที่พบเจอได้บ่อยๆ เลยคือ ใส่หูฟัง ฟังเพลงเสียงดังๆ และดังนานๆ ฟังไปแล้วก็นอนหลับไปด้วย ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน            เสียงในหู ส่วนใหญ่จะเกิดจากประสาทหูเสื่อม ซึ่งเสียงดังในหูเป็นผลลัพธ์ของประสาทหูเสื่อม ทำให้เราได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู ซึ่งเสียงไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และก็ไม่ได้แปลว่าจะมีโรคอะไรซ่อนอยู่ ไม่ต้องกังวล ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างเดียว            น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเสียงดังในหู เนื่องจากในหูชั้นในของเราประกอบไปด้วยน้ำ เป็นน้ำอยู่ข้างใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากันก็คือ มีความผิดปกติของสมดุลของน้ำในหู มากเกินไป อาการส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยอาการเวียนศีรษะเป็นหลัก การได้ยินลดลง รวมถึงมีเสียงดังในหูด้วย ซึ่งต้องมีอาการเวียนศีรษะ ถ้าเกิดคนทั่วไปที่มีเสียงดังในหูอาจจะไม่ใช่โรคนี้ โรคน้ำในหูมักจะเป็นซ้ำ เป็นๆ หายๆ มีช่วงสงบ มีช่วงเป็นเยอะ แต่จริงๆ แล้วโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคที่เจอไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับโรคเวียนหัวอื่นๆ แต่ก็เจอบ้าง โดยทั่วไปพวกนี้สัมพันธ์กับความเครียดก็กระตุ้นให้มีอาการนี้ได้ การกินอาหารที่เค็ม ก็จะทำให้คนไข้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันกำเริบขึ้นมาได้ ต้องกินยา และดูแลตัวเองในเรื่องของการกินอาหาร            คนไข้ที่มารักษา ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหูชั้นนอก เช่น ขี้หู หูอักเสบบ้าง แคะหู ว่ายน้ำ ดังนั้น เพื่อสุขภาพหูที่ดีที่สุดก็คือป้องกันไม่ให้มีโรค อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าประสาทหูเสื่อมเกี่ยวเนื่องมาจากการได้ยินเสียงดัง และบางทีเราไม่ทราบว่ามันดังแค่ไหน ยิ่งดังมากก็ยิ่งเสื่อมเร็ว หรือดังไม่มากแต่ต้องอยู่เป็นเวลานาน ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ เพราะฉะนั้นควรจะหลีกเลี่ยงในการอยู่ในที่เสียงดัง โดยเฉพาะเป็นเวลานานๆ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องอยู่จริงๆ เพราะต้องทำงานหรืออะไรต่างๆ ควรหาวิธีป้องกัน เช่น ใส่ที่ครอบหู Earplug เพื่อลดเสียง ส่วนการฟังเพลงจากหูฟังก็ฟังได้ ถ้าไม่ฟังดังจนเกินไป อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีปัญหา ถ้าดังเกินไปก็จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้    โดย นพ.ดาวิน เยาวพลกุล   แพทย์ด้าน หู คอ จมูก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<