ตาแห้ง

อาการตาแห้ง (Dry Eye) โรคตายอดฮิตที่คุณอาจเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว สังคมปัจจุบัน คนทั่วไปใช้สายตาดูหน้าจอดิจิตอลทั้งวัน ร่วมกับอากาศที่ร้อน รังสีต่างๆจากแสงแดดรุนแรงขึ้น รวมทั้งมีมลภาวะจากฝุ่นpm2.5  ทำให้ปัจจุบันมีคนที่มีอาการตาแห้งเยอะมากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน อาการตาแห้งคืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร สามารถรักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง มาศึกษากันค่ะ   ตาแห้งคืออะไร ตาแห้ง (Dry eye disease) คือ การที่มีน้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตาของเราไม่เพียงพอ สาเหตุหลักมาจาก 1. น้ำตาสร้างน้อยลง เช่น อายุที่มากขึ้น เพศหญิง การมีโรคประจำตัวบางชนิด การใช้ยาบางประเภท สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลดลง 2. มีการระเหยของน้ำตาง่าย เกิดจากมีการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา  ซึ่งปกติเปลือกตาจะมีต่อมไขมันเรียงตัวอยู่ โดยต่อมไขมันนี้จะมีหน้าที่ผลิตน้ำมันออกมาหล่อเลี้ยงดวงตา มีหน้าที่เคลือบน้ำตาชั้นบนสุดทำให้น้ำตาไม่ระเหยง่ายและมีความคงตัว เกิดความชุ่มชื้น ซึ่งน้ำมันจะปล่อยออกมาที่รูเปิดบริเวณขอบเปลือกตา ทั้งเปลือกตาบนและล่าง หากต่อมไขมันนี้เกิดอุดตันเรื้อรังหรือเสื่อมสภาพ จะทำให้น้ำตาขาดความคงตัว ระเหยง่ายเกิดภาวะตาแห้ง และยังทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นเปลือกตาอักเสบ (ตากุ้งยิง)ได้ง่ายอีกด้วย   ตาแห้งมีปัจจัยกระตุ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้ * การสร้างน้ำตาลดลงเมื่ออายุมากขึ้น * ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง ทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง และสร้างน้อยลง * ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน * ภูมิแพ้ขึ้นตา เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง * การใช้หน้าจอเป็นระยะเวลานาน * อยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้งและลมแรง * กระพริบตาน้อยลง เนื่องจากเพ่งสายตาเยอะ เช่น เวลาเล่นมือถือ * พักผ่อนไม่เพียงพอ * ทำความสะอาดเครื่องสำอางค์ไม่สะอาดทำให้มีการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา * ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่  * โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง * การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว กลุ่ม isotretinoin ,ยาคุมกำเนิด , ยาแก้แพ้ เป็นต้น * เป็นจากการผ่าตัดตา การทำเลเซอร์กระจกตา * ต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตา   อาการของตาแห้ง ตาแห้ง จะมีอาการหลายรูปแบบ ดังนี้ * แสบตา เคืองตา * ตามัว เห็นภาพเบลอเป็นพักๆ * แพ้แสง ตาสู้แสงไม่ได้ * คันตา ขยี้ตาบ่อย * ตาแดง เป็นๆหายๆ * น้ำตาไหล ซึ่งน้ำตาที่ไหลเกิดจากการระคายเคือง ไม่ใช่น้ำตาที่หล่อเลี้ยงดวงตา * รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในตา * ปวดตา เมื่อยล้าดวงตา ปวดกระบอกตา อาจปวดศีรษะร่วมด้วย * มีขี้ตาเยอะตอนตื่นเช้า ลืมตาไม่ค่อยขึ้น * กระจกตาเกิดแผลและติดเชื้อตามมาได้   วิธีการดูแลเรื่องตาแห้ง * ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อหล่อเลี้ยงดวงตาเป็นประจำ * กะพริบตาบ่อยๆซึ่งแต่ละครั้งที่กระพริบตาจะมีการบีบของต่อมน้ำตาทำให้มีน้ำตามาหล่อเลี้ยงตาเรามากขึ้น * เมื่อใช้สายตานานๆ ให้พักสายตาเป็นระยะทุกๆ 20 นาที ด้วยการหลับตา 20 วินาที * สวมแว่นกันแดด หรือกันลมเป็นประจำเมื่อออกนอกบ้าน * หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เลี่ยงลมหรือแอร์เป่าหน้าโดยตรง รวมถึงฝุ่นและควัน * ใช้หน้าจอเท่าที่จำเป็น * ประคบอุ่น เพื่อให้ไขมันที่เปลือกตาอุดตันน้อยลง และตามด้วยการฟอกตาเพื่อขจัดคราบไขมันที่อุดตันรูเปิดของท่อไขมันออก ทำให้มีน้ำมันมาหล่อเลี้ยงดวงตามากขึ้น น้ำตาจะมีความคงตัว ไม่ระเหยง่าย * เมื่อมีอาการรุนแรงควรปรึกษาจักษุแพทย์  โดนการรักษา มีทั้งการใช้ยาหยอด ยากิน การอุดท่อน้ำตา การทำ eye spa และ เลเซอร์ IPL ขึ้นกับความรุนแรงของโรค   บทสรุป ตาแห้ง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก และสร้างความกวนใจในการใช้ชีวิตประจำ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แนะนำเข้ามาปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษา เพื่อไม่ให้โรคเป็นลุกลามมากขึ้น จนเกิดอันตรายกับดวงตา ทำให้มีดวงตาที่สดใส ใช้สายตาได้อีกยาวนาน ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ

แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ พญ.ชารีนันท์ จิรภาไพศาล จักษุแพทย์ รพ.วิภาวดี           อย่างที่ทราบกันดีว่าแสงแดดเป็นตัวการสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายหลายอย่างก่อนวัยอันควร ไม่เว้นแม้แต่ดวงตาคู่สวยของคุณค่ะ      • ต้อลม รังสี UV จากแสงแดด กระตุ้นให้เกิดการแตกหักของเนื้อเยื่อคอลลาเจนของเยื่อบุตา เป็นเหตุให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพและหนาตัวขึ้น อย่างที่เราเห็นเป็นวุ้น ๆ ข้าว ๆ ตาดำ ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา ตาแดงซ้ายสู้แสงไม่ได้      • ต้อเนื้อ จัดอยู่ในกลุ่มของเยื่อบุตาเสื่อมสภาพเช่นกัน มีการหนาตัวขึ้น และมีเนื้อเยื่อรวมถึงเส้นเลือดมามากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าพัฒนาต่อมาจากต้อลมอีกที กลายเป็นเนื้อเยื่อแดง ๆ แปะอยู่บนตาดำ ซึ่งถ้าเป็นมากก็จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษา      • ต้อกระจก รังสี UV ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุล ทำให้เลนส์แก้วตาเสียสภาพความใสไป กลายเป็นเลนส์ขุ่น มีผลทำให้การมองเห็นลดลง      • จอประสาทตาเสื่อม จากการศึกษาพบว่า รังสี UV มีผลโดยตรงต่อการเสื่อมของจุดศูนย์กลางภาพขยายจอประสาทตา           Tips : การใช้แว่นกันแดดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงแดดและ UV เพื่อช่วยถนอมดวงตาเราให้มองเห็นได้ไปนาน ๆ      • ภาวะตาแห้ง ก็พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน พอ ๆ กับหน้าหนาว           Tips : การพักสายตาบ่อย ๆ ขณะทำงาน ไม่เปิดแอร์ / พัดลมเป่าเข้าหน้าโดยตรง และใช้น้ำตาเทียมช่วยกรณีรู้สึกตาแห้งก็จะช่วยได้ การดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานผักผลไม้เยอะ ๆ สิ่งสำคัญในกลุ่มวัยทองจะพบปัญหาตาแห้งในฤดูร้อนบ่อยขึ้นด้วยค่ะ      • ภูมิแพ้ กลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้ชนิดตามฤดูกาล (seasonal allergy) ในช่วงปลายฤดูร้อนติดกับต้นฤดูฝน ก็จะเป็นช่วงที่มีอาการคันเคืองตากำเริบขึ้นได้           Tips : พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือไปในที่ที่มีฝุ่นละอองเกสรดอกไม้ ต้นหญ้า ที่อาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

รู้เท่าทันต้อหินป้องกันการตาบอด

รู้เท่าทันต้อหินป้องกันการตาบอด  ข้อมูลโดย : พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย จักษุแพทย์ รพ.วิภาวดี             ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทตา เนื่องจากมีแรงดันในลูกตาสูง ซึ่งเส้นประสาทตานี้จะเชื่อมต่อระหว่างตาไปยังสมอง ทำให้การมองเห็นค่อยๆลดลง และบอดในที่สุดแรงดันตาที่สูงมากขึ้น เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากขึ้น และมีการระบายน้ำออกจากทางเดินระบายน้ำลดลง โดยค่าปกติของความดันตาอยู่ที่ 5-21 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันตามีค่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ การสูญเสียการมองเห็นของผู้ป่วยต้อหิน ในระยะเริ่มแรก ลานสายตาจะถูกทำลายจากด้านข้างก่อน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีการเดินชนสิ่งของดัานข้าง ผู้ป่วยที่ไม่สังเกตจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะการมองตรงกลางยังเห็นดีอยู่ จนระยะท้าย ลานสายตาโดนทำลายจนแคบเข้ามาเรื่อยๆ การมองเห็นภาพตรงกลางเริ่มลดลง ระยะนี้ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือ การมองเห็นที่เสียไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ตาบอดถาวร การรักษาจึงเพื่อไม่ให้ลานสายตาและการมองเห็นที่ยังดีอยู่แย่ลงไปอีก ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน -          เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดมากกว่าชนชาติอื่น -          อายุมากกว่า 40 ปี -          มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน -          ผู้ป่วยเบาหวาน ไมเกรน นอนกรน -          ตรวจพบความดันตาสูง -          เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา -          การใช้ยาสเตียรอยด์ -          ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง -          โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงสมควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ งดการซื้อยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยมาใช้เอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาควรรีบมาพบแพทย์  การวินิจฉัยต้อหิน  -          การตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา slit-lamp microscopy -          การตรวจวัดความดันภายในลูกตา -          การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา -          การตรวจลานสายตา โรคต้อหิน  สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ถ้าแบ่งตามลักษณะกายวิภาคของมุมตา ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา สามารถแบ่งได้เป็นสองชนิด ด้วยกันคือ 1.ต้อหินชนิดมุมเปิด  เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวด เพราะความดันลูกตาจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับความดันตาที่สูงขึ้น ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายที่มาพบแพทย์เนื่องจากตามัวลงแลัว ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรค  2.ต้อหินชนิดมุมปิด  จะมีลักษณะมุมตาแคบ ทำให้ขวางกั้นทางเดินระบายน้ำในตา เกิดความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งถ้าเกิดแบบเฉียบพลันจะมีอาการปวดมาก และมองเห็นแสงสีรุ้ง ตามัวลงเฉียบพลัน และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมาพบแพทย์เร็วเพราะมีอาการปวดตามาก ต้อหินชนิดนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยการยิงเลเซอร์ป้องกันให้มุมตาเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดชนิดเรื้อรังที่ความดันตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว จนกว่าเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว เหมือนกับต้อหินมุมเปิด  3.การรักษาต้อหิน เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค      การรักษาด้วยยา ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น จึงลดความดันตาให้อยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกิดการทำลายของเส้นประสาทตา การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา  การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค -          Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก หรือรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีอการแพ้ยาหยอดตา และมักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ -          Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด -          Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เป็นการทำลายเซลล์มีหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาสร้างน้อยลง  ·       การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ -          Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ให้น้ำออกมานอกลูกตามากขึ้น เป็นผลให้ความดันตาลดลง -          Aqueous shunt surgery ทำในกรณีที่การผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล เป็นการทำการผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือที่เป็นท่อระบายเพื่อลดความดันตา โรคต้อหิน มีความสำคัญเพราะเป็นภัยเงียบที่ทำให้ตาบอดถาวรได้ การตระหนักถึงความสำคัญ โดยการตรวจตาสม่ำเสมอจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตรวจพบโรคได้ในระยะแรก และรับการรักษาอย่างทันท่วงที ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สมาร์ทโฟน ทำร้ายสายตา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแก๊สน้ำตา

 วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแก๊สน้ำตา 1.ออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด และไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก 2.ล้างตาด้วยน้ำเกลือ Normal Saline หรือน้ำธรรมดา นาน10-15 นาที 3.ถ้ามีคอนแทคเลนส์ให้ถอดทันที 4.ล้างหน้า ล้างตาและผม รวมทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้า เนื่องจากแก๊สน้ำตาเป็นสารเคมี เสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนแล้วให้ใส่ถุงพลาสติกแยกไว้  5.ในผู้ป่วยที่ได้รับการสัมผัสอย่างรุนแรงและนาน ให้รับส่ง รพ.เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น กระจกตาอักเสบหรือปัญหาในระบบทางเดินหายใจ                                พญ.เมธินี  จงเจริญ                  จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<