ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. รู้ทัน ป้องกันมะเร็งเต้านม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. รู้ทัน ป้องกันมะเร็งเต้านม รู้ทัน ป้องกันมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลกที่ทำให้สูญเสียชีวิตของประชากรและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในหญิงไทยรองจากโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เหมือนมะเร็งทั่วไป มะเร็งเต้านมพื้นฐานจริงๆ ก็ไม่ต่างจากมะเร็งทั่วไป ก็คือเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ เรื่องของยีน ซึ่งในคนที่มียีนที่เป็นมะเร็งเต้านมก็อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนอื่น ลักษณะของกรรมพันธุ์ ประวัติของคนในครอบครัว หรือไม่ก็มีญาติเป็น ซึ่งญาติที่ดูว่าเราจะมีความเสี่ยง ในปัจจุบันเราสามารถที่จะตรวจสอบยีนได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีใครทำ   มะเร็งเต้านม สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีมากเกินไป เช่น มีประจำเดือนเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้า คนที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก็จะมีความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเต้านม หรือกินฮอร์โมนเสริมบางอย่าง เช่น กินยาคุมมา 10 หรือ 20 ปี หรือมีประวัติทำเด็กหลอดแก้ว ใช้ฮอร์โมนมากๆ ก็จะเสี่ยงมากขึ้น หรือการใช้ฮอร์โมนในวัยทอง หมดประจำเดือนไปแล้ว แต่เราก็ยังใช้ฮอร์โมนอยู่ ก็ อีกอย่างหนึ่งก็คือหญิงสาวที่ไม่มีลูก ไม่เคยตั้งครรภ์ ก็เหมือนกับว่าร่างกายได้รับเอสโตรเจน รอบเดือน ได้รับตลอดตั้งแต่อายุสิบกว่า ถึงห้าสิบ ไม่เคยหยุด ฮอร์โมนก็ออกมาจากรังไข่ของเราเอง ซึ่งการตั้งครรภ์จะทำให้มีการพักของฮอร์โมน เพราะฉะนั้น คนที่เคยตั้งครรภ์ คนที่เคยให้นมลูก ก็จะลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะมีลูกในอายุที่ไม่มากนัก เช่น ก่อน 35 ปี แต่ถ้ามีตอนอายุมากๆ ก็ไม่ต่างกัน สาเหตุอื่นๆ เช่น โดนรังสี เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งป้องกันได้ไม่มากนัก อย่างเคยฉายแสงที่เต้านมมาก่อน  หรือฉายแสงที่อื่นแต่โดนเต้านมด้วย เช่น ฉายปอด ก็อาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นนิดหนึ่ง นอกจากนี้ อาจจะมีเรื่องของการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจจะเป็นได้   การตรวจมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ก็จะเน้นตรวจ 2 อย่าง คือ ตรวจด้วยมือ และตรวจด้วยเครื่อง ซึ่งตรวจด้วยมือจริงๆ คนอาจจะเข้าใจผิดว่า ตรวจด้วยเครื่องอย่างเดียวพอ ซึ่งจริงๆ แล้วการคลำโดยศัลยแพทย์ หรือโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะได้ประโยชน์ เพราะใช้เครื่องอย่างเดียว บางทีในคนที่เต้านมเล็กๆ ซึ่งมันเป็นเครื่องหนีบ เหมือนทำกล้วยปิ้ง ซึ่งในคนที่เต้านมเล็กๆ นมจะไม่ค่อยเข้าเครื่อง เข้าแต่ตรงหัวนม จะหวังพึ่งเครื่องมากในคนที่เต้านมเล็กๆ ก็จะไม่ค่อยได้ผล การใช้มือช่วยด้วย คลำที่ขอบ คือตัวมะเร็งจะมีลักษณะของมัน เช่น มันแข็ง มันติด เป็นก้อนบุ๋ม ซึ่งการใช้มือตรวจก็จะช่วยในการแยกแยะพวกนี้ เครื่องก็เป็นองค์ประกอบไว้ดู หรือไว้เพื่อยืนยันการวินิจฉัย สำหรับเครื่องเราก็จะมีแมมโมแกรมเป็นมาตรฐาน การอัลตราซาวด์ แมมโมแกรมก็จะดูหินปูน ส่วนอัลตาซาวด์ก็จะดูลักษณะว่าวัดเซนติเมตรได้ แล้วก็ดูว่าถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ใช้คู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด   ในเรื่องหินปูนนั้น จะพบว่าหินปูนในส่วนของมะเร็งจะไม่เหมือนหินปูนที่เสื่อมทั่วไป สมมติถ้าเรามีซีสหรือมีถุงน้ำในเต้านม อายุมากๆ มันก็เสื่อมมีหินปูนได้ แต่หินปูนพวกนี้จะมีลักษณะกลม ห่างๆ กัน ไม่จับเป็นกลุ่ม ลักษณะดูดี ดูสวย แต่ถ้าเป็นมะเร็งเต้านม เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีเยอะ เซลล์เสื่อมเร็ว เพราะฉะนั้นหินปูนก็จะมีรูปร่างแปลกๆ มีการกระจายออกมาเป็นสาย มีตั้งแต่เล็กๆ รูปร่างไม่เหมือนกัน บิดเบี้ยว และจับกลุ่มเป็นก้อน อย่างนี้เราก็จะสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีการทำ MRI จะเห็นภาพชัดกว่า แต่เราก็ไม่ได้ทำเป็นมาตรฐานที่ทุกคนต้องทำแต่ MRI จะใช้ในรายที่เคยผ่าเต้านมมาก่อน แล้วก็มีก้อนแข็งๆ ซึ่งจะไว้แยกว่าเป็นแผลเป็นหรือเป็นเนื้องอกใหม่ แบบนี้ MRI จะแยกได้ดี เพราะดูเรื่องของหลอดเลือดได้ ขณะที่  แมมโมแกรมจะดูไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ทำในทุกราย ทำเฉพาะในรายที่สงสัยจริงๆ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูง ถึงจะเห็นทุกอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยคุ้มถ้าต้องทำทุกปี สำหรับคนที่ตรวจแล้วปกติ แต่ถ้าตรวจเจอแล้วจึงทำเพื่อดูให้ชัดเจนได้   ตามมาตรฐานทั่วไป สำหรับคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยง เมื่ออายุ 35 แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมทุกปี เพราะโรคพวกนี้ไม่ได้มีสูตรตายตัวของการโตของเนื้องอก แต่ที่สังเกตกันก็คือ เนื้อไม่ดีจะโตประมาณเดือนละ 1 มิลลิเมตร ถ้าเราไม่เจอหรือเจอเล็กๆ แล้วโตขึ้นเป็น 12 มิลลิเมตร มันก็อาจเป็นเนื้อร้ายได้ แต่ถ้าเราทำทุกปี เราก็จะพบว่ายังอยู่ในระยะต้น ถ้าระยะ 1 เราเอาก้อนไม่เกิน 2 เซนติเมตร ถ้าเราทำ 2-3 ปีครั้ง เกิดปีนี้ไม่เจอ ใน 3 ปีค่อยๆ โตขึ้นมา จะเลยระยะ 1 ได้ เพราะฉะนั้นทำทุกปีก็น่าจะดีกว่า ซึ่งก็ไม่ได้มากอะไร เหมือนตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด  แต่ในรายที่สงสัย บางครั้งแพทย์ก็อาจจะนัดถี่ขึ้น เช่น อัลตราซาวด์ซ้ำในช่วง 6 เดือนระหว่างนั้น เพื่อดูว่าเม็ดที่เราสงสัยโตขึ้นไหม ซึ่งถ้าไม่โตเราก็อาจจะไม่ต้องมาทำทุก 6 เดือน ก็กลับไปทำทุกปีเหมือนเดิมก็ได้   ส่วนขั้นตอนการรักษานั้น คล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ อย่างแรกคือเราต้องเอาเซลล์นั้นออกไปก่อน ซึ่งการเอาออกก็ไม่ได้หมายถึงการเอาเต้านมออกทั้งเต้า คือหมายถึงเอามะเร็งออก ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายวิธีมาก แต่วิธีมาตรฐานก็ยังคงเป็นแบบเดิมก็คือว่า เราต้องรู้ผลชิ้นเนื้อก่อน ไม่ว่าจะใช้เข็มเจาะ ดูดหรือตัดชิ้นเล็กๆ มาตรวจ ซึ่งถ้าเป็นมะเร็งจริงๆ มันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น ขึ้นอยู่กับอายุ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน ซึ่งถ้ายังเป็นไม่มาก เป็นน้อยๆ เป็นอยู่ห่างๆ และเต้านมยังดูดีอยู่ บางทีเราอาจจะไม่ต้องเอาเต้านมออกก็ได้ สามารถผ่าเอาแต่ตัวมะเร็งออกให้เกลี้ยง ร่วมกับการเช็คต่อมน้ำเหลือง และฉายแสงเต้านมที่เหลือ แต่วิธีมาตรฐานคือ ถ้าเราไม่ได้สนใจมากนักหรือมะเร็งก้อนใหญ่หรือไม่อยากฉายแสง การเอาเต้านมออกก็ยังเป็นวิธีที่มาตรฐาน แต่บางคนก็ไม่อยากเสียเต้านม หรือปัจจุบันเราก็มีการศัลยกรรมที่เสริมสวยเต้านมขึ้นมา อาจจะใช้เนื้อเยื่อตัวเอง หรือใช้ถุงซิลิโคนเข้ามาช่วย ก็สามารถทำได้ ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่ยังไงก็ต้องเอาเซลล์มะเร็งออกไปก่อน ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งแล้วว่า จะใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย แล้วก็เรื่องของการใช้ฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับชิ้นเนื้อที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักการก็คือ อันไหนใช้ได้และมีประโยชน์ต้องทำหมด ไม่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ตาม   สำหรับคนที่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมเพียง 1 ข้าง และรักษาตามขั้นตอนแล้ว ต้องเช็คแมมโมแกรมเหมือนกัน เพราะว่ามีโอกาสเป็นซ้ำขึ้นมาได้ ก็เหมือนคนที่เคยเป็นก็อาจจะเป็นอีกได้ แต่ว่าถ้าเป็นก้อนเล็กๆ เซลล์คงตายไปตั้งแต่เคมีบำบัดแล้ว แต่เราก็ต้องเช็คอีกข้าง เพราะมีโอกาสเป็น 20-30% เหมือนกัน ต้องเช็คแมมโมแกรมทุกปีเหมือนเดิม ข้างเดิมเราก็ดูแลไป อาจจะเอกซเรย์ ทำอัลตราซาวด์ซ้ำ เหมือนตรวจมะเร็งทั่วไป ติดตามไปเรื่อยๆ   ระยะเวลาหลังจากผ่าตัด และทำเคมีบำบัด ส่วนใหญ่ทั้งหมดจะจบภายใน 6 เดือน เริ่มผ่าตัดเสร็จแล้ว ถ้าไม่ดีจริงๆ ต้องให้เคมีบำบัด บางคนก็ให้ทุก 3 อาทิตย์ 6 ครั้ง หลังจากนั้นก็ดูชิ้นเนื้อว่ามีตัวรับฮอร์โมนไหม ถ้ามี ก็เป็นเรื่องของฮอร์โมนที่เป็นยาเม็ด อีก 5 ปี หรือบางคนมีเรื่องของยีนก็จะมีตัวที่เกี่ยวกับ gene turn tool ที่เป็นตัวยีนอยู่บนเนื้องอก อันนี้อาจจะมีการฉีดยาเดือนละครั้ง 1 ปี ก็แล้วแต่ชนิดของเนื้องอก แต่ทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหลัง หลักๆ แล้วก็อยากจะให้เน้นเรื่องการตรวจเช็คประจำปี เพราะการพบในระยะแรกๆ จะสำคัญที่สุด เพราะการรักษาอาจมีเปลี่ยนทุกปี เดี๋ยวก็จะมียาใหม่มาเรื่อยๆ มีเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ มีฮอร์โมนตัวใหม่ๆ รวมถึงตารางการรักษาก็ยังเปลี่ยนเรื่อยๆ   ต้องบอกก่อนว่า มะเร็งเต้านมอยู่ข้างนอก สามารถตัดออกไปได้ ทำให้เราตรวจง่าย เห็นชัด เมื่อเทียบกับมะเร็งตับ มะเร็งปอด ซึ่งอยู่ข้างในและไม่ค่อยมีอาการ ถ้ามีบางทีก็ลุกลามไประยะสุดท้าย มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ถ้าคุณผู้หญิงใส่ใจ คลำๆ ละเอียดๆ เดือนละครั้ง เห็นอะไรแปลกๆ รีบมาโรงพยาบาล จะสามารถทำนายโรคได้หลายๆ อย่าง ในระยะแรกๆ จะไม่เหมือนมะเร็งปากมดลูก และอีกส่วนหนึ่งก็คือ มะเร็งเต้านมการลุกลามมันก็จะเข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มักจะเป็นทางของตัวมะเร็งเอง นั่นคือเวลาผ่า ก็จะผ่ามะเร็งเต้านมก่อน แล้วก็จะดูต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ว่าลุกลามไหม ไม่เหมือนมะเร็งตับ มะเร็งปอด พวกนั้นจะมีหลอดเลือดเยอะ  การลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงทำได้ง่ายมาก เช่น มะเร็งปอดอยู่ใกล้ขั้วต่อมน้ำเหลือง ใกล้ขั้วเส้นเลือดใหญ่ ใกล้หัวใจ เวลามันลามก็จะติดตรงนั้น แล้วก็จะลุกลามเร็วมาก มะเร็งเต้านมถ้าตรวจเจอในระยะแรกๆ แทบจะบอกได้เลยว่า หาย 100%   ด้วยเหตุนี้ จึงควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน ตอนอาบน้ำ หรือไม่ก็นอนคลำ โดยใช้มือฝั่งตรงข้ามคลำ เช่น จะตรวจเต้านมซ้ายก็ใช้มือขวา ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือหัว เวลาคลำก็อย่าใช้มือขยำ ใช้สามนิ้วทำแบนๆ แล้วก็กดที่เต้านม ซึ่งจะเจอซี่โครง ถ้าเจอซี่โครงก็แสดงว่าไม่มีอะไรขวาง ถ้ามีก้อนหรือมีอะไร ก็จะรู้สึกเองว่าเหมือนมีลูกแก้วขวางระหว่างมือกับซี่โครง แต่อย่าขยำ ถ้าขยำจะเป็นเนื้อนม ซึ่งบอกอะไรไม่ได้ เพราะคนเราก็จะมีเนื้อนมอยู่ตลอดอยู่แล้ว ก้อนอันนั้นอาจจะเป็นเนื้อนมก็ได้ ถ้าคลำแล้วเจออะไรแปลกๆ ก็ปรึกษาแพทย์ ควรเริ่มคลำตั้งแต่อายุ 20 กว่าก็ได้ ซึ่งก้อนส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา เหล่านี้ก็จะไม่มีความแข็ง กลิ้งไปกลิ้งมา มีโตๆ ยุบๆ ได้ นี่คือลักษณะของเนื้อปกติ หรือเนื้อดี แต่ถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะโตอย่างเดียว ไม่มียุบ แล้วก็แข็ง ขอบจะไม่ค่อยชัด จะติดๆ ไม่ค่อยกลิ้ง พวกนี้จะเป็นระยะเริ่มแรก แต่ถ้าเป็นท้ายๆ หนักเข้าก็จะเริ่มมีรอยบุ๋ม และแข็งไม่เคลื่อนที่ไปตามเต้านม สรุป หากพบว่าผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉันแต่เนิ่นๆ การรักษาจึงจะได้ผลดี โดย นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ชายก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้ชายมีเต้านมด้วยหรือ? จริงๆ แล้ว ผู้ชายก็มีเต้านมเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไร แบบผู้หญิง (จริงๆก็ไม่แน่นะ หนุ่มๆบางท่านอาจมีเต้านมใหญ่กว่าผู้หญิงเสียอีก) ซึ่งในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง เกิดมาก็จะมีเนื้อเต้านมทั้งนั้น แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงก็จะมีเต้านมที่โตขึ้น ขณะที่ผู้ชายก็จะมีเต้านมเท่าเดิม นั่นคือ จนโตผู้ชายก็ยังมีเนื้อเต้านม ประมาณเท่าเด็กผู้หญิงนั่นเอง เพราะว่า การมีเต้านมนี่เอง ก็ทำให้อาจเกิดโรคของเต้านมได้เช่นเดียวกับผู้หญิง ซึ่งที่เรากลัวที่สุดก็คือมะเร็งเต้านม ผู้ชายคนไหนที่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม จริงๆ โอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชาย นั่นน้อยมาก ประมาณ1%ของมะเร็งเต้านมเท่านั้น หรือ ถ้านับจากประชากรทั่วไป ก็ประมาณ1ใน1,000เท่านั้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็จะคล้ายๆ กับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง หลายๆประการ ได้แก่ อายุมาก ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมในผู้ชาย มักจะเจอในคนอายุมาก ยิ่งอายุมากโอกาสยิ่งเยอะ โดยจะพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายมากที่สุดในช่วงอายุ60-70ปี อายุน้อยกว่า35ปี นี่แทบไม่พบ ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวญาติสายตรง ถึงแม้จะในผู้หญิง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ ประวัติการโดนรังสี บริเวณหน้าอกการรักษา ฉายแสง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ การทีมีเต้านมโตในผู้ชาย ที่เรียกว่าGynecomastiaไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ทั้ง ยา,Hormoneหรือ เป็นเองก็ตาม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในคุณผู้ชายได้ การใช้ยา HormoneEstrogen ที่เจอกันบ่อยๆ ก็ ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะในสาวประเภท2หรือหนุ่มประเภทไหนก็ตาม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ทั้งนั้น ทั้งใน ผู้หญิง และ ผู้ชาย โรคตับเช่น ตับแข็ง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีเรื่องของ ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย ที่เรียกว่าGynecomastiaร่วมด้วย โรคของอัณฑะ เช่น อัณฑะอักเสบจากคางทูม ภาวะอัณฑะไม่ลงถุง( Undescend testis) อาจทำให้เกิดความผิดปกติ ของHormoneในผู้ชาย โรคของพันธุกรรมบางชนิด เช่นKlinefelter's Syndromeเป็นโรคที่ผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซม ซึ่งพบน้อย มะเร็งเต้านมในผู้ชายกับผู้หญิง อันไหนรุนแรงกว่ากัน ความรู้สึกเราจะรู้สึกว่ามะเร็งเต้านมในผู้หญิงดูน่ากลัว อันตราย ของผู้ชายน่าจะดูกิ๊กก๊อก ก้อนก็เล็กๆ จริงๆ แล้วมันเหมือนกันครับคือ รุนแรงพอๆ กัน แต่ที่แย่กว่า คือ มะเร็งเต้านมในคุณผู้ชายมักจะเจอช้าเพราะไม่มีใครสนใจไม่เคยคิด ไม่เคยตรวจ ดังนั้นกว่าจะตรวจพบก็มักเป็นระยะที่เยอะแล้ว รักษาช้ากว่าก็เลยจะดูว่ารุนแรงกว่า อาการของของโรค เหมือนมะเร็งเต้านมของผู้หญิงทุกประการครับ คือ มีก้อน ก้อนแข็งมีการดึงรั้งติดผิวหนังได้ ซึ่งมะเร็งเต้านมในผู้ชาย ก็จะเป็นแบบนั้น แต่ที่ไม่ดี เนื่องจากผู้ชายมีขนาดเต้านมที่เล็ก คือ ไม่มีนั่นเอง ประกอบกับการไม่ค่อยจะสนใจ ทำให้กว่าจะพบก้อนมักจะใหญ่ รวมทั้งกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ง่ายเนื่องจากไม่มี เนื้อเต้านมห่อหุ้มก้อนมะเร็ง โตนิดเดียวก็ถึงผิวหนัง หรือ แตกออกมาด้านนอก หรือกระจายไปติดกระดูกซี่โครง การวินิจฉัย เช่นเดียวกับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิงครับ การตรวจด้วยการคลำ การทำUltrasound , Mammogramตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อ ก็ยังเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวินัจฉัย มะเร็งเต้านม การรักษา การรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชาย ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง การรักษา ประกอบไปด้วย การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การใช้Hormoneรวมทั้งการรักษาแบบ มุ่งเป้า (Target Therapy) ซึ่งการจะใช้อะไรนั้น คงขึ้นกับ พยาธิสภาพ ระยะ ลักษณะชิ้นเนื้อ ของคนไข้แต่ละคนครับ ผลการรักษา เช่นเดียวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง ผลการรักษาขึ้นกับระยะของโรค ถ้าเป็นน้อย ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเป็นมากผลการรักษาก็จะได้ผลดีไม่เท่าระยะแรก ก็ลดหลั่นกันไป แต่ที่ไม่ดีแบบที่กล่าวมาแล้วคือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย มักมาช้า เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็น กว่าจะยอมมาตรวจ นมก็เล็กไม่มีตัวคลุม ก็กระจายง่าย ผลการรักษา เลยอาจไม่ดีเท่าที่ควร สรุปถึงจะเป็นผู้ชาย ก็อย่าลืมตรวจตราส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้างนะครับ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคลินิกเต้านม รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<