วิตามิน B12 สำคัญอย่างไร กับผู้สูงอายุ และ คนที่กินเนื้อสัตว์น้อย ?

วิตามินบี 12 วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ พบในอาหาร เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ และผลิตได้จากแบคทีเรียในลำไส้ เนื่องจากเราไม่สามารถผลิตวิตามินบี 12 เองได้ จึงต้องอาศัยรับประทานจากอาหาร และ การมีจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้อย่างหลากหลายและสมดุล   ใครเสี่ยงขาดวิตามินบี 12 บ้าง ? ผู้สูงอายุ งานวิจัยพบว่า คนที่อายุเกิน 60 ปีในประเทศอังกฤษ และ อเมริกาขาดวิตามินบี 12 มากถึง 20% ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อย การดูดซึมไม่ดี หรือมีการใช้ยาต่างๆหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ผู้ที่ทานอาหารแบบมังสวิรัติ หรือ วีแกน หรือทานเนื้อสัตว์น้อย ทำให้ได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากวิตามินบี 12 ถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ การที่มีตับอักเสบหรือถูกทำลายจากแอลกอฮอล์ทำให้การเก็บสะสมและการปล่อยวิตามินบี 12 ออกมาใช้ทำได้ไม่ดี นอกจากนี้หากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจทำให้กินอาหารอื่นๆที่มีวิตามินบี 12ลดลง และแอลกอฮอล์ยังอาจส่งผลให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ ทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ลดลงได้อีกด้วย ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้ออก เนื่องจากทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ทำได้น้อยลง ผู้ที่ทานยาเบาหวาน metformin พบว่าขาดวิตามินบี12ได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้ปริมาณยามาก และทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นเพราะยาไปรบกวนการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ลำไส้ และ รบกวนสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ผู้ที่ทานยาลดกรด เช่น omeprazole (Miracid), esomeprazole (Nexium), lansoprazole (Prevacid) เนื่องจากความเป็นกรดที่ลดลงทำให้การดูดซึมวิตามินบี12 จากอาหารลดลงได้ ผู้ที่กินยาโรคเก๊าท์ colchicine เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังลำไส้ส่วนปลายแบบชั่วคราว ซึ่งมีผลให้การดูดซึมวิตามินบี12 ลดลงได้   วิตามินบี 12 มีประโยชน์อย่างไร ? วิตามินบี 12 ช่วยในการสร้าง DNA สร้างเซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ระบบประสาท   เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราขาดวิตามินบี 12 ? การขาดวิตามินเล็กน้อย อาจยังไม่ทำให้เกิดอาการใด หากขาดมาก อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ชาปลายมือปลายเท้า หรือ เหน็บชา มีอาการชายิบๆง่าย ผิวหนังซีด, โลหิตจาง ลิ้นเลี่ยน ลิ้นอักเสบ หรือ ปากเป็นแผลบ่อยๆ ท้องผูก ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือ ท้องอืด มีลมในท้องมาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย   อย่างไรก็ตาม อาการของการขาดวิตามินบี 12 มักไม่ชัดเจน หรือไม่เฉพาะเจาะจง ปัจจุบันเราสามารถทราบภาวะการขาดวิตามินบี 12 ได้จากการตรวจวิตามินในเลือด ซึ่งการตรวจวิตามินบี 12 โดยตรงอาจมีความไวของการตรวจไม่มากนัก ต้องขาดมากๆแล้ว ค่าจึงจะผิดปกติ จึงมีการตรวจโดยอ้อมจากการตรวจสารอักเสบของหลอดเลือดที่ชื่อว่า Homocysteine ซึ่งสารอักเสบนี้จะคั่ง หรือพบปริมาณมาก หากขาดวิตามินบี 12 กรดโฟลิค หรือ วิตามินบี 6 นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่าการมีสาร Homocysteine นี้ปริมาณสูง สัมพันธ์กับโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะสารดังกล่าวทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และการอักเสบของหลอดเลือดขึ้น   เราจะเพิ่มปริมาณวิตามินบี 12 ในร่างกายได้อย่างไร ? ทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา นม ไข่ ทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ หรือ จุลินทรีย์ชนิดดี เช่น โยเกิร์ตที่ระบุว่ามีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Live & active cultures), ชาหมักคอมบูชะ (Kombucha) หรือทานโปรไบโอติกส์โดยตรง เพื่อให้แบคทีเรียชนิดดีเหล่านี้ช่วยสร้างวิตามินบี 12 ให้เรา ทานอาหารกลุ่มพรีไบโอติกส์ หรือ อาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อหล่อเลี้ยงแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เรา เช่น กระเทียมดิบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง หรือต้นหอมดิบ ขิง ข่า ตะไคร้ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว แอปเปิ้ล แครอท งดแอลกอฮอล์ ทานวิตามินบี 12 เสริม หากพบว่าขาดวิตามินบี 12 สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทานวิตามินเสริม และ ตรวจติดตาม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

รู้ได้อย่างไร ว่าเราขาดวิตามินดี Vitamin D

วิตามินดี (Vitamin D) วิตามินดีเป็นวิตามินละลายในไขมัน เราได้รับวิตามินดีส่วนใหญ่โดยการสังเคราะห์ทางผิวหนังจากแสงแดดเป็นหลัก วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่อยู่ในออฟฟิศหรือในบ้านเป็นหลัก กลัวผิวเสีย ทำให้เราขาดวิตามินดีกันได้มากขึ้น ใครเสี่ยงขาดวิตามินดีบ้าง ? ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสขาดวิตามินดี เนื่องจาก อาจมีโอกาสอยู่กลางแดดน้อยลง การรับประทานอาหารลดลง ตัวรับบริเวณผิวหนังลดลง ทำงานในร่มตลอดเวลา ไม่ค่อยได้ออกกลางแจ้ง เช่น พนักงานออฟฟิศ ทาครีมกันแดดเป็นประจำ หญิงที่ให้นมบุตร มีโรคตับเรื้อรัง, การทำงานของตับผิดปกติ ทำให้เปลี่ยนวิตามินดีเป็นตัวออกฤทธิ์ได้น้อยลง มีโรคไตเรื้อรัง, การทำงานของไตผิดปกติ ทำให้เปลี่ยนวิตามินดีเป็นตัวออกฤทธิ์ได้น้อยลง หรือวิตามินดีรั่วออกไปได้มากขึ้น   วิตามินดีมีประโยชน์อย่างไร ? วิตามินดี ช่วยในการรักษาสมดุลของ แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส ในร่างกาย ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ร่วมกับแคลเซียมในการป้องกันกระดูกพรุน มีส่วนสำคัญกับการเจริญเติบโตและซ่อมแซมกระดูกและกล้ามเนื้อ ช่วยลดการอักเสบ และช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันพบว่า นอกจากเป็นวิตามินแล้ว วิตามินดียังเป็นฮอร์โมนอีกด้วย ซึ่งช่วยในการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย และการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังที่พบบ่อยๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราขาดวิตามินดี ? ในเด็ก การขาดวิตามินดีอย่างมากอาจทำให้การเจริญของกระดูกผิดปกติ เดินได้ช้า หรือกระดูกขาโก่งงอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการชัดเจน เราจึงมักจะทราบว่าเราขาดวิตามินดีก็ต่อเมื่อเราได้ตรวจระดับวิตามินดีในร่างกาย อย่างไรก็ตามอาการที่อาจพบได้ เช่น ปวดกระดูก ปวดข้อ มวลกระดูกลดลงมาก อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เป็นตะคริวบ่อยๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เราจะเพิ่มวิตามินดีในร่างกายได้อย่างไร ? ออกกลางแจ้งบ้าง พบว่า 80-90% ของวิตามินดีในร่างกายเราได้รับมาจากการสังเคราะห์ทางผิวหนังจากแสงแดด หากอยู่ในร่มตลอดทั้งวัน แนะนำให้ออกกลางแจ้งบ้าง ในช่วงเวลาที่ไม่รู้สึกว่าร้อนเกินไปหรือไม่ทำให้ผิวไหม้ เนื่องจากจริงๆแล้ว UVB ที่ทำให้เกิดอาการไหม้ เป็นตัวกระตุ้นให้คอเลสเตอรอลที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี ดังนั้นยิ่งแดดแรงยิ่งได้วิตามินดีมาก แต่ก็ควรตากแดดแต่พอดีนะคะ เอาที่เรารู้สึกไม่ร้อนเกินไป และผิวเราไม่แดง ไม่แสบนะคะ ทานอาหารที่มีวิตามินดี วิตามินดีเป็นวิตามินละลายในไขมัน พบในอาหาร เช่น ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูนา หรือ ตับ ไข่แดง เห็ดต่างๆ ทานวิตามินดีเสริม หากตรวจวิตามินดีแล้วพบว่ามีวิตามินดีต่ำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทานวิตามินดีเสริม และ ตรวจติดตามเป็นระยะนะคะ เนื่องจากระดับวิตามินดีที่สูงเกินไปก็สามารถส่งผลเสียแก่ร่างกายได้เช่นกันค่ะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทำความรู้จัก "แคดเมียม" สาเหตุโรคมะเร็งและโรคอิไต อิไต

แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd ค้นพบปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในธรรมชาติมักปะปนอยู่ในแร่สังกะสีซัลไฟด์ และเป็นผลพลอยได้จากการถลุงแร่ สังกะสี แคดเมียมเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติอ่อน งอได้ มีสีขาวปนน้ำเงินเป็นโลหะที่ทนต่อการกัดกร่อน มีจุด หลอมเหลวประมาณ 321 องศาเซลเซียส หากหลอมเหลวด้วยความร้อน และความกดดันสูงทำให้กลายเป็นไอ ควัน ในรูปแบบแคดเมียมออกไซด์ นอกจากนี้แคดเมียมอาจอยู่ในรูปเกลือหรือสารประกอบต่างๆ เช่น แคดเมียมออกไซด์ มีสีแดง แคดเมียมซัลเฟต มีสีเหลือง ใช้ในการผลิตสี และแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม เป็น ต้น   การเข้าสู่ร่างกายและกลไกการเกิดโรค ทางการหายใจ ฝุ่นละอองที่มีสารแคดเมียม และไอควันแคดเมียมออกไซด์ การสูบบุหรี่ ทางการกิน ปนเปื้อนจากอาหาร แหล่งน้ำ และดินที่เพาะปลูก มักถูกดูดซึมในทางเดินอาหารร้อยละ 2-6 แต่ในภาวะที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากถึงร้อยละ 20 เมื่อแคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วนั้น ร้อยละ 80-90 จะจับกับโปรตีน (metallothionin) ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดพิษจากแคดเมียม และร้อยละ 50 ของแคดเมียมที่มีอยู่ทังหมดในร่างกาย สะสมอยู่ที่ตับ และไต แคดเมียมมีระยะกึ่งชีพยาวนาน 7-30 ปี ตามปกติแคดเมียมถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ อัตราการขับออกทางปัสสาวะค่อนข้างต่ำและจำนวนเล็กน้อย ถูกขับออกทางน้ำดี น้ำลาย ผม และเล็บ   อาการเฉียบพลัน  (จากการหายใจรับไอหรือควันของแคดเมียม)  อาการเฉียบพลัน (จาการอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแคดเมียมเกินกว่า 15 มก./ลิตร) ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน ไข้หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก สูญเสียน้ำ และเกลือแร่ อาจช็อกและไตวาย อาการเรื้อรัง เกิดพังผืดที่ปอด ถุงลมโป่งพอง พิษต่อไต โรคกระดูก กระดูกพรุน กระดูกเปราะ และ หักง่าย ปวดขาและเดินลำบาก อาจพบภาวะโลหิตจางจากการแตกของเม็ดเลือดแดง และก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก สำหรับพิษต่ออวัยวะสำคัญ คือ พิษต่อไต โดยมีการอักเสบที่ไต ทำให้สูญเสียการทำงานของไต ซึ่งทำให้การดูดซึมโปรตีนกลับจากปัสสาวะลดลง รวมทั้งมีการขับโปรตีนออกมาในปัสสาวะมากขึ้น และขับแคลเซียมฟอสฟอรัส ออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นทำให้เกิดไตวายเรื้อรังในที่สุด หากเกิดขึ้นแล้วจะไตจะเสื่อมถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้   โรคอิไต อิไต เป็นโรคพิษแคดเมียมที่มีผลต่อกระดูก การที่ไตขับแคลเซียมและฟอสฟอรัส ออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อเมแทโบลิซึมของกระดูก ทำให้เกิดกระดูกเปราะ กระดูกพรุน และ หักง่าย   แคดเมียมกับมะเร็ง  แคดเมียมจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง การรับสารแคดเมียมเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด ได้ เป็นต้น   แคดเมียมก่อให้เกิดโลหิตจาง แคดเมียมยังก่อให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ภาวะซีด   ฝุ่น pm 2.5 ที่มีฝุ่นละอองของแคดเมียมและก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดผลกระทบต่อ โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น   การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่ปลูกและผลิตในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนกำลังสูบบุหรี่ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง แคดเมียม ป้องกันไอควันแคดเมียม ให้เหมาะสม งดเข้าพื้นที่เสี่ยง หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยเฉพาะการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูภาวะความเสื่อมของไต    การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีสูดดม ฝุ่นละอองแคดเมียม หรือไอควันแคดเมียม ให้ ออกจากพื้นที่นั้น รับอากาศ บริสุทธิ์ และส่งแพทย์ทันที หากมีการกลืนกิน หรือดื่ม อาหารหรือน้ำดื่มที่มีแคดเมียมปนเปื้อน ให้ดื่มน้ำตามทันที 2 แก้ว แล้วรีบพบแพทย์  หากฝุ่นละอองแคดเมียมหรือ ไอควัน เข้าตา อาจ มีอาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล ให้ล้างตา ด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆและพบจักษุแพทย์  หากสัมผัสทางผิวหนัง ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์ งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังกตุอาการตนเอง หากผิดปกติ รีบพบแพทย์  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การทำงานอย่างมีความสุข

การทำงานอย่างมีความสุข นพ. วิชนาท สีบุญเรือง  แพทย์อาชีวเวชศาสตร์          งานเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเราทุกคน บางครั้งท่านคงรู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงานมากมาย ทั้งกายและทางใจ ในวันนี้ผมจะมาเสนอแนวคิดที่จะทำให้ทุกท่านมีความเหนื่อยล้าทางกายจากการทำงานน้อยลง โดยที่ผลงานไม่เปลี่ยนจากเดิม หลายท่านคงจะสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร        ภาวะเหนื่อยหล้าจากการทำงานในบางครั้ง ไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักเท่านั้น หากแต่การทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็ยังทำให้เกิดการปวดเมื่อยล้ามากกว่าที่ควรจะเป็น การทำงานที่ถูกสุขลักษณะ หรือ ตรงตามหลัก กายศาสตร์ จะช่วยให้ปวดเมื่อยหล้า หรือเหนื่อยจากการทำงานน้อยลงได้ในระดับหนึ่ง         อย่างเช่น การทำงานกับคอมพิวเตอร์ หลายท่านคงมีอาการ ปวดศีรษะ ปวดข้อมือ และปวดไหล่ ซึ่งอาการเหล่านี้ จะทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานมากขึ้น หากท่านลองปรับสภาพการทำ   งานให้ถูกสุขลักษณะ ก็จะช่วยลดอาการเหล่านี้ให้น้อยลง          และสำหรับผู้ที่ขับรถนานๆ ตลอดเวลา เช่น Sale การนั่งขบรถต่อเนื่องเวลานานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก และเกร็งตัว(อยู่ในท่าเดิมตลอด) ก็ควรจอดพักรถทุกชั่วโมงครึ่ง ถึงสองชั่วโมง ในสถานที่ปลอดภัย เช่น ปั๊มน้ำมัน เพื่อทำการเปลี่ยนอิริยาบถ และยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อ เกร็งตัวมากเกินไป และยังมีงานอีกหลายประเภท ที่การปรับท่าทางหรือสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะก็ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของทุกคนดีขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มาตรวจสุขภาพ ตามความเสี่ยงกันเถอะ

         พูดถึงการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง หลายท่านอาจนึกถึง ความเสี่ยงจากการที่เรามีประวัติครอบครัว (บิดา,มารดา) เป็นโรคเรื้อรังต่างๆที่อาจส่งผลมาถึงเรา  ความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตเช่นการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การทานอาหารมัน หรือความเสี่ยงจากสภาวะสุขภาพเช่น หลายท่านอาจรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึงอาจสัมพันธ์กับโรคทางระบบหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น แต่ในหัวข้อนี้จะขอพูดถึงการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงาน                ความเสี่ยงจากการทำงานเกิดขึ้นจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในรูปแบบต่างๆตามลักษณะงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้  เช่น สิ่งคุกคามทางกายภาพ (การทำงานในที่เสียงดัง,การทำงานกับรังสี,การทำงานที่มีแรงสั่นสะเทือน etc.)  สิ่งคุกคามทางชีวภาพ(เชื้อโรคต่างๆ) สิ่งคุกคามด้านสารเคมีประเภทต่างๆ รวมถึงการทำงานที่ผิดหลักการยศาสตร์ ดังนั้นการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจึงถือเป็นการเฝ้าระวังความผิดปกติของสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการทำงานได้แต่เนิ่นๆ   ซึ่งประกอบด้วย 1.การตรวจร่างกายโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Physical Examination)             แพทย์จะทำการซักประวัติการทำงาน และตรวจร่างกายเพื่อค้นหาอาการและอาการแสดงที่สัมพันธ์กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การตรวจการทำงานของระบบประสาทในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับสารตัวทำละลาย การตรวจหาโรคผิวหนังอักเสบในผู้ที่ทำงานสัมผัสสารระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น 2.การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)             ตรวจในผู้ที่ทำงานสัมผัสเสียงดัง โดยพบว่าในผู้ที่ทำงานสัมผัสเสียงดังนั้น การได้ยินที่เสียงความถี่สูงจะเริ่มแย่ลงก่อน จากนั้นถ้ายังสัมผัสเสียงดังต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง การได้ยินที่ความถี่เสียงพูดคุยจะแย่ลงตามมา(หูตึง)             การตรวจสมรรถภาพการได้ยินจะช่วยบอกถึงความสามารถในการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่างๆ ดังนั้นจึงมีประโยชน์ในการช่วยคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้แต่แรกเริ่มจากการสัมผัสเสียงดัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังขึ้น 3.การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry)             การทำงานบางประเภทอาจต้องสัมผัสกับสารที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับฝุ่นฝ้ายอาจมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือการทำงานสัมผัสสารบางประเภท(เช่น แป้งสาลี , สารจำพวก latex , isocyanate ) อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหอบหืดได้ เป็นต้น             การตรวจสมรรถภาพปอดจึงเป็นการคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจจากการสัมผัสสารต่างๆดังที่ได้ยกตัวอย่างมา  4.การตรวจสมรรถภาพสายตาทางอาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Vision Test)             เนื่องจากงานในแต่ละประเภทจำเป็นต้องใช้สมรรถภาพของสายตาที่แตกต่างกันออกไป เช่นพนักงานขับรถ อาจต้องใช้ความคมชัดของสายตาในการมองภาพระยะไกล การกะระยะความชัดลึก การมองภาพสี และลานสายตาที่ดีพอ ในขณะที่ผู้ที่ทำงานเจียระนัยเพชร พลอย อาจต้องใช้ความคมชัดของสายตาในการมองภาพระยะใกล้ที่ดี              การตรวจสมรรถภาพสายตาทางอาชีวเวชศาสตร์  จึงเป็นการตรวจเพื่อประเมินว่าสมรรถภาพสายตาของผู้เข้ารับการตรวจนั้นดีเพียงพอกับลักษณะงานที่ทำหรือไม่ เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวสามารถประเมินได้ถึง ความคมชัดของสายตาทั้งระยะไกลและระยะใกล้ ลานสายตา การกะระยะความชัดลึก การมองภาพสี ตลอดจนความสมดุลของกล้ามเนื้อตา 5.การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers)             การทำงานในหลายๆกิจการล้วนต้องมีการสัมผัสสารเคมีประเภทต่างๆ เช่น สารโลหะหนัก(ตะกั่ว,สารหนู etc.),สารตัวทำละลาย(เบนซีน,โทลูอีน etc.),สารปราบศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณที่สูง อาจก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษจากสารเคมีต่างๆเหล่านั้น  โดยเราสามารถตรวจระดับการรับสัมผัสสารนั้นๆว่าเข้าสู่ร่างกายสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่หน่วยงานต่างๆกำหนดไว้หรือไม่ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ ผ่านทางเลือดหรือปัสสาวะ ในรูปของสารนั้นโดยตรงหรือผ่านทางเมตาโบไลท์ของสารนั้นๆ             การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ จะช่วยคัดกรองถึงระดับการรับสัมผัสสารนั้นๆเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังทางสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติจากการสัมผัสสารเคมีต่างๆเหล่านั้น 6.การตรวจอื่นๆ              การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับรังสี  การตรวจเอ็กซเรย์ปอด ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับฝุ่นซิลิกา เป็นต้น             ในการตรวจสุขภาพ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะเป็นผู้แนะนำรายการตรวจที่เหมาะกับผู้ทำงานในแต่ละท่าน โดยดูจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากลักษณะงาน            หวังว่าอ่านบทความนี้แล้ว ทุกท่านคงหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเภทของงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ  และช่วยให้ทุกท่านสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป            น.พ.ณัฐพล ประจวบพันธ์ศรี        แพทย์อาชีวเวชศาสตร์(วุฒิบัตร) ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<