โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (เดอกาแวง De-quervain's) โรคยอดฮิตของคนใช้ข้อมือเยอะ

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือโรคเดอกาแวง คือภาวะที่มีอาการปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้ง มีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่อยู่ฝั่งนิ้วโป้ง โดยปกติแล้วเส้นเอ็นดังกล่าวจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายในเนื้อเยื่อที่มีลักษณะอุโมงค์คือปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ (sheath) เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว การบวมจะทำให้เส้นเอ็นไม่สามารถเคลื่อนไหวภายในปลอกหุ้มเอ็นได้ ทำให้มีอาการปวดข้อมือบริเวณฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะในขณะทำงานที่ต้องกำมือหรือขยับข้อมือ ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุประมาณ 30-50 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็น มากกว่าผู้ชาย ประมาณ 8-10เท่า โดยมักจะมีอาการปวดข้อมือ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด และมักจะมีอาการในช่วงกลางคืน  อาการ อาการปวดในข้อมือฝั่งข้างเดียวกับนิ้วโป้งซึ่งอาจค่อยๆเกิดอย่างช้าๆหรือเกิดอย่างฉับพลัน อาการปวดไปตามแนวนิ้วโป้งหรือจากช้อมือลงมายังแขน อาการบวมของข้อมือด้านนิ้วโป้ง รู้สึกอาการเจ็บ เสียวเมื่อขยับนิ้วโป้ง การรักษา การรักษาอาจเริ่มด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆก่อนที่จะพิจารณาทำการผ่าตัด การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือในท่าซ้ำๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามข้อมือและนิ้วโป้ง เพื่อลดการเคลื่อนไหว รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ การเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปวด การประคบบริเวณที่เป็นด้วยน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวม การฉีดเสตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบโดยทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดโดยการกรีดบริเวณที่เป็นเล็กน้อยเพื่อให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นคลายและมีที่สำหรับเส้นเอ็นได้เคลื่อนไหวมากยิ่งชึ้น โดยจะลดอาการปวดและบวมได้ การเคลื่อนไหวจะกลับมาใช้ได้ปกติ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นิ้วล็อค (Trigger Finger) โรคฮิตของคนทำงาน

     ภาวะนิ้วล็อค (Trigger finger) หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว มีโอกาสเป็นได้กับทุกนิ้ว สาเหตุเกิดจากการหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ได้ยากขึ้น ทำให้เกิดการติดล็อคหรือเกิดอาการปวดได้ โรคนี้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากที่สุดในผู้หญิงวัยกลางคน โดยมากจะเกิดกับกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ และทำให้มือต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้าน การหิ้วของหนัก การยกของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ตตลอดเวลานานๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อค ลักษณะอาการของโรคนี้ 1. มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และอาจรู้สึกติดแข็งในตอนเช้า 2. รู้สึกสะดุด หรือมีเสียงเวลาขยับข้อนิ้ว และอาจคลำได้ก้อนบริเวณโคนนิ้ว 3. รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค 4. นิ้วล็อคติดในท่างอ แต่ยังสามารถจับเหยียดนิ้วออกมาได้ 5. นิ้วล็อคติดในท่างอ โดยที่ไม่สามารจับเหยียดออกมาได้ วิธีการรักษา ดังนี้ 1.ให้พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ และหลีกเลี่ยงการงอและเหยียดนิ้วมือซ้ำๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ 2.แนะนำให้แช่น้ำอุ่นและนวดบริเวณโคนนิ้ว ยืดเหยียดนิ้วมือให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในตอนเช้าอย่างน้อย   5-10 นาทีต่อวัน 3.การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดไม่ให้งอข้อปลายนิ้ว ข้อโคนนิ้วใหแคลื่อนไหวได้ปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้ 4.การใช้วิธีทางกายภาพบำบัดได้แก่ การใช้ความร้อนประคบ การนวดเบา ๆ การออกกำลังโดยการเหยียดนิ้วและการใช้เครื่องดามนิ้วมือ โดยอาจมีการรักษาร่วมกันด้วยการใช้ยาและกายภาพบำบัด และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะช่วงแรก 5.การรับประทานยา จำพวกยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์(NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำก่อนใช้ยา 6.การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมานาน หรือการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษา โดยฉีดยาสเตียรอยด์(steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้นเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ซึ่งการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย หากผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องใช้งานมือข้างที่มีอาการอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกำเริบซ้ำขึ้นอีกได้ โดยอาจจะมีอาการกลับมาหลังฉีดยาประมาณ 3-6 เดือน และหากมีอาการกลับมาอีกครั้ง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดยาซ้ำได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะฉีดยามากกว่า 2 ครั้งในนิ้วเดียวกัน 7.การรักษาโดยการผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ -  การผ่าตัดแบบเปิด(Open release)  เป็นการทำในห้องผ่าตัดโดยทั่วไปสามารถทำได้ โดยหลักในการผ่าตัด คือ การฉีดยาชาฉพาะที่และเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1cm และใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัด หรือสะดุดอีก หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้วต้อง หลีกเลี่ยงการใช้งานมือหนักประมาณ 2 สัปดาห์ การผ่าตัดโดยมีแผลเปิดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะนัดมาตัดไหมที่ประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด -  การผ่าตัดแบบปิด (Percutaneous release) โดยการใช้เข็มเขี่ย หรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก วิธีนี้มีข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 2mm ซึ่งการผ่าตัดแบบปิดนี้นั้นแทบจะไม่มีแผลให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์มากขึ้น และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เนื่องจากเส้นประสาทอยู่ใกล้กับบริเวณที่ผ่าตัดมาก และการผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไป โดยภาพรวมนั้นถือว่าการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในการที่จะช่วยไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคได้อีก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือเรียกอีกอย่างว่า “โรครองช้ำ”

เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้หญิง  โดยมักมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้า ซึ่งสัมพันธ์กับการเดินลงน้ำหนักเท้า มักเป็นมากตอนเช้าขณะลุกจากเตียง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ตามลักษณะการใช้งาน การอักเสบจะเกิดขึ้นบริเวณเอ็นส้นเท้าต่อเนื่องไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย ในรายที่เป็นมานานหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการจะเป็นเรื้อรังมากขึ้นจนอาจเป็นตลอดวัน สาเหตุ เกิดจากการตึงตัวที่มากเกินของเส้นเอ็นฝ่าเท้าและอุ้งเท้าที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกขณะที่เราลงน้ำหนัก จนเกิดเป็นพังผืด และเกิดการอักเสบเรื้อรังสะสมมาเรื่อย ๆ ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 1.คนที่มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบน 2.น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้มีแรงส่งไปที่เท้าเยอะขึ้น 3.คนที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ 4.การวิ่งที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามากเกินไป 5.การวิ่งที่พื้นแข็งเกินไป หรือรองเท้าแข็งหรือบางเกินไป และรับแรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร 6.คนสูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นลดลง 7.คนที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ ทำให้พงผืดฝ่าเท้าตึง  อาการ อาการของผู้ที่เป็นโรครองช้ำ คือ จะปวดฝ่าเท้ารอบ ๆ ส้นเท้าไปถึงเอ็นร้อยหวายในช่วงแรกที่เริ่มใช้งาน เช่น ตอนตื่นนอน ตอนลุกจากการนั่งนาน ๆ เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดเหมือนมีเข็มมาแทงหรือโดนของร้อน อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการใช้งานไปสักระยะ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดจะเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ การวินิจฉัย โดยทั่วไป การวินิจฉัยโรครองช้ำสามารถทำได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์: หากมีการอักเสบของจุดเกาะเส้นเอ็นเป็นเวลานาน ร่างกายจะสร้างแคลเซียมมาพอกไว้ ซึ่งหากเอกซเรย์พบแคลเซียมที่มาพอกจุดเกาะเส้นเอ็น จะเป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรครองช้ำ อัลตราซาวด์: สามารถบ่งบอกการบวมหนาของเส้นเอ็นฝ่าเท้าได้ ซึ่งจะบอกถึงการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้า การรักษา จะเริ่มจากการใช้ยาไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากยังไม่หาย จะเริ่มมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยการรับประทานยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และระยะเวลาการรับประทานยาไม่ควรนานจนเกินไป การใช้เฝือกอ่อน โดยจะใช้ในช่วงแรกเพื่อลดอาการอักเสบ ฝึกยืดเหยียดฝ่าเท้า และแช่เท้าในน้ำอุ่น การใช้แผ่นรองเท้าที่มีลักษณะนิ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม การทำกายภาพบำบัด ใช้ความร้อนแบบอัลตราซาวด์ การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave) มักทำในกรณีที่ทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย หรือต้องการให้อาการหายเร็วขึ้น การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นระยะเวลาหนึ่งไม่สำเร็จ โดยจะมีหลายเทคนิค ซึ่งแพทย์จะเป็นคนเลือกให้เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย การป้องกัน โดยทั่วไปโรคนี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้ เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่ รองเท้าที่ไม่รัดจนเกินไป มีส้นที่นิ่ม มีแผ่นรองรองเท้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่น้ำหนักเยอะ หรือใช้งานเท้าเยอะ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน หรือการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง หากมีการออกกำลังโดยการวิ่งอยู่ประจำ ควรปรับท่าวิ่งให้เหมาะสม ได้แก่ ก้าวให้สั้นลง และลงน้ำหนักให้เต็มเท้า หากต้องใช้ฝ่าเท้าหรือใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ควรมีการถอดออกมาพัก และยืดเส้นเอ็นเป็นระยะ ในผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าที่ผิดปกติ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตัดรองเท้าให้เหมาะสม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แคลเซี่ยม และวิตามินดี กับการบำรุงกระดูก

กระดูก ทำหน้าที่เป็นโครงร่างให้ร่างกาย อวัยวะภายใน และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อการขยับเคลื่อนไหว ร่วมถึงเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก และเป็นที่เก็บสะสมแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซี่ยม เพื่อใช้ในระบบต่างๆ เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และให้ความแข็งแรงแก่เนื้อกระดูก แคลเซี่ยม เป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยร้อยละ 99 สะสมที่กระดูกและฟัน และอีก 1% กระจายอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีกลไกควบคุมสมดุลให้ระดับแคลเซี่ยมในเลือดอยู่ในค่าปกติ 8.5 – 10.5 mg/dL การบำรุงรักษากระดูกให้แข็งแรงไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุน จึงต้องได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารที่เพียงพอ เพื่อรักษาระดับแคลเซี่ยมในเลือดไม่ให้ต่ำลงจากค่าปกติ จนร่างกายต้องดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกออกมาใช้ รวมถึงมีระดับ วิตามินดีที่เพียงพอเพื่อช่วยการดูดซึมแคลเซี่ยมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด กระดูกและข้อไม่เหมือนกัน กระดูก เป็นอวัยวะที่มีความแข็ง แต่มีเส้นเลือดจำนวนมากในเนื้อกระดูก มีเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายเนื้อกระดูก(Osteoclast) และสร้างเนื้อกระดูก(Osteoblast) ขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา เพื่อสร้างเนื้อกระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยกระดูกประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อเยื้อเกี่ยวพันจากโปรตีน มีความยืดหยุ่น ได้แก่ คอลลาเจน(Collagen type1) และส่วนที่เป็นผลึกแคลเซี่ยมฟอสเฟส(Hydroxyappatite crystal) ให้ความแข็งของเนื้อกระดูก ข้อ หรือกระดูกอ่อนผิวข้อ เป็นอวัยวะที่พื้นผิวมัน ลื่น และมีความยืดหยุ่น เพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างผิวข้อและกระจายแรงที่กระทำต่อข้อต่อ ไม่มีเส้นเลือดเข้ามาเลี้ยง ทำให้การซ่อมแซมไม่ดีเท่ากระดูก โดยกระดูกอ่อนผิวข้อประกอบด้วยเนื้อเยื้อเกี่ยวพันจากโปรตีน ได้แก่ คอลลาเจน(Collagen type2) แต่ไม่มีการตกผลึกแคลเซี่ยมฟอสเฟสเหมือนกระดูก การบำรุงกระดูกหรือข้อต่อ จึงไม่เหมือนกัน โดยกระดูกจะให้ความสำคัญกับแคลเซี่ยมเป็นหลัก แต่ในขณะที่การบำรุงข้อต่อ จะเน้นที่การซ่อมแซมเนื้อเยื้อเกี่ยวพันหรือกระดูกอ่อนผิวข้อ ดังนั้นการทานแคลเซี่ยมเสริมจะช่วยบำรุงความแข็งแรงของกระดูก แต่ไม่ช่วยบำรุงข้อต่อ       ปริมาณแคลเซี่ยมที่ต้องได้รับในแต่ละวัน                 ร่างกายได้รับแคลเซี่ยมจากการรับประทานอาหารเท่านั้น และปริมาณแคลเซี่ยมที่ต้องได้รับในแต่ละวันจะแตกต่างตามช่วงอายุ ในผู้ใหญ่ หรือคนสูงอายุควรได้รับแคลเซี่ยม ประมาณ 1,000 – 1,200 mg. ต่อวัน เพื่อคงสภาพความแข็งแรงของเนื้อกระดูก                 อาหารที่มีปริมาณแคลเซี่ยมสูง ได้แก่ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมวัน 1 แก้ว(กล่อง) มีปริมาณแคลเซี่ยม ประมาณ 250 – 300 mg. ในคนสูงอายุ หรือต้องการควบคุมไขมัน สามารถดื่มนมไขมันต่ำแทน โดยไม่ทำให้ปริมาณแคลเซี่ยมลดลง ผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ เช่น โยเกิร์ต 1 ถ้วย ชีส 1 แผ่น มีปริมาณแคลเซี่ยมประมาณ 200 – 300 mg. นอกจากนั้น อาหารที่มีปริมาณแคลเซี่ยมสูง ได้แก่ปลา หรือ สัตว์ที่ทานได้ทั้งก้างหรือกระดูก และผักใบเขียวบางชนิด เช่น บล็อคโคลี่ คะน้า ตำลึง รวมถึงเต้าหู้ขาว  ดังนั้นควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้วต่อวันเพื่อให้ได้ปริมาณแคลเซี่มเพียงพอในหนึ่งวัน ความสำคัญของวิตามินดี                   การรักษาระดับแคลเซี่ยมในร่างกายให้ปกติ นอกจากได้รับแคลเซี่ยมที่เพียงพอ ต้องอาศัยวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และเพิ่มการดูดซึมแคลเซี่ยมกลับเข้ากระแสเลือดที่หลอดไต(Renal tubule)โดยระดับวิตามินดีในกระแสเลือดที่เหมาะสม(25OHD) ประมาณ 30 – 50 ng/ml. ร่างการได้รับวิตามินดีจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังโดยรังสี UVB จากแสงแดด และจากอาหาร ร่างกายได้รับวิตามินดีจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังเป็นหลัก ประมาณร้อยละ 80 – 90 โดยต้องได้รับแสงแดดที่แรง และระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วง 10 โมงเช้า ถึง บ่าย 2 โมง ต้องใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที โดยไม่ทาครีมกันแดด แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่แดดอ่อน อาจต้องใช้เวลา 40 – 60 นาที เพื่อจะได้รับปริมาณวิตามินดีเพียงพอในหนึ่งวัน นอกจากการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดด ร่างกายยังได้รับวิตามินดีจากอาหารที่รับประทาน     โดยปริมาณวิตามินดีที่แนะนำในหนึ่งวันประมาณ 600 – 800 IU.  อาหารที่มีปริมาณวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา 1 ช้อนชา มีปริมาณวิตามินดี 400 – 1,000 IU. ปลาแซลม่อน 100 gm. มีปริมาณวิตามินดี 300 – 600 IU. ปลาทูน่า ปลาซาดีน ปลาแมคเคอเรล 100 gm. หรือปลากระป๋อง 1 กระป๋อง มีปริมาณวิตามินดี 200 – 300 IU. และในผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดที่มีการเสริมวิตามินเข้าไป เช่น นม นมถัวเหลือง น้ำผลไม้ เป็นต้น  การใช้แคลเซี่ยม และวิตามินดีเสริม             การได้รับแคลเซี่ยมและวิตามินดีที่เพียงพอจากธรรมชาติ ทั้งจากอาหาร และการสังเคราะห์จากแสงแดด ดีที่สุด และไม่จำเป็นต้องรับแคลเซี่ยมและวิตามินดีเสริม แต่ในคนที่มีภาวะกระดูกพรุน หรือคนที่มีโอกาสขาดแคลเซี่ยมหรือวิตามินดี เช่น คนสูงอายุที่ทานได้น้อย หรือไม่โดนแสงแดด จำเป็นต้องได้รับแคลเซี่ยม และวิตามินดีเสริม การเลือกใช้แคลเซี่ยมเสริม ปริมาณแคลเซี่ยม ดูที่ปริมาณแคลเซี่ยมที่ได้รับจริงหลังจากแตกตัวหรือ Elemental calcium ที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ โดยคิดจากปริมาณแคลเซี่ยมที่ขาดไปจากอาหารที่รับประทาน เช่น ร่างกายต้องได้รับแคลเซี่ยม 1000 mg. ต่อวัน แต่ได้รับจากอาหารประมาณ 400 mg. ต้องได้รับแคลเซี่ยมเสริมประมาณ 600 mg. เป็นต้น โดยไม่แนะนำให้ปริมาณแคลเซี่ยมมากกว่า 1,500 mg. ต่อวัน เนื่องจากไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากปริมาณที่แนะนำ และอาจมีผลเสียจากปริมาณที่มากเกินไป ชนิดของแคลเซี่ยม มีหลายชนิด เช่น แคลเซี่ยมคาร์บอเนต แคลเซี่ยมซิเตรท แคลเซี่ยมแอลทริโอเนต โดยแตกต่างที่การแตกตัว การดูดซึม วิธีการใช้ และราคา ตามคำแนะนำมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ให้ใช้แคลเซี่ยมคาร์บอเนตก่อน เนื่องจากราคาถูก Elemental calcium มากที่สุด หาซื้อง่าย แต่มีข้อเสียสำคัญคือต้องอาศัยกรดในกระเพาะอาหารในการแตกตัว จึงต้องทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ไม่แนะนำทานตอนท้องว่าง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดในกระเพราะอาหาร และมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่ ท้องอืด ท้องผูก ไม่สบายท้อง ซึ่งลดผลข้างเคียงโดยแบ่งครึ่งเม็ดยา รับประทานวันละ 2 เวลา  หรือเปลี่ยนเป็นแคลเซี่ยมแบบละลายน้ำหรือใช้แคลเซี่ยมชนิดอื่นแทน วิธีใช้แคลเซี่ยมเสริม จะแตกกต่างตามชนิดของแคลเซี่ยมที่รับประทาน เช่น แคลเซี่ยมคาร์บอเนต ต้องทานพร้อมหรือหลังอาหารทันที ห้ามทานตอนท้องว่าง แคลเซี่ยมซิเตรท แคลเซี่ยมแอลทริโอเนต  สามารถรับประทานตอนไหนก็ได้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องอาศัยกรดในกระเพาะอาหารในการแตกตัว ควรแบ่งรับประทานแคลเซี่ยมเสริม 2 มื้อ และไม่ควรเกิน 600 mg. ต่อมื้อ และรับประทานวิตามินดีเสริมร่วมด้วย เพื่อให้ช่วยการดูดซึมแคลเซี่ยมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้มากที่สุด การเลือกใช้วิตามินดีเสริม                 วิตามินดีเสริม มีหลายประเภท โดยวิตามินดีเสริมที่แนะนำ ได้แก่ วิตามินดี 2 และวิตามินดี 3  โดยวิตามินดีเสริมทั้ง 2 ชนิดเป็นวิตามินดี ที่ยังไม่ออกฤทธิ์(Inactive vitamin D) ต้องผ่านการเปลี่ยนเป็นโครงสร้างโดยตับ และ ไต ได้เป็นวิตามินดีที่ออกฤทธิ์(Acitve vitamin D) แต่ในคนที่มีภาวะโรคตับและไต อาจต้องเปลี่ยนเป็นอนุพันธ์วิตามินดีเสริม(Active vitamin D supplement)แทน                 ปริมาณที่แนะนำ วิตามินดี 2 (Vitamin D2) 20,000 IU./สัปดาห์ วิตามินดี 3 (Vitamin D3) 800 – 2,000 IU./วัน ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์แคลเซี่ยมเสริมหลายชนิด มีการเติมวิตามินดีเสริมเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถเลือกรับประทานวิตามินดีเสริมได้ทั้งแบบ วิตามินดี ชนิดเดียว หรือ แบบผสมกับแคลเซี่ยมได้ ในปริมาณที่ต้องการ แต่ไม่แนะนำ ให้รับประทานวิตามินรวม(Multivitamin) เพื่อให้ได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ได้รับวิตามินชนิดอื่นในปริมาณที่สูงเกินไป การบำรุงรักษากระดูกให้แข็งแรง นอกจากการได้รับแคลเซี่ยม และวิตามินดีเพียงพอ ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และได้รับโปรตีนจากอาหารที่เพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งงดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มกาแฟมากเกินไป และการตรวจมวลกระดูกเพื่อประเมินความแข็งแรงของกระดูกตามข้อบ่งชี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุน   นายแพทย์พงศา มีมณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด และการป้องกัน

เอ็นไขว้หน้าเป็นเอ็นยึดข้อเข่าที่สำคัญภายในเข่า  ช่วยให้มีความมั่นคงของเข่า ในการบิดหรือหมุนข้อเข่า (Rotational  stability) คนที่ไม่มีเอ็นไขว้หน้า เมื่อบิดข้อเข่าจะรู้สึกเข่าอ่อนจะล้ม เกิดอาการปวดเข่า และอาจจะมีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อร่วมด้วย  ถ้าเข่าเสียความมั่นคงเกิดอาการบิดเช่นนี้บ่อย ๆ จะทำให้การบาดเจ็บของหมอนรองข้อและผิวข้อมากขึ้น กลายเป็นภาวะข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย เอ็นไขว้หน้าขาดเพียงอย่างเดียวมักไม่ทำให้เกิดอาการปวด นอกจากมีอาการ 2 – 3 สัปดาห์แรก  หลังเกิดอุบัติเหตุ  ปัญหาของเอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากเข่าไม่มีความมั่นคง เวลารับน้ำหนักแล้วบิดเข่า (เช่น เวลาเดินจะเลี้ยว หรือเปลี่ยนทิศทาง) การวิ่งหรือขี่จักรยานยังสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหามากนักแต่กิจกรรมที่ต้องการความว่องไว และมีการบิดหมุนเข่า มักจะทำไม่ค่อยได้ถ้าไม่มีเอ็นไขว้หน้ายึดเข่าให้มั่นคง เอ็นไขว้หน้าขาดไม่สามารถต่อเองได้ ถ้าต้องการความมั่นคงของเข่าที่มีการบิดหมุนร่วมด้วย ต้องสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นมาใหม่ มีเอ็นที่นำมาสร้างแทนเอ็นไขว้หน้า มาได้จาก  3  แห่ง ใช้เอ็นจากกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า (Hamstring tendons) ใช้บางส่วนของเอ็นลูกสะบ้า  (Kneecap or patellar tendon) ใช้เอ็นจากที่อื่น ที่ไม้ใช่จากตัวผู้ป่วยเอง (Allograft)   นักกีฬาอาชีพทั้งชายและหญิงจำนวนมากที่สามารถกลับมาเล่นในระดับแนวหน้าได้อีก หลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า  ความพยายามฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นมากแต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่นักกีฬาอาชีพจะไม่สามารถกลับมาเล่นในมาตรฐานเดิมเหมือนก่อนการบาดเจ็บ การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า มักจะสัมพันธ์กับชนิดกีฬาที่เล่นมากกว่า เช่น พบบ่อยในนักกีฬาประเภท ฟุตบอล , บาสเกตบอล , วอลเลย์บอล ในการเล่นกอล์ฟ เกิดขึ้นได้น้อยกว่า นอกจากจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ที่น่าสนใจ คือมีสถิติ การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าขวาขาด จากการเล่นบาสเกตบอล พบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  2  เท่า   จากการเล่นฟุตบอลพบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  4  เท่า  หรือประมาณร้อยละ  60  ของนักกีฬาหญิงที่เล่นบาสเกตบอล เกิดขึ้นขณะกระโดดลงพื้น เอ็นไขว้หน้าคืออะไร  มีหน้าที่อะไร เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament - ACL) เป็นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า  ช่วยป้องกันกระดูกทีเบีย (Tibia)  เคลื่อนที่ไปข้างหน้าใต้กระดูกฟีเมอร์(Femer)  เอ็นไขว้หน้า จะตึงเวลาเหยียดเข่าแรงบิดหมุนที่รุนแรงทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ และความมั่นคงของเข่า ที่ป้องกันไม่ให้กระดูกทีเบีย(Tibia)  เลื่อนไปข้างหน้าใต้เข่า หรือบิดหมุน ก็จะเสียไปถ้าไม่ได้รับการรักษา หมอนรองข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อ ก็จะได้รับแรงที่ผิดปกติมากเกิน ทำให้ข้อเสียเกิดภาวะข้อเสื่อมได้ จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บเอ็นไขว้ในนักกีฬาหญิง ผลการศึกษาวิธีการฝึกการบริหาร สามารถช่วยลด อัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าลงได้ การกระโดด พบว่านักกีฬาหญิงเวลากระโดดลงพื้นโดยไม่งอเข่ามากเท่านักกีฬาชาย  แรงกระแทกบนเข่าจะมากกว่าทำให้อัตราการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสูงขึ้น เวลาหมุนบิดเข่า  นักกีฬาหญิงมักจะหมุนบิดเข่าขณะที่เข่าเหยียดมากกว่านักกีฬาชาย  การงอเข่าและสะโพกจะช่วยลงแรงที่กระทำต่อเอ็นไขว้หน้า ในการเล่นกอล์ฟ ขณะที่หัวไม้กระทบลูก การรักษาเข่าซ้ายให้งอไว้เล็กน้อยจะลดแรง บนเอ็นไขว้หน้าได้มากกว่า  สะบัดเข่า สะโพกให้เหยียดขึ้นทันที  ซึ่ง Tiger  Woods  ชอบใช้มากเวลาต้องการให้ไกลขึ้นอีก 30 – 40  หลา กล้ามเนื้อที่ควบคุมเข่า  มีกล้ามเนื้อเหยียดเข่าคือ กล้ามเนื้อ Quadriceps  อยู่ด้านหน้าต้นขา และกล้ามเนื้องอเข่าคือ Hamstrings อยู่ด้านหลังต้นขา นักกีฬาหญิงส่วนใหญ่ใช้กล้ามเนื้อ Quadriceps เวลาเปลี่ยนทิศทางหมุนขา แรงของกล้ามเนื้อ ดึงกระดูกทีเบีย(Tibia)  ไปข้างหน้าและเหยียดเข่าทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าได้การบริหารกล้ามเนื้อ Hamstrings และใช้กล้ามเนื้อ Hamstrings มากขึ้น ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าได้ การป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า ทำได้ทั้งนักกีฬาหญิงและชายโดย ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดเข่า และงอเข่า และการบริหารยืดเหยียด รวมทั้งการสร้างสมดุลและการทรงตัวของเข่าสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักกอล์ฟด้วย นอกจากลดการบาดเจ็บแล้ว การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การทรงตัวที่ดี จะทำให้ตีลูกกอล์ฟได้แม่นยำขึ้น ตีไกลขึ้น และควบคุมทิศทางได้ดีขึ้น การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Quadriceps ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง  เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหน้าให้มากที่สุด  นาน  5 – 7 วินาที  ทำซ้ำ 6 – 10  ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Hamstrings  ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้มตัวไปข้างหลัง และข้างหน้า รู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด  นาน  5 – 7  วินาที  ทำซ้ำ  6 – 10  ครั้ง   ทำซ้ำทั้ง  2  ข้าง การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อ Quadriceps นั่งเก้าอี้สูง  งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย , ยางยืด กล้ามเนื้อ Hamstrings นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า  หรือแรงต้านจากยางยืด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด

สำหรับผู้ที่ทำงานโรงงาน หรือเจ้าของโรงงาน ที่มีเครื่องมืออันตราย ควรอ่านเรื่องนี้นะคะ การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้าง ๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน การเก็บรักษาส่วนที่ขาด เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ในกระติกน้ำแข็ง ถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิประมาณ 4 องศา C) รีบนำส่ง รพ. อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. เพราะกล้ามเนื้อจะตาย ถ้าทิ้งไว้นานเกิน บริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ยังสามารถต่อได้ ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3 ชม. สามารถรับนำส่งได้เลย ทาง รพ. สามารถจะเตรียมเก็บส่วนที่ขาด เพื่อทำการต่อได้ ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ที่สามารถต่อนิ้วแล้วนำไปใช้ได้ดีกว่าไม่มีนิ้วหรือใช้นิ้วเทียม ส่วนของที่ขาด ยังมีเส้นเลือด และเนื้อเยื่อไม่ช้ำมาก เช่น ถูกมีดฟัน, ถูกเครื่องตัด การเก็บนิ้วที่ องศา C ส่วนของแขน ขา ไม่เกิน 6 ชม., ส่วนของนิ้ว ภายใน 12-18 ชม., ส่วนของมือ ไม่เกิน 12 ชม. ถ้าไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง ต้องรีบนำส่ง รพ. ภายใน 2-3 ชม. ข้อห้ามในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา ผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้ เช่น เป็นโรคหัวใจ, โรคปอด ส่วนของเนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น ถูกเครื่องบด, ถูกเครื่องปั่น รัด ดึง ขาด ถูกทับขาด, ถูกระเบิดนิ้ว แขน ขา ขาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ส่วนที่ขาดตกไปในน้ำครำ หรือถูกสุนัข, สัตว์กัดขาด ส่วนที่ขาดไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง นานเกิน 6 ชม. หรือส่วนแขน ขา แม้เก็บที่ 4 องศา C แต่นานเกิน 6 ชม. การต่ออาจสำเร็จ แต่เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อตาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายไหลกลับเข้ากระแสโลหิตเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ที่สูญเสียนิ้วไปแล้ว ต้อการผ่าตัดแก้ไข พิจารณาความต้องการของคนไข้และการใช้งานของมือที่เหลือ สูญเสียนิ้วหัวแม่มือ สมรรถภาพการทำงานของมือลดลง 40% การผ่าตัดสร้างนิ้วหัวแม่มือขึ้นมาใหม่ เช่น การย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนนิ้วหัวแม่มือ หรือการสร้างนิ้วหัวแม่มือ โดยต่อกระดูกให้ยาวขึ้น แล้วใช้ส่วนของผิวหนังเล็บจากนิ้วหัวแม่เท้ามาคลุมกระดูกต่อเส้นเลือด เส้นประสาท จะช่วยให้มีนิ้วหัวแม่มือที่มีรูปร่าง และความยาวใกล้เคียงกับนิ้วหัวแม่มือมาก การสูญเสียนิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว เหลือนิ้วหัวแม่มือนิ้วเดียว สูญเสียการทำงานของมือ 60% การผ่าตัดย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนที่นิ้วที่ขาด 1-2 นิ้วจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น การสูญเสียนิ้วเพียงนิ้วเดียว หรือบางข้อ ไม่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นมากนัก อาจจะไม่คุ้มค่ากับการผ่าตัดย้ายนิ้ว หรือสร้างนิ้วเพิ่มขึ้น ข้อเขียนโดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บบริเวณข้อมือและกระดูกหักนักกอล์ฟ

การบาดเจ็บบริเวณข้อมือและกระดูกหักนักกอล์ฟ           นักกอล์ฟถนัดมือขวา ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บบริเวณมือซ้าย (มือที่อยู่ใกล้เป้าหมาย) ระหว่างการทำวงสวิง มือซ้ายจะมีอาการเคลื่อนไหวในแนวเอียงมาทางนิ้วหัวแม่มือ (radial deviation) หรือภาษากอล์ฟเรียก ค๊อกกิ้ง (cocking) และเอียงกลับมาทางนิ้วก้อย (Ulnar deviation) หรือเรียก Uncocking มากกว่าการเคลื่อนไหวกระดกข้อมือและงอมือ การเคลื่อนไหวจากวงสวิงที่ไม่ดีหรือการซ้อมมากเกินไปทำให้มีการบาดเจ็บของเอ็นบริเวณข้อมือได้ การบาดเจ็บที่รุนแรงถึงขั้นกระดูกหักพบไม่บ่อยนักแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับการเล่นกอล์ฟซึ่งบางคนเรียกว่า กระดูกหักนักกอล์ฟ (Golfer’s fracture) เนื่องจากด้ามไม้กอล์ฟไปกระแทรกบริเวณกระดูกข้อมือขณะที่โดนพื้นหรือตีออกจากรัฟ กระดูกข้อมือชิ้นนี้ เรียกว่า กระดูก Hamate ซึ่งมีส่วนยื่นคล้ายตะขอมาทางด้านฝ่ามือ เรียก Hook of Hamate อยู่ใกล้กับด้ามไม้กอล์ฟมาก รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของตำแหน่งกระดูก Hamate เอ็นที่งอนิ้วมือ (Flexor tendons) เส้น เลือดเส้นประสาท (Ulnar artery and nerve) รูปที่ 2 การจับกริปที่ไม่ดีหรือวงสวิงที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ด้ามไม้กอล์ฟเสียดสีกับถุงมือซึ่งเป็น บริเวณตำแหน่งใกล้กับกระดูก Hamate ถ้ารุนแรงอาจทำให้กระดูก Hamate หักได้           ความสำคัญของกระดูกหักชนิดนี้ คือ มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ เนื่องจากอาการที่ได้รับหลังการบาดเจ็บไม่มากและไม่ค่อยชัดเจน ดูภายนอกอาจจะมองไม่เห็นความผิดปกติ นักกอล์ฟบางท่านที่กระดูกหักอาจรู้สึกเพียงเจ็บเล็กน้อย ไม่ค่อยมีแรง ตีไม่ได้ระยะ นักกอล์ฟหลายท่านรักษาเอง ไม่ได้ไปพบแพทย์ บางท่านอาจไปพบแพทย์ แต่ไม่พบว่ามีกระดูกหัก และไม่ได้ติดตามผลการรักษาต่อเนื่อง ทิ้งไว้นานเกินไปเป็นเดือนหรือหลายเดือน จนกระดูกเคลื่อนหรือไม่ติดแล้ว บางรายมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเนื่องจากบริเวณที่กระดูกหักไปกดเส้นประสาทหรือเส้นเอ็น ทำให้นิ้วก้อยชาหรือเอ็นที่งอกระดูกนิ้วก้อยขาดได้ รูปที่ 3 ภาพ CT scan แสดงรอยหักของกระดูก Hamate (ลูกศรชี้) การป้องกัน • ด้ามไม้กอล์ฟควรมีขนาดที่เหมาะสมกับมือ และจับให้ด้ามไม้กอล์ฟพ้นออก มาจากฝ่ามือซ้ายเล็กน้อย • การจับกริปให้ถูกต้องและศึกษาวงสวิงที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันการตีโดนพื้น • ควรบริหารนิ้วมือให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการบีบสปริงมือหรือลูกเทนนิสบ่อย ๆ • บริหารยืดเหยียดข้อมือให้เคลื่อนไหวในแนวเอียงไปทางนิ้วหัวแม่มือ – นิ้วก้อย (Cocking - Uncocking) • บริหารข้อมือโดยใช้ตุ้มน้ำหนัก รูปที่ 4 การบริหารกล้ามเนื้อแขนด้านหน้าโดยใช้ยกน้ำหนัก งอข้อมือ กระดกข้อมือ และหมุนข้อมือ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ • เมื่อมีการบาดเจ็บควรหยุดการเล่นกอล์ฟ ถ้ามีบริเวณที่กดเจ็บ จับกริป เคลื่อนไหวแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น จับไม่ได้แน่นหรือตีกอล์ฟไม่มีแรงควรพบแพทย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ควรกลับมาพบแพทย์ใหม่เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เพราะการวินิจฉัยโดยการตรวจ X – ray ท่าปกติมักไม่เห็นรอยกระดูกหักอาจจะต้องพิจารณา X – ray ท่าพิเศษ เรียก Carpal tunnel view หรือ ตรวจด้วย CT Scan จึงจะเห็นรอยกระดูกหักได้ • การรักษากระดูกหักตั้งแต่แรก คือ การใส่เฝือก 6 – 8 สัปดาห์ • ถ้าทิ้งไว้นานเกิน 1 เดือน หรือกระดูกเคลื่อนแล้วใส่เฝือกรักษาไม่ได้ผลมักจะ ต้องรับการผ่าตัดรักษาเอาส่วนกระดูกที่หักออก โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี จาก Golf lover’s Magazine Healthy tips  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ

ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ ในการเล่นกอล์ฟให้ดีขึ้น ท่านนักกอล์ฟสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 3 อย่าง คือ เปลี่ยนไม้กอล์ฟ ปรับเปลี่ยนวงสวิง ปรับปรุงสมรรถภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟเอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ อุปกรณ์เกี่ยวกับกอล์ฟดีขึ้นมาก นักกอล์ฟโดยทั่วไปสามารถตีไกลขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน การศึกษาวงสวิง การใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้านการแพทย์ รวมทั้งการถ่ายภาพวีดีทัศน์ความเร็วสูง การประมวลข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้เข้าใจและพัฒนาวงสวิงของกอล์ฟได้มากขึ้น รวมทั้งการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้มากขึ้น ผมอยากจะเน้นให้ท่านนักกอล์ฟ เข้าใจถึงการซ้อมกอล์ฟว่าควรจะซ้อมมากน้อยแค่ไหน ถึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและไม่เกิดการบาดเจ็บ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในร่างกาย            เนื้อเยื่อในร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับแรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อนั้น เมื่อปี 1982 นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Julius Wolff ได้ศึกษากระดูกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการได้รับแรงที่มากระทำกับกระดูก จะมีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นที่รู้จักกันดีของแพทย์ปัจจุบัน เรียก Wolff’s Law แต่ถ้ากระดูกไม่ได้รับแรงมากระทำ จะลดความแข็งแรงและความหนาแน่นกระดูกลดน้อยลงในการศึกษาต่อมา รายหลังพบว่าเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดอื่นมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ด้วย เช่น เอ็น (tendon), เอ็นยึดกระดูกและข้อ (ligament) และกล้ามเนื้อ รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเมื่อมีแรงมากระทำ           แรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างก่าย เช่น กล้ามเนื้อเอ็น, เอ็นยึดกระดูกและข้อเปลี่ยนแปลงตามการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน จากน้อยมาก ปานกลาง จนถึงระดับสูงมาก เช่น แรงกระทำที่มีต่อกระดูกน้อยมากในผู้นอนพัก และมีแรงกระทำอย่างมากในผู้ที่วิ่งกระโดด จากรูป แสดงขนาดของแรงที่มากระทำ ถ้าต่ำเกินไปจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ เอ็นไม่แข็งแรง กระดูกบางหักง่าย ในผู้ที่ค่อนข้างจะทำงานเคลื่อนไหวสม่ำเสมอกระดูกกล้ามเนื้อเอ็นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่อ่อนแอแต่ก็ไม่แข็งแรงขึ้น  ในการเพิ่มแรงกระทำ ที่ใช้ในการฝึกเพิ่มขึ้นกว่าการใช้ชีวิตประจำวัน เนื้อเยื่อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีการบาดเจ็บในระดับเซลล์ เรียก Microdamage ร่างกายตอบสนองโดยมีการปรับตัว (remodeling) สร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น มี Microdamage มาก จะมีการปรับตัวมาก และใช้เวลาในการปรับตัวและพักนานมากขึ้น ผลของการปรับตัวจะทำให้กระดูกเอ็นกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น ถ้ามีแรงกระทำมากเกิน จะทำให้เกิดการฉีกขาด การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์) ทำให้เกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อนั้น เช่น กระดูกหักร้าว เอ็นฉีก กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ขนาดของแรงและความถี่ รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของแรง และความถี่ที่มากระทำเป็นผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ            แรงที่มากระทำบางครั้งไม่ได้เกิดจากความรุนแรงหรืออุบัติเหตุ แต่เกิดจากแรงกระทำ ขนาดน้อย ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ว่ามีการทำซ้ำบ่อย ๆ ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ การบาดเจ็บลักษณะที่แรงขนาดน้อยกระทำต่อส่วนของเนื้อเยื่อ แต่ทำซ้ำที่เดิมบ่อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรียก Overuse injury ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 อย่าง คือขนาดของแรง จำนวนครั้งที่ทำซ้ำและระยะเวลาที่พักเพื่อให้เนื้อเยื่อมีการปรับตัว การบาดเจ็บชนิดนี้พบได้บ่อยในนักกอล์ฟฝีมือดี เช่น บาดเจ็บเอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก ข้อสรุปสำหรับท่านนักกอล์ฟ 1. ท่านนักกอล์ฟควรหาโอกาสออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ว่าในที่ทำงาน หรือสนาม กอล์ฟ ขึ้นลงบันได 1 – 2 ขั้น ไม่ควรใช้ลิฟต์ ถ้าท่านเดินไหวไม่ควรใช้รถกอล์ฟ เพื่อรักษากระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ 2. การฝึกออกกำลังกายเพิ่มขึ้นที่ละน้อย และสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายท่านแข็งแรงขึ้น 3. ถ้าท่านมีอาการปวด เมื่อย ท่านควรจะพัก ถ้าอาการหายได้ปกติ ภายใน 1 – 2 วัน ท่านจะแข็งแรงขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติมากขึ้น ท่านควรพบแพทย์เพื่อการรักษา 4. ในการซ้อมกอล์ฟถ้าท่านซ้อมไดร์ฟด้วยหัวไม้เต็มที่ จำนวนครั้งท่านจะต้องไม่มาก เกินจนถึงกับมีอาการปวด ควรสลับกับการซ้อมลูกสั้นต่ำกว่า 100 หลาลงมา 5. การซ้อมหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการสู่ความเป็นเลิศ แต่ท่านต้องซ้อม ให้ถูกวิธี และค่อย ๆ ฝึกสร้างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับวงสวิงให้แข็งแรงร่วมด้วย และรู้วิธีป้องกันการบาดเจ็บด้วยครับ   โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน

ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน โปรอ้วน (โปรนันทวัฒน์ ศิริพร) โทรมาหาผมที่โรงพยาบาล อยากให้ช่วยเขียนเรื่อง ลงใน Galaxy Golf ถามผม ถ้าผมว่างเย็นนี้ให้ไปซ้อมกอล์ฟที่สนามรถไฟ จะช่วยดูวงสวิงให้ และคุยกันเรื่องงาน เสร็จงานผมก็รีบไปเจอโปรอ้วน ซื้อลูกกอล์ฟมา 6 ถาด ยืดเส้นยืดสายเสร็จแล้ว เริ่มซ้อมต่อเนื่องจนเหงื่อไหลท่วมตัว โปรอ้วนก็ดีมากมาคอยแนะนำตลอดบอกว่า วงใช้ได้แล้ว หลังจากหมดแรง โปรอ้วนก็ให้ผมช่วยเขียนเรื่องให้ด้วยเพื่อเป็นความรู้สำหรับนักกอล์ฟ  แหมโปรอ้วนอุตสาห์สอนให้ฟรีแถมยังชมอีก ก็ต้องรับด้วยความเต็มใจซิครับ เนื้อหาต่อไปนี้ ผมจะพาท่านนักกอล์ฟเจาะลึกเข้าไปถึงกีฬากอล์ฟ ซึ่งเป็นเกมพิศวงสงสัย ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง  เป็นการเล่นที่ดูเหมือนง่ายมาก แค่เอาไม้พัตต์เตอร์เคาะลูกไปที่หลุม ระยะเพียง 3 – 4 ฟุต แต่ก็ยังพลาดได้  นักกอล์ฟบางคนตีไกลมากเกิน 300 หลา ทำได้อย่างไร  บางคนทำโฮลอินวัน .… ฟลุคมั้ง (ไม่อยากบอก ผมทำมา 2 ครั้งแล้วครับ)   บางคนซ้อมมาก ออกรอบสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ก็ยังตีลูกตกน้ำเป็นประจำยิ่งซ้อมยิ่งแย่ ระดับโปรซ้อมอย่างไร ในหนังสือ ธงชัยใจดี บนเส้นทางสู่ดวงดาว  อายุ 13 ปี เอาไม้กอล์ฟหักที่เขาทิ้งแล้ว มาต่อกับไม้ไผ่ เล่นหลังเลิกเรียนกับเพื่อน จนถึงตี 1 ตี 2 โดยเอาไฟฉายส่องลูกตี  เมื่อเริ่มมีถุงกอล์ฟ ซ้อมทุกวัน วันเสาร์ – อาทิตย์ ซ้อมตั้งแต่เช้าจนมืด  เป็นทหารฝึกหนักวิ่งออกกำลังกายทุกวัน ทำให้มีระเบียบวินัยในการฝึก  เป็นนักกอล์ฟประเภทพรแสวง           เราจึงภูมิใจที่มีคนไทยคนแรกที่ลงเล่นเดอะมาสเตอร์ที่ออกัสตา เมื่อ 6 เมษายน 2549 และเป็นคนไทยคนแรกที่ลงเล่นรายการเมเจอร์ ครบทั้ง 4 รายการ ขอยกตัวอย่างคนไทยที่เราอยากให้เป็นคนไทยอีกคนหนึ่ง คือไทเกอร์ วู้ดส์  ในหนังสือ Tiger Woods : How I Play Golf ในการแข่งขันกอล์ฟคนอื่นอาจ เอาชนะเขาได้ แต่ไม่มีใครจะเอาชนะเขาได้เรื่องการซ้อมหนัก  ในขณะที่เป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลกผู้บรรยายภาษาอังกฤษ ถามว่าเขาเก่งขนาดนี้ แล้วยังต้องซ้อมหนักอีกหรือ เขาตอบว่าเมื่อวานเขายังเป็นคนสุดท้ายที่สนามซ้อม กลับมาที่คำถามเดิม ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน คำตอบคือ  1. ขึ้นอยู่กับท่านเริ่มต้นที่จุดไหน 2. ท่านจะไปให้ถึงจุดไหน           ถ้าท่านต้องการไปให้ถึงระดับสูงสุดที่ท่านต้องการ ท่านต้องไม่ยอมให้นักกอล์ฟ ในระดับนั้น ซ้อมหนักกว่าท่าน ผมขอฝากคำคม “ คิดให้ไกล ไปให้ถึง ” ครับ   โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กระดูก................ที่นักกอล์ฟควรรู้จัก

โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี กระดูก................ที่นักกอล์ฟควรรู้จัก           สวัสดีครับ ผู้เขียนได้เคยอธิบายถึง “กระดูกมีชีวิต” ซึ่งศึกษาในระดับเซลล์ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยในการศึกษา ตอนนี้เราจะมาเข้าใจกระดูกที่เห็นด้วยตาเปล่า และมีความสำคัญในกีฬากอล์ฟ กระดูกในร่างกายคนเรามี 206 ชิ้น แบ่งเป็นกระดูกแกนกลาง (Axial skeleton) จำนวน 80 ชิ้น กระดูกระยางค์ (Appendicular Skleton) คือกระดูกที่ประกอบเป็นแขน และขา จำนวน 126 ชิ้น            กระดูกแกนกลางที่ท่านนักกอล์ฟควรจะรู้จัก ก็คือ กระดูกสันหลัง (Spine) มีจำนวน 26 ชิ้น (กระดูกกะโหลกศรีษะ, กระดูกใบหน้า ไม่มีความสำคัญในวงสวิงของกอล์ฟ) กระดูกสันหลังส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือ 1. ส่วน body เป็นแผ่นกลมหนาอยู่ด้านหน้า ผิวบนและผิวล่างของ body จะเป็นที่เกาะของหมอนรองกระดูกสันหลัง กระดูกส่วนนี้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก 2. Verterbral arch เป็นแท่งกระดูกโค้งที่อยู่ติดทางด้านหลังของ body เป็นที่บรรจุไขสันหลัง 3. Process ปุ่มที่ยื่นออกมาจาก Vertebral arch จำนวน 7 อัน เป็นข้อต่อประกอบกับกระดูกสันหลังที่อยู่ติดกัน และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อ ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังส่วนคอ มี 7 ชิ้น            กระดูกคออันที่ 1 และอันที่ 2 จะมีลักษณะแตกต่างจากกระดูกสันหลังอันอื่นๆ คือกระดูกคออันที่ 1 เรียกว่า Attas มีรูปร่างเหมือนวงแหวน ไม่มีส่วนของ body กระดูกคออันที่ 2 เรียกว่า Axis มีปุ่มยื่นออกจากส่วนบนของ body เรียกว่า Dens คล้ายเดือยยื่นขึ้นไปในวงแหวนของกระดูกคออันที่ 1           การหมุนศรีษะ 60% จะอยู่ที่บริเวณกระดูกคออันที่ 1 และ 2 ถ้าท่านก้มคอ ท่านจะหมุนศรีษะได้ประมาณ 45 – 50 องศา โดยหมุนศรีษะบนกระดูกคออันที่ 1 และ 2 แต่ถ้าท่านยืดคอ เงยคางขึ้นท่านจะหมุนศรีษะได้ 80 – 90 องศา ให้คางไปแตะที่ไหล่แต่ละด้านได้ โดยการหมุนศรีษะอีก 40% จะหมุนบนกระดูกคออันที่ 3 ถึงอันที่ 7 รวมกัน ด้วยเหตุผลทางโครงสร้างของกระดูกคอ ในการจรดไม้กอล์ฟจึงไม่ควรก้มมองดูลูก แต่ควรจะยืดคอ เงยคางขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้คางลอดผ่านได้อย่างเดียว แต่เพราะช่วยให้หมุนคอในส่วนของกระดูกคออันที่ 3 – 7 ลงมาจะช่วยทำให้แรงบิดของลำตัวทำได้เต็มที่  กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Verabra) 12 ชิ้น            มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่ากระดูกสันหลังส่วนคอ แต่เนื่องจากมีกระดูกซี่โครงยึดติดกับกระดูกหน้าอก 12 คู่ ทำให้กระดูกสันหลังส่วนอกมีการเคลื่อนไหวน้อย กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Vertebra) 5 ชิ้น            ขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด มีการเคลื่อนไหวมากบริเวณ 2 อันล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่าก้มและแอ่นหลัง  กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) 5 ชิ้น            ต่อกันรวมกันเป็นชิ้นเดียว ไม่มีการเคลื่อนไหว   กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ (Coccyx) 4 ชิ้น           รวมกันเป็นชิ้นเดียว เวลาล้มก้นกระแทกกับพื้นแข็งๆ อาจจะมีกระดูกก้นกบหักหรืองอได้  การโค้งของกระดูกสันหลัง            กระดูกสันหลังปกติ ถ้ามองทางด้านหลังจะเห็นเป็นเส้นตรง แต่ถ้ามองทางด้านข้างจะเห็นเป็นส่วนโค้งอยู่ 4 แห่ง บริเวณคอ และเอวจะโค้งมาทางด้านหน้า ส่วนบริเวณอก และกระเบนเหน็บจะโค้งไปทางด้านหลัง ในเด็กแรกเกิดอยู่ในครรภ์มารดาตัวงอ กระดูกสันหลังจะเป็นโค้งเดียว หลังจากเด็กเริ่มเงยคอ คลานได้ กระดูกจะโค้งไปทางด้านหน้า เมื่อหัดยืนได้ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะโค้งไปทางด้านหน้า ส่วนกระดูกสันหลังส่วนอก และกระเบนเหน็บจะโค้งไปทางด้านหลังแบบเดิม             การโค้งของกระดูกสันหลัง เพิ่มความแข็งแรง ช่วยให้เกิดความสมดุลในการทรงตัว และลดแรงกระแทกขณะเดิน หรือวิ่ง การจรดไม้กอล์ฟควรงอที่ข้อสะโพก ไม่ก้มบริเวณที่หลังจะทำให้โค้ง กระดูกสันหลังส่วนเอวผิดรูป และหมุนได้น้อยลง นอกจากนั้นทำให้แรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้ง่าย หรือรุนแรงจนถึงหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นมากดทับเส้นประสาทได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ

กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ ฉบับที่ผ่านมาผมได้เน้นถึงการซ้อมกอล์ฟ จะต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟด้วย ถ้าเกิดการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าท่านนักกอล์ฟจะมีวงสวิงที่ดีแค่ไหน หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ราคาแพงมาก ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้ท่านเล่นกอล์ฟได้ดี เพราะการควบคุมวงสวิงอยู่ที่มือที่ท่านจับไม้กอล์ฟซึ่งเป็นส่วนต่อ ออกมาจากข้อมือ ข้อศอก ไหล่ และลำตัว   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ           ที่ผ่านมาผมได้เน้นถึงการซ้อมกอล์ฟ จะต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟด้วย ถ้ามีการเกิดบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าท่านนักกอล์ฟจะมีวงสวิงที่ดีแค่ไหน หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ราคาแพงมาก ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้ท่านเล่นกอล์ฟได้ดี เพราะการควบคุมวงสวิงอยู่ที่มือที่ท่านจับไม้กอล์ฟ ซึ่งเป็นส่วนต่อออกมาจากข้อมือ ข้อศอก ไหล่ และลำตัว           การทำงานของร่างกายควบคุมผ่านสมอง ทั้งระบบประสาทส่วนกลาง ที่ท่านสามารถควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามใจสั่ง และระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อโดยที่ท่านไม่ต้องไปสั่งและท่านก็ควบคุมไม่ได้ด้วย กล้ามเนื้อเหล่านี้ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจ(cardiac muscle) กล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) ที่อยู่ในทางเดินอาหาร หลอดเลือด หลอดลม ท่านจะบังคับให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้นก็ไม่ได้ ถ้าท่านอายุถึง 70 ปี หัวใจท่านก็เต้นประมาณ 3 พันล้านครั้ง โดยไม่ได้หยุดพักเลย ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจหยุดพักเมื่อไร ก็หมายถึงท่านไม่มีโอกาสเล่นกอล์ฟอีกเลย  รูปที่ 1 กล้ามเนื้อลายของร่างกายที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ           กล้ามเนื้อที่ท่านควบคุมได้ คือ กล้ามเนื้อลาย เป็นกล้ามเนื้อแขน ขา คอ หลัง ที่ท่านบังคับได้ ถ้าไม่ฝึกให้ดี กล้ามเนื้อก็จะทำงานไม่ประสานกัน ในวงสวิงของกอล์ฟ กล้ามเนื้อหลายมัดการทำงานอย่างผสมผสานและเป็นลำดับต่อเนื่อง ไม่ได้ออกแรงหดตัวพร้อมกันทุกมัด ท่านนึกสภาพที่กล้ามเนื้อแข็งเกร็งพร้อมกันทุกมัด คือ สภาพร่างกายของคนที่ตายแล้ว 3 – 4 ชั่วโมง จนถึง 24 ชั่วโมง เส้นใยกล้ามเนื้อเล็กเกาะติดกันแน่นหลายมัด เนื่องจากไม่มีพลังงานให้กับเซลล์กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะคลายออกไม่ได้จนโปรตีนเริ่มถูกย่อยสลายเอง เส้นใยกล้ามเนื้อจะหลุดออกจากกันได้           ถ้าท่านตื่นเต้น ตั้งใจมากเกินไปกล้ามเนื้อท่านจะเกร็งทุกมัด ทำให้ไม่สามารถควบคุมวงสวิงได้ เช่น ในการดาวน์สวิงก่อนอิมแพค ข้อศอกซ้ายท่านต้องเหยียดออก โดยใช้กล้ามเนื้อไตรเซ็ป (Triceps brachii ) ถ้าท่านเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าข้อศอก กล้ามเนื้อไบเซ็ป (Biceps brachii) ข้อศอกซ้ายท่านก็จะงอทำให้ตีท้อปลูกหรือไม่โดนลูก รูปที่ 2 กล้ามเนื้องอข้อศอก (Bicep brachii) กล้ามเนื้อเหยียดข้อศอก (Triceps brachii)           วงสวิงของกอล์ฟเป็นการส่งแรงอย่างต่อเนื่องจากแขนไปที่ข้อมือไปที่หัวไม้กอล์ฟ แรงของกล้ามเนื้อต้องเริ่มออกแรงในการหมุนแขนซ้ายก่อนที่จะใช้แรงที่บังคับข้อมือ การดาวน์สวิงลงมาต้องไม่ตีลงมาจากข้างบน โดยรอให้หมุนแขนไหล่ซ้ายลงมาก่อนจนข้อศอกขวาอยู่ในระดับสะโพกจึงใช้แรงกล้ามเนื้อเหยียดข้อศอกบังคับข้อมือ เพื่อส่งแรงไปที่หัวไม้เข้าสู่จุดกระทบ (รูปที่3,4)           นักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่ มักจะเริ่มตีโดยใช้มือตีลงมาจากข้างบนทำให้ไม่มีแรงส่งไปที่หัวไม้และหน้าไม้จะเปิดทำให้ลูกสไลด์ รูปที่ 3 ไทเกอร์ วูดส์ ขณะทำดาวน์สวิงและส่งแรงไปที่หัวไม้ โดยเริ่มที่ใช้กล้ามเนื้อหมุนแกนลำตัวและแขนซ้าย ลงมาก่อนจึงเร่งใช้กล้ามเนื้อเหยียดข้อศอกของแขน ข้อมือขวา พร้อมถ่ายน้ำหนักตัวขณะอิมแพค รูปที่ 4 แสดงแรงของกล้ามเนื้อที่หมุนแขนซ้ายลงมาจะเริ่มต้นก่อนแล้วลดลง แรงของกล้ามเนื้อที่เร่งความเร็วหัวไม้ ผ่านข้อมือจะเริ่มทีหลังกล้ามเนื้อชุดแรก และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนผ่านจุดกระทบ           การส่งแรงจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ท่านจะต้องใช้กล้ามเนื้อเหมือนเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ถ้าท่านเกร็งมากเกินหรือใช้กล้ามเนื้อจากความเคยชินที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การใช้มือตีลงมาจากข้างบน โดยไม่สัมพันธ์กับการทำงานของขา ลำตัวและไหล่ นอกจากจะไม่ได้เป็นการส่งแรงอย่างต่อเนื่องแล้วยังทำให้ระนาบของวงสวิงเสียไปอีกด้วย (swing plane) ข้อสรุปสำหรับท่านนักกอล์ฟ 1. ท่านควรจะจับไม้กอล์ฟให้ถูกวิธี เพราะมือของท่านเท่านั้นที่เป็นส่วนต่อไปที่ไม้กอล์ฟ ถ้าท่าน ไม่แน่ใจควรให้ครูผู้ฝึกสอนช่วยตรวจสอบ และท่านควรฝึกซ้อมด้วยตัวเองบ่อย ๆ จนมั่นใจว่าเมื่อจรดไม้กอล์ฟหน้าไม้กอล์ฟตั้งฉากกับทิศทางสู่เป้าหมาย หลังจากแบ็คสวิงแล้วเมื่อทำดาวน์สวิงกลับลงมาช้า ๆ ขณะอิมแพคหน้าไม้ยัง ตั้งฉากกับทิศทางสู่เป้าหมายเหมือนเดิม 2. ท่านฝึกวงสวิงโดยจะเริ่มเร่งความเร็วหัวไม้สู่จุดกระทบลูก เมื่อตำแหน่งของข้อศอกขวากลับมา สู่ระดับสะโพกขวา และมือพร้อมที่จะตีลูก สำหรับท่านนักกอล์ฟที่ตีลูกไม่ได้ระยะ ทิศทางไม่แน่นอน หรือนักกอล์ฟมือใหม่ควรมีครูผู้ฝึกสอนแนะนำดีกว่าฝึกด้วยตนเอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บของนิ้วมือ

การบาดเจ็บของนิ้วมือ นักกอล์ฟอาชีพวัย 27 ปี มาพบผู้เขียนด้วยเรื่องปวดข้อนิ้วชี้ซ้ายมาก ตีกอล์ฟไม่ได้มา 2 เดือนแล้ว สาเหตุจากซ้อมกอล์ฟมาก แล้วปวดข้อกลางนิ้ว ไปพบแพทย์ 2 ครั้งแล้ว กำเหยียดนิ้วได้ปกติ แต่พอจับไม้กอล์ฟซ้อมไดร์ฟก็ปวดอีก ไม่กล้าซ้อมกลัวจะลงแข่งขันไม่ได้ไปตลอด ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่นักกอล์ฟอาชีพฝีมือดี ศิษย์เก่า คลาส เอ แห่งชาติรุ่นแรกสอบทัวริ่งโปร์ วันแรก ตี 7 เบอร์ดี้ 1 โบกี้ รวม 6 อันเดอร์พา ที่สนามสว่างรีสอร์ท สอบผ่านทัวริ่งโปร์ โดยมีคะแนน 1 อันเดอร์พาร์ สมควรที่จะได้รับการรักษาให้หาย สามารถเข้าไปแข่งขันระดับนานาชาติได้ การบาดเจ็บของนิ้วมือที่เกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเล่นกอล์ฟ ไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รับการรักษาให้เต็มที่แต่แรก หรือนักกอล์ฟบางท่าน อาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือ ทำงานได้ปกติ เล่นกอล์ฟก็พอได้บ้าง แต่จะปวดบวมได้ง่าย   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บของนิ้วมือ            การบาดเจ็บบริเวณนิ้วมือที่ มีกระดูกหัก ข้อเคลื่อนผิดปกติมาก ๆ ไม่ค่อยพบจากการเล่นกอล์ฟ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง การวินิจฉัย และการรักษา เพราะอาการปวดบวม การเคลื่อนไหวผิดปกติ, การตรวจทางเอ็กซเรย์จะทำให้การวินิจฉัยได้ชัดเจน ปัญหาที่มักจะมองข้ามคือการบาดเจ็บที่มองไม่เห็นความผิดปกติจากภายนอก การตรวจทางเอ็กซเรย์ ไม่พบสิ่งผิดปกติทำให้การวินิจฉัยยาก แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ต้องนึกถึงสาเหตุการบาดเจ็บที่อาจจะมองข้ามได้ ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก จะมีผลทำให้การรักษายาก และเล่นกอล์ฟไม่ได้ดี การบาดเจ็บริเวณข้อกลางนิ้ว ( Proxipal interpholangal joint) ข้อนิ้วมือมี 3 ข้อ คือ  - ข้อโคนนิ้ว - ข้อกลางนิ้ว - และข้อปลายนิ้ว การเคลื่อนไหวของข้อกลางนิ้วจะเคลื่อนไหว              แบบบานพับ คืองอเหยียดได้อย่างเดียว ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้านข้างหรือหมุนได้ เนื่องจากลักษณะของนิ้วข้อและเอ็นยึดกระดูกด้านข้าง ( collateral ligament )จะเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อหุ้มข้อให้เคลื่อนไหวในการงอเหยียดได้เท่านั้น  ในการเล่นกอล์ฟ นิ้วชี้ซ้ายที่จับด้ามไม้กอล์ฟ ขณะที่ตีกอล์ฟ ถ้ามีแรงกดจากด้ามไม้กอล์ฟมากเกินไป จะทำให้เอ็นยึดด้านข้างนิ้วฉีกขาดได้ อาจจะมีอาการปวดบวม ลักษณะผิดปกติอย่างอื่นเห็นได้ไม่ชัด ตรวจเอกซเรย์ไม่พบสิ่งผิดปกติ พัก 3-4 วัน ก็สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ทำให้การวินิจฉัยค่อนข้างยาก และไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง ผลตามมาคือ ถ้ามีแรงกดทางด้านนิ้วชี้อีกก็จะทำให้เอ็นฉีกมากขึ้น ข้อนิ้วบวม ตีกอล์ฟไม่ได้ การวินิจฉัย 1. มีอาการปวดบวมบริเวณข้อกลางนิ้ว 2. กดเจ็บบริเวณที่เกาะของเอ็นยึดด้านข้าง (collateral ligament) 3. ตรวจความมั่นคงด้านข้างของข้อกลางนิ้ว ถ้ามีการฉีกขาดจะปวดมากขึ้น ถ้าเอ็นฉีกขาดมากข้อจะอ้าออกได้  4. ตรวจเอกซเรย์อาจจะไม่พบความผิดปกติ ถ้าสงสัยต้องตรวจในท่าจับนิ้ว ให้ข้อกลางนิ้วด้านที่สงสัยว่าอาจจะมีเอ็นขาดอ้าออก การรักษา 1. ระยะเฉียบพลัน ควรจะพัก ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของนิ้วชี้ ถ้าบวมมาก ระยะ 4-6 ชั่วโมง แรกประคบด้วยความเย็น จนไม่มีอาการบวมเพิ่มขึ้น 2. ยึดนิ้วชี้ติดกับนิ้วกลาง ป้องกันการเคลื่อนไหวด้านข้างของข้อ ประมาณ 2 สัปดาห์ 3. ถ้ามีการฉีกขาดมาก ข้อหลวม ใส่เครื่องพยุงนิ้วไม่ให้มีการเคลื่อนไหว การป้องกันการเคลื่อนไหวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อนิ้วมือ อาจใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ถ้ากดบริเวณที่ฉีกขาด ไม่เจ็บมาก และความมั่นคงของข้อดี ก็เริ่มเคลื่อนไหวได้ หรือพยุงนิ้วชี้ติดกับนิ้วมือให้เคลื่อนไหวไปด้วยกัน ป้องกันข้อยึดติด                ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง นิ้วเริ่มเอียง ข้อยังหลวม ไม่ได้รับการรักษาแต่แรกนานเกิน 4-6 สัปดาห์แล้ว เช่นกรณีของนักกอล์ฟอาชีพที่มาหาผู้เขียน การรักษาค่อนข้างจะยาก การรักษาอาจจะไม่ได้ผลดี เหมือนกับการรักษาตั้งแต่แรก - ให้ใส่ แผ่นดามนิ้ว (finger splint ) ดัดให้ข้อนิ้วอยู่ท่าปกติ เฉพาะเวลากลางคืน - ในการซ้อมกอล์ฟใช้ปลาสเตอร์ยึดรั้งป้องกันไม่ให้ข้ออ้ามากขึ้น โดยใช้ปลาสเตอร์ยึดด้านข้าง ที่เอ็นฉีกไว้ - หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีแรงกดนิ้วชี้ทางด้านข้าง - แนะนำบริหารการงอ-เหยียดนิ้ว ป้องกันข้อยึดและบริหารให้กล้ามเนื้องอนิ้วแข็งแรงเพิ่มขึ้น - ถ้ารักษาเต็มที่ 4-6 สัปดาห์แล้ว ยังมีอาการปวดบวม และข้อไม่แข็งแรง อาจจะต้องพิจารณาผ่าตัด ซ่อมเอ็นยึดด้านข้างข้อนิ้วมือ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ - การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือ ถ้าพักรักษา 1-2 สัปดาห์ แล้วยังมีอาการปวดบวม มีจุดกดเจ็บ, งอเหยียดนิ้วไม่ปกติ หรือไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้ตามปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาให้ถูกต้อง - การบาดเจ็บบางอย่าง อาจตรวจพบได้ยาก เช่นกระดูกหัก นักกอล์ฟ (Fracture hook of Hamate) กระดูกข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือหัก ( Fracture scaphoid) ,เอ็นยึดข้อด้านข้างฉีก, เอ็นข้อปลายนิ้วขาดระยะแรก ๆ อาจไม่พบความผิดปกติ ถ้าท่านนักกอล์ฟยังมีอาการผิดปกติ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ อาจจะต้องนึกถึงภาวะบาดเจ็บที่วินิจฉัยได้ยากเหล่านี้ด้วย    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Golf Injuries

 Golf Injuries โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ           กอล์ฟ เป็นกีฬาที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น อิทธิพลจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันสำคัญ ๆ ในรายการโทรทัศน์เกือบทุกสัปดาห์ รวมทั้งเงินรางวัลที่เพิ่มขั้น Superstar ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็เป็นภาพลักษณ์สำหรับเยาวชนที่ต้องการเอาเป็นแบบอย่าง เช่น Tiger Woods , Mitchel Wie ทำให้มีการส่งเสริมการเล่นกอล์ฟ ตั้งแต่เด็ก อายุน้อย ๆ รวมทั้งผู้ที่เริ่มหันมาสนใจเล่นกอล์ฟเมื่ออายุมากขึ้น หรือหลังเกษียณอายุแล้ว อันตรายหรือการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ ดูเหมือนว่าค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับการเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ต้องมีการต่อสู้ปะทะกัน หรือการแข่งขันที่มีความเร็วสูง แต่การเล่นกอล์ฟมีอันตรายและการบาดเจ็บที่อาจจะมองข้าม ที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบ้านเรา และรายงานในวารสารต่างประเทศอีกมากมาย เช่น 1. การบาดเจ็บหรืออันตรายที่ไม่ได้มาจากวงสวิงของนักกอล์ฟเอง - อุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากถูกลูกกอล์ฟ , ถูกไม้กอล์ฟตี, ไม้กอล์ฟ หักทิ่มแทงอวัยวะที่สำคัญ - ถูกฟ้าผ่าตาย - ถูกรถกอล์ฟชนตาย - ถูกผึ่งต่อย เสียชีวิตภายหลัง - อันตรายเกิดจากแสงแดด จากรายงานพบมะเร็งผิวหนัง จาก  นักกอล์ฟอาชีพหญิง 51 คน นักกอล์ฟหญิงสมัครเล่น 142 คน    นักกอล์ฟอาชีพชาย 4 คน นักกอล์ฟชายสมัครเล่น 11 คน 2. การบาดเจ็บจากการสวิงกอล์ฟ ของนักกอล์ฟมีสาเหตุหลายอย่าง - มีการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันมากเกิน - วงสวิงไม่เหมาะสม - การเตรียมสภาพร่างกายไม่พร้อม ก่อนการเล่นกอล์ฟ - สุขภาพไม่ดีมาก่อน - นักกอล์ฟที่เสียชีวิต ขณะเล่นกอล์ฟเป็นลมนำส่งโรงพยาบาลเสียชีวิต หรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลายราย - การได้รับการบาดเจ็บมาก่อน รักษายังไม่หายเป็นปกติ การบาดเจ็บของนักกอล์ฟอาชีพ           ซึ่งไม่มีปัญหาที่วงสวิงที่ไม่ถูกต้อง มักเกิดจากการฝึกซ้อมหรือแข่งขันมากกินไป 80 % การบาดเจ็บอยู่ที่บริเวณหลัง และข้อมือ ส่วนอื่น ๆ ที่พบรองลงมา คือ ข้อศอกขวา, ไหล่, ข้อเข่า การบาดเจ็บของนักกอล์ฟสมัครเล่น           ได้รับการบาดเจ็บในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับวงสวิงที่มีการใช้ส่วนไหนมากเกินไป พบได้บ่อยที่หลัง, ข้อศอก, ข้อมือ, หัวไหล่, ข้อเข่า, คอ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการบาดเจ็บที่รุนแรง - มีรายงานกระดูกสันหลังยุบ ในนักกอล์ฟสตรีสูงอายุ  - นักกอล์ฟที่หัดเล่นใหม่ 18 ราย (เฉลี่ยเล่นกอล์ฟ 8 สัปดาห์) 15 รายพบ กระดูกซี่โครงหัก 3 รายกระดูกซี่โครงข้างขวาหัก ส่วนใหญ่กระดูกซี่โครงที่ 4, 5, 6 ตำแหน่งที่หักอยู่ตำแหน่งค่อนข้างไปทางด้านหลัง การป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับผู้อื่น  - เก็บรักษาไม้กอล์ฟในที่ปลอดภัย ไม่ให้เด็กเอามาเหวี่ยงเล่นเองได้ - เมื่อสอนเด็กเล่นกอล์ฟต้องให้ผู้ใหญ่แนะนำและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย - เวลายืนต้องเว้นระหว่างจากผู้ที่กำลังสวิงกอล์ฟ อย่างน้อย 4 ช่วงไม้กอล์ฟ และไม่ล้ำหน้าไปในทิศทางของลูกกอล์ฟ ปัญหาการบาดเจ็บของนักกอล์ฟ 1. การซ้อมหรือการแข่งขันมากเกิน 2. เคยได้รับการบาดเจ็บมาก่อน ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำ 3. ส่วนใหญ่พบที่หลัง, ข้อมือ, ข้อศอก, ไหล่, เข่า 4. การบาดเจ็บอาจไม่รุนแรง แต่ทำให้เล่นไม่ดี และอาจทำให้มีการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น ข้อแนะนำ : - ก่อนการซ้อมและแข่งขันทุกครั้ง ต้องทำการอบอุ่นร่างกาย บริหารกล้ามเนื้อให้ ยืดเหยียดได้ดีก่อน - ควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และทนทาน เช่น การวิ่ง, ยกน้ำหนัก - แก้ไขวงสวิงให้ถูกต้องเพื่อลดการบาดเจ็บ และเล่นกอล์ฟได้ดีขึ้น จำเป็นต้องปรึกษาครูสอนกอล์ฟ - เลือกใช้ไม้กอล์ฟ, รองเท้าให้เหมาะสม  - เมื่อมีการบาดเจ็บควรหยุดเล่น ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก - ก่อนจะกลับมาเล่นใหม่ ควรหายจากการบาดเจ็บและสร้างเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อน  การป้องกันอันตรายระหว่างการเล่นกอล์ฟ           อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากแสงแดด, การสูญเสียน้ำ, การบาดเจ็บจากการถูกลูกกอล์ฟ, อันตรายจากสัตว์ในสนามกอล์ฟ หรือจากฟ้าผ่า  ข้อแนะนำ : - ท่านนักกอล์ฟควรป้องกันอันตรายจากแสงแดด เช่น ทาครีมกันแดด ใส่หมวก เสื้อแขนยาว  - ดื่มน้ำให้มากพอก่อนและหลังการเล่น และควรดื่มน้ำระหว่างการเล่นไม่ต้องรอกระหายน้ำ  - ถ้ามีเหงื่อออกต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมง ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ร่วมด้วย - ต้องรู้กฎมารยาทในการเล่นกอล์ฟ ก่อนที่จะสวิงไม้กอล์ฟ ต้องตรวจดูว่ามีผู้ใดยืน อยู่ใกล้ ๆ จนอาจเกิดอันตรายจากไม้ตีกอล์ฟ รอจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้เล่นกลุ่มหน้าเดินพ้นระยะแล้ว - นักกอล์ฟไม่ควรจะเข้ามาในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย ต่อสัตว์ แมลงมีพิษ - เมื่อเกิดอันตรายจากฟ้าผ่าต้องหยุดเล่นกอล์ฟก่อน และรีบออกจากสนามทันที่ References M.R. Farrally and A.J. Cochran (1998). Science and Golf Ⅲ. Human Kinetics.Jobe, F.W., and Schwab, D.M. (1991). Golf for the mature athlete. Clin Sports Med,10 (2) ,269 – 282. McCarroll, J.R., and Gioe, T.J. (1982). Professional golfers and the price they pay.Physician SportsMed, 10 (7), 64 – 70. McCarroll, J.R., Retting, A., and Shelbourne, K. (1990). Injuries in the amateur golfer. Physician SportsMedm, 18(3), 122 – 126. 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์ โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี   ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์           นักกอล์ฟอาชีพหลายท่านก็ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ นักกอล์ฟสมัครเล่นหลาย ๆ ท่านก็รับถ้วยอย่างต่อเนื่อง ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านด้วยครับ ผู้ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็ขอให้พัฒนาต่อครับ “เราจะไม่ล้มเหลว ถ้าเราไม่ล้มเลิก” ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจ และสนับสนุนท่านนักกอล์ฟทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง  2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟที่พบได้บ่อย ๆ มีท่านผู้อ่าน และท่านนักกอล์ฟให้ความสนใจมาก หลาย ๆ ท่านได้มาจากต่างจังหวัดมาพบผู้เขียน ได้รับคำแนะนำ รักษาหายกลับมาเล่นกอล์ฟได้ดีแล้ว มีอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟ ในประเทศที่มีแดดจัด อากาศร้อน พบได้บ่อย ๆ คือ ปัญหาเรื่อง ผิวหนังแต่ยังไม่มีนักกอล์ฟท่านใดมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง ผิวหนังเลย ส่วนใหญ่จะไปหาหมอผิวหนังซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องดีที่สุด ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผิวหนัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านนักกอล์ฟ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย พื้นที่ของผิวหนังประมาณ 2 ตารางเมตร หนักประมาณ 4.5 – 5 กิโลกรัม ความหนาโดยเฉลี่ย 1- 2 มิลลิเมตร ผิวหนังบางที่สุด คือที่หนังตา หนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หนาที่สุดที่ส้นเท้าประมาณ 4 มิลลิเมตร ผิวหนังประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น 1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่บนสุด 2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) อยู่ใต้หนังกำพร้า ชั้นที่อยู่ใต้หนังแท้ (Hypodermis) ไม่ถือว่าเป็นส่วนของผิวหนัง เป็นชั้นไขมันซึ่งในชั้นนี้ ผู้หญิงจะมีความหนามากกว่าผู้ชายประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้หญิงมีผิวหนังที่นุ่มกว่าผู้ชาย และบางส่วนจะมีไขมันเกาะมากเพิ่มขึ้น เช่น บริเวณหน้าท้อง, สะโพก ต้นขา ชั้นของหนังกำพร้า 4 -5 ชั้น ในชั้นล่างสุดของผิวหนัง กำพร้าจะมีการแบ่งตัวอย่างบางต่อเนื่อง และดันเซลล์เก่าขึ้นไปด้านบนเรื่อยๆ เซลล์ผิวหนังจะสร้างเคอราตินซึ่งเป็นโปรตีนภายในเซลล์ช่วยให้เซลล์มีความเหนียวและกันน้ำได้ขณะเดียวกันเซลล์จะขาดเลือดมาเลี้ยงเป็นเซลล์ที่ตายและลอกหลุดออกไปทุกวัน ชั้นหนังกำพร้ามีเซลล์ 4 ชนิด 1. เซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte) พบส่วนใหญ่ 90% 2. เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) พบได้ 8 % 3. เซลล์ช่วยป้องกันเชื้อโรค (Langerhans cells) 4. เซลล์ที่ส่งความรู้สึกไปยังเซลล์ประสาท (Merkel cells) หนังแท้ Dermis           ประกอบด้วย เส้นใยคอลลาเจน และเส้นใยอิลาสติค นอกจากนั้นยังมี หลอดเลือด กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ปุ่มประสาทพิเศษต่าง ๆ ที่รับความรู้สึกสัมผัส แรงกดดัน ความร้อน ความเย็นรับรู้ อาการเจ็บปวด หน้าที่ของผิวหนัง 1. ห่อหุ้มร่างกายให้คงรูปอยู่ได้ป้องกันเชื้อโรค , ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต (UV.light) จากแสงแดด 2. ควบคุมการเสียน้ำ เนื่องจากเซลล์ของผิวหนังชั้นบน ๆ เป็นเซลล์ที่ตายแล้ว และมีสาร ที่เคลือบบนผิวหนังป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่าน 3. ร่างกายควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียส โดยผ่านการทำงานของต่อมเหงื่อ 4. รับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว สัมผัส ความเจ็บปวด 5. สังเคราะห์สารเมลานิน ทำให้ผิวสีคล้ำขึ้นหลังได้รับแสงแดด  6. สังเคราะห์เดอราตินในเซลล์ปกคลุมผิวหนังส่วนบน เป็นเซลล์ที่ลอกหลุดออกไปทุกวัน 7. สังเคราะห์วิตามิน D จากการได้รับ UV light ขนาดน้อย ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ ตับ และไต และช่วยในการควบคุมระดับแคลเซี่ยม มีความจำเป็นสำหรับเด็ก ป้องกันเป็นโรคกระดูกอ่อน ในผู้ใหญ่ช่วยในการสร้าง และควบคุมให้กระดูกแข็งแรง 8. มีหน้าที่ในการสื่อความหมาย เวลามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ จะทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น เวลากลัวตกใจ จะมีอาการหน้าซีด มือเย็น เวลาโกรธมีหลอดเลือดขยายตัวมีอาการหน้าแดง            การหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าที่มายึดบริเวณผิวหนัง จะบ่งบอกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น การยิ้ม, อาการหน้านิ่วคิ้วขมวด, อาการโกรธ, ดีใจ , เสียใจ เนื่องจากผิวหนังมีหน้าที่หลายอย่างดังข้างต้น เมื่อทำงานร่วมกับส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากผิวหนัง เช่น ผม ขน เล็บ ต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยควบคุมให้ร่างกายคงสภาพปกติ จึงนับว่าผิวหนังเป็นระบบหนึ่งของร่างกาย เรียกระบบห่อหุ้มร่างกาย (Integumentary System) การดูแลสุขภาพของผิวหนัง เป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการมีสุขภาพที่ดี และเป็นส่วนสำคัญด้านธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล ในเรื่องการรักษาความงาม การดูแลรักษาผิวพรรณให้สวยงาม หรือดูอ่อนกว่าวัย รวมทั้งการรักษา กระ สิว ไฝ ฝ้า จุดด่างดำต่าง ๆ อันตรายที่เกิดจากแสงแดด และการป้องกัน            การถูกแสงแดดมากเกินไป พบว่าเป็นมะเร็งของผิวหนังได้ มีรายงาน คนไข้มะเร็งผิวหนัง ปีละ 1 ล้านคนในประเทศอเมริกา 78% เป็น Basal cell Carcinoma มะเร็งจากเซลล์ชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า มักไม่แพร่กระจาย 20% เป็น Squamous cell carcinoma มะเร็งจากเซลล์แบนบางของหนังกำพร้า อาจแพร่กระจายได้ 2% เป็น Malignant Melanomaมะเร็งจาก cell Melanocyte เป็นเซลล์ที่สร้างเม็ดสี (Melanin pigment ) อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแพร่กระจายได้รวดเร็ว การรักษาที่ได้ผลดี คือการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก และผ่าตัดเอาออกให้หมด ลักษณะสำคัญของ Malignant Melanoma คือ A - Asymmetry รูปร่างไม่สมมาตร , ไม่กลม    B - Border ขอบไม่ชัดเจน เว้าๆ แหว่ง    C - Color มีสีแตกๆ ต่าง ๆ กันหลายสี ในก้อนเดียวกัน    D - Diameter เส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร ลักษณะของไฝปกติ (Normal Nevus) และ Malignant Melanoma ไฝธรรมดามีขนาดกลม สีเดียวกัน ขอบชัด ก้อนเล็กกว่า            นอกจากนั้น ยังมีรายงานในวารสารต่างประเทศ พบมะเร็งของผิวหนังทั้งในนักกอล์ฟสมัคร เล่น และนักกอล์ฟอาชีพ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ  1. หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตมาก ๆ คือ เวลา 10.00 - 15.00 น. หากจำเป็นควรใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวกปีกกว้าง 2. ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำ SPF 15-28 ในการเล่นกอล์ฟกลางแดดช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเล่นกอล์ฟมากกว่า 2 ชั่วโมง ควรใช้ SPFขนาดสูงๆ SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการป้องกันรังสี UV เป็นจำนวนเท่าของปกติที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด โดยวัดเป็นค่าพลังงานรังสี UV ที่ทำให้ผิวเริ่มแดง (MED – Minimum Erythema Dose)    SPF = MED ที่ทายากันแดด    MED ที่ไม่ได้ทายากันแดด 3 ถ้ามีอาการผิดปกติของผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก้อนที่มีลักษณะคล้ายไฝ โตเร็ว ขนาดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ 4. เรื่องการเสียน้ำ ควรดื่มน้ำก่อน ระหว่าง หรือหลังการเล่นกอล์ฟ เพื่อป้องกันการขาด น้ำ ถ้าท่านรอให้เกิดการกระหายน้ำ แสดงว่าร่างกายขาดน้ำแล้ว 5. การทำความสะอาดของผิวหนังบริเวณอับชื้น นิ้วเท้า ป้องกันเชื้อรา 6. มือเป็นบริเวณที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่เสมอ จะเป็นอันตรายมากถ้าเชื้อโรคไปอยู่บริเวณอื่น เช่น แคะตา อาจทำให้ตาอักเสบ หรือจับของกิน ระหว่างเล่นกอล์ฟอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหารได้  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<