นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ

 นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ ท่านลองถามนักกอล์ฟในก๊วนเดียวกัน ขณะกำลังพัตต์ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้านัก กอล์ฟท่านนั้นมัวคิดเรื่องการหายใจ อาจจะลืมพัตต์ และพัตต์ลูกกอล์ฟไม่ลงหลุม   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ • ท่านลองถามนักกอล์ฟในก๊วนเดียวกัน ขณะกำลังพัตต์ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้านัก กอล์ฟท่านนั้นมัวคิดเรื่องการหายใจ อาจจะลืมพัตต์ และพัตต์ลูกกอล์ฟไม่ลงหลุม • ผู้เขียนลองถามนักกอล์ฟอาชีพฝีมือดีท่านหนึ่งว่า ขณะตีกอล์ฟหายใจอย่างไร นักกอล์ฟท่าน นั้นบอกว่าผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าหายใจอย่างไร……ครับ เป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ไม่เช่นนั้นแล้ว คงจะต้องประกอบอาชีพอื่น เพราะถ้าไม่มีสมาธิระหว่างการตีกอล์ฟแล้ว ยากที่จะควบคุมให้ลูกกอล์ฟไปตามเป้าหมายที่ต้องการได้ • นักกอล์ฟที่กำลังตีกอล์ฟได้ดี ๆ วงสวิงจะราบรื่น การหายใจจะเป็นปกติ ไม่ติดขัด โดย จะไม่ได้สังเกตหรือไม่รู้ตัวว่าหายใจอย่างไรแต่ถ้าเกิดภาวะกดดัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสร้างความกดดันให้ตัวเอง แล้วควบคุมไม่ได้ จะทำให้การหายใจไม่เป็นจังหวะ หรือกลั้นหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ไม่สามารถจะควบคุมวงสวิงได้ ตามที่ต้องการ ถ้าเราควบคุมการหายใจให้ราบรื่นได้ดี ก็จะทำให้เราสามารถควบคุมวงสวิงได้ เช่นเดียวกัน           เรามารู้จักการหายใจ ให้ละเอียดเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ การควบคุมอารมณ์ และการตีกอล์ฟให้ดีขึ้นด้วย เราหายใจเข้าออกวันละ 25,000 ครั้งต่อวันอยู่แล้ว ดูเหมือนว่าเรามีประสบการณ์อย่างสูงตลอดเวลา ไม่น่าจะมีอะไรต้องเรียนรู้อีกแล้ว แต่ความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราเข้าใจฝึกหัดบ่อย ๆ ควบคุมลมหายใจได้ เราจะมีสมาธิดีสามารถทำอะไรได้ดีขึ้น มากกว่าที่เราปล่อยให้จิตใจเราถูก รบกวนต่อสิ่งภายนอก ที่เราไม่สามารถควบคุมได้           ทุกเซลล์ในร่างกายของเรา ต้องการออกซิเจน เพื่อเอาไปใช้ในการดำรงชีวิต แต่ร่างกายเราไม่สามารถสะสมออกซิเจนไว้ได้ ในอากาศตามธรรมชาติที่ไม่มีมลภาวะเป็นพิษ มีออกซิเจนประมาณ 21 % ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ เราต้องหายใจเข้าโดยนำเอาอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปในถุงลมในปอด เพื่อฟอกเลือดที่ผ่านถุงลมมากมายในปอด เลือดเมื่อผ่านถุงลมในปอดแล้ว จะแลกเปลี่ยนเอาออกซิเจนเข้าไป แล้วขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียเข้าไปในถุงลม เมื่อเราหายใจออก ก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทิ้งด้วย การหายใจปกติ มีการหายใจ 2 ชนิด ร่วมกัน 1. การหายใจโดยใช้หน้าอก (Thoracic breathing) การหายใจจะมีการเคลื่อนไหวของช่องอก ทั้งกระดูกซี่โครง และกระดูกหน้าอก แต่หน้าท้องจะแบนราบไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย 2. การหายใจโดยใช้หน้าท้อง (Abdominal breathing) การหายใจที่มีการเคลื่อนไหวของผนัง หน้าท้อง โดยขณะหายใจเข้า ผนังหน้าท้องจะป่องออกมาด้านหน้า เวลาหายใจออกผนังหน้าท้องจะแบน ชิดไปด้านหลัง การหายใจชนิดนี้ใช้กระบังลมเป็นส่วนใหญ่ กลไกการหายใจ ของร่างกาย กล้ามเนื้อในการหายใจเข้าตามปกติ  1. กระบังลม (Diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด ในการหายใจ กระบังลมเกาะตามผิว ด้านในของกระดูกซี่โครงที่ 7-12 ,กระดูกลิ้นปี่ และกระดูกสันหลังระดับเอวอันที่ 1-3 โดยกล้ามเนื้อไปเกาะกันตรงกลาง เรียง Central tendon เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะทำให้ Central tendon ถูกดึงต่ำลงเพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางในแนวดิ่ง 2. กล้ามเนื้อซี่โครงชั้นนอก (External intercostal muscle) หดตัวยกกระดูกซี่โครงขึ้น ทำให้ทรวงอกขยาย ปอดที่อยู่ภายในทรวงอกจะถูกขยายออก ทำให้ความดันในถุงลมในปอดลดลงต่ำกว่าความดันในบรรยากาศ(ปกติ 760 mmHg.) ทำให้อากาศไหลเข้าไปในถุงลมในปอด จนมีความดันในถุงลมเพิ่มขึ้นเป็น 762 mmHg.  การหายใจออกตามปกติ           เป็นการคลายตัวของกล้ามเนื้อกระบังลม และถุงลมคลายตัวกลับสู่ภาวะปกติ และความดันในถุง ลมมากกว่าในบรรยากาศจะถูกดันกลับออกมาภายนอก ทำให้ความดันในถุงลมลดลงเหลือ 756 mmHg. น้อยกว่าในบรรยากาศเล็กน้อย  การเพิ่มการหายใจเข้าให้แรงขึ้น            ใช้กล้ามเนื้อยกกระดูกไหปลาร้า กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครงอันที่ 2-5 เพิ่มขึ้นทำให้ตั้งใจหายใจเข้าได้ เพิ่มมากขึ้น การหายใจออกมากขึ้น           เวลาตั้งใจหายใจออกเร็ว ๆ หรือการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงชั้นใน (Internal intercostal muscle)ร่วมด้วย            ในภาวะร่างกายพัก จะหายใจแบบใช้กระบังลม เวลามีภาวะกดดัน เครียด ตื่นเต้น ตกใจกลัว จะหายใจโดยใช้หน้าอก กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังแข็งเกร็งใช้กระบังลมน้อยมาก หลังภาวะกดดันผ่านไป กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัว จะเป็นการหายใจแบบผ่อนคลาย หายใจเข้าออกได้เต็มที่ รู้สึกเหมือนโล่งอก เป็นวิธีการหายใจแบบมีคุณภาพ ท่านนักกอล์ฟหลายคนจะรู้สึกว่า เวลามีภาวะกดดันรู้สึกหายใจไม่ปกติ เกร็ง บังคับวงสวิงไม่ได้ พัตต์กระตุก ซึ่งเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ลักษณะการหายใจ กล้ามเนื้อเกร็ง , กลั้นหายใจเป็นลักษณะปฏิกิริยาที่ติดตัวในทุกคน เรียก Trauma reflex ในสัตว์ต่าง ๆ ก็จะมีลักษณะเช่นนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเอาชีวิตรอด มีการหายใจน้อย ๆ กลั้นหายใจ เพื่อไม่ให้มีเสียง หรือเกิดการเคลื่อนไหว ไม่ให้เป็นที่สังเกตของศัตรู  การฝึก การเปลี่ยนแปลงการหายใจแบบเกร็งเป็นการหายใจแบบผ่อนคลาย 1. นั่งบนเก้าอี้ หรือบนขอบเตียง เท้ายันกับพื้นให้ลำตัว แขน คอผ่อนคลาย เริ่มเอนหลัง ลำตัว คอไปด้านหลังแบบผ่อนคลาย พร้อมหายใจเข้าช้า ๆ ให้รู้สึกเหมือนมีลมเข้ามาในท้อง นับ 1 ถึง 10 แล้วค่อยโน้มตัวมาข้างหน้า ก้มคอลงให้รู้สึกลมไหลออกมา แล้วนับ 1ถึง 10 ฝึกบ่อย ๆ จะรู้สึกหายใจแบบผ่อนคลาย เป็นการหายใจโดยใช้กระบังลม และให้ปอดขยาย และคลายออกได้เอง โดยไม่ต้องเกร็ง 2. เมื่อมีเวลาภาวะกดดัน เครียด หายใจเข้าช้า ๆ ให้รู้สึกท้องและซี่โครงส่วนล่างขยาย แล้ว ปล่อยออกช้า ๆ จนควบคุมความรู้สึกได้  3. ฝึกตีกอล์ฟ - นักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟได้ดีไม่เกร็ง วงสวิงรื่นไหลเป็นธรรมชาติ จะตีกอล์ฟ ขณะหายใจออก หรือเมื่อหายใจออกสิ้นสุดแล้วตีทันที โดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ตัว - นักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟไม่ได้จังหวะ จะมีลักษณะหายใจเหมือนดูดลมหายใจเข้า แล้วกลั้น ไว้เป็นการหายใจแบบใช้หน้าอก เป็นลักษณะ Trauma pattern ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งติดขัด ท่านลองทดสอบด้วยตัวเอง 1. ตีกอล์ฟ 2-3 ลูก ขณะหายใจเข้า แล้วกลั้นไว้ 2. ตีกอล์ฟ 2-3 ลูก ขณะหายใจออก David Leadbetter แนะนำให้ปฏิบัติวิธีนี้โดยอ้าปากหายใจเข้าขณะจรดลูก หายใจออกช้าๆ ขณะเริ่มแบ็คสวิงแล้วหายใจออกเต็มที่ขณะทำดาว์นสวิง 3. ตีกอล์ฟ หลังจากหายใจออกหมดแล้วเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไว้ เริ่มแบ็คสวิง ดาว์นสวิง จบวงสวิง แล้วผ่อนคลายให้หายใจเข้าเอง Gay Hendricks, Director of Academy for Concious Golf and Business, California พบว่าวิธีนี้ตีกอล์ฟได้แม่นยำกว่า ทดสอบหลาย ๆ ครั้ง ท่านจะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า ท่านตีกอล์ฟได้ดีในวิธีที่ 2 หรือ 3 คือตีกอล์ฟขณะหายใจออก หรือหายใจออกหมดแล้ว เช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่น เช่น นักยกน้ำหนัก หรือนักเทนนิส เวลายกน้ำหนัก หรือ ตีเทนนิส จะได้ยินเสียงพร้อมกับการหายใจออกด้วย  ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ 1 ท่านลองหายใจแบบผ่อนคลาย โดยใช้กระบังลม เมื่อเวลาหายใจเข้าให้ท้องป่อง หายใจออกให้ท้องแฟบได้หรือไม่ ผู้เขียนลองให้นักศึกษาทำ ปรากฏว่านักศึกษาหลายคนทำไม่ได้ เพราะเวลาตั้งใจหรือเกร็ง กล้ามเนื้อกระบังลมจะไม่ทำงาน ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งต้องใช้แรงมากแต่ได้อากาศน้อย ท่านลองฝึกตามแบบฝึกที่ 1 ถ้ายังไม่เข้าใจลองนอนหงาย ชันเข่า งอนิ้วมือทั้งสองข้างเกี่ยวกันไว้ หายใจออกพร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย จิกนิ้วเท้า ดึงมือ เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา หน้าท้อง คอ ตลอดจนกล้ามเนื้อบนใบหน้า ให้มากที่สุด นานที่สุดจนหมดลมหายใจออก แล้วปล่อยคลายกล้ามเนื้อทั้งหมดทันที ท่านจะรู้สึกว่ามีลมหายใจเข้าเต็มที่พร้อมทั้งท้องป่องออก ตามด้วยหายใจออกเต็มที่โดยที่ท้องแฟบลง นี่คือการหายใจโดยใช้กระบังลม ให้ท่านฝึกหายใจโดยใช้กระบังลมบ่อยๆจนเป็นปรกติ ท่านจะออกกำลังได้มากขึ้น เหนื่อยน้อยลง 2 เลือกฝึกตีกอล์ฟขณะหายใจออก หรือหลังหายใจออกทันทีทำบ่อยๆจนชำนาญ จนตีกอล์ฟได้โดยไม่รู้สึกถึงการหายใจ เมื่อมีความกดดันให้ท่านหายใจเข้าออกยาวๆ ช้าๆ จนควบคุมลมหายใจได้ แล้วตีกอล์ฟขณะหายใจออกหรือหลังหายใจออกทันทีตามที่ท่านได้ฝึกไว้แล้วท่านจะสามารถควบคุมวงสวิงได้ 3 ท่านควรออกกำลังแบบแอโรบิค สัปดาห์ละ2-3ครั้ง จะช่วยให้การทำงานของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนดีขึ้นอย่างมาก ท่านจะเล่นกอล์ฟได้ไม่เหนื่อย 4 ท่านควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ เช่น การสูบบุหรี่ การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีหรือมีมลพิษสูง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บข้อเข่า

การบาดเจ็บข้อเข่า โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บข้อเข่า            ในปี 2004 มีคำถามจากผู้ที่อยู่ในวงการกอล์ฟว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ไทเกอร์ วู้ดส์ ผู้ซึ่งชนะ จาก 1999 – 2002 ในเมเจอร์มาแล้ว 7 ครั้ง และเป็น 4 ครั้งติดต่อกันซึ่งเรียกว่า Tiger Slam แต่ ไม่สามารถชนะในการแข่งขันอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้เปลี่ยนโค้ชจาก Butch Hamon เมื่อต้นปี 2003 และปรับวงสวิงภายใต้โค้ชคนใหม่ Hank Haney ผู้คนสงสัยกันมากมายว่าไทเกอร์ วู้ดส์ จะมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง Butch Hamon ด้วย เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งที่ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้ปรับวงสวิงใหม่ เนื่องจากวงสวิงเดิมทำให้มีการปวดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังสิ้นสุดการแข่งขันปี 2002ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) พบว่ามีน้ำในข้อเข่าและมีการฉีกขาด ยืดออกของเอ็นไขว้หน้า (anterior crudite legaunt) เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่สำคัญที่จะรักษาไม่ให้กระดูกข้อเข่าเลื่อนออกจากกันไปในแนวหน้า - หลังและรักษาความมั่นคงของเข่าในการเคลื่อนไหวและเล่นกีฬา ไทเกอร์ วู้ดส์ เขียนในหนังสือ How I play golf เมื่อต้องการเพิ่มระยะอีก 20 หลา จะใช้วิธีสะบัดขาซ้ายให้เหยียดตรง (Snap his left leg straight) แต่การเคลื่อนไหวใช้พลังโดยการหมุนสะโพกให้เร็วและหมุนขาซ้ายขณะที่งอเข่ารับน้ำหนัก และเหยียดตรงทันทีในขณะทำดาวน์สวิง ทำให้เกิดแรงบิดข้อเข่าซ้ายอย่างมาก ในปี 2002 ไทเกอร์ วู้ดส์ ให้สัมภาษณ์ Golf Digest magazine ว่ามีอาการเจ็บข้อเข่า ต้องกินยาแก้ปวดก่อนการเล่น และเวลาทำดาวน์สวิงควรพยายามเลี่ยงไม่ให้มีแรงกดบนข้อเข่ามากเกิน เรามารู้จักเรื่องกายวิภาคของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่าและการบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าให้แข็งแรงและยืดเหยียดได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ  กายวิภาคของข้อเข่า           ข้อเข่า ประกอบด้วย กระดูกฟีเมอร์ (Femur) กระดูกทิเบีย (Tibia) กระดูกสะบ้าด้านหน้าข้อเข่า (Patella) บริเวณที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้น สัมผัสกันจะมีผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน (Articular cartilage) คลุมอยู่และภายในข้อคลุมด้วยเยื่อบุข้อ (Synovial membrane)           ระหว่างผิวข้อกระดูกฟีเมอร์ และกระดูกทิเบีย มีหมอนรองข้อเข่ารูปร่างคล้ายตัว C รองอยู่ทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทรกบนผิวข้อเข่า และช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า และช่วยให้น้ำหล่อลื่นข้อเข่าไปเคลือบผิวข้อได้ดีขึ้น          ความมั่นคงของข้อเข่าขึ้นอยู่กับกระดูกฟีเมอร์และกระดูกทิเบีย ที่ประกอบเป็นข้อเข่าที่ยังมีลักษณะปกติไม่แตกไม่ทรุด หมอนรองกระดูกข้อเข่าและเอ็นที่ยึดข้อเข่า รวมทั้งกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อเข่า  กล้ามเนื้อที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าที่ทำหน้าที่เหยียดข้อเข่า เรียก Quadriceps muscles และกล้ามเนื้อที่อยู่ต้นขาด้านหลัง เรียก Hamstring muscles ถ้าส่วนต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติก็จะเสียความมั่นคงของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่า จากเอ็นใหญ่ 4 เส้น 1. เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament) 2. เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament) 3. เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament) 4. เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament)   เอ็นเข่าด้านนอก, ด้านใน ช่วยป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เอียงไปด้านข้าง  เอ็นไขว้หน้า ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนไปด้านหน้า  เอ็นไขว้หลัง ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนตกไปด้านหลัง              ภยันตรายที่เข่าบิดอย่างรุนแรงหรือภาวะที่ทำให้เข่าเคลื่อนมากกว่าปกติ เช่น ล้ม เสียหลัก ถูกกระแทรก เข่าเหยียดจนแอ่นไปทางด้านหลังหรือด้านข้างมากเกินไป จะทำให้เอ็นใหญ่ที่ยึดข้อเข่าฉีกขาดได้ อาจจะมีการฉีกขาดเพียงอันเดียวหรือหลายอัน หรือมีการบาดเจ็บร่วมกับผิวข้อแตก, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดร่วมด้วยก็ได้ ความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 มีการฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเอ็น แต่เอ็นยังไม่ยึดหรือขาดให้เห็นชัดเจน ระดับที่ 2 เอ็นฉีกขาดบางส่วน ระดับที่ 3 เอ็นฉีกขาดแยกออกจากกันทั้งหมด อาการและการตรวจพบ              โดยทั่วไปการบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกอล์ฟมักไม่ค่อยรุนแรง นอกจากจะมีการเสียหลักล้มเช่น ยืนตีในบริเวณพื้นที่ต่างระดับ มักพบมีการบาดเจ็บบริเวณเข่าซ้ายในนักกอล์ฟที่ตีด้วยมือขวา เพราะจะมีแรงบิดและรับน้ำหนักบนเข่าซ้ายค่อนข้างมาก การบาดเจ็บที่รุนแรงจะพบได้บ่อยมากในกีฬาฟุตบอล, รักบี้, เทนนิส อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น   ปวดบวมบริเวณข้อเข่า  กดเจ็บบริเวณที่เอ็นฉีก, บริเวณแนวข้อ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหมอนรองข้อเข่า  เดินลงน้ำหนักไม่ได้หรือเดินแล้วปวดเสียวมากผิดปกติ  การงอเหยียดเข่าไม่ได้ เข่าติดในท่าใดท่าหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดหมอนรองข้อเข่าขาดไปขวางในข้อ  รู้สึกเข่าบวมหรือเกผิดรูป อาจเกิดจากเอ็นใหญ่ขาดหรือกระดูกแตก การตรวจพบทางด้านการแพทย์ 1. ตรวจน้ำหรือเลือดออกในข้อเข่า ซึ่งจะพบภายในข้อเข่าบวมมาก 2. ตรวจความมั่นคงด้านข้างข้อเข่า 3. ตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า 4. ตรวจการเคลื่อนไหว, หมุนเข่า เพื่อดูว่าหมอนรองข้อเข่าขาดหรือไม่ รูปที่ 3 การตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า ในท่านอนหงายงอเข่า 90 องศา  ถ้าดึงกระดูกใต้เข่าเลื่อนมาข้างหน้าได้แสดงถึงเอ็นไขว้หน้าขาด  ถ้ากดกระดูกใต้เข่าเลื่อนลงไปข้างหลังได้ แสดงถึงเอ็นไขว้หลังขาด เอ๊กซเรย์ข้อเข่า       เพื่อดูว่ามีลักษณะกระดูกหัก ข้อเคลื่อนหรือไม่ การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery)             เป็นการตรวจภายในข้อเข่า จะได้การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการฉีดยาเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลังเพื่อให้ส่วนล่างของร่างกายชา ผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดรักษาได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ใช้แผ่นรัดห้ามเลือดบริเวณต้นขา เพื่อที่ไม่ให้เลือดออกมากระหว่างการผ่าตัดรักษา             เจาะรูบริเวณด้านหน้าเข่าชิดกับเอ็นลูกสะบ้า ใส่ท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 มิลลิลิตร ซึ่งมีเลนส์และท่อนำแสงส่อเข้าไปในข้อเข่าสามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า โดยต่อภาพเข้ากับจอทีวีได้ ซึ่งจะเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า จะเป็นภาพขยายจากของจริงประมาณ 5 ถึง 10 เท่า สามารถจะอัดเป็นภาพวีดีโอ เพื่อมาดูภายหลังการผ่าตัดได้ รูปที่ 4 การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติในข้อเข่า                ในการตรวจโดยวิธีส่องกล้อง จะเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น ผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน, เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลัง, หมอนรองข้อเข่า, เยื่อบุข้อ เพื่อพบพยาธิสภาพหรือการผิดปกติก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น การทำผิวข้อให้เรียบ การเอาส่วนของหมอนรองข้อเข่าขวาออกรวมทั้งการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลังได้ การรักษาหลังผ่าตัด              ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนา ๆ แล้วรัดด้วยผ่ายืดให้แน่นเพื่อไม่ให้บวมประมาณ 3 – 4 วันหลังจากนั้น ให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าได้ การบริหารกล้ามเนื้อ, การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด 1. หลังจากแผลหายดี ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อเหยียดหัวเข่าได้ 2. เริ่มบริหารโดยไม่รับน้ำหนักที่เข่า เช่น การวายน้ำ, การขี่จักรยาน 3. การบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนัก (Weight training) การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Quadriceps) ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหนาให้มากที่สุดนาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง  การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Hamstrings)           ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้นตัวไปข้างหลังและข้างหน้ารู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด นาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อ Quadriceps  นั่งเก้าอี้สูง งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย, ยางยืด กล้ามเนื้อ Hamstrings  นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า หรือแรงต้านจากยางยืด ข้อแนะนำสำหรับท่านนักกอล์ฟ • ควรออกกำลังกายเป็นการอุ่นเครื่องให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และข้อเคลื่อนไหวคล่องตัวก่อนการเล่นกอล์ฟ • เริ่มออกกำลงกายอย่างช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น • ไม่ควรออกกำลังกายจนเกินขีดความสามารถ หรือเกิดอาการบาดเจ็บ • ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ • การเล่นกอล์ฟควรเล่นในขอบเขตความสามารถของตัวเอง โดยคำนึงถึงเวลา (time) จังหวะ (tempo) และความสมดุล (balance) เป็นหลัก ซึ่งจะลดการบาดเจ็บของร่างกายได้มาก • ถ้าท่านมีการบาดเจ็บในข้อเข่า ทำให้เดิน เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย

การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย           ปัญหาที่แพทย์มักจะพบบ่อย ๆ เกี่ยวกับการบาดเจ็บของมือ แขน ที่เกี่ยวกับเส้นประสาท คือ ไม่ได้บอกผู้ป่วย ว่ามีการบาดเจ็บของเส้นประสาท ซึ่งบางครั้ง อาจจะวินิจฉัยไม่ได้ หรือละเลยการตรวจอย่างละเอียด นอกจากนั้น การวางแผนในการรักษา และบอกผลการรักษา รวมทั้ง การติดตามผู้ป่วยให้คำแนะนำการปฏิบัติของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะผลของการรักษา เส้นประสาท ใช้เวลาแตกต่างกันมากอาจจะเป็นวัน เดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ             การมีความรู้พื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับ การบาดเจ็บเส้นประสาท การเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย อธิบายผู้ป่วยถึงผลที่คาดหวังหรือการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลา จะทำให้ผู้ป่วยมั่นใจในตัวแพทย์ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย สามารถติดตามผลการรักษาระยะยาวได้              ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) เชื่อมต่อกับระบบประสาทส่วนกลางคือ สมอง และไขสันหลังไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วย cranial nerves และ spinal nerves บริเวณแขนและมือ เป็น spinal nerves ที่ออกมาจากคอ C5-T1 roots Spinal nerves ประกอบด้วย  Motor fibers ไปที่ end plates ของกล้ามเนื้อ Sensory fiber จาก recepters ที่ผิวหนัง, กล้ามเนื้อ, เอ็น, ข้อ Autonomic fiber ไปที่ หลอดเลือด, ต่อมเหงื่อและปุ่มรากขน (Hair follicle) การตรวจผู้ป่วย ที่สงสัยว่าการบาดเจ็บเส้นประสาทจึงต้องตรวจทั้ง 3 อย่าง คือ การตรวจ กล้ามเนื้อ (Motor) การตรวจความรู้สึก (Sensibility) และการตรวจ Symphathetic nerve ที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ (Sudomotor) การตรวจกล้ามเนื้อ (Motor) การตรวจการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มที่เส้นประสาทไปเลี้ยงที่ได้รับการบาดเจ็บ การตรวจความรู้สึก (Sensibility) หลังการบาดเจ็บเส้นประสาท บริเวณแขน และมือ ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกบริเวณผิวหนังที่เส้นประสาทไปเลี้ยง บริเวณทรวงอกจะเป็นแนวตามเส้นประสาทชัดเจนแต่ที่แขน เนื่องจากเส้นประสาทจะรวมเป็น plexus ก่อนแล้วจึงแยกเป็น Median nerve , Ulnar nerve และ Radial nerve ไปเลี้ยงแขนและมือ การตรวจ (Sudomotor) ปกติบริเวณที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่ขาด จะไม่มีเหงื่อออกภายใน 30 นาที หลังจากได้รับการบาดเจ็บ   ลักษณะของเส้นประสาทเมื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์             เส้นประสาทแต่ละเส้นจะถูกล้อมรอบด้วย connective tissueเรียก Endoneurium มี collagen fiber และ หลอดเลือดรวมอยู่ด้วย เส้นประสาทหลาย ๆ เส้นรวมเป็นกลุ่ม fascicle ล้อมรอบด้วย connective tissue เรียก Perineurium ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มที่แข็งแรงช่วยป้องกันแรงกด (compression) และแรงดึง (distension) ต่อเส้นประสาท รวมทั้งป้องกันการซึมผ่านเข้าออกของสารละลายใน Axon (diffusion barrier)            กลุ่มของเส้นประสาท (fascicles) รวมกันอยู่ภายในเส้นประสาท (nerve trunk) โดยมีเยื่อหุ้ม connective tissue ที่หนาและแข็งแรงมีปริมาณค้อนข้างมาก เรียก Epineurium ซึ่งเมื่อตัดเส้นประสาทตามขวางจะพบ Epineurium ประมาณ 60 – 85 % ของพื้นที่หน้าตัด              Epineurium ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนนอกที่คลุมเส้นประสาททั้งหมด เรียก External epineurium, Epineurium ส่วนที่คลุมกลุ่มของ fascicle จะอยู่ชิดแน่นกับ perineurium เรียก Internal epineurium ในการผ่าตัดต่อเส้นประสาทเย็บที่ External และ Internal epineurium             Microcirculation เส้นประสาท มีเส้นเลือดเข้าไปเลี้ยงหลายแห่ง โดยผ่านเข้าไปใน loose areolar connective livens และผ่านทะลุเข้าไปในเส้นประสาทเป็น Intrinsic epineurial, perineurial และ endoneurial plexus ทำให้เลือดที่เข้าไปเลี้ยงเส้นประสาทแต่ละเส้นเลี้ยงเส้นประสาทได้ทั่วถึงเป็นระยะยาว ช่วยให้เลาะเส้นประสาทได้ง่ายขึ้นโดยตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงออก 1 – 2 เส้น โดยไม่มีผลกระทบต่อการไหลเวียนในเส้นประสาท และสามารถทำผ่าตัด Free Vascularized nerve graft ได้โดยใช้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทเพียงอย่างเดียว             การดึงรั้งเส้นประสาท (stretching) ทำให้ Intrafascialar tissue pressure สูงขึ้น มีผลกระทบต่อการไหลเวียน Lundborg ศึกษาพบว่า การยืดเส้นประสาท 8 % มีผลกระทบต่อ venules เมื่อแรงดึงเพิ่มมากขึ้นโดยยืดเส้นประสาทให้ยาวขึ้น 15 % ทำให้ blood flow ใน arterials และ capillaries หยุดไหล ดังนั้น การเย็บเส้นประสาทที่ตึงมากเกินจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเส้นประสาท             Nerve excursions เส้นประสาทไม่ได้ยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ แต่จะเคลื่อนไปมาได้ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของข้อมือ ข้อศอก หรือหัวไหล่ ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกัน เส้นประสาทถูกดึงรั้ง หรือย่นเข้ามา ขณะมีการเคลื่อนไหวของมือ หรือแขน   การเคลื่อนไหวของเส้นประสาทบริเวณเหนือข้อศอก ระหว่างการงอเหยียดข้อศอก            Median nerve เคลื่อนได้ 7.3 มม. Ulnar nerve เคลื่อนได้ 9.8 มม. บริเวณเหนือข้อมือ Median nerve เคลื่อนได้ 14.5 มม Ulnar nerve เคลื่อนได้ 13.8 มม.   บริเวณโคนนิ้วมือ digital nerve เคลื่อนได้ 3.1 – 3.6 มม. ระหว่างการเคลื่อนไหวของเส้นประสาทนี้ไม่มีผลกระทบต่อ microcirculation               การศึกษานี้ ช่วยอธิบายการเกิดภาวะ nerve compression และ nerve irritation ได้ เนื่องจากการเกิด edema และ fibrosis จะทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นประสาทได้น้อยลง ทำให้เส้นประสาทถูกยึดกับเนื้อเยื่อรอบ ๆ และเกิดการดึงรั้งของเส้นประสาทและการไหลเวียนลดน้อยลง ระหว่างการเคลื่อนไหวของข้อมือ และจะเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ             การผ่าตัดเลาะเส้นประสาทต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ เส้นประสาทช้ำมากเกินไปเพราะจะทำให้ Excursion ของเส้นประสาทลดลงได้   Interaction between Neuronal cell body and target organ              เซลล์ประสาท ประกอบด้วย cell body , dendrites และ axon ไปยัง target organs มีการติดต่อทั้ง 2 ทางระหว่าง proximal part และ distal part ของ neurone โดย Anterograde และ retrograde axonal transport mechanisms End organds ได้รับการกระตุ้นจาก เซลล์ประสาท ขณะเดียวกันเซลล์ประสาท ก็ได้รับ Nurotrophic factors จาก end organs และ Schwann cell โดยผ่าน Retrograde axonal transport Axonal transport การส่งผ่านสารต่าง ๆ ระหว่างเซลล์ กับ target organs มี 2 แบบ   Fast transport จากเซลล์ประสาท ส่ง Membrane protein , secretary proteins และ peptides ไปยัง target organ และการ transport nerve growth factor, Neurotrophins ซึ่งสร้างจาก Schwann cell, skin, target organ กลับไปที่เซลล์ซี่งมีความจำเป็นสำหรับการเจริญและรักษาเซลล์ประสาทให้ดำรงอยู่ได้การขาด Nerve growth factor และ Neurotrophins ทำให้เซลล์ประสาทตายได้พบในกรณีที่มีการบาดเจ็บใกล้ ๆ กับเซลล์ประสาท อัตราความเร็ว fast transport 200 – 400 ม.ม. / วัน Slow transport เป็นการtransport ส่วนสำคัญของ Axon ในการงอกของ Axon หลังจากมีการบาดเจ็บ Slow transport อัตราความเร็ว 1 – 4 ม.ม. / วัน ซึ่งเป็นอัตราการงอกของเส้นประสาท   การเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทเมื่อถูกตัดขาด               ส่วนของเส้นประสาทที่ตัดออกจากนิวเคลียส จะเสื่อมสลาย (degenerate) และถูกทำลายโดย phagocytosis ขบวนการเสื่อมสลายของเส้นประสาทส่วนปลายที่ถูกตัดขาดจากนิวเคลียสเรียกว่า Wallerian degeneration หรือ Secondary degeneration มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนที่อยู่เหนือกว่าบริเวณที่ขาดด้วยเรียกว่า Primary , traumatic หรือ retrograde degeneration               เมื่อ Axon ถูกตัดขาดจะมีการเปลี่ยนแปลงของ Axon ส่วนปลายลงมาทั้งหมด การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจะไม่ตอบสนองหลังจากการบาดเจ็บ 18 – 72 ชั่วโมง หลังจาก 2 – 3 วัน แล้ว Axon จะเสื่อมสลายหดตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลังวันที่ 7 จะมีเซลล์ Macrophages เข้ามากินชิ้นส่วนของ Axon และหมดไปใน 15 ถึง 30 วัน Schwann cell จะแบ่งตัวมากขึ้นเข้าไปแทนที่ Axon และ Myelin sheath Primary หรือ Retrograde degeneration เกิดขึ้นที่เส้นประสาทอย่างน้อย 1 node ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรง การบาดเจ็บและการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเหมือน Wallerian degeneration               Cell ประสาทมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นชัดเจนในวันที่ 7 หลังการบาดเจ็บ มีการบวมของ Cytoplasm และ Nnucleus จะเคลื่อนมาอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง (Eccentric placement) เซลล์ประสาทอาจจะตาย หรือฟื้นเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ขาด มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน หลังการบาดเจ็บ 4 – 6 สัปดาห์ เซลล์จะยุบบวมนิวเคลียสกลับมาอยู่ตรงกลาง                บริเวณที่ขาดจะมี Axon งอกออกมาอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชม.แรกหลังการบาดเจ็บ ถ้าส่วนปลายไม่ถูกตัดขาดแยกออกไป Axon ก็จะงอกเข้าไปแทนที่ตามเดิมไปยัง target organ การที่ Axon จะงอกไปในทิศทางใดได้รับอิทธิพลจาก Neurotrophic substances ในส่วนปลายของเส้นประสาทด้วย Axonal growth and orientation                Lundborg ได้ทดลองใช้ Y chamber ใน Silicone block proximal end ต่อเข้ากับ Sciatic nerve ปลายทั้ง 2 ข้าง ต่อด้วย nerve graft และ tendon graft พบว่ามี nerve structure งอกเข้าไปยังปลาย nerve graft ขณะที่เป็นเนื้อเยื่อเส้นเล็ก ๆ เข้าไปต่อกับ tendon graft    Cellular repair vs. Cellular proliferation เส้นประสาทเมื่อถูกตัดขาดจะสูญเสีย axoplosm ส่วนปลายจากที่ถูกตัดลงไปทั้งหมด             Axon regeneration เป็นการสร้าง axoplasm งอกลงไปส่วนจากเซลล์ประสาทตัวเดิม โดยจำนวนเซลล์ประสาทไม่เพิ่มขึ้น บริเวณรอบเส้นประสาทที่ขาดจะมี connective tissue cell เพิ่มขึ้นเป็นลักษณะของ Local wound healing process Classification of nerve injuries Seddon แบ่ง nerve injury เป็น 3 ชนิด   Neurapraxia เป็น physiologic ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาท Axonotmesis ส่วนของAxon ขาดแต่เยื่อหุ้มยังไม่ขาดออกจากกันจะเกิด degeneration ทางส่วนปลายลงไปทั้งหมด Neurotmesis เส้นประสาททั้งเส้นถูกตัดขาดออกจากกัน Sunderland แบ่ง nerve injury ตามความรุนแรงของเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บเป็น Grade 1-5   การตรวจร่างกายที่สำคัญที่เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บ                การตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อจะให้แน่นใจว่าไม่มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทบางครั้งอาจทำได้ยาก ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือผู้ตรวจอาจจะมองข้ามไป บางครั้งการตรวจร่างกายประเมินผลผิดพลาดจาก Variation ของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงที่มือหรือมี trick movement เช่น ให้ผู้ป่วยเหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยเหยียดไม่ได้จะงอข้อมือแทนทำให้เห็นว่าสามารถเหยียดนิ้วได้               Digital nerve ขาดอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยถ้าไม่สงสัยไว้ก่อนหรือตรวจให้ละเอียด ในกรณีที่มี flexor tendon บริเวณนิ้วมือขาด ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะมี digital nerve เส้นใดเส้นหนึ่งขาดหรือขาดทั้ง 2 เส้นได้ ต้องตรวจความรู้สึกปลายนิ้วและเมื่อผ่าตัดต่อเอ็นต้องเปิดแผลดูบริเวณเส้นประสาทด้วยว่าปกติหรือไม่   การตรวจ Radial nerve ตรวจความรู้สึก ด้านหลังมือบริเวณ Web ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ การตรวจ motar ผู้ป่วยคว่ำมือให้ผู้ป่วยกระดกนิ้วหัวแม่มือให้กางออกลอยจากพื้นถ้าผู้ป่วยทำได้จะเห็น EPL tendon ชัดเจนแสดงว่า Radial nerve ปกติ การตรวจ Median nerve  ตรวจความรู้สึกที่ปลายนิ้วชี้ซึ่งเป็น Autonomous zone ถ้ามีความรู้สึกปกติแสดงว่าเส้นประสาทไม่ขาด ตรวจกล้ามเนื้อ Abductor policis brevisโดย ให้ผู้ป่วยกางนิ้วหัวแม่มือตั้งฉากกับฝ่ามือต้านกับแรงกดจากผู้ตรวจดูการเคลื่อนไหวและคลำบริเวณกล้ามเนื้อถ้ามีการหดตัวแสดงว่า median nerve ปกติ      การตรวจ Ulnar nerve ตรวจความรู้สึก autonomous zone ที่ปลายนิ้วก้อย ตรวจ Motar Dorsal interossei โดยให้ผู้ป่วยคว่ำมือปลายนิ้วแนบชิดพื้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวนิ้วกลางไปด้านข้างทั้ง 2 ด้าน โดยไม่ยกนิ้วให้ลอยจากพื้นถ้าทำได้แสดงว่าเส้นประสาท Ulnar nerve ปกติ     การรักษาการบาดเจ็บเส้นประสาท              ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บในกลุ่ม Neurapraxia, หรือ Grade 1 และ Axonotemesis ส่วนใหญ่หรือ Grade 2,3 ผลการรักษาดีไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ในกลุ่ม Neurotemesis หรือ Grade 4,5 ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาผลไม่ดี               ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า การบาดเจ็บรุนแรงแค่ไหนสมควรจะรีบผ่าตัดหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้มีการบาดเจ็บรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก หรือรอนานเกินในกลุ่มที่ต้องรีบผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อลีบและผลการผ่าตัดไม่ดี   การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เป็นการป้องกันไม่ให้ข้อยึด ป้องกันผิวหนังที่ไม่มีความรู้สึกไม่ให้เป็นแผลและบริหารกล้ามเนื้อที่ยังดีให้แข็งแรง ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษา ในกรณีที่การบาดเจ็บเส้นประสาทเป็นชนิด Neurotemesis หรือ Neurapraxia, Axonotmesis ที่มีสาเหตุจากการกดทับเช่นการ ดึงกระดูกเข้าที่ของ fracture humerus ทำให้กดทับ radial nerve การผ่าตัดรักษาต่อเส้นประสาท หรือแก้ไขสาเหตุการบาดเจ็บที่เกิดจากการกดทับ จะช่วยให้การฟื้นของเส้นประสาทกลับคืนมาได้ ข้อบ่งชี้ที่สำคัญมีดังนี้  ถูกของมีคมบริเวณเส้นประสาทเห็นเส้นประสาทขาด บาดแผลรุนแรง เช่น ระเบิด ควรเปิดล้างแผล ตรวจเส้นประสาทวางแผนในการต่อเส้นประสาทหลังจากแผลดีไม่มีการอักเสบติดเชื้อ การบาดเจ็บชนิดไม่มีแผล หรือแผลเป็นรูลึก เช่นถูกแทง ถูกยิง รักษาบาดแผล และติดตามรอดูว่าเส้นประสาทจะฟื้นกลับคืนมาในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ภายใน 3 – 6 สัปดาห์ ตรวจ EMG ติดตามผลการรักษาถ้าไม่มี Reinneruation ของกล้ามเนื้อ ที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่บาดเจ็บพิจารณาผ่าตัดรักษา การดึงกระดูกเข้าที่ใส่เฝือก แล้วมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี Oblique fracture of humerus ซึ่ง radial nerve ทอดผ่านบริเวณ fracture อาจจะถูกหนีบระหว่างกระดูกได้ควรรีบผ่าตัดรักษา   เวลาที่ทำผ่าตัดหลังการบาดเจ็บของเส้นประสาท              การทำผ่าตัดต่อเส้นประสาทภายใน 6 – 8 ชม. ในรายที่แผลสะอาดจากถูกของมีคมเรียก primary repair ซึ่งถ้ามีความพร้อมทั้งแพทย์ผ่าตัดที่มีประสบการณ์ ห้องผ่าตัด เครื่องมือ กล้องจุลทรรศน์ หรือ loupe ควรรีบทำเลย ถ้ายังไม่พร้อม ไม่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์อาจจะเลื่อนไปก่อน ผ่าตัดภายใน 5 – 7 วัน ก็ยังเรียก primary repair ได้ เพราะการผ่าตัดต่อเส้นประสาทควรจะทำให้ดีที่สุด ในครั้งแรก (First repair must be the best repair possible)                  การผ่าตัดต่อเส้นประสาท 7 – 18 วัน เรียก Delayed primary repair เช่น อาจต้องรอให้สภาพผู้ป่วยพร้อมที่จะรับการผ่าตัด หรือบริเวณแผลที่เส้นประสาทขาดไม่มีภาวะ การติดเชื้อ การผ่าตัดหลัง 18 วัน หรือ 3 สัปดาห์ไปแล้วเรียก secondary repair มักจะต้องตัด Neuroma และ Gleioma ที่ปลายประสาทและมีปัญหาเรื่องมีช่องว่างระหว่างปลายประสาท   ขั้นตอนในการผ่าตัดต่อเส้นประสาท               หลังจากเปิดแผลหาเส้นประสาท ควรจะเริ่มจากบริเวณเส้นประสาทที่ดีใกล้กับปลายประสาทที่ขาดทั้ง 2 ข้างแล้วค่อยหาปลายประสาท (Nerve stumps) จะทำได้ง่ายกว่าและหลีกเลี่ยงการไปตัดเส้นเลือดเส้นประสาทบริเวณที่ขาดเพราะมี Scar มาก   การเตรียมปลายประสาท (preparation of nerve stumps) ต้องตัดปลายประสาทจนเห็น fascsicles ที่ดีไม่มี scar แล้วจึงเตรียมต่อเส้นประสาทได้   Identification of Motor and Sensory Fascicles               การต่อ digital nerve ซึ่งมีเฉพาะ sensory fiber หรือ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมีเฉพาะ motor fiber อย่างเดียว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการต่อสลับกลุ่ม เส้นประสาท ที่เป็น mixed nerve มีทั้ง motor และ sensory fibers อยู่ด้วยกันการต่อสลับกลุ่มจะไม่ได้ผลการเลือกต่อให้เส้นประสาทเข้ากลุ่มเดิมหรือกลุ่ม motor และ sensory เหมือนกันจึงจะคาดหวังผลที่ดีได้   Anatomic technique ถ้าทำ Primary repair ยังเห็นกลุ่มเส้นประสาท และแนวเส้นเลือดที่มาเลี้ยงได้ชัดเจน Electrophysiological method ต้องทำผ่าตัดภายใน 2 – 3 วัน เพราะหลังจากนั้นการกระตุ้น dirtal part จะไม่ได้ผลเพราะมี degeneration ของ nerve ไปแล้ว Histochemical parameter โดยตัดปลาย stump ทั้ง 2 ข้าง ตรวจหาAcetylcholine esterase ที่หน้าตัดของ stump เพื่อมาเปรียบเทียบจัดกลุ่ม motor fiber เข้าด้วยกัน   วิธีเย็บเส้นประสาท   Epineurial neurorrhaphy  Group fascicular neurorrhaphy                การเย็บวิธีไหน ผลการรักษาไม่ต่างกันชัดเจน ขึ้นอยู่กับลักษณะของ Nerve stump ควรใช้พิจารณาหลักการที่เย็บให้เส้นประสาทเข้ากลุ่มกันถูกต้องมากที่สุด ปลายประสาทไม่มี Scar และ เย็บไม่ให้มี tension             ถ้าทำ Primary repair เลือกทำ epineurial repair ถ้า nerve stump แยกกลุ่มกันชัดเจนเย็บเป็น group fascicular repair 3. Partial neurorrhaphy เส้นประสาทขาดบางส่วนผ่าตัดเลาะแยก Nerve fibers ที่ดีออกจาก Neuroma ตัด Neuroma ออกแล้วเย็บเฉพาะส่วนที่ขาด โดยให้ Nerve fiber ที่ดีโค้งงอ โดยไม่ต้องตัดออก     การต่อเส้นประสาทเมื่อปลายทั้ง 2 ข้างของเส้นประสาทอยู่ห่างจากกัน Mobilization การต่อเส้นประสาทหลัง 3 สัปดาห์ ต้องตัด Neuroma จนเห็น fascicles ที่ดี จะมีช่องว่างเกิดขึ้น ระหว่างปลาย nerve stumps การเลาะเส้นประสาททั้ง 2 ปลาย อาจจะตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณใกล้ ๆ stump ออกได้เพื่อที่จะดึงเส้นประสาทเข้ามาหากันได้ Position of extremity การต่อ Medial nerve, Ulnar nerve ที่ขาดใกล้ ๆ ข้อมือหรือข้อศอกการงอข้อศอกไม่เกิน 90 องศา หรืองอข้อมือไม่เกิน 40 องศา จะช่วยให้ต่อเส้นประสาทได้ แต่ถ้าต้องงอข้อศอกหรือข้อมือมากเกินไป หลังการต่อจะมีปัญหาเรื่องการเหยียดข้อ เพื่อให้อยู่ในท่าที่ทำงานได้ หรืออยู่ในท่าปกติไม่ได้ เพราะจะไม่รั้งเส้นประสาท Transportation Ulnar nerve ขาดบริเวณใกล้ ๆ ข้อศอกถ้าเลาะเส้นประสาทงอข้อศอกแล้วยังต่อไม่ถึงสามารถเลาะเส้นประสาทให้มาอยู่ด้านหน้าข้อศอก จะช่วยให้ต่อเส้นประสาทได้และงอเหยียดข้อศอกได้ Bone resection เส้นประสาทขาดร่วมกับกระดูก Humerus หัก ถ้าเป็น communited fracture อาจจะตัดปลายกระดูกให้เสมอกันและสามารถต่อเส้นประสาทได้ ไม่ทำ Bone resection ในกรณีที่ไม่มีกระดูกหัก Nerve grafting การต่อเส้นประสาทที่ตึงเกินทำให้มี Microcirculation ของเส้นประสาทเสียไปควรแก้ปัญหาโดยใช้ Nerve graft ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ Sural nerve graft เพราะมี donor defect น้อย และสามารถเอา graft มาได้ยาว 30 – 40 ซม.    การประเมินหลังการผ่าต่อตัดเส้นประสาท ใช้ Medical research council system   การผ่าตัด End to side nerve suture                 เริ่มมีรายงานการผ่าตัด โดยเอาส่วน distal part ของ nerve ที่ขาดไปต่อ End to side เข้ากับ donor nerve ที่อยู่ใกล้ ๆ โดยที่ไม่มี deficit ของ donor nerve และผลการผ่าตัด end to side nerve suture อยู่ในเกณฑ์ที่เปรียบเทียบได้กับวิธีมาตรฐานทั่วไป มีข้อดีที่ผ่าตัดง่ายกว่าไม่ต้องใช้ nerve graft เวลาในการ recovery ของ nerve เร็วกว่า เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งในกรณีที่เส้นประสาทขาดหายค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะต้องคิดตามผลระยะยาว และผลการรักษาจากหลาย ๆ สถาบัน     References : Birch R. Nerve repair. In : Green’s DP. Green’s Opertive Hand Surgery. Fifth ed. Vol.1 : Churchill Livingstone, 2005; 1075 - 1112  Jobe MT. Nerve Injuries. In : Terry Canal . Campbell’s Operative Orthopaedics. Volume 4 . 9th ed . St louisL Mosby, 1998: 3429 – 3444 Jobe Mt. and Wright Ⅱ.Peripheral Nerve Injuries. In : Terry Canal . Campbell’s Operative Orthopaedics. Volume 4 . 9th ed . St louis L Mosby, 1998: 3827 – 3852 Lundborg G. Nerve Injuries and Repair . Churchill Livingstone. New York, 1988:   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve injury)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะกระดูกพรุนจะมาเยือน

ปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะกระดูกพรุนจะมาเยือน พ.อ.นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา แพทย์ผู้ชำนาญการกระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิภาวดี ให้สัมภาษณ์ ลง นสพ.ไทยรัฐ เตือนปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะ กระดูกพรุน จะมาเยือน             จริงอยู่ที่ว่า การไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ใช่ว่าสังขารของคนเราจะควบคุมกันได้ดั่งใจนึก พ.อ.นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา เตือนว่า ปัญหาโรคกระดูกพรุน กำลังเป็นภัยร้ายที่คุกคามผู้คนทั่วโลก ภายใน 50 ปี คาดว่าจะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนถึงนาทีละ 2 คน             คุณหมอวีระยุทธแจกแจงให้ฟังว่า ปัญหาใหญ่ของโรคกระดูกในปัจจุบัน คือ ภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย ซึ่งมีคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน หลายๆคนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น กระดูกสะโพกหัก บางคนมาหาหมอเพราะปวดหลัง หลังโก่ง หรือปวดกระดูกมากจนเดินไม่ได้ ซึ่งพวกนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะกระดูกพรุนทั้งนั้น โรคนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ขนาดองค์การอนามัยโลก ยังส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนแก่ประชาชนทั่วไป โดยเชื่อว่าภายใน 50 ปี จะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนทั่วโลกถึงนาทีละ 2 คน              สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน คุณหมอบอกว่า มีสาเหตุได้จากหลายๆ กรณีแต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย คือ คนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ และผู้ป่วยเรื้อรังที่ขาดสารอาหาร หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มคนที่ขาดการออกกำลังกาย กินยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ทิ้งแล้ว คนที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งนั้น              อย่างไรก็ดี คุณหมอกล่าวย้ำว่า คนส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามความสำคัญของโรคกระดูกพรุน และมักปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ จึงค่อยมาหาหมอ หลายๆคนมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่รู้ตัวไม่ได้รักษา อย่างเช่น ได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อย นั่งรถกระแทก พวกนี้ก็อาจทำให้กระดูกหักได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหัก อาจรุนแรงถึงขั้นพิการ เดินไม่ได้ด้วยซ้ำ              ถ้าจะให้ดีอย่าปล่อยให้ “โรคกระดูกพรุน” เป็นระเบิดเวลาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัว สังเกตร่างกายตัวเองดีๆ หากมีสัญญาณบ่งชี้แม้เพียงเล็กน้อย ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกทันที ที่ “ศูนย์กระดูกและข้อ” โรงพยาบาลวิภาวดี โทร 0-2561-1111  กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คืนความสดใส... ให้กระดูก ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี

คืนความสดใส... ให้กระดูก ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี “ คืนความสดใส... ให้กระดูก” ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี      อยากมีชีวิตยืนยาว.. นอกจากต้องรู้เท่าทันทุกโรคภัย อย่าลืมหันมาให้ความสำคัญกับการดูแล “กระดูก” ด้วย เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร หากมีชีวิตยืนยาวแต่ต้องนั่งเท้าคางอยู่บนรถเข็น!! ในงาน “คืนความสดใส .. ให้กระดูกคุณ” ที่ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีเคล็ดลับดีๆ เรื่องกระดูกมาเล่าสู่กันฟัง      เริ่มจากการป้องกันกระดูกไม่ให้ผุก่อนวัยอันควร นพ.ปิยะพันธ์ ธาราณัติ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี อธิบายให้เห็นภาพว่า ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุ 45 ปี ขึ้นไป กระดูกจะปิดตัว และรอวันเสื่อม เพราะร่างกายจะดูดแคลเซียมไปใช้งานทุกวัน การป้องกันที่ง่ายที่สุดคือการรับแคลเซียมอย่างเพียงพอตลอดอายุขัย ซึ่งปกติอาหารไทยต่อมื้อ มีแคลเซียม 400-500 มิลลิกรัม แต่ร่างกายคนเราต้องการ 1,200-1,500 มิลลิกรัม จึงควรเสริมด้วยแคลเซียม เม็ดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเล่นเวท เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แอโรบิก เพิ่มความความแข็งแรงของระบบหัวใจ-หลอดเลือด จ๊อกกิ้งหรือวิ่งมาราธอน เพิ่มความคงทนต่อการใช้งาน โยคะ ไทเก็ก เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ ลีลาศ เพื่อการผ่อนคลาย ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องดูให้เหมาะกับวัยและสุขภาพร่างกายของแต่ละคนเป็นสำคัญ      แค่ฟังเฉยๆ อาจไม่เห็นภาพ กูรูด้านโยคะ ป้าจิ๊-อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เลยสาธิตโยคะท่าเด็ด “Half Moon” พิชิตอาการปวดหลัง และ Awkward Pose ป้องกันอาการปวดเข่าเอาไว้ ทำกันแบบง่ายที่บ้าน ขณะที่ ผศ.ดร.ราตรี เรืองไทย ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกายในน้ำ เชียร์อัพการออกกำลังกายในน้ำว่า ช่างดีจริงๆ เพราะในน้ำมีแรงดัน เลยมีข้อดีช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ พัฒนาระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ และทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ โดยสามารถทำเองได้ง่ายๆ ด้วยการเดินช้าๆในน้ำ แบะขา 45 องศา และใช้มือวักน้ำดันไปข้างหน้า เดินไปกลับวันละ 2 รอบ คราวนี้มาถึงเรื่องอาหารการกิน พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา แนะว่าการทานอาหารไม่ใช่แค่ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ แต่ต้องรับประทานสารอาหารให้ครบถ้วนด้วย ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มสารอาหารที่เสริมสร้างความหนาแน่นให้กระดูก อาทิ แคลเซียมมีมากในงาดำและพริกไทยดำ ควรทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ แมงกานีส- แมกนีเซียม-ฟอสฟอรัส พบในน้ำสับปะรด ดื่มวันละ 1แก้ว ช่วยป้องกันการสลายของกระดูก โบรอน พบมากในกระหล่ำปลี ช่วยเพิ่มเอสโตรเจน ฯลฯ      นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และอาหารรสเค็ม เพราะมีส่วนทำให้กระดูกเปราะง่าย ... แค่ขยันนำทิปเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวข้างต้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน “กระดูก” คงไม่ผุ ไม่พรุน ง่ายๆ แน่นอน  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการไส้ติ่งอักเสบ ปวดท้องข้างไหน แบบไหน? ต้องรู้ 【ก่อนแตก】

ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ? อาการปวดของไส้ติ่งแบบมาตรฐาน เบื้องต้นจะเริ่มปวดทั่วๆ บอกตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ครับมักเป็น รอบๆ สะดือ อาจเป็นพักๆหรือตลอดเวลาก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักเป็นแบบตลอดเวลา หลังจากนั้นประมาณ 6-10 ชม.อาการปวดจะย้ายมาที่ .. บริเวณท้องน้อยข้างขวา ต่ำกว่าสะดือ ปวดตลอดเวลา อาจมีไข้ขึ้น มีเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย  อาการปวดแบบมาตรฐาน(classical symptom) จะพบประมาณ 25% เท่านั้นครับ ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นแบบนี้ เช่น อาจไม่มีย้ายจุดปวด อาจปวดเป็นพักๆได้ (กรณีระยะเริ่มแรก หรือเป็นชนิดที่อยู่หน้าหรือหลังลำไส้เล็ก pre-ileal or post-ileal type)  แต่ประเด็นสำคัญคือปวดด้านขวาล่างๆ ครับ กดเจ็บ เดินตัวงอ มีเบื่ออาหาร มักปวดตลอดเวลา อาการเบื่ออาหารเป็นอาการที่สำคัญมากครับ พบเกือบ 100%  ฉะนั้น ถ้าปวดท้องแต่ไม่เบื่ออาหารกินข้าวได้ดี โอกาสเป็น ไส้ติ่งอักเสบแทบจะไม่มีครับ  ไส้ติ่งแตก ถ้าไส้ติ่งแตก ไข้จะสูงลอยครับ 40 ํ C ปวดทั่วท้องทั้งซ้ายและ ขวา ท้องจะแข็งเกร็งไปหมด เดินไม่ไหว ต้องนอนนิ่งๆ  การรักษา ไม่ว่าจะแตกหรือไม่ ผ่าตัดอย่างเดียวครับ ลักษณะการปวดแยกจากโรคอื่นยังไง? ปวดท้องทั่วไปจากโรคอื่นๆ โดยทั่วไป มักปวดเป็นพักๆ โรคแผลในกระเพาะ ถ้าเป็นจากโรคแผลในกระเพาะมักปวดใต้ลิ่นปี่ สัมพันธ์กับ อาหาร โดยจะท้องอืด เหมือนอาหารไม่ย่อย หรือ ปวดจุกเสียดก็ได้ มักเป็น หลังอาหาร (คือทานอาหารแล้วแย่ลง) แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ถ้าเป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น อาจเป็นที่ใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา มักปวดจุกเสียดก่อนอาหาร พอทานอาหารแล้วจะดีขึ้น ปวดจากถุงน้ำดี อาการปวดจากถุงน้ำดี มักเป็นที่ชายโครงขวาครับ อาจมีร้าวไป บริเวณมุมล่างของสะบักขวาหรือบริเวณระหว่างสะบัก จะมีลักษณะที่สำคัญ คือ จะมีอาการแน่นหรืออืด หลังทานอาหารมันๆ(Fat Intolerance) หรือมีปวดท้องหลังอาหารเย็น เป็นพักๆ ที่ชายโครงขวา (Biliary Colic) ปวดจากนิ่วในท่อไต ปวดจากนิ่วในท่อไต อาการปวดจะเป็นพักๆ มากบริเวณเอวด้านหลังอาจร้าวมาขาหนีบ หรือ บริเวณอัณฑะ ร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ปวดจาก ปีกมดลูก หรือรังไข่ ปวดจาก ปีกมดลูก หรือรังไข่ จะปวดบริเวณ ท้องน้อย ไม่สัมพันธ์กับอาหาร มักมีเลือดหรือตกขาวผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย จะสังเกตว่าอาการปวดท้อง ในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่ง หรือโรคอื่นๆก็ตาม จะแยกกันยาก ต้องใช้การสังเกตอาการ  ดังนั้น ในกรณีที่เริ่มปวดท้องที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่าเพิ่งกินยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์  เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยก่อน เพราะการกินยาแก้ปวดจะทำให้ แพทย์วินิจฉัยแยกโรคลำบาก เนื่องจาก ยาจะบดบังอาการปวดครับ แพทย์ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์  พบ., วว.ศัลยศาสตร์ , บธ.ม. แพทย์ศัลยกรรมประจำ รพ.วิภาวดี 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<