ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ปวดหัว อันตรายอย่างไร

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ปวดหัว อันตรายอย่างไร ปวดหัว อันตรายอย่างไร ปวดศีรษะ เป็นอาการที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่คนไข้จะเดินเข้ามาในแผนกอายุรกรรมสมอง และระบบประสาท สาเหตุอาจจะเกิดจากการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเร่งรีบ อาจมีความเครียดและอดนอน แต่อาการปวดศีรษะไม่ได้เกิดจากแค่ความเครียดหรืออดนอนก็ได้ อาจจะเป็นอาการนำของโรคอันตราย พิการหรือเสียชีวิตก็ได้   อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนมากจะพบในวัยทำงาน วัยกลางคนจนกระทั่งไปถึงผู้สูงอายุ และแต่ละช่วงอายุสัดส่วนของโอกาสน่าจะเป็นโรคต่างๆ ก็แตกต่างกัน เช่น ในวัยทำงานอาจจะเจอโรคที่ไม่อันตราย วัยสูงอายุขึ้นไปจะเจอโรคอันตรายมากกว่า โดยแบ่งกลุ่มตามอาการโรคปวดศีรษะเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ คือ กลุ่มอันตราย และกลุ่มไม่อันตราย   ในกลุ่มที่ไม่อันตราย เช่น โรคไมเกรน ปวดหัวเทนชั่น (*ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง / Tension type headache) หรือบางทีเราอาจจะเรียกง่ายๆ ว่า กล้ามเนื้อยึดตึง อีกอันหนึ่งก็เป็นคลัสเตอร์ (Cluster Headache) อาจจะคุ้นหูน้อยหน่อย แต่ก็สามารถเจอได้มากขึ้น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคปวดศีรษะไม่อันตราย ที่เราเจอบ่อยๆ กลุ่มอันตราย เช่น ก้อนในสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็ได้ หรือบางทีมีงูสวัดตามเส้นประสาทของสมองก็ได้ เหล่านี้จัดเป็นกลุ่มอันตราย   ส่วนอาการปวดในกลุ่มที่ไม่อันตราย ตัวอย่างเช่น ไมเกรน ก็จะมีรูปแบบเฉพาะจริงๆ กลุ่มนี้ทั้งกลุ่มลักษณะทั่วไปจะมีอาการปวดหัวเป็นๆ หายๆ คือจะต้องมีช่วงที่หายสนิทเกิดขึ้น แต่ละโรคก็จะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ไมเกรนไม่ควรเกิน 3 วัน ปวดหัว Tension อาจจะปวดได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ แล้วก็เป็นใหม่ ขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้น ส่วนคลัสเตอร์ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ใน 1 วัน อาจจะมาได้ 2-3 รอบ แล้วก็มาเป็นชุดๆ ตามชื่อว่า Cluster ไมเกรนลักษณะจะปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถปวดสลับข้างกันได้ ขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ตำแหน่งที่ไมเกรนมักจะปวดจะมีได้ตั้งแต่เบ้าตา หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย โดยปวดเป็นซีก อาจจะมีปวดตุบๆ ร่วมด้วย ปวดค่อนข้างมาก และมีอาการร่วมคือคลื่นไส้ อาเจียน หรืออยากจะอยู่นิ่งๆในที่เงียบๆ มืดๆ เพราะว่า ไวต่อแสง,เสียง การกระเทือน บางครั้งตัวกระตุ้นอาจเกิดจากอาการร้อนหรือแดดร้อนก็ได้ ส่วนอาการปวดหัว Tension ส่วนมากจะเกิดจากความเครียด อดนอน ลักษณะคล้ายๆ มีอะไรมารัดรอบๆ ศีรษะไว้ จะปวดได้ทั้งวัน แต่ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาทำงาน ส่วน (Cluster) จะปวดข้างเดียวไปตลอดชีวิต เช่น เราเคยปวดด้านซ้าย ก็จะปวดด้านซ้ายไปตลอด ตำแหน่งจะค่อนมาทางเบ้าตา แต่สิ่งสำคัญก็คือจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ปวดข้างซ้าย ก็จะมีหนังตาซ้ายบวม น้ำมูกน้ำตาไหลข้างเดียวกัน แต่อาการพวกนี้จะหายไปพร้อมกับอาการปวดหัว ไม่เกิน 3 ชั่วโมง   การรักษาก็แตกต่างกัน ถ้าเป็นไมเกรน จะมียาแก้ปวดของไมเกรน เช่น กลุ่มทริปแทน (triptan) หรือกลุ่มเออกอท (*ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน /ergotamine) แต่เออกอทไม่ค่อยใช้แล้ว เพราะผลข้างเคียงด้านการหดหลอดเลือดมากเกินไป ทำให้หลอดเลือดตามส่วนของร่างกายตีบได้ เราจะหลีกไปใช้ยาแก้ปวดทั่วๆ ไปแทน กับยาป้องกันไมเกรนสำหรับกรณีที่คนไข้ปวดบ่อยจนเกินไป เช่น 1 เดือนเกิน 2-3 ครั้ง และที่สำคัญกลุ่มโรคพวกนี้ศึกษากันไปเรื่อยๆ เราจะทราบว่ามีตัวกระตุ้นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือจะต้องศึกษาหรือสังเกตอาการจากตัวกระตุ้นว่า ตัวกระตุ้นเป็นตัวไหน ก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยง    ถ้าเริ่มๆ จะปวด การทานพาราเซตามอลก็อาจจะหาย อยู่ที่ทานเร็ว หายเร็ว สำหรับไมเกรนเอง บางคนที่มีออร่า คืออาการนำก่อนที่จะมีจะปวดหัว  ตาพร่ามัว ตาลาย ภาพเบลอ ถ้ารีบทานยาตั้งแต่ออร่า อาการปวดศีรษะจะหายเร็ว ส่วน Tension เราก็ไปลดปัจจัยกระตุ้น เช่น ลดความเครียด นอนให้พอ แล้วก็หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ยาแก้ปวดก็ค่อนข้างช่วย และยาลดความเครียดก็จะช่วยได้ ยาแก้ปวด ถ้าหายแล้วก็หยุดทาน เพราะส่วนมากยาแก้ปวดพวกนี้ เป็นกลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) มีฤทธิ์กัดกระเพาะอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรทานเกิน 5 วัน ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ไม่เกิน 15 วันต่อเดือน ส่วนปวดแบบ (Cluster) พบได้มากขึ้น แต่ไม่ได้บ่อยมาก ปวดศีรษะชนิดนี้ตอบสนองต่อการได้ออกซิเจน แต่เราไม่ค่อยสะดวกให้คนไข้ได้ ออกซิเจนได้ตลอด คนไข้อยู่บ้านก็ไม่มีออกซิเจน เราก็อาจจะใช้ยาคล้ายกับของไมเกรนช่วยพอได้ แล้วใช้ยาป้องกันแบบ (Cluster)  ระยะเวลาการได้ออกซิเจนก็ประมาณ 15 นาที   สำหรับปวดหัวกลุ่มอันตรายสามารถสังเกตได้คือ 1.อาการปวดหัวนั้นค่อนข้างเร็วและแรง เช่น ภายใน 1 นาที จากไม่ปวดเลยกลายเป็นปวดมากเหมือนหัวจะระเบิด แบบนี้มองว่าอันตรายไว้ก่อน เช่น อาจจะมีเลือดออกในสมองได้ 2.สำหรับคนที่ไม่เคยปวดศีรษะเลย อยู่ๆ ก็ปวด หลังอายุ 50 ปี ก็จัดว่าอันตราย เพราะกลุ่มโรคที่ไม่อันตราย อย่างไมเกรน เทนชั่น คลัสเตอร์ ส่วนมากจะมีอาการปวดอยู่บ้างในอายุก่อน 50 ปี 3.สำหรับคนที่เคยปวดอยู่บ้างแล้ว เป็นรูปแบบซ้ำๆ เดิม แล้วอยู่ๆ รูปแบนั้นได้เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี เช่น ความรุนแรงมากขึ้น ตำแหน่งที่ปวดเปลี่ยนไป  หรือระยะเวลานานขึ้น หรือบางทีหลับๆ อยู่แล้วถูกปลุกจากความปวด ให้ต้องตื่นขึ้นมา เหล่านี้เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนไปค่อนข้างอันตราย 4.ถ้ามีอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อยู่ดีๆ อ่อนแรง เห็นภาพซ้อน หูอื้อ พูดไม่ชัด เดินเซ หรือคอแข็ง จัดว่าอันตรายไว้ก่อน 5.สำหรับคนผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคประจำตัวประเภทภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจจะต้องสงสัยปวดศีรษะอันตรายไว้ก่อน เช่น บางคนเป็น SLE ทานยากดภูมิอยู่ แล้วปวดหัวขึ้นมา ก็ต้องสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจจะมีติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เหล่านี้เป็นวิธีสังเกตของกลุ่มอันตราย โรคก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ก้อน หลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากปวดแล้วนอนไม่ได้ ให้สงสัยว่าอันตรายไว้ก่อน เพราะกลุ่มที่ไม่อันตรายส่วนมากการนอนจัดเป็นปัจจัยปกป้อง ทำให้อาการปวดดีขึ้นด้วยซ้ำ   ตำแหน่งของอาการปวดต่างๆ ส่วนมากแพทย์จะถามปวดตรงไหนบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร การดำเนินโรคเป็นอย่างไร ตำแหน่งที่ปวดช่วยอย่างไร เช่น เบ้าตา ต้องดูว่าปวดที่เบ้าตาไหน ถ้าปวดที่เบ้าตาอย่างเดียวก็อาจจะเป็นโรคต้อหินก็ได้ หรือบางทีจะเป็นคลัสเตอร์ก็ได้ หรือจะเป็นไมเกรนก็ได้ หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม ก็เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่คนไข้อาจจะต้องสังเกตแล้วบอกแพทย์ให้ได้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่บางโรคก็ปวดทั้งศีรษะหรือปวดเฉพาะจุด แต่ถ้าคนไข้สังเกตได้ การวินิจฉัยโรคก็จะง่ายขึ้น ถ้ามีอาการบ่งไปทางอันตราย ก็จะสแกนสมอง เพื่อยืนยันว่ามีอะไรผิดปกติในสมองหรือเปล่า หรือกรณีที่ลักษณะแบบฉบับคล้ายกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดหัวทั่วๆ ไป คลื่นไส้ อาเจียน แล้วก็คอแข็ง อันนี้อาจจะสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจจะต้องเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อนำ ไปวิเคราะห์อีกที สมมติว่า สงสัยไปทางเลือดออก อาจจะเลือกเป็น CT สมอง ซึ่งจะเห็นชัดกว่า แต่ถ้าต้องการเก็บรายละเอียด เช่น สงสัยไปทางพวกก้อน เนื่องงอกในสมองหรือสมองขาดเลือด เราก็อาจจะเลือกเป็น MRI เพราะเราสามารถดู MRA คือดูหลอดเลือดแดงได้ด้วย หรือถ้าสงสัยหลอดเลือดดำตีบตัน ก็ทำให้เกิดการปวดหัวได้ เราก็จะตรวจ MRV หรือ magnetic resonance venography พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าสงสัยแค่เลือดออกเราก็ทำแค่ CT สมอง ถ้าต้องการดูรายละเอียดของโรคปวดหัวอื่นๆ ร่วมด้วย ก็จะเลือกเป็น MRI แล้วก็ดู MRA หรือ MRV ไปด้วย   ลักษณะของการดำเนินโรค แบ่งออกเป็น 3 แบบ ง่ายๆ 1.ตุบๆ คล้ายๆ ตุบ ตุบ ตุบ เป็นตามจังหวะหัวใจเต้น บ่งไปโรคอะไรบ้าง เช่น โรคหลอดเลือด ไมเกรนก็ได้ 2.แหลมๆ จี๊ดๆ แทงๆ อันนี้อาจมีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ 3.บีบรัดตึงๆ แบบเอาอะไรมาบีบไว้ที่ศีรษะ อันนี้บอกได้ค่อนข้างยาก เป็นได้ตั้งแต่กล้ามเนื้อยึดตึงธรรมดา ไปจนถึงก้อนเนื้อในสมองก็ปวดแบบนี้     ส่วนระยะเวลาดำเนินโรค ก็สำคัญเหมือนกัน กลุ่มโรคที่ไม่อันตรายส่วนมาก การดำเนินโรคก็จะเป็นๆ หายๆ และมีช่วงหายสนิทเกิดขึ้น ระยะเวลาของแต่ละโรคก็จะไม่เหมือนกัน เช่น ไมเกรน อาจจะปวดไม่เกิน 3 วันต่อครั้ง แล้วก็หาย แล้วก็ปวดใหม่ คลัสเตอร์ก็อาจจะไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่วันหนึ่งเป็นได้หลายรอบ ส่วนเทนชั่นก็อาจจะเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์กว่าจะหาย ส่วนโรคกลุ่มอันตรายส่วนมาก ปวดแล้วจะไม่ค่อยหาย อาจจะทานยาพาราเซตามอลแล้วอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่หายสนิท แล้วถ้าอาการพวกที่เป็นก้อน จะค่อยๆ ปวดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเป็นพวกเลือดออกก็อย่างที่บอกไว้ จะมีลักษณะพิเศษ คือ เร็วแรง แล้วก็คงที่ หรือมากขึ้นแต่อาจจะไม่หาย หลังจากกินยาลดปวด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัย คนไข้อาจจะต้องสังเกตว่า ทำอะไรแล้วดีขึ้น หรือทำอะไรแล้วแย่ลง เช่น สำหรับไมเกรน ถ้านอนพักแล้วอาจจะดีขึ้น บางคนอาเจียนแล้วก็ดีขึ้น อันนี้ก็มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่า เพราะว่ามันเป็นกระบวนการดำเนินของโรค พออาเจียนมันค่อนข้างจะใกล้จบรอบไมเกรนแล้ว หรือถ้านอนพัก การนอนที่ดี จะช่วยให้ไมเกรนหมดรอบเร็วขึ้น   การนอนที่ดี อาจจะนอนพักผ่อนให้ชั่วโมงพอ อย่างน้อยต้อง 7 ชั่วโมง และคุณภาพการนอนต้องดี คือไม่มีอะไรรบกวน คุณภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น นอนกรน ก็จะทำให้ปวดหัว เป็นไมเกรนถี่ขึ้นบ่อยขึ้น อีกอันหนึ่งก็คือคนไข้ต้องสังเกตว่าทำอะไรแล้วแย่ลงด้วยหรือเปล่า เช่น บางทีไอ จาม หรือเบ่ง แล้วแย่ลง ต้องสงสัยกลุ่มโรคความดันในสมองเพิ่มขึ้น อาการร่วมก็สำคัญ เช่น ถ้าสังเกตแล้วมีไข้ คอแข็ง ปวดหัวทั่วๆ ก็อาจจะสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ   หลายๆ คน มีอาการปวดบริเวณท้ายทอย ในส่วนนี้สามารถเป็นได้หลายโรค ไมเกรนบางทีก็ปวดท้ายทอยได้ กล้ามเนื้อยึดตึงก็ปวดท้ายทอยได้ โรคของกระดูกคอเสื่อมก็ปวดท้ายทอยได้ หรือแม้แต่โรคของก้อนเนื้องอกในสมอง ก็ปวดท้ายทอยได้ นอกจากตำแหน่งเราก็ใช้อาการร่วมอื่นๆ เช่น ลักษณะการดำเนินโรค ทำอะไรแล้วดีขึ้น แย่ลง แล้วก็ตรวจร่างกาย   นอกจากนี้ การให้หมอนวด นวดตรงคอ ต้องระวังดีๆ จริงๆ เวลาเราปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูกคอ การนวดโดยเฉพาะการยืดกล้ามเนื้อช่วยได้ ช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่บางวิธีไม่ถูกต้อง เช่น มีการบิดคอ อันนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดฉีกขาด ซึ่งค่อนข้างอันตราย   โรคปวดหัวที่ไม่อันตรายบางโรค เช่น ไมเกรน เมื่ออายุมากขึ้นอาจจะเบาบางลง อาจจะด้วยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ส่วนมากไม่หายไปจากชีวิตเราเท่าไหร่ เมื่อไหร่มีตัวกระตุ้น โรคพวกนี้ก็พร้อมที่จะกลับมา อย่างไมเกรน เราอาจทานอาหารต้องห้ามบางอย่าง เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ ชีส ผงชูรสเยอะๆ หรือพวกไนเตรตที่อยู่ในไส้กรอก กุนเชียง หรืออาจจะนอนพักผ่อนไม่พอ มันก็เตือนเราว่าต้องนอนให้พอ หรือเราอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนเกินไป เขาก็เตือนเรา คล้ายๆ อย่างนั้นมากกว่า ต้องหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอย่างที่เราทราบกัน แล้วก็อาจจะต้องใช้ยาแก้ปวดเฉพาะเวลาปวด ถ้าเกิดทราบว่าไมเกรนกำลังจะกำเริบ ให้รีบทานยาเร็วๆ เพราะรีบทานเร็วก็จะหายเร็ว ก็จะใช้ยาแก้ปวดน้อยลง แล้วก็ต้องดูว่าความถี่ของไมเกรนมาบ่อยแค่ไหน ถ้าบ่อยเกินไปเราก็ต้องใช้ยาป้องกันหรือยาควบคุม คือทานทุกกันเพื่อป้องกันให้เขามายากขึ้น ความถี่น้อยลง ความรุนแรงแต่ละครั้งก็จะน้อยลง   บางคนอาจจะไม่อยากทานยา กลุ่มบางประเภท เช่น กล้ามเนื้อยึด อันนี้เหมาะที่จะทำกายภาพ เพราะนอกเหนือจากการใช้ยา การยืดกล้ามเนื้อก็ช่วยได้พอสมควร บางทีการทำกายภาพยืดกล้ามเนื้อทำให้เราผ่อนคลายได้ด้วย ก็ทำให้กลุ่มพวกปวดหัวกล้ามเนื้อยึดตึงหรือเทนชั่นดีขึ้นได้           การดูแลตัวเองเบื้องต้นสิ่งที่อยากจะเน้น คือ ทบทวนอาการปวดหัวของตัวเองว่า เข้ากับโรคอันตรายหรือไม่ เพราะว่าอาจจะเป็นอาการนำก่อนที่จะเป็นโรคทางสมองก็ได้ ถ้าเรารีบรักษาเร็วก็มีโอกาสที่จะหายได้ นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Heat Stroke (โรคลมแดด) โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เดิมมีฤดูร้อนเป็นหลักอยู่แล้ว เมื่อมีภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้สภาพอากาศของประเทศร้อนจัดเพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคที่เป็นผลจากความร้อนโดยตรง นั้นก็คือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) ซึ่งมักจะพบในฤดูร้อน โดยเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันทีได้ โรคนี้เมื่อเกิดอาการต้องรีบรักษาเนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตสูง อาการเบื้องต้นของโรคฮีทสโตรก มีไข้สูงมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาการทางผิวหนัง : ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น อาการทางระบบประสาท : ปวดศีรษะ สับสน ตอบสนองช้า ชัก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ : ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะออกน้อยหรือสีเข้ม เพราะมีการสลายกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุของการเกิดโรคฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไปส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง ( Heat Wave) และอยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก  นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัด อาจมีเลือดออกทุกทวาร สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก         สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที   การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเจอผู้ป่วยสงสัยโรคฮีทสโตรก นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ  ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน  เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล  วิธีการป้องกันโรคฮีทสโตรก หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน  เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ( Heat Acclimatization) ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี  ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป  หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด  ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง บทความโดย พญ.ณัชวัลฐ์ อิสระวรวาณิช แผนกสมองและระบบประสาท รพ. วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเลือดออกในสมอง

โรคเลือดออกในสมอง   นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล ศัลยแพทย์ประสาทวิทยา รพ.วิภาวดี           ภาวะหลอดเลือดในสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมอง เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความพิการหรือบางครั้งร้ายแรงได้ถึงชีวิต ภาวะเลือดออกในสมองส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก3สาเหตุหลัก คือ 1.มีการแตกของเส้นเลือดในสมองขนาดเล็ก เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด,ความดันโลหิตสูง,เบาหวาน 2.มีการเปลี่ยนสภาพของภาวะสมองขาดเลือดและทำให้มีเลือดออก 3.เกิดจากพยาธิสภาพที่ผิดปกติ เช่น ภาวะเส้นเลือดขอดในสมอง (AVM)เนื้องอกในสมองบางชนิด เป็นต้น แนวทางการรักษา           โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกส่วนใหญ่จะให้การรักษาโดยการใช้ยาเป็นเบื้องต้น แต่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนไม่น้อย ที่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายวิธีแต่ที่ทำกันบ่อยมี2วิธี ดังนี้ 1.การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อผ่าตัดเอาก้อนเลือดในสมองออก 2.วิธีการเจาะดูก้อนเลือดในสมองด้วยเทคนิคนำวิถี โดยใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย (Stereotactic - Aspiration)ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้บาดแผลของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก และทำให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ผู้ป่วยก็มักมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำกายภาพบำบัดในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรงดังปกติ ซึ่งปกติแล้วขั้นตอนการฟื้นฟูและทำกายภาพบำบัดนั้น จะต้องใช้ระยะเวลานาน รวมทั้งต้องอาศัยความอดทนและความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง 1.โรคความดันโลหิตสูง 2.โรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากการกินยาที่ช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัว 3.ไม่ควบคุมโรคเบาหวาน 4.โรคไขมันในเส้นเลือดสูง           เราจะเห็นได้ว่า โรคดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย ฉะนั้นการตรวจร่างกายเป็นประจำ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมอง การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะลดภาวะเลือดออกในสมองแล้ว ยังลดข้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไมเกรน

โรคไมเกรน พญ.รัชนี ชาญสุไชย  อายุรแพทย์ประสาทวิทยา แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี      ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น สาเหตุของไมเกรน      ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้      - อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้      - การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้       - ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้      - สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ      - ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด การวินิจฉัย      การวินิจฉัยไมเกรนนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมองหรือมีเนื้องอก เป็นต้น การรักษา       ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ ยาแก้ปวดไมเกรนและยาป้องกันไมเกรน  ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน

โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน           โรคหลอดเลือดในสมองอุดตันนั้น  พบมากเป็นอันดับ 2 ของโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน รองจากโรคหัวใจ โรคชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย หรือคนอายุน้อย เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต  ภาวะเผชิญกับความเครียด และพฤติกรรมการสูบบุหรี่  ทั้งนี้ มักพบร่วมอาการกับโรคอื่นๆ ด้วย อาทิ  โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน  และไขมันในเลือดสูงมานานแล้ว และไม่ได้รับการรักษาหรือคนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ หรือโป่งพองผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดในสมองทำงานบกพร่อง จนตีบหรือแตก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกทุกคนจะรู้ว่าตนเองมีประวัติเหล่านี้ หรือความเสี่ยงเหล่านี้มาก่อน เว้นแต่จะมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี     อาการ          อาการมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด  ส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคนี้น่ากลัว คือ อาการนำซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถล่วงรู้ได้ก่อนว่าจะเกิดขึ้นเวลาใด อันเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน  จะเกิดจากไขมันหรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายเนื่องจากขาดออกซิเจน ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต หรือทุพพลภาพได้ สัญญาณเตือนภัย     5  หลักสากล ที่ผู้ป่วยควรใช้สังเกตอาการเบื้องต้นก่อนภัยร้ายมาเยือน คือ  Walk เดินไม่ตรง   มีอาการเซ Talk  ออกเสียงไม่ชัด พูดไม่ออก Reach  เอื้อมหยิบสิ่งของไม่ได้ ไม่มีแรง ชาบริเวณ มือ แขน ขา  See  มองภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน  Feel   มีอาการปวดศีรษะ หรือ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง   การตรวจวินิจฉัย           โดยเน้นการตรวจหาค่า Lab เฉพาะที่บ่งบอกถึงภาวะเสี่ยงดังกล่าว   และแม้กระทั่งบางคนอาจไม่เคยปรากฏประวัติเหล่านี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ภาวะเครียดหรือพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน ซึ่งนาทีวิกฤตของสมองนั้น ก็แตกต่างกัน เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า หลอดเลือดในสมองที่เกิดอาการนั้น ตีบมากแค่ไหน หรือแตกตรงตำแหน่งไหน จนกว่าจะได้รับการตรวจจากเครื่องมือทางการแพทย์ประเภทเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที    การรักษา         ระยะที่  1   มีอาการเส้นเลือดตีบและอุดตัน จนผู้ป่วยมีอาการนำ เช่น ชาตามร่างกาย หมดสติ ซึ่งภายใน 2-3 ชั่วโมงแรก ญาติควรพาคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ในกรณีนี้หากไม่เกิน 3 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดในสมอง ซึ่งผลการรักษาจะดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา          ระยะที่  2   เส้นเลือดในสมองแตก พบเลือดออกในสมอง ต้องรักษา ต้องผ่าตัดช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดที่เรียกว่า Key Hole Surgery หรือการเจาะรูเล็กๆ คล้ายรูกุญแจที่ศีรษะ เพื่อดูดเลือดออกจากสมอง นวัตกรรมนี้มีข้อดีอย่างมาก เพราะมีแผลผ่าตัดที่เล็กมาก  และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นไม่นาน แต่คนไข้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะทุพพลภาพ   หรืออาจฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มแรก          ข้อแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย คือ หากมีอาการนำควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง โดยเลือกโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความชำนาญและคอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ( Fast Stroke Tract)  ตลอดจนการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟู    โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน ป้องกันและรักษาได้หากเข้าใจ  และสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะโรคภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บอย่าง “ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ” ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  ดังนั้นคำตอบเดียวที่เหมาะสมในการบรรเทาเบาบางวิกฤตอาการเหล่านี้ คือ  ต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด      ดูแลป้องกันโรค            การดูแลตัวเอง ป้องกันจากโรค  ควรที่เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย   ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยง   เช่น ความดันโลหิต   ไขมันในเลือด   ค่าตับ   ตรวจเช็คหัวใจเป็นประจำ    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์   ไม่เครียด   และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ              นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล  ศัลยแพทย์ระบบประสาท รพ.วิภาวดี 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคลมชัก (epilepsy)

โรคลมชัก (epilepsy) นพ.พงศกร    ตนายะพงศ์  อายุรแพทย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลวิภาวดี           โรคลมชัก (epilepsy) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางที่พบบ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์สมองพร้อมๆ กันแล้ววิ่งผ่านผิวสมองส่วนต่างๆ ทำให้มีอาการชัก (seizure) ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาการเกร็งกระตุก หรือ เหม่อ เป็นต้น ถ้าอาการชักมีมากกว่าหนึ่งครั้งโดยที่ไม่มีเหตุกระตุ้น (unprovoked seizure) จะเรียกผู้ป่วยรายนั้นว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy)          อาการชักมีหลายประเภท ได้แก่ การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมองที่เรียกว่า “Generalized Seizures” และการชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า “Partial Seizures”           การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures)หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลมบ้าหมู” อาการของลมชักประเภทนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคลมชักประเภทนี้ คือ “อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว” (generalized tonic clonic seizure) โดยช่วงแรกของการชัก ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็ง หลังจากนั้นจะตามด้วยอาการกระตุก หรือกล้ามเนื้อมีการหดและคลายเป็นจังหวะ หลังจากการชักผู้ป่วยจะมีอาการหลังชัก (postictal symptoms) ได้แก่ อาการสับสน ปวดศีรษะ เป็นต้น จากนั้นจะกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากอาการชักเกร็งทั้งตัวหรือลมบ้าหมูแล้ว ยังมีอาการชักแบบอื่น ๆ อีก ที่จัดเป็นอาการชักที่เกิดจากการทำงานผิดปกติที่ทุกส่วนของสมอง เช่น อาการเหม่อลอย หรือเรียกว่า Absence Seizures           การชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง (Partial Seizures)อาการชักประเภทนี้ สมองจะถูกรบกวนเพียงบางส่วนเท่านั้น อาการแสดงของผู้ป่วยจะขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่มีคลื่นกะแสไฟฟ้าประสาทผ่าน การชักชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท ตามการรู้ตัวของผู้ป่วยคือ “Simple Partial Seizures” และ “Complex Partial Seizures”    ถ้าผู้ป่วยมีสติขณะชักจัดเป็น “Simple Partial Seizures” ถ้าขณะชักไฟฟ้าสมองรบกวนสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (primary motor cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งกระตุก ถ้ารบกวนส่วนที่ควบคุมการมองเห็น (visual cortex) ผู้ป่วยอาจเห็นแสง (flashing light) ถ้ารบกวนต่อสมองส่วนควบคุมความรู้สึกสัมผัส (primary somatosensory cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชาตัวหรือหน้า เป็นต้น              ถ้าการชักของผู้ป่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบต่อการรู้ตัวจัดเป็น “Complex Partial Seizures” ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ขณะชักได้เล็กน้อยหรือจำไม่ได้เลย การชักอาจแสดงอาการโดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้พร้อมกับการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ (automatism) เช่น การจับเสื้อผ้าหรือสิ่งของ การพูดพึมพำ หรือการเคี้ยวซ้ำๆ อย่างไร้จุดหมาย และสับสนบางครั้ง สำหรับผู้ป่วยบางราย การชักที่มีผลต่อส่วนหนึ่งของสมอง หรือ Partial Seizures ทั้ง 2 ประเภทนี้ อาจลุกลามไปมีผลต่อทุกส่วนของสมองได้ซึ่งหากเกิดขึ้นเราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Secondarily Generalized Seizure” ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะชัก และถ้าอาการลุกลามอย่างรวดเร็วจนทำให้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการชักแบบ Partial นั้นมาก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อผู้ป่วยมีการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชักแบบ Generalized หรือ Complex Partial Seizures ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ข้อมูลการชักของผู้ป่วยจากบุคคลใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สาเหตุของโรคลมชัก (Epilepsy) โดยทั่วไปสาเหตุของโรคลมชักสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.Symptomatic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่มีสาเหตุชัดเจน เช่นการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อในสมอง หรือ การที่สมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง (Stroke) หรือมีรอยแผลเป็นในสมอง โดยทั่ว ๆ ไป การตรวจสแกนสมองมักจะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น 2.Idiopathic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนมาจากกรรมพันธุ์ โดยที่คนในครอบครัว จะมีความต้านทานต่อการชักในระดับต่ำกว่าปกติ  3.Cryptogenic Epilepsy เป็นสาเหตุที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน 2 กลุ่มแรกได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการชัก จะจัดผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มนี้ถึงแม้ว่าจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติทางร่างกาย เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วแพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักจากประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้นจะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย โดยการตรวจอาจมีมากกว่า 1 ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวมาก่อนตรวจคลื่นสมองทั้งเรื่องการงดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง, สระผมให้เรียบร้อย และแห้งก่อนตรวจ ไม่ควรใส่ครีมนวด หรือสารเคมีใส่ผม ส่วนกรณีถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องเตรียมขวดนมน้ำ รวมทั้งของเล่นที่เขาชอบ ที่สำคัญควรไม่ให้เด็กนอนหลับมาก่อน เพราะเวลาตรวจจะได้ง่วงหลับไปเองโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับช่วย  แม้ว่าโรคลมชักจะอันตรายก็ตาม แต่ปัจจุบันในผู้ป่วยประมาณ 70%สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักเช่น การอดนอน การดื่มสุรา เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักมาตรฐานตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ควรได้รับการตรวจประเมินว่าสามารถผ่าตัดนำจุดกำเนิดชักออกได้หรือไม่   เช่นการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบด้านซ้าย (Vagus nerve stimulation) การรักษาด้วยการควบคุมอาหารแบบ Ketogenic diet วิธีนี้มักใช้ในเด็กถ้าพบคนกำลังมีอาการชัก ให้รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งของใดๆใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า อาจจะไปงัดฟันหักหลุดเข้าหลอดลม หรือมือผู้ช่วยเหลืออาจจะถูกกัดได้ และโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปจะชักเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาทีก็จะหยุด แต่ถ้ารายไหนที่ชักนานมากเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือชักซ้ำอีก กรณีนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล                                            ด้วยความปรารถนาดี  จากโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ             การนอนกรน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และยังเป็นอาการแรกที่ควรตระหนักถึงอันตราย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะตอนเช้า ง่วงมากในเวลากลางวัน หากเป็นมากจะส่งผลไปยังสมองและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้             โรคภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นสภาวะที่ท่อทางเดินหายใจแคบลง ทำให้หายใจติดๆ ขัดๆ หรือหายใจลดลง จนต้องมีความพยายามหายใจมากขึ้น หรือถึงขั้นหยุดหายใจไปได้เลย ที่สำคัญเมื่อหยุดหายใจแล้วจะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ทั้งยังส่งผลไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน             ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในผู้ที่มีเนื้อเยื่อในช่องคอมากกว่าปกติหรือมีเนื้อเยื่อหย่อนตัว ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลง หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น กรามเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคทางสมอง หรือโรคกล้าเนื้ออ่อนแรง กลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮลล์ กลุ่มคนที่ใช้ยานอนหลับประเภท Benzodiazepine (เบนโซไดอะซีปีน) และพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากกว่า ฉะนั้นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงกลับมาเท่าผู้ชายอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้กล้ามเนื้อที่คอหอยหย่อนโดยตรง หรือบางคนเป็นโรคหัวใจ ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายมากขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณคอก็จะหนาตัวขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงได้เช่นกัน             อาการที่บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ได้แก่ 1.กรนเสียงดัง 2.มีผู้อื่นสังเกตเวลานอนจากเสียงกรนที่มีมาก่อนหน้าแล้วเงียบไปเลย หรือบางครั้งมีการสะดุ้งตื่นระหว่างหลับ กระหายอากาศหรือสำลักอากาศ 3.ปวดศีรษะเป็นประจำหลังตื่นนอน 4.ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนหลับไม่เต็มอิ่ม 5.รู้สึกเจ็บคอ คอแห้ง 6.ในช่วงกลางวันอาจจะมีอาการง่วงตลอดเวลา เผลอหลับในที่ๆ ไม่ควรหลับ เช่น หลับขณะกำลังขับรถอยู่ 7.บางคนที่มีโรคประจำตัวแล้วควบคุมไม่ดี เช่น มีความดันโลหิตสูง และมีความจำเป็นต้องใช้ยาความดันอย่างน้อย 3 ชนิด             หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจะส่งผลต่อระบบสมองและหัวใจโดยตรง ผลต่อสำหรับสมอง ในช่วงแรกๆ จะง่วงตลอดเวลา ทำให้สมาธิในการทำงานลดลง อารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดง่าย หรือเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าอายุมากจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ สำหรับผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือดในช่วงที่หยุดหายใจ ร่างกายจะขาดอากาศ หัวใจจะทำงานหนักขึ้น บีบตัวเร็วขึ้น แรงขึ้นเพื่อชดเชยอากาศหรืออกซิเจนลดลงไป  ส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจต่างๆ เช่น    หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคทางหลอดเลือดหัวใจเอง อย่าง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคของหลอดเลือดทางสมอง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ด้วย             การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอกจากอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือ Sleep Test เป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัย เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค พิจารณาแนวทางในการรักษา การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test โดยติดอุปกรณ์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างหลับ ได้แก่ คลื่นสมอง ระดับออกซิเจน คลื่นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยก่อนเข้ารับการตรวจ คนไข้ต้องงดดื่มชา กาแฟ โกโก้ หรือสารกระตุ้นให้ตื่นตัวเกินไป และยาบางชนิดที่รบกวนการนอน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้ง           ระยะของโรค แบ่งตามความรุนแรง โดยนับเป็นจำนวนครั้งต่อชั่วโมงเรียกว่า Apnea Hypopnea Index หรือการหาค่า AHI ถ้าอยู่ในช่วงประมาณ 5-15 ครั้ง ถือว่าอยู่ในระดับน้อย อาจจะต้องดูอาการอื่นร่วมด้วย ช่วงประมาณ 15-30 ครั้ง เรียกว่า ระดับกลาง และเกิน 30 ครั้ง เรียกว่า ระดับรุนแรง โดยระดับกลางและรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาทันที เพราะจะเกิดผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต   วิธีการรักษา 1.ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกต่อเนื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ขณะนอนหลับ โดยเครื่องจะทำหน้าที่อัดอากาศเข้าไปผ่านจมูก(และ/หรือปาก) เพื่อเปิดท่อทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น เมื่อท่อทางเดินหายใจเปิดออก การหยุดหายใจ การหายใจแผ่ว และเสียงกรนก็จะหายไปด้วย วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาหลักและได้ผลดีที่สุด 2.อุปกรณ์ทันตกรรม ทันตแพทย์จะเป็นผู้ใส่เครื่องมือในช่องปาก โดยจะตรวจก่อนว่ามีข้อห้ามหรือไม่ เช่น มีโรคข้อต่อกราม หรือมีฟันเพียงพอที่จะใช้อุปกรณ์นี้หรือไม่ เพื่อให้ท่อทางเดินหายใจเปิด ซึ่งจะใช้เฉพาะตอนนอนเท่านั้น 3.วิธีการผ่าตัด เมื่อใช้ 2 วิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล แพทย์หูคอจมูก ที่ชำนาญการด้านการตรวจการนอนหลับ จะเป็นผู้ประเมินว่า สาเหตุหลักอยู่ที่บริเวณไหนของท่อทางเดินหายใจตีบแคบ เช่น บางคนทอนซิลโตก็ไปผ่าออก บางคนเนื้อเยื่อบริเวณหลังลิ้นไก่ เพดานอ่อนค่อนข้างหนาก็ซ่อมลิ้นไก่ ซึ่งวิธีนี้จะดูเป็นรายบุคคล             การป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ พยายามไม่ให้น้ำหนักเกิน คนที่มีโรคทางจมูก เช่น โรคภูมิแพ้จมูก ริดสีดวงจมูก ผนังจมูกคดต้องรักษา เพื่อไม่ให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบตันในอนาคต หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหย่อน ผู้ที่สูบบุหรี่จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม บุคคลที่ใช้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine เกินความจำเป็นก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้านการนอนหลับ เพื่อปรับยา นอกจากนี้การปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป จะเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับแล้ว ยังเกิดโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากท่านหรือคู่สมรส และบุตรหลานของท่านนอนกรนดังมากเป็นประจำ อาจจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม   โดย นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)         ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หลายรายต้องใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ มีปัญหาการพูด การกลืน การช่วยเหลือตัวเองซึ่งที่ผ่านมาการรักษาทำได้เพียงกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แม้จะไม่ดีเท่าเดิม โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทีมแพทย์และนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคนิค Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation (rTMS) เพื่อรักษาความผิดปกติของสมอง ด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เพื่อปรับการทำงานของสมองจากที่ผิดเพี้ยนให้คงที่ โดยเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสประสาทการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย          จากความพยายามรักษาความผิดปกติของสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็กถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานมานี้คนอาจจะคุ้นเคยกับการฝังแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระตุ้นสมองเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรักษาความผิดปกติของสมองโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Non Invasive Brain Stimulation (NIBS) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก           การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กเป็นการรักษาที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นคลื่นแม่เหล็ก ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Transcranial Magnetic Stimulation หรือชื่อย่อว่า TMS จะมีการรักษาได้หลายโรคด้วยกัน โดยเฉพาะโรคระบบทางสมอง เช่น โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น  โรคพาร์กินสัน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคทางด้านจิตแพทย์ ซึ่งเราดูแลอยู่ร่วมกัน ก็คือโรคซึมเศร้า            อย่างที่กล่าวข้างต้นไปแล้วว่า การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งจะไม่มีไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ความปลอดภัยจึงสูง ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กล้วนๆ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีความแม่นยำสูง ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กนั้น หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วย โดยจะหลีกเลี่ยงการใช้การรักษานี้กับผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในสมอง ผู้ป่วยที่มีการฝั่งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกาย รวมทั้งผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก            การเตรียมตัวก่อนการรักษา แพทย์อาจจะทำในวันที่มาตรวจเลยก็ได้ หรือนัดมาภายหลังก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร เพียงแค่นอนหลับให้เพียงพอ การเตรียมตัวของญาติและคนติดตาม ให้ทราบว่า โรคของเขาเป็นแบบนี้ ญาติจะต้องดูแลอย่างไรบ้าง ระยะเวลาที่ทำประมาณ 20 นาที/ครั้ง เมื่อทำเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำหรือซักถามเรื่องของอาการที่เกิดขึ้น อาจมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แก่ อาการมึนศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อนั่งพักสักครู่ก็มักจะหาย และกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนค้างโรงพยาบาล            ขั้นตอนการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เริ่มจากสวมหมวกก่อนการรักษา กำหนดตำแหน่งการกระตุ้นด้วยแม่เหล็ก ทดสอบการทำงานของเครื่องบริเวณแขนและขา จากนั้นจะเริ่มกระบวนการรักษาโดยการนำเครื่องไปแตะที่บริเวณศีรษะ และเริ่มปล่อยคลื่นแม่เหล็กๆ จำนวนครั้งและความถี่ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่คนไข้เป็น ผู้ป่วยสามารถทำได้ทุกวัน แต่ถ้าไม่สะดวกก็สามารถเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็ได้ แต่โดยระยะเวลารวมๆ ก็คือ 10 ครั้ง          การรักษาสมองด้วยการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS) เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง การทำไม่ยุ่งยาก ผลข้างเคียงน้อย การรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยการรักษาหลัก ให้ได้ผลดีขึ้น เพราะฉะนั้นหากผู้ป่วย หรือญาติมีความกังวลอย่างไรก็สามารถมาคุยกับแพทย์ในรายละเอียดได้เพิ่มเติม ซึ่งแพทย์ก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ถ้ามาทำแล้วมีความปลอดภัย แล้วก็สามารถจะช่วยให้โรคนั้นดีขึ้นได้    โดย นพ.สามารถ  นิธินันทน์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นอนกรน... ต้นเหตุของโรคร้าย อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

       การนอนกรนก่อปัญหาให้ทั้งผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คนที่มีอาการนอนกรนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น โรคนอนกรนเกิดจาก การที่ลมผ่านทางท่อหายใจที่แคบลงและเกิดการสั่นไหวรอบ ๆ ของเนื้อเยื่อคอ เช่น เพดานอ่อนลิ้นไก่ ก็เลยเกิดเป็นเสียงกรน การนอนกรนเด็กก็สามารถเป็นได้ แต่สาเหตุจะแตกต่างกับผู้ใหญ่  ส่วนในเด็กจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เป็นโรคนอนกรนก็คือเนื้อเยื่อในคอมีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุของโรคนอนกรนก็เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลงนั่นเอง   สาเหตุของโรคนอนกรน      1.เนื้อเยื่อในคอหอยมีปริมาณมาก เช่น ทอนซิลโต       2.คนที่มีน้ำหนักตัวมาก นอกจากไขมันจะไปสะสมอยู่ที่พุงแล้วก็ไปสะสมอยู่บริเวณเนื้อเยื่อรอบคอหอยเช่นกัน      3.โครงหน้าเล็ก ทำให้ท่อทางเดินหายใจเปิดแคบลง ซึ่งจะพบค่อนข้างมากในคนแทบทวีปเอเชีย      4.กล้ามเนื้อหย่อนตัว เช่น เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวได้ง่ายขึ้นหรือเป็นโรคระบบประสาท โรคทางสมอง อีกอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวก็คือยา เช่น ยานอนหลับบางชนิด แอลกอฮอล์      5.เพศ เพศชายจะพบมากกว่าเพศหญิงซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว   ลักษณะอาการนอนกรน      การนอนกรนคือการนอนที่มีเสียงเกิดขึ้นโดยทั่วไปการนอนปกติจะต้องไม่มีเสียงหรือมีเสียงดังได้แค่เล็กน้อย เพราะฉะนั้นแล้วกรนธรรมดาจะกรนได้แค่เสียงเบา ๆ เท่านั้น แต่ถ้าหากการนอนกรนมีเสียงดังนั่นถือว่าเป็นการนอนกรนที่อันตราย โดยจะแบ่งความรุนแรงออกเป็นทั้งหมด 3  ระดับ คือ        1.ความรุนแรงระดับ 1 คือ การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ       2.ความรุนแรงระดับ 2 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน      3.ความรุนแรงระดับ 3 คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ  10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน   ขั้นตอนการรักษา      1.รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศหรือที่เรียกว่า เครื่องซีแพพ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เป็นเครื่องผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจทั้งเข้าและออก โดยส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูกหรือปาก      2.การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกันและเลื่อนขากรรไกรล่างมาหาทางด้านหน้า ป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดาหรือภาวะก่ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดาและกรนอันตราย       3.การผ่าตัด การผ่าตัดในกรณีที่การปฏิบัติตัวหรือการรักษาวิธีธรรมดาไม่ได้ผล โดยจะช่วยขยายทางเดินหายใจผ่านแสงเลเซอร์ตกแต่งบริเวณเพดานอ่อนลิ้นไก่โคนลิ้น เยื่อบุจมูกให้มีขนาดพอเหมาะทำให้ลมหายใจเข้าออกดีขึ้นเพื่อลดการนอนกรน เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่อาจมีอาการเจ็บแผล  1 สัปดาห์    ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนกรน       โรคแทรกซ้อนขณะนอนกรนมีค่อนข้างมาก เนื่องจากเวลาที่หยุดหายใจหรือท่อทางเดินหายใจปิดตัวลงระดับออกซิเจนในร่างกายจะตกลงและร่างกายจะไม่ยอมขาดออกซิเจนต่ออาจทำให้เกิดการตื่นตัวของสมองให้กลับมาหายใจใหม่ ในการตื่นตัวบ่อย ๆ จะส่งผลให้นอนไม่พอทำให้เกิดโรคตามมาหลาย ๆ อย่าง เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคสมองเสื่อม อีกอย่างเมื่อระดับออกซิเจนลดลงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกายเป็นการชดเชยทำให้หัวใจทำงานหนักเป็นช่วง ๆ ยิ่งทำงานหนักบ่อย ๆ ก็เกิดโรคซึ่งโรคที่ตามมา ในกรณีนี้คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น โดย นพ.พงศกร  ตนายะพงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ (Vertigo)

 อาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ (Vertigo)  เป็นอาการเวียนศีรษะประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วตนเองอยู่กับที่และไม่มีการเคลื่อนไหว หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "อาการบ้านหมุน" สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนที่พบได้บ่อย คือ         ความผิดปกติของระบบประสาทในส่วนก้านสมองและสมองน้อย ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน 1.โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV benign paroxysmal positional vertigo) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการเวียนศีรษะ เกิดจากหินปูนขนาดเล็กหลุดไปอุดผิดที่ในท่อครึ่งวงกลม จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเวลาก้มตัวลงนอนหรือจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง หรือการก้มแล้วเงย ส่วนใหญ่อาการเป็นไม่ถึงนาทีแล้วหายและเป็นซ้ำเวลาเปลี่ยนท่าทางอีก  2.โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) พบในผู้สูงอายุ มากกว่า 45 ปี ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันโลหิตสูง,เบาหวาน,ไขมันในเลือดสูง) โดยอาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่นาน อาจนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ อาการเวียนศีรษะไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง และมักพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆของระบบประสาท เช่น ตามองเห็นภาพซ้อน,หน้าเบี้ยว,พูดไม่ชัด,ลิ้นแข็ง,อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก) เนื่องจากอัตราการทุพลภาพและอัตราการตายสูงจึงควรรีบพบแพทย์ 3.โรคเวียนศีรษะจากน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere’s disease) อาการเวียนศีรษะเป็นพักๆนานหลายนาทีจนถึงเป็นชั่วโมงมักมีเสียงดังในหูข้างใดข้างหนึ่ง (บางรายเป็นทั้ง 2 ข้าง) ต่อมาอาจมีปัญหาการได้ยินลดลง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางรายพบร่วมกับการติดเชื้อในหูชั้นกลาง การรับประทานเค็มมากกระตุ้นให้อาการเป็นมากได้ 4.เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis) อาการเวียนศีรษะมักนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจมีได้แต่ต้องไม่มีปัญหาการได้ยินหรือเสียงดังในหู เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงต่อเส้นประสาทหรือเป็นจากการแพ้ภูมิตัวเองพบในคนอายุน้อย เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย โรคนี้ทำให้ปวดศีรษะเป็นๆหายๆ ได้ 5.โรคไมเกรน (Migraine) บางรายมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย บางรายมีอาการเวียนศีรษะอย่างเดียวเป็นๆหายๆ โดยไม่มีอาการปวดศีรษะก็ได้ ปัจจัยกระตุ้นเช่น อาหาร,การดื่มกาแฟปริมาณมากหรือหยุดดื่ม,แสงจ้า,กลิ่นฉุน,การมีประจำเดือน  อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์ อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับตาเห็นภาพซ้อน อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับอ่อนแรงแขนขา อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับชาแขนขา อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับพูดลำบาก อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับมีปัญหาเรื่องการได้ยิน   การตรวจวินิจฉัยอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ ตรวจการได้ยิน (audiogram) ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Video electronystagmography :VNG) ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography : ECOG) ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน(Evoked response audiometry ) ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ( CT scan) ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองและเส้นเลือดสมอง (MRI brain and MRA)ซึ่งสามารถถ่ายภาพบริเวณก้านสมองและสมองส่วนหลังได้ชัดเจน (brainstem and carebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่ (CT scan)ให้รายละเอียดได้ไม่ชัดเจน การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ในผู้ที่มีอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ 1. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะระหว่างเกิดอาการ เช่น       การเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างรวดเร็ว การหันศีรษะเร็วๆ หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะ 2. ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีอาการ 3. รับประทานยาลดอาการเวียนศีรษะ เช่น Betahistine , Dimenhydrinate เป็นต้น 4. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ, ความเครียด, กลิ่นฉุน, สารก่อภูมิแพ้ 5. ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่/ดื่มกาแฟ 6. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิภาวดี โทร.02561-1111 ต่อ 1214  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<