ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. โรคกรดไหลย้อน


 โรคกรดไหลย้อน
        
กรดไหลย้อน เป็นภาวะกรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาที่บริเวณหน้าอก ซึ่งหน้าอกก็จะมีอวัยวะ คือ หลอดอาหาร ซึ่งตัวหลอดอาหารเองไม่ทนกับกรด จึงเกิดอาการต่างๆ อาการที่ชัดเจน เช่น แสบร้อนหน้าอก หรือกรดจะมีรสขม รสเปรี้ยว จริงๆ กรดสามารถออกไปนอกหลอดอาหารได้ เช่น ไปโดนกล่องเสียงที่อยู่ในคอ หรือพวกหลอดลม บางทีจะเกิดอาการเสียงแหบ หรือไอเรื้อรังได้ จริงๆ ในคนปกติ สามารถมีกรดย้อนขึ้นมาได้ เช่น ถ้าทานเยอะเกินไป หรือทานแล้วนอน ก็เกิดได้ แต่ที่เราเรียกเป็นโรค คือ คนที่อาการนี้เกิดบ่อยมาก จนเกิดการรบกวนชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นโรคประจำตัวได้ ถ้าเกิดอาการบ่อยๆ อย่างที่บอกว่าเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ใช้ชีวิตลำบาก

 

พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ที่ดื่มสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่ สตรีที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน อาทิ ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า สำหรับในเด็กนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้

 

อาการหลักของโรคกรดไหลย้อนคือ อาการแสบร้อนหน้าอก รู้สึกขมคอ เรอเปรี้ยว เป็นบ่อยๆ แบบนี้เราวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร แต่ส่วนใหญ่ถ้าอาการไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งมีอาการกลืนติด กลืนลำบาก หรือรู้สึกจุกๆ มีก้อนที่คอ หรือมีอาการทานอาหารไม่ค่อยลง หรือน้ำหนักลด แบบนี้เราจะกลัวว่าเป็นอย่างอื่นมากกว่า เช่น ถ้าในผู้สูงอายุ อาจต้องระวังโรคมะเร็งหลอดอาหาร แบบนี้อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องเข้าไปดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ฉะนั้น ถ้าเป็นบ่อยจริงๆ คงต้องรักษา 2 แนวทาง คือ ด้วยยา กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

ยาที่ใช้เป็นหลัก ก็คือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อทำให้กรดในกระเพาะจำนวนน้อยลง บรรเทาอาการอักเสบในหลอดอาหารได้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญพอๆ กับยา คือ เรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งสำคัญและง่ายที่สุด คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มและอาหารที่มีรสจัด ระวังน้ำหนักร่างกายไม่ให้เกินมาตรฐาน โดยหมั่นออกกำลังกาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วนอนทันที ควรเดินหรือขยับร่างกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อย

  

โรคกรดไหลย้อน แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลร้ายทางร่างกายและคุณภาพชีวิต รวมถึงการทำงาน งานอดิเรกและการใช้ชีวิตประจำวัน ใครที่มีอาการดังกล่าว ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและเรื้อรังต่อไป
 

นพ.ธราดล ธาราศักดิ์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร

<