ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)
 

      ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หลายรายต้องใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ มีปัญหาการพูด การกลืน การช่วยเหลือตัวเองซึ่งที่ผ่านมาการรักษาทำได้เพียงกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แม้จะไม่ดีเท่าเดิม โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทีมแพทย์และนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคนิค Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation (rTMS) เพื่อรักษาความผิดปกติของสมอง ด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เพื่อปรับการทำงานของสมองจากที่ผิดเพี้ยนให้คงที่ โดยเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสประสาทการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

 

       จากความพยายามรักษาความผิดปกติของสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็กถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานมานี้คนอาจจะคุ้นเคยกับการฝังแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระตุ้นสมองเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรักษาความผิดปกติของสมองโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Non Invasive Brain Stimulation (NIBS) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก

 

        การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กเป็นการรักษาที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นคลื่นแม่เหล็ก ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Transcranial Magnetic Stimulation หรือชื่อย่อว่า TMS จะมีการรักษาได้หลายโรคด้วยกัน โดยเฉพาะโรคระบบทางสมอง เช่น โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น  โรคพาร์กินสัน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคทางด้านจิตแพทย์ ซึ่งเราดูแลอยู่ร่วมกัน ก็คือโรคซึมเศร้า

 

         อย่างที่กล่าวข้างต้นไปแล้วว่า การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งจะไม่มีไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ความปลอดภัยจึงสูง ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กล้วนๆ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีความแม่นยำสูง ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กนั้น หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วย โดยจะหลีกเลี่ยงการใช้การรักษานี้กับผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในสมอง ผู้ป่วยที่มีการฝั่งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกาย รวมทั้งผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก

 

         การเตรียมตัวก่อนการรักษา แพทย์อาจจะทำในวันที่มาตรวจเลยก็ได้ หรือนัดมาภายหลังก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร เพียงแค่นอนหลับให้เพียงพอ การเตรียมตัวของญาติและคนติดตาม ให้ทราบว่า โรคของเขาเป็นแบบนี้ ญาติจะต้องดูแลอย่างไรบ้าง ระยะเวลาที่ทำประมาณ 20 นาที/ครั้ง เมื่อทำเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำหรือซักถามเรื่องของอาการที่เกิดขึ้น อาจมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แก่ อาการมึนศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อนั่งพักสักครู่ก็มักจะหาย และกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนค้างโรงพยาบาล

 

         ขั้นตอนการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เริ่มจากสวมหมวกก่อนการรักษา กำหนดตำแหน่งการกระตุ้นด้วยแม่เหล็ก ทดสอบการทำงานของเครื่องบริเวณแขนและขา จากนั้นจะเริ่มกระบวนการรักษาโดยการนำเครื่องไปแตะที่บริเวณศีรษะ และเริ่มปล่อยคลื่นแม่เหล็กๆ จำนวนครั้งและความถี่ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่คนไข้เป็น ผู้ป่วยสามารถทำได้ทุกวัน แต่ถ้าไม่สะดวกก็สามารถเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็ได้ แต่โดยระยะเวลารวมๆ ก็คือ 10 ครั้ง

 

       การรักษาสมองด้วยการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS) เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง การทำไม่ยุ่งยาก ผลข้างเคียงน้อย การรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยการรักษาหลัก ให้ได้ผลดีขึ้น เพราะฉะนั้นหากผู้ป่วย หรือญาติมีความกังวลอย่างไรก็สามารถมาคุยกับแพทย์ในรายละเอียดได้เพิ่มเติม ซึ่งแพทย์ก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ถ้ามาทำแล้วมีความปลอดภัย แล้วก็สามารถจะช่วยให้โรคนั้นดีขึ้นได้
 

 โดย นพ.สามารถ  นิธินันทน์
อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

<