ทุก ชม. จะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ทุก ชม. จะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ

 

          คงเคยได้ยินมาบ้าง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ บางคนต้องไปขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือผ่าตัดต่อหลอดเลือดบ้าง เพื่อให้คนตระหนักว่าโรคหัวใจ และอัมพาตเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงถึง 11.2 ล้านคนต่อปี ร้อยละ 80 ของการตายก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและอัมพาต สามารถหลีกเลี่ยงได้หากควบคุมปัจจัยความเสี่ยงจากบุหรี่ อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะและการไม่ออกกำลังกาย

          มีการประมาณกันอย่างคร่าว ๆ ว่าทุกชั่วโมงจะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ หรือทุกปีกว่า 65,000 คน ต้องตายด้วยโรคหัวใจที่สามารถป้องกันได้

         มีหลายคนคิดว่าโชคดีที่ไม่ใช่เรา หรือคนที่เรารัก และก็จะยิ่งเป็นโชคดียิ่งขึ้น ที่ได้อ่านบทความนี้ จนเข้าใจและสามารถนำมาปฏิบัติเกิดประโยชน์ ทำให้ใจสบาย และมาเริ่มทำความเข้าใจกันตามลำดับไป

         กล้ามเนื้อหัวใจก็เหมือนกับอวัยวะอื่นที่ต้องการเลือดแดงมาเลี้ยงหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจเรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารีซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร แตกแขนงออกจากส่วนต้นของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ดา (Aorta) บริเวณนั้นมักเรียกว่า ขั้วหัวใจ

          หลอดเลือดโคโรนารีมีสองเส้นใหญ่ ๆ คือ หลอดเลือดแดงด้านซ้าย และทางด้านขวา หลอดเลือดหัวใจที่ว่านี้จะอยู่ที่ผิวด้านนอกของหัวใจ แตกแขนงห่อหุ้มทุกตารางนิ้วของหัวใจผนังด้านในของหลอดเลือดโคโรนารีถูกครอบคลุมด้วยเซลล์บุผิวขนาดเล็ก ๆ เรียกว่า เอนโดทีเลียม (Endothelium) ดูราวกับปูด้วยกระเบื้องอย่างดี อาทิ จะหลั่งสารที่สำคัญหลายชนิดคอยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตันจากเกร็ดเลือดและคราบไขมัน ราวกับการเคลือบน้ำยาอย่างดี ทั้งยังมีสารที่ช่วยให้เกิดการขยายตัวของเส้นเลือดทำให้การไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย

          เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ที่ว่านี้เหมือน ๆ กับเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเราตามธรรมชาติซึ่งมีการเจริญและเสื่อมสลายตายไปตามเวลา

         ถ้าหากค่อย ๆ เกิดขึ้น และเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ตามอายุ ก็มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุกข์ร้อนใจอะไร แต่ถ้าหากเกิดก่อนเวลาอันควรอะไรจะเกิดขึ้น นึกถึงสภาพของพื้นกระเบื้อง ที่กระดำกระด่างและร่อนหลุด มีเศษไขมัน คราบของสกปรกไปเกาะอยู่เต็มไปหมด หลอดเลือดหัวใจขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร ที่มีไขมันเข้าไปสะสมอยู่ที่ผนัง ค่อยๆ พอกพูนสะสมปริมาณมากขึ้น

          การสะสม พอกพูนของไขมันดังกล่าวนี้ อันที่จริงแล้วค่อย ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อย ๆ ทั้งที่ ถูกกำหนดโดยหลายปัจจัย อาทิพันธุกรรม และปริมาณไขมันที่บริโภคและการสูบบุหรี่  ความดันโลหิตสูง

          ถ้าการสะสมของไขมันเป็นน้อย ๆ (น้อยกว่า 50% ของเส้นเลือด) ก็อาจยังไม่ก่อให้เกิดการอะไร แต่ถ้าเป็นมากซึ่งมักจะเกินกว่า 70% ของหลอดเลือด เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอกับความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ จะเกิดอะไรขึ้น

         ถ้าอาการตีบตันค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือดแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายและกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมาก ๆ เช่น ขณะออกกำลังกายตื่นเต้น ก็อาจทำให้เกิดอาการ ซึ่งเมื่อหยุดพักแล้วจะดีขึ้นเอง ยกเว้นในบางรายอาจต้องใช้ยาขยายหลอดเลือดช่วย ที่เรียกว่า ยาพ่นหรืออมใต้ลิ้น

          ถ้าอาการตีบตันเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันใด ซึ่งก็มักเกิดจากไขมัน (Lipid plaque) ที่ผิวด้านในของหลอดเลือดหัวใจมีการแตกออก แล้วก็มีเกร็ดเลือดมาอุดตันเต็มหลอดเลือดทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีอาการวูบจากเจ็บหน้าอกจนถึงหัวใจวาย ถึงขนาดทำให้บางคนเสียชีวิตทันทีจากหัวใจ (Sudden cardiacdeath)  เช่น ที่ได้ยินข่าวว่า ดีใจ ตกใจมาก เป็นลมช็อคตายไปเลยก็มี รายที่โชคดีหน่อยก็อาจถูกนำส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ รักษาเยียวยากันไปตามความรุนแรง ประเภทนี้ก็มีทั้งที่รอดและที่ไม่รอดเช่นกัน
 

              ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<