โรคของเด็ก

โรคของเด็ก

 

 โรคของเด็ก

 หมายถึง  โรคที่มักเกิดแก่เด็กในวัยทารกและวัยเด็ก  อาการของโรคที่พบบ่อยในวัยเด็ก  เช่น อาการไข้  เป็นอาการที่เด็กมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ  การที่จะทราบได้ว่าเด็กเป็นไข้อาจทราบจาการคลำตัวเด็กเป็น ใช้หลังมืออิงบนหน้าผาก  หากต้องการทราบแน่นอนต้องวัดอุณหภูมิด้วยปรอทวัดอุณหภูมิ  ซึ่งอาจวัดทางปากหรือวัดทางทวารหนัก

 สาเหตุที่สำคัญของไข้ในเด็ก

โรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด  ทอลซิลอักเสบ หูส่วนกลางอักเสบ  ปอดอักเสบ  วัณโรค ฯลฯ  การขาดน้ำ  ดื่มน้ำไม่พอ  หรือมีการเสียน้ำจากร่างกายมาก  เช่นอุจจาระร่วง  การระบายความร้อนของร่างกายไม่ดี  เช่น  เด็กใส่เสื้อหนา ๆ   หรือถูกห่อหุ้มด้วยผ้าห่มหนา ๆ ทำให้ระบายอากาศไม่ได้

โรคทางสมอง  เช่น ความพิการของสมอง  เลือดออกในสมอง  การแพ้ยา  พิษจากสารเคมี  อาการชัก  เด็กจะมีอาการกระตุกแขนขาน้อย ๆ หรือแรงถี่ กล้ามเนื้อเกร็ง  ตาเหลือกค้าง  กัดฟัน  หรือลิ้น  สาเหตุของอาการชักอาจได้รับอันตรายจากการคลอด  ความผิดปกติในร่างกาย  การติดเชื้อของระบบประสาท  ได้รับยาบางชนิด  หรือได้จากมารดาที่ติดยาเสพติด  อาการชักที่พบบ่อยในเด็กเล็กคือ  เวลามีไข้สูง

โรคลมบ้าหมู เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมอง  อาจจะชักกระตุกทั้งตัว  กระตุกบางส่วน  หรือหัวผงก  โรคติดเชื้อทางสมอง  ที่สำคัญคือ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ไอ เป็นอาการที่พบได้เสมอทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ อาการไอในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  เช่น  ไข้หวัด  กล่องเสียงอักเสบ  หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ

โรคไอกรน  เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไอได้รุนแรง  และอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน  โรคนี้ป้องกันได้หากฉีดวัคซีนป้องกันโรค

โรคหืด  พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง  การไอมักมีเสมหะมาก  ไอมากในเวลากลางคืน  อากาศเย็น  หรืออากาศเปลี่ยน

อาการหอบ  เป็นอาการที่มีลักษณะของการหายใจลำบาก  อาการกระสับ-กระส่าย  ซึ่งเกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ  หรือเกิดจากการติดเชื้อ  การอักเสบของหลอดคอ

อาการตัวเหลือง  หรือเรียกว่าดีซ่าน  เกิดจากโรคหรือความผิดปกติที่มีสีบิลิรูบิน  การคลอดลำบาก  โรคกรรมพันธุ์ของเม็ดโลหิตแดงบางชนิดยาบางชนิด  เช่น  ยาพวกสเตรอยด์  โรคติดเชื้อจากในครรภ์มารดา

 โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในวัยเด็ก

โรคคอตีบ จะมีอาการเป็นไข้  เจ็บคอหายใจลำบากจนหายใจไม่ออก  ทำให้เสียชีวิตได้  อาจทำให้อันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ  ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ  มีผลต่อเส้นประสาท  สามารถป้องกันโรคได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตั้งแต่อายุได้ 2-3 เดือน

ไอกรน  เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ  มีอาการน้ำมูกไหล  ไอมาก  โรคแทรกซ้อนในโรคไอกรน  คือ โรคปอดบวม  หูน้ำหนวก  สามารถป้องกันโรคไอกรนได้โดยการฉีดวัคซีน  ตั้งแต่อายุได้ 2-3 เดือน

โรคบาดทะยัก  เกิดจากเชื้อบาดทะยักทางบาดแผลแล้วแล้วปล่อยพิษออกมาทำให้มีอาการขากรรไกรแข็ง  อ้าปากไม่ขึ้น  มีการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใบหน้า  อาการชักแบบหลังแอ่น  เกิดจากความเจ็บปวดเวลาที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเมื่อมีอาการชักติดต่อกันนาน ๆ ทำให้หายใจไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้  การป้องกันโรคบาดทะยักทำได้  โดยการฉีดวัคซีนป้องกันพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ  และไอกรนตั้งแต่เด็ก  ในเด็กแรกคลอดมักจะเกิดจากการตัดสายสะดือด้วยเครื่องมือสกปรก

โรคไขสันหลังอักเสบ(โปลิโอ)  อาการที่พบคือมีไข้  ปวดศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดเมื่อยตามตัว  มีอาการคอแห้งและอัมพาตเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปาก  และอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อนี้อยู่  การป้องกันโรคโปลิโอที่ดีที่สุด  คือการรับประทานวัคซีนป้องกันโปลิโอ

โรคหัด  เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อโรค  ติดต่อโดยทางหายใจ ทำให้เกิดไข้  น้ำมูกไหล  ไอ  คอแดง  โรคหัดเยอรมัน  เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ในเด็กเล็กจะมีอาการผื่นตามตัว  คอ แขน ขา มีไข้ต่ำ  อาการที่พบในทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างอยู่ในครรภ์ คือ  ตัวเล็ก  เจริญเติบโตช้า  น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติอาจมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด  หูหนวก  ตาอาจเป็นต้อกระจก  ต้อหิน  หรือตาเล็ก  อาจเกิดความผิดปกติทางสมองทำให้ปัญญาทึบ

โรคสุกใส  เกิดจากเชื้อไวรัส  ทำให้เกิดเป็นผื่นและตุ่มใส  ๆ บนผิวหนังมีอาการไอ หรือจาม

วัณโรค  เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ปอด  ต่อมน้ำเหลือง  เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ กระดูก ข้อ ตับ ไต ผิวหนัง และเยื่อหุ้มหัวใจ  การป้องกันโรคนี้ทำได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันโดยฉีดวัคซีน บีซีจี และหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อ

โรคไข้เลือดออก   เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยยุงลายกัดเวลากลางวัน  อาการของไข้เลือดออกคือ  มีไข้สูง  เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน  ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยอาจตายได้  การป้องกันคืออย่าให้ยุงลายกัดกำจัดแหล่งวางไข่ของยุงลาย  ซึ่งได้แก่น้ำสะอาดที่อยู่นิ่งฉะนั้นภาชนะที่ใส่น้ำควรมีฝาปิด 

โรคต่าง ๆ ของเด็กเหล่านี้  ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันและการหมั่นสังเกตอาการของเด็ก ๆ และรีบพบกุมารแพทย์  เมื่อพบอาการต้องสงสัย

ด้วยความปรารถนาดีจาก แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

แพทย์

FAQ

<