อาการของโรคหัวใจ

อาการของโรคหัวใจ

ถ้าแบ่งอาการของโรคหัวใจที่ทำให้มาพบแพทย์แบบง่าย ๆ มี 3 ลักษณะ คือ

  1. อาการจุกแน่นหรือเจ็บหน้าอก อาจเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือด
  2. อาการเหนื่อยง่าย อาจเป็นอาการของกลุ่มอาการหัวใจวาย
  3. อาการใจสั่นหรือเป็นลม อาจเป็นอาการของกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  4. ต้องแยกจากอาการที่เกิดจากความวิตกกังวล

        ต้องเข้าใจด้วยว่า บางรายผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ บางรายมีอาการไม่ชัดเจน บางรายมาหาด้วยอาการแทรกซ้อน เช่น หลอดเลือดสมองอุดตันจากก้อนเลือดที่หลุดจากหัวใจ บางรายไม่ทันมาหาแพทย์เนื่องจากเสียชีวิตก่อน

 

1. อาการจุกแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

         อาการจุกแน่นหน้าอก เป็นอาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดมาพบแพทย์ อาการนี้บางคนเจ็บ บางคนว่าปวด แต่ส่วนใหญ่บอกว่า เป็นอาการแน่นหรือความรู้สึกจุกแน่นในหน้าอก คล้ายมีอะไรมาบีบรัดหรือมาทับที่หน้าอก อาการจุกแน่นหน้าอกเกิดที่บริเวณยอดอกตรงกลาง หรือเยื้องไปทางซ้ายได้เล็กน้อย บางรายจุกยอดอกคล้ายโรคกระเพาะอาหาร อาการปวดเจ็บมักร้าวไปที่ต้นคอ ด้านหลัง กรามซ้าย ไหล่ซ้าย หรือร้าวลงไปที่ปลายแขนซ้ายด้านใน บางคนอาการเจ็บร้าวไปที่คอหรือไหล่จะรุนแรงกว่าที่หน้าอกเองด้วยซ้ำ อาการเจ็บร้าวนี้เป็นตัวช่วยที่สำคัญในการวินิจฉัยด้วย
 

          ถ้าหัวใจขาดเลือดไม่มาก อาการเจ็บแน่นไม่มากและไม่นาน อยู่เฉยๆ ไม่เจ็บ เจ็บเวลาใช้กำลัง เช่น วิ่งออกกำลัง เดินขึ้นบันได ข้ามสะพานลอย หรือกำลังทำงาน เช่น ยกของหนัก ผลักดันรถยนต์ เคลื่อนย้ายตู้เตียง แต่เมื่อหยุดพัก อาการก็หายไป อาจเจ็บมากแค่ 3-5 นาทีแล้วลดลง มักไม่นานกว่า 15-20 นาที แต่ถ้าหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงจะเจ็บนานกว่านั้น อาจเจ็บนานกว่า 15-30 นาที แค่เดินใกล้ๆ หรือเดินขึ้นบันไดก็เจ็บแน่นหน้าอกหรือเจ็บแน่นเวลาอยู่เฉยๆ ถ้าหัวใจขาดเลือดจนกล้ามเนื้อหัวใจตาย มักเจ็บแน่นรุนแรงที่สุด เจ็บนานกว่า 30 นาที อาจเจ็บเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง เจ็บตลอดเวลาแม้อยู่เฉยๆ อมยาอมใต้ลิ้นก็ไม่หาย และพบอาการอื่นๆร่วมด้วย อาการอื่นๆที่พบร่วมได้บ่อย และมีความสำคัญในด้านช่วยการวินิจฉัย คือ อาการเหงื่อออกตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งมีการปวดอยากถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ หรือบางครั้งรู้สึกหมดเรี่ยวแรง วิงเวียนหรือ เป็นลม ในทางการแพทย์ แพทย์แยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมาด้วยอาการคล้าย ๆ กันเช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ กรดไหลย้อน เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปวดอักเสบหรือปอดบวม หลอดเลือดในปอดอุดตัน กระดูกหน้าอกอักเสบ หรือ ปลายประสาท เอ็น หรือกล้ามเนื้อหน้าอกอักเสบ หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าปริหรือแตก

 

2. อาการเหนื่อยง่ายจากหัวใจวายเลือดคั่ง

          อาการเหนื่อยง่ายจากหัวใจวายเลือดคั่ง เป็นอาการของน้ำคั่งในถุงลมปอด เมื่อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี หรือบีบตัวดีแต่ต้องบีบตัวผ่านแรงเสียดทานที่สูง เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ความดันโลหิตที่สูงมากๆ ทำให้ แรงดันเลือดในห้องหัวใจสูงขึ้น ผลคือแรงดันเลือดในปอดสูงขึ้นตาม ดันน้ำเลือดท้นเข้าไปในปอด (ในถุงลมปอด) การแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมปอดเสียไปจากการที่เลือดคั่งที่ถุงลม เกิดอาการเหนื่อย เริ่มตั้งแต่เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายอยู่เฉยๆไม่เหนื่อย ถ้าเป็นมากขึ้นแม้ออกกำลังกายเล็กน้อยจะเหนื่อย ถ้าเป็นมากขึ้นอีก จะเริ่มเหนื่อยตอนกลางคืนนอนราบไม่ได้ เพราะเวลานอนเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจมากขึ้นดันน้ำเลือดท้นเข้าไปในถุงลม ปอดมากขึ้น ต้องลุกขึ้นนั่งเป็นช่วงๆ นอกจากนี้ ผลจากหัวใจบีบตัวไม่ดี ปริมาณเลือดที่ไปสู่สมอง กล้ามเนื้อลดลง ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง มึนงงง่าย ถ้าเลือดคั่งมากความดันในหลอดเลือดฝอยในปอดสูงมาก ดันน้ำเลือดในหลอดเลือดเข้าไปสู่ถุงลมในปอดจำนวนมาก ทำให้หายใจมีเสมหะเป็นฟองสีน้ำปนเลือด เหนื่อยหอบรุนแรง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมในปอดทำไม่ได้ ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจลดลง ถ้ารักษาไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้

 

           หัวใจห้องขวารับเลือดดำจากร่างกายส่งไปฟอกที่ปอด ถ้าความดันในปอดสูง ความดันในหัวใจห้องขวาก็สูง ความดันในหลอดเลือดดำสูงขึ้นด้วยทำให้เส้นเลือดดำที่คอโป่งพอง น้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายเก็บไว้ในหลอดเลือดดำก็ถูกดันออกมาภายนอก ทำให้เกิดการคั่งของเลือดในอวัยวะต่าง ๆเช่น ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้เกิด ตับโต แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน การคั่งของเลือดในแขนขาทำให้บวมตามปลายมือปลายเท้า หรือบริเวณก้น หลัง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ขยับตัวนอนเป็นส่วนใหญ่

ถึงมีอาการเช่นนี้ แต่ยังมีโรคหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายหรือบวมได้ เช่น

  • โรคปอด เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง 
  • โรคไต เช่น ไตวาย บวมจากเสียโปรตีนที่ไต
  • โรคตับ เช่น ตับแข็ง
  • ภาวะขาดโปรตีนอย่างรุนแรง
  • ภาวะซีดอย่างรุนแรง

 

3. อาการใจสั่นหรือเป็นลมจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

          ในรายหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ หรือบางครั้งเต้นเร็วบางครั้งเต้นช้า ทำให้มีอาการทั้งสองอย่างรวมกัน
 

  • ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดเป็นตัวๆหรือเกิดโดดๆ ซึ่งเกิดได้ทั้งหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง การเต้นผิดจังหวะแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต อาการส่วนใหญ่ที่ท่านมาพบแพทย์ คือ อาการหัวใจเต้นสะดุดหรือหยุดไป บางรายรู้สึกเต้นแรงคล้ายมีอะไรมากระแทก หรือมีอาการใจสั่น ใจเต้นไม่สม่ำเสมอ 
  • ถ้าหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะตลอดเวลานานๆ ที่เรียกว่า เต้นพริ้ว (Atrial fibrillation) หัวใจห้องบนทำงานไม่ไหว บางรายมาด้วยหัวใจวายเลือดคั่ง หรือมาด้วยอัมพาตอัมพฤกษ์ จากการที่เกิดก้อนเลือดในหัวใจแล้วหลุดไปที่สมอง
  • ถ้าหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ที่พบบ่อยคือ เต้นแล้วหยุดทำให้มีอาการใจสั่นเป็นลมหมดสติได้ ร่วมกับความดันโลหิตต่ำ ถ้าเต้นไม่หยุดจะทำให้เสียชีวิตได้
  • ถ้าหัวใจเต้นช้ามาก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดอาการมึนงง วิงเวียน หน้ามืดตาลาย เป็นลมหมดสติ จนถึงชักได้เช่นกัน 

 

4. อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยวิตกกังวล

          อาการคล้ายกับอาการของโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหัวใจวายเลือดคั่ง ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชา เหงื่อออกตามปลายมือปลายเท้า แต่ อาการมักเกิดในวัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ พบในหญิงมากกว่าชาย ที่ช่วยวินิจฉัยคือ

 

  • อาการเจ็บหน้าอกเป็นแบบเจ็บจี๊ดๆ หรือเจ็บแปลบๆ เจ็บแบบเข็มแทง 
  • มีจุดที่เจ็บชัดเจน เวลาเอามือกดตรงที่เจ็บจะทำให้เจ็บมากขึ้น 
  • อาการเจ็บหน้าอก อาจเกิดวันละหลายครั้งๆ ละเป็นวินาที 
  • อาการไม่เกิดร่วมกับการออกกำลังกายและการออกกำลังกายอาจทำให้อาการดีขึ้นด้วย แม้เจ็บหน้าอกก็ยังสามารถทำงานได้
  • มักพบอาการหายใจไม่ออกหรือหายใจไม่เต็มอิ่มร่วมด้วย อาการหายใจไม่สะดวกดีขึ้นเวลาถอนหายใจแรงๆ ถ้ารุนแรงทำให้อาการคล้ายหอบหืดได้
     

          อาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ และส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความเครียด ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยจะทราบ แต่ส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว ต้องอาศัยคนใกล้ชิดช่วยสังเกตความเครียด

 

ด้วยความปรารถนาดี จาก

ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี (Vibhavadi Heart Center)

 

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<