โรคหัวใจ โรคหัวใจมีกี่ชนิด?

โรคหัวใจ โรคหัวใจมีกี่ชนิด?

โรคหัวใจมีหลายชนิด แบ่งเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส
3. โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก
4. โรคลิ้นหัวใจอักเสบจาการติดเชื้อ
5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
6. โรคหรือความพิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ
          กล้ามเนื้อหัวใจ ต้องอาศัยอาหารและออกซิเจน จากหลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ที่มาเลี้ยงหัวใจ ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน กล้ามเนื้อหัวใจก็จะขาดอาหารและออกซิเจน ทำให้การทำงานหัวใจเสียไป หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ในกรณีหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักเกิดเวลาออกกำลังกาย ซึ่งหัวใจต้องการอาหารและออกซิเจนมากกว่าปกติ เมื่อพักอาการก็หายไปภายในเวลาเป็นนาทีหรือหลายนาที หากหลอดเลือดหัวใจตีบตันจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายไป หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ เหลือกล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยลง อาการรุนแรงกว่าหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการนานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ถ้าเป็นมากก็จะเกิดอาการหัวใจวายได้
          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยอาการจุกแน่นหน้าอกเป็นอาการนำ แต่ก็ไม่น้อยที่ผู้ป่วยไม่เจ็บหน้าอกแต่มาหาแพทย์ด้วยอาการ แน่นยอดอกคล้ายท้องอืดท้องเฟ้อ หรือโรคกระเพาะอาหาร บางรายมาด้วยอาการแทรกซ้อน เช่น อาการหอบเหนื่อยจากหัวใจวายเลือดคั่ง หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งอาจเสียชีวิตก่อนมาพบแพทย์

2.โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส 
           โรคของกล้ามเนื้อหัวใจอาจเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากภายหลังก็ได้ ในพวกที่เป็นภายหลังชนิดที่พบมากที่สุดคือ กล้ามเนื้อหัวใจพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการโดยไม่ทราบสาเหตุยังแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ 
-ชนิดกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ 
-ชนิดกล้ามเนื้อหัวใจพิการขยายตัวไม่ดีเท่าปกติจากโรคบางชนิดที่เข้าไปแทรกในกล้ามเนื้อหัวใจ 
-และชนิดกล้ามเนื้อหัวใจไม่หนาแต่หัวใจขยายตัวโตขึ้นบีบตัวได้ไม่ดีเท่าปกติ
          โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการที่พบบ่อยคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ ชนิดที่หัวใจขยายตัวโตขึ้นและบีบตัวได้ไม่ดีเท่าปกติ (Dilated Cardiomyopathy) โรคนี้ผลจากความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่พอ ร่างกายปรับตัวโดยเพิ่มขนาดของหัวใจเพื่อเพิ่มปริมาณเลือดที่บีบออกจากหัวใจ ทำให้หัวใจผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีขนาดหัวใจที่โตมาก เรียกทางแพทย์ว่า “ Dilated Cardiomyopathy” อาการที่สำคัญที่ตามมาคือ เหนื่อยง่าย ถ้าเป็นมากมีอาการบวมและเหนื่อยหอบของโรคหัวใจวายเลือดคั่ง โรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดนี้ไม่ทราบสาเหตุที่เป็น แต่บางครั้งอาจพบตามหลังกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัสหรือเกิดภายหลังการ ได้รับสารพิษบางอย่าง เช่น โคบอล์ท ยารักษาโรคมะเร็ง

           ไวรัสหลายชนิดทำให้เกิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติอาการไข้ อาการทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ ต่อมาเริ่มมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทำให้การบีบตัวไม่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นไม่มาก อาจไม่ได้มาพบแพทย์ ส่วนน้อยที่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากจนทำให้เกิดอาการหัวใจวายเลือดคั่ง เหนื่อยมากจนต้องพบแพทย์ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก
           ความพิการของลิ้นหัวใจมี 2 แบบ คือ ลิ้นหัวใจตีบและลิ้นหัวใจรั่ว ในบางรายพบทั้งลิ้นหัวใจตีบและลิ้นหัวใจรั่วร่วมกัน สาเหตุส่วนใหญ่ในบ้านเราเกิดจาก “ไข้รูห์มาติก” โรคไข้รูห์มาติกนี้จะเริ่มเป็นในเด็กช่วงวัยเข้าเรียน อายุระหว่าง 5-12 ปี ไข้รูห์มาติกเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ เสตปโตคอคคัส” ในช่องปาก ร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรีย แต่ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเป็นชนิดไวเกิน ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อที่ปกติด้วย เกิดเป็นโรค “ไข้รูห์มาติก” ผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดข้อ ข้อบวม ผื่นที่ผิวหนัง และเกิดหัวใจอักเสบได้ ต่อมาเกิดลิ้นหัวใจอักเสบเรื้อรัง เกิดภาวะลิ้นหัวใจพิการ (ตีบหรือรั่ว) อาการแสดงของลิ้นหัวใจพิการจะเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา อาการจะขึ้นกับความรุนแรงของการตีบหรือรั่วของลิ้นหัวใจ ความผิดปกติเกิดได้ที่ลิ้นหัวใจทุกลิ้น แต่พบมากที่สุด คือ ลิ้นหัวใจไมตรัล รองลงมาคือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ภาวะลิ่นหัวใจพิการจาก ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ มักพบบ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการคนเป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ มักเป็นอาการของโรคหัวใจวายเลือดคั่ง จากการที่เลือดไหลผ่านจากหัวใจห้องบนลงสู่หัวใจห้องล่างไม่ได้ ทำให้น้ำท่วมปอด มีอาการเหนื่อย มึนงง บวม และมีการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย เป็นต้น
หลักการรักษาทั่วไป ในโรคลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะใช้ยาก่อน เพื่อประคับประคองการทำงานของหัวใจ แต่เมื่อการทำงานของหัวใจเสื่อมลงถึงระดับที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหัวใจวาย เลือดคั่งต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือซ่อมลิ้นหัวใจ ถ้าเป็นลิ้นหัวใจตีบการใช้ยาได้ผลน้อยกว่าลิ้นหัวใจรั่ว เมื่อลิ้นหัวใจตีบถึงระดับที่มีอาการ ต้องทำการผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
          ที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันเราพบกลุ่มโรคนี้น้อยลงมาก อาจจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวาง

4.โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
          ส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจอยู่ก่อน เช่น ลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก ลิ้นหัวใจเหล่านี้ผลจากการอักเสบทำให้รูปร่างลิ้นหัวใจผิดปกติไป เมื่อมีเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ริดสีดวงอักเสบ ทำฟัน (อุดฟัน ถอนฟัน) เชื้อแบคทีเรียสามารถเกาะติดกับลิ้นหัวใจที่ผิดปกติได้ง่าย และลุกลามทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการ ไข้หนาวสั่น มีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจมาด้วย อาการอัมพาตของสมอง แขนขาขาดเลือด จากการที่เศษก้อนเชื้อโรคจากบริเวณลิ้นหัวใจที่อักเสบหลุดกระจายไปติดตาม อวัยวะต่าง ๆ หรือมาด้วยอาการของโรคหัวใจวาย เลือดคั่งจากกล้ามเนื้อหัวใจหรือลิ้นหัวใจถูกทำลายได้
           ในปัจจุบัน มีผู้ที่ใช้ยาเสพติดฉีดเข้ามาทางหลอดเลือดมากขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบลิ้นหัวใจข้างขวาอักเสบโดยไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติมา ก่อน เนื่องจากเข้มฉีดยาที่ไม่สะอาดทำให้มีเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดตลอดเวลา เชิ้อโรคมีโอกาสที่จะเกาะลิ้นหัวใจง่ายขึ้น
การรักษาลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับยาปฏิชีวนะในขนาดสูงทางหลอดเลือดดำในช่วงแรกต่อมาอาจเปลี่ยนเป็นยารับ ประทาน เป็นเวลานาน 4-6 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ทุเลาหรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจต้องใช้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัดร่วมด้วย

5.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
           สาเหตุเกิดจาก ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ ความผิดปกติของการเจริญเติบโตตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา การเติบโตของเนื้อเยื่อที่จะพัฒนาเป็นหัวใจผิดปกติ ทำให้รูปร่างหัวใจไม่สมบูรณ์ มีได้หลายแบบ ตั้งแต่ ผนังกั้นหัวใจรั่ว (อาจรั่วระหว่างหัวใจห้องบนหรือรั่วระหว่างหัวใจห้องล่าง) บางคนอาจไม่มีผนังกั้นหัวใจเลย (มีแต่หัวใจห้องบนห้องเดียวหรือหัวใจห้องล่างห้องเดียวก็ได้) นอกจากนี้ยังมีลิ้นหัวใจตีบแต่กำเนิด หรือลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิดได้
ในบางรายมีลักษณะ “ความพิการแบบซับซ้อน” เช่น โรคที่เรียกว่า “Tetralogy of Fallot” (ประกอบด้วยความผิดปกติ คือ ผนังกั้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ภาวะตัวเขียว หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าคล่อมผนังหัวใจ) ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น
           อาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ แตกต่างไปตามชนิดของความพิการ มีตั้งแต่ตัวเล็กไม่เจริญเติบโต ทางเดินหายใจอักเสบง่าย หรือมีอาการหอบเหนื่อย ไปจนถึงชนิดผิวพรรณตัวเขียวและชนิดผิวพรรณตัวไม่เขียว
         โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect)
         โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ส่วนใหญ่รักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด
          แต่ในปัจจุบัน กลุ่มที่ผนังกั้นหัวใจรั่ว มีวิธีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Closure device สอดเข้าทางขาคล้ายการสวนหัวใจ เข้าไปปิดบริเวณที่รั่วได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับขนาดและตำแหน่งที่ผิดปกติด้วย

6. โรคหรือความพิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
-กลุ่มอาการหัวใจวายเลือดคั่ง
-ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-โรคความดันโลหิตสูง
-โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกของต่อมใต้สมอง
-ภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น ขาดวิตามินบี
-โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังทำให้เยื่อหุ้มหัวใจหนาตัวผิดปกติบีบรัดหัวใจ
-หลอดเลือดพิการ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่เออร์ต้าโป่งพอง
           โรคเหล่านี้ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางหัวใจ อาจตรวจพบหัวใจโต หรือ อาจเกิดอาการหัวใจวายเลือดคั่ง และ/หรือ อาการอื่น ๆ ที่เป็นอาการเฉพาะโรค


ด้วยความปรารถนาดี จาก...

ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี (Vibhavadi Heart Center)

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<