มะเร็งตับ (Liver Cancer)  มะเร็งอันดับ 1 ในเพศชาย

มะเร็งตับ (Liver Cancer) เป็นมะเร็งที่พบอันดับแรกในชายไทย (40.5 ราย/ประชากร 1 แสนคน) และเป็นอันดับที่ 3 ของหญิงไทย (16.3 ราย/ประชากร 1 แสนคน) โดยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นมาก ในผู้ป่วยตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบบีและซีชนิดเรื้อรัง รวมถึงผู้บริโภคแอลกอฮอล์เป็นนิจ มะเร็งตับมีการดำเนินของโรคเร็วมาก ซึ่งผู้ป่วยมักถึงแก่กรรมใน 2-4 เดือน หลังได้รับการวินิจฉัย

ประเภทของมะเร็งตับ

มะเร็งตับแบ่งได้ 2 แบบ คือ

  1. มะเร็งแบบปฐมภูมิ เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อตับหรือท่อน้ำดีในตับ
  2. มะเร็งแบบทุติยภูมิ เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายจากบริเวณอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ที่มีการแพร่กระจายมาที่ตับ

มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิจะพบบ่อยเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งทั่วโลกถ้าในประเทศไทยปัจจุบันจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะพบว่าเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในเพศชาย และ เป็นอันดับ 2 ในเพศหญิง

ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นในแบบปฐมภูมิมากกว่า แต่แบบแพร่กระจายจะเป็นได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆในระยะไหน ถ้าเป็นในระยะที่ 4 ส่วนใหญ่จะพบแพร่กระจายมาที่ตับค่อนข้างเยอะเช่น มะเร็งตับทุติยภูมิ      

สาเหตุ

สาเหตุจะขึ้นอยู่กับภูมิภาคของทางเอเชียหรือประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการติดเชื้อจะเป็นเรื้อรัง และ สาเหตุสำคัญจะเป็นการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยพบว่าเป็นสาเหตุ 60 % ของมะเร็งตับในคนไทย

ซึ่งสถิติคนไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณถึง 6,000,000 ราย ผลของการติดเชื้อจากไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้มีการอักเสบของเนื้อตับเรื้อรังเกิดพังผืดเป็นตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด

พาหะในความหมายของทางการแพทย์ คือ มีไวรัสอยู่ในระดับต่ำอยู่ แต่ไม่มีอาการแสดงของตัวโรค แต่มีโอกาสที่จะติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ แต่พาหะของไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทย

คนที่เป็นพาหะส่วนใหญ่จะมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่เป็นระยะสงบของตัวโรคก็เลยทำให้เข้าใจว่าพาหะไม่เกิดโรค แต่ถ้าวันหนึ่งมีอาการร่างกายอ่อนแอลง ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในเซลล์ตับก็มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวน ทำให้เกิดโรคตามมาได้

ซึ่งหลักๆวิธีที่จะป้องกันได้ คือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และท้ายสุดถ้าตรวจเจอว่ามีโรค การให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี สามารถที่จะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งตับได้

มีกี่ระยะและสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเป็น

มะเร็งตับจะคล้ายๆ มะเร็งทั่วไป คือ ระยะแรกหรือระยะที่รักษาได้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ และในผู้ป่วยที่มีอาการ ส่วนใหญ่ที่มาถึงก็จะเลยระยะเวลาที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว

จะแนะนำให้ตรวจคัดกรองโดยใช้ตัวอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือด เช่น ผู้ป่วยตับแข็งไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6-12 เดือน

ถ้ากรณีผู้ชายอายุ 40 ปี ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรที่จะต้องทำการตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือน

ส่วนกรณีผู้หญิงจะตรวจที่อายุ 50 ปี แต่จะต้องทำการดูประวัติของครอบครัวร่วมด้วย

ถ้าครอบครัวมีประวัติจะต้องมาตรวจเร็วกว่าปกติทั่วไป ถ้าเป็นระยะหลังจะมีอาการปวดท้องด้านขวา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม 

ระยะของมะเร็งตับจะมี 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 (แรก) : ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก และมีเพียงก้อนเนื้อเดียว
  • ระยะที่ 2 (ปานกลาง) : มีการลุกลามของก้อนเนื้อเข้าหลอดเลือดในตับ และ/หรือ มีก้อนเนื้อหลายก้อน แต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ
  • ระยะที่ 3 (ลุกลาม): ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ และ/หรือ เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ
  • ระยะที่ 4 (ระยะสุดท้าย): โรคมะเร็งแพร่กระจายตามกระแสโลหิต(เลือด) มักเข้าสู่ตับกลีบอื่นๆ และปอด แต่อาจเข้าสู่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น สมอง และ/หรือ กระดูก หรือ แพร่กระจายยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากตับ เช่น ในช่องท้อง หรือ บริเวณไหปลาร้า

ระยะแรก ระยะปานกลาง ซึ่ง 2 ระยะนี้ จะอยู่ในช่วงที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นระยะลุกลาม หรือ ระยะท้าย ส่วนใหญ่การรักษาจะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นให้อยู่ได้นานขึ้น

แต่โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้จะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเพื่อการป้องกันควรมาตรวจทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ส่วนใหญ่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลทั่วไปจะมีการตรวจอยู่แล้ว

แต่กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจจะไม่ได้ตรวจ หลักๆที่ต้องตรวจจะเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็ง มีไวรัสตับอักเสบบีผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องตรวจเป็นพิเศษ       

การตรวจวินิจฉัย

แนะว่าควรทำในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยตับแข็ง ตับอักเสบบี หรือซีชนิดเรื้อรัง ตลอดจนผู้ที่ดื่มสุรา โดยใช้วิธีการตรวจร่วมกันคือ

  1. การเจาะเลือดตรวจระดับแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha Fetoprotein : AFP) ซึ่งเป็นสารที่เซลล์มะเร็งผลิตออกมา ค่าที่ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งตับคือ AFP ตั้งแต่ 400ng/ml ขึ้นไป
  2. การตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อตรวจหาก้อนในตับ (Liver Mass) ได้แก่ การใช้อัลตร้าซาวด์ ตรวจเนื้อตับ (Ultrasonography) หรือใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan 64 Slice) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยเฉพาะการตรวจ 2 อย่างหลังสามารถมองหาแขนงของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งในตับได้การเจาะตรวจเนื้อตับ (Liver Biopsy) ใช้ในกรณีที่ผลการตรวจข้อ 1 และ 2 ไม่ชัดเจน วิธีนี้ให้การวินิจฉัยมะเร็งตับได้แม่นยำที่สุด เพราะเป็นการนำตัวอย่างก้อนในตับมาตรวจ ทางพยาธิวิทยา แต่มีความเสี่ยงสูงกับภาวะแทรกซ้อนและยังมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีน้ำใน ช่องท้องหรือท้องมาน

การรักษา

  1. การผ่าตัด (Hepatic Resection) เป็นวิธีที่ดีที่สุด หวังผลการรักษาให้หายขาดได้ ถ้าขนาดของก้อนในตับเล็กกว่า 3 ซม. และการทำงานของตับยังสมบูรณ์อยู่ แต่มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่สามารถผ่าตัดได้
  2. การฉีดยาเคมีและสารอุดกั้นหลอดเลือดเลี้ยงก้อนมะเร็ง (Transarterial Oily Chemoembolization : TOCE) เป็นวิธีที่ทำให้ก้อนมะเร็งในตับยุบตัวลง สามารถนำมาใช้ ร่วมกับการผ่าตัดได้ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 5 ซม. ในก้อนขนาดใหญ่ วิธีรักษานี้สามารถให้อัตราอยู่รอดโดยเฉลี่ย 9 เดือน  มีส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถยืด อายุขัยได้ถึง 5 ปี
  3. การฉีดสารแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็ง (Percutaneous Ethanol Injection : PEI) ผ่านทางผิวหนัง ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เพราะผู้ป่วยมักปวดแสบบริเวณผิวหนังที่ฉีด เป็นอย่างมาก
  4. การใช้เคมีบำบัด (Systemic Chemotherapy) สำหรับบรรเทาอาการของมะเร็ง ซึ่งผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก

การป้องกันและการตรวจคัดกรอง

  • การฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ช่วยลดการเกิดมะเร็งตับจากตับอักเสบบีเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตามทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อตับอักเสบซี ทำให้ตับอักเสบซีเรื้อรัง ยังเป็นปัญหาความเสี่ยงต่อมะเร็งตับในอนาคต
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยตับแข็งและไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง มีการศึกษาพบว่าแอลกอฮอล์ทำให้ตับแข็งและไวรัสตับอักเสบมีการดำเนินเป็นมะเร็งตับได้เร็วขึ้น
  • ควรตรวจคัดกรองหามะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ทุก ๆ 6-12 เดือน โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับ AFP ร่วมกับการตรวจ Ultrasound 

ไขมันเกาะตับและกลายไปเป็นมะเร็งตับ

ปัจจุบันความเสี่ยงที่มีไขมันเกาะตับและกลายไปเป็นมะเร็งตับ หรือ ตับแข็ง จะมีความเสี่ยงสูง มีการตรวจไขมันเกาะตับอยู่ 2 วิธี ถ้ากรณีไขมันเกาะตับอยู่ 30% ตัวอัลตร้าซาวด์ตับจะสามารถตรวจพบได้ ถ้าต้องการตรวจอย่างละเอียดจะเป็นการตรวจ Fibro Scan เป็นการตรวจที่สามารถวัดไขมันในตับได้ รวมถึงดูค่าการมีพังผืดในตับได้เช่นเดียวกัน

ถ้ากรณีเป็นไขมันเกาะตับจะมีวิธีการรักษาก่อนที่จะลุกลามอย่างไร?

การรักษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นการรักษาด้วยยา ถ้ากลุ่มที่เป็นไขมันเกาะตับจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการลดน้ำหนักประมาณ 7-10% จะสามารถช่วยลดการอักเสบของตับและพังผืดได้ แต่หลักๆ ที่สมาคมโรคตับทั่วโลกแนะนำ คือ ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

วิธีการรักษาระยะแรกของไขมันเกาะตับเป็นอย่างไร?

วิธีการรักษา จะเป็นการดูแลคนไข้ร่วมกันระหว่างอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และแพทย์รังสี จะดูว่าทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่เหมาะกับคนไข้ที่สุด

ถ้าก้อนมีขนาดเล็กจะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นทางเลือกแรก จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่เงื่อนไขจะดูว่าขนาดหรือก้อนต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของมะเร็ง ไปยังบริเวณเส้นเลือดใกล้เคียงอื่นๆ และการทำงานของตับยังดีอยู่

ถ้าการทำงานของตับไม่ดีบางทีตับที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดชีวิตได้ หรือ การทำงานของตับได้ ซึ่งปกติทางศัลยแพทย์จะมีการประเมินว่าตัดได้หรือเปล่า

ถ้ากรณีผู้ป่วยมีตับแข็งจะมีอาการเข้าได้ กับโรคตับระยะท้ายๆ และมีมะเร็งตับร่วมด้วย กรณีนี้วิธีการรักษาที่ดีที่สุด ถ้าก้อนไม่ใหญ่มากและยังอยู่ในระยะที่ยังไม่แพร่กระจาย และอยู่ในเกณฑ์กำหนด คือ การปลูกถ่ายตับ คือ การเอาตับเก่าที่มีมะเร็งออก และ เอาตับใหม่ที่ไม่มีมะเร็งใส่กลับเข้าไป

แต่ปัจจุบันค่อนข้างทำได้น้อยอยู่จะทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ ปัญหาในปัจจุบัน คือ การขาดแคลนผู้ป่วยที่บริจาคอวัยวะ จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการกับจำนวนของตับที่มีให้ยังมีจำกัด ค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยปลูกถ่ายตับประมาณ 1,000,000 บาท

ในการผ่าตัดจะเป็นรัฐบาลออกให้จะครอบคลุมเฉพาะข้าราชการและผู้ที่มีประกันสังคม ยังไม่ครบคลุมผู้ป่วยบัตรทองขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาให้ได้วงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้ปีละ 100 - 200 ราย เพราะมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด

และอีกวิธีหนึ่งถ้าเป็นก้อนขนาดเล็กยังอยู่ในระยะไม่เกิน 2 เซนติเมตร ที่ใช้ค่อนข้างเยอะ คือ การใช้เป็นคลื่นไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งความถี่สูงจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ไปทำลายตัวมะเร็งตับ ซึ่งมีผลการศึกษาที่รับรองว่าหายขาดได้ ไม่แตกต่างกับการผ่าตัดตับ ในก้อนมะเร็งก็ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร ซึ่งต่างประเทศจะนิยมมาก เพราะค่านอนโรงพยาบาลกับการผ่าตัดค่อนข้างแพง และผู้ป่วยหลายรายที่ไม่อยากผ่าตัด หรือ มีความเสี่ยงในการผ่าตัดที่ค่อนข้างสูงก็จะเลือกใช้วิธีนี้

แต่เรื่องการเลือกใช้วิธีการรักษาจะต้องประเมินเป็นรายๆไป เนื่องจากตำแหน่งของก้อนจะมีผลกับการรักษา และอีกระยะหนึ่งที่เป็นระยะลุกลามแล้ว ไม่สามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หรือ จี้ไฟฟ้า จะมีการรักษาอีกวิธีหนึ่งเป็นการรักษาที่เรียกว่า “TACE” คือการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง ร่วมกับฉีด Gelfoam ไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง แต่การรักษาไม่ได้ทำให้มะเร็งหายขาด แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น

คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลตัวเองก่อนที่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ

ฝากเรื่องการป้องกันเพราะการป้องกันก็ดีกว่าการรักษา ในบุคคลทั่วไปถ้าพยายามลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี ต้องระวังพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น การสักลาย และ พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปหรือไม่เหมาะสม สุดท้ายจะเป็นเรื่องการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะไขมันเกาะตับก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง และในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะป้องกันที่จะทำให้เกิดโรคได้

ด้วยความปรารถนาดีจาก
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี

แพทย์

FAQ

<