รักษาโรคปวดหลังด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคปวดหลัง

โรคปวดหลังที่มักต้องรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด มักมีสาเหตุหลัก ๆ คือ
     - หมอนรองกระดูกสันหลังทรุดหรือแตก กดทับระบบประสาท (เส้นประสาท หรือไขสันหลัง)
     - กระดูกสันหลังเสื่อมและทรุดตัว ร่วมกับมีหินปูนงอกออกมากดทับระบบประสาท
     - กระดูกสันหลังเคลื่อนตัวอันเนื่องมาจากความเสื่อมของกระดูกหรือจากอุบัติเหตุ
     - มีเนื้องอกในระบบประสาทหรือในกระดูกสันหลัง


สาเหตุดังกล่าวข้างต้นมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากน้อยต่างกันออกไป ที่พบได้บ่อยและมักเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดคือ

     - มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขนหรือขา 
     - มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า
     - มีลักษณะของกล้ามเนื้อที่ลีบลง ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่ากำลังมือหรือขาลดลง
     - ทรงตัว เดินลำบาก เดินได้ไม่ไกล
     - มีอาการปวดรุนแรง หรือปวดจนรบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน (ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดศีรษะ) และไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษา


ทำไมต้อง “กล้อง”
         อาการเหล่านี้เมื่อแพทย์วินิจฉัยแน่นอนแล้วว่าจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อแก้ไขความผิดปกติดังกล่าว การผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดีเหนือกว่าการผ่าตัดด้วยตาเปล่ามากมาย เช่น ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการผ่าตัดซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลทีสุดคือกลัวว่าผ่าแล้วจะเดินไม่ได้ เป็นอัมพาต เป็นต้น ลดระยะเวลาที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลเหลือเพียงสองสามวัน (อาจสั้นหรือนานกว่านี้ ขึ้นกับความซับซ้อนของโรคและความรุนแรงของโรคเมื่อมาพบแพทย์) ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเพื่อพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 10-14 วัน ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็ว ลดความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากแผลผ่าตัดที่เล็กกว่าการผ่าตัดด้วยตาเปล่า ข้อเสียของวิธีนี้แทบไม่มี เพียงแต่โรงพยาบาลต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของวิทยาการผ่าตัด ทีมแพทย์ และเครื่องมือผ่าตัดซึ่งต้องลงทุนสูง (เฉพาะกล้องผ่าตัดก็มีราคาหลายล้านบาท เครื่องกรอกระดูกรอบความเร็วสูง(เกือบแสนรอบต่อนาที)ซึ่งราคาแพงมาก) 



การผ่าตัดบริเวณคอ
         ใช้ในรายที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกส่วนคอ หรือกระดูกสันหลังส่วนคอผิดปกติ มีการกดทับระบบประสาท หรือ มีการเคลื่อนตัวของกระดูก เป็นต้น แผลผ่าตัดมักอยู่บริเวณด้านหน้าคอ ยาวประมาณ 2-3 ซม. ใช้เวลาการผ่าตัดประมาณ ชั่วโมง (อาจสั้นหรือนานกว่านี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค) หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนน้ำลายลำบาก คอแห้ง ปวดเมื่อยคอหรือไหล่ แต่มักหายไปเองภายใน24 ชั่วโมง โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องใส่ปลอกคอและสามารถกลับบ้านได้ในวันถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องตัดไหม (ไม่มีรอยตีนตะขาบอันเนื่องมาการเย็บแผล)

การผ่าตัดบริเวณเอว
         ใช้ในรายที่สาเหตุอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกส่วนเอว หรือกระดูกส่วนเอวมีปัญหากดทับระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีปัญหาปวดเมื่อยเอว เดินไกลไม่ไหว ไม่มีแรง ชาหรือปวดหลังร้าวลงมาที่ขาหรือปลายเท้า บางรายอาจมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย การผ่าตัดผ่านกล้องมักลงแผลที่ด้านหลังตรงกับระดับที่มีปัญหา แผลยาวประมาณ 3-4 ซม. (สั้นหรือยาวกว่านี้ขึ้นกับระดับที่เป็นและขนาดน้ำหนักตัวผู้ป่วย) หลังผ่าตัดมักให้ผู้ป่วยนอนพักประมาณ 24-48 ชั่วโมง ก่อนอนุญาตให้ลงน้ำหนัก ซึ่งนักภายภาพบำบัดจะเข้ามาดูแลต่อ 



ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง
http://www.vibhavadi.com/neuro/ 

รพ.วิภาวดี โทร. 0-2561-1111 , 0-2941-2800 กด 1

แพทย์

FAQ

<