อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ (Vertigo)

 อาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ (Vertigo)

 เป็นอาการเวียนศีรษะประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วตนเองอยู่กับที่และไม่มีการเคลื่อนไหว หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "อาการบ้านหมุน"

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนที่พบได้บ่อย คือ        

  • ความผิดปกติของระบบประสาทในส่วนก้านสมองและสมองน้อย
  • ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน

1.โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV benign paroxysmal positional vertigo)

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการเวียนศีรษะ เกิดจากหินปูนขนาดเล็กหลุดไปอุดผิดที่ในท่อครึ่งวงกลม จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเวลาก้มตัวลงนอนหรือจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง หรือการก้มแล้วเงย ส่วนใหญ่อาการเป็นไม่ถึงนาทีแล้วหายและเป็นซ้ำเวลาเปลี่ยนท่าทางอีก 

2.โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

พบในผู้สูงอายุ มากกว่า 45 ปี ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันโลหิตสูง,เบาหวาน,ไขมันในเลือดสูง) โดยอาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่นาน อาจนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ อาการเวียนศีรษะไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง และมักพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆของระบบประสาท เช่น ตามองเห็นภาพซ้อน,หน้าเบี้ยว,พูดไม่ชัด,ลิ้นแข็ง,อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก) เนื่องจากอัตราการทุพลภาพและอัตราการตายสูงจึงควรรีบพบแพทย์

3.โรคเวียนศีรษะจากน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere’s disease)

อาการเวียนศีรษะเป็นพักๆนานหลายนาทีจนถึงเป็นชั่วโมงมักมีเสียงดังในหูข้างใดข้างหนึ่ง (บางรายเป็นทั้ง 2 ข้าง) ต่อมาอาจมีปัญหาการได้ยินลดลง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางรายพบร่วมกับการติดเชื้อในหูชั้นกลาง การรับประทานเค็มมากกระตุ้นให้อาการเป็นมากได้

4.เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis)

อาการเวียนศีรษะมักนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจมีได้แต่ต้องไม่มีปัญหาการได้ยินหรือเสียงดังในหู เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงต่อเส้นประสาทหรือเป็นจากการแพ้ภูมิตัวเองพบในคนอายุน้อย เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย โรคนี้ทำให้ปวดศีรษะเป็นๆหายๆ ได้

5.โรคไมเกรน (Migraine)

บางรายมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย บางรายมีอาการเวียนศีรษะอย่างเดียวเป็นๆหายๆ โดยไม่มีอาการปวดศีรษะก็ได้ ปัจจัยกระตุ้นเช่น อาหาร,การดื่มกาแฟปริมาณมากหรือหยุดดื่ม,แสงจ้า,กลิ่นฉุน,การมีประจำเดือน 

อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์

  • อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับตาเห็นภาพซ้อน
  • อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับอ่อนแรงแขนขา
  • อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับชาแขนขา
  • อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับพูดลำบาก
  • อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับมีปัญหาเรื่องการได้ยิน
     

การตรวจวินิจฉัยอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ

  1. ตรวจการได้ยิน (audiogram)
  2. ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Video electronystagmography :VNG)
  3. ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography : ECOG)
  4. ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน(Evoked response audiometry )
  5. ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ( CT scan)
  6. ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองและเส้นเลือดสมอง (MRI brain and MRA)ซึ่งสามารถถ่ายภาพบริเวณก้านสมองและสมองส่วนหลังได้ชัดเจน (brainstem and carebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่ (CT scan)ให้รายละเอียดได้ไม่ชัดเจน


การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ในผู้ที่มีอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ

1. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะระหว่างเกิดอาการ เช่น      

  • การเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างรวดเร็ว
  • การหันศีรษะเร็วๆ
  • หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะ

2. ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีอาการ

3. รับประทานยาลดอาการเวียนศีรษะ เช่น Betahistine , Dimenhydrinate เป็นต้น

4. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ, ความเครียด, กลิ่นฉุน, สารก่อภูมิแพ้

5. ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่/ดื่มกาแฟ

6. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิภาวดี โทร.02561-1111 ต่อ 1214

 

<