โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

นพ. ธัญธรรศ  โสเจยยะ  อายุแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic  Dermatitis) และอาการของโรค
        ท่านทราบหรือไม่ว่า  มีเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 9-16 คนในทุก ๆ  100 คน  เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า  Atopic  Dermatitis ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายในปีแรก และประมาณ 80-90% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายใน  5 ขวบปีแรก  โชคดีที่ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังประมาณ 50 % มีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดต่อไป (โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการของโรครุนแรง ) และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น

        ผื่นของโรคนี้มักจะขึ้นอย่างสมดุลซ้าย - ขวา ในเด็กทารกจะพบผื่นอักเสบบริเวณแก้ม  ลำคอ  บริเวณด้านนอกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง  ในเด็กอายุหลัง 2-3 ขวบขึ้นไป จะพบผื่นอักเสบกระจายบริเวณลำตัวข้อพับแขน  ข้อพับขาทั้ง 2 ข้าง  ส่วนในผู้ใหญ่จะพบผื่นอักเสบบริเวณมือและเท้า  และผื่นมักไม่รุนแรงเท่าในเด็ก

การรักษาและการบรรเทาอาการ
        เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค  รวมทั้งโรคนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบแบบเรื้อรัง  ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  แนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติ  และป้องกันการเห่อช้ำของผื่น  ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน  เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้งและยิ่งคันใช้สบู่อ่อนๆ  หรือเลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของไขมันมากหน่อย  หลังอาบน้ำควรใช้โลชั่นบำรุงผิวทาภายใน 3 นาที  และต้องใช้เป็นประจำ  ส่วนเสื้อผ้าควรเลือกที่ทำจากใยฝ้าย  ไม่ควรใช้ใยสังเคราะห์หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่น  เช่น  ความเครียด  ความร้อนหรือความเย็นมากเกินไป  ไรฝุ่น  อาหารบางชนิด  เช่น นม  ไข่  ถั่วลิสง  หากสังเกตว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น

        หากมีอาการของผื่นอย่างรุนแรงอาจใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนาน ๆ  เพราะอาจมีผลข้างเคียง  เช่น  ผิวบาง  ผิวแตกลายงา  หรือมีผลต่อระบบต่างๆ  ในร่างกายได้เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าไปมากๆ  เช่นกดการเจริญเติบโตของเด็ก  เมื่ออาการของผื่นทุเลาลง  ควรเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  เช่น Calcineurin  Inhibitors แทน  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นระดับน้อยถึงปานกลางแต่ถ้ามีการติดเชื้อมีตุ่มหนองคราบน้ำเหลือง  ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ  ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ  อาจใช้ยาแก้ชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วย

การป้องกันการกำเริบของผื่นอักเสบ (เห่อ)  
       ในรายที่เป็นเรื้อรังและมีการเห่อซ้ำบ่อย ๆ อาจทายากลุ่ม Calcineurin  Inhibitors   เมื่อเริ่มมีอาการและอาการแสดงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังปรากฏขึ้น  เช่น  ผิวหนังแห้งตึงคันยุบ ๆ ยิบๆ มีอาการแสบ ๆ คันๆ ซึ่งจะช่วยหยุดหรือทำให้ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังลามช้าลง  และลดหรือป้องกันการกำเริบของผื่น (อาการเห่อ)  ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระยะยาวดีขึ้น

       ปัจจุบัน  ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ไม่ใช่ยาทาสเตียรอยด์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม  โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคภูมิแพ้  โรคผิวหนัง  หรือกุมารแพทย์

<