ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ปวดหัว อันตรายอย่างไร

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ปวดหัว อันตรายอย่างไร

ปวดหัว อันตรายอย่างไร

ปวดศีรษะ เป็นอาการที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่คนไข้จะเดินเข้ามาในแผนกอายุรกรรมสมอง และระบบประสาท สาเหตุอาจจะเกิดจากการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเร่งรีบ อาจมีความเครียดและอดนอน แต่อาการปวดศีรษะไม่ได้เกิดจากแค่ความเครียดหรืออดนอนก็ได้ อาจจะเป็นอาการนำของโรคอันตราย พิการหรือเสียชีวิตก็ได้

 

อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนมากจะพบในวัยทำงาน วัยกลางคนจนกระทั่งไปถึงผู้สูงอายุ และแต่ละช่วงอายุสัดส่วนของโอกาสน่าจะเป็นโรคต่างๆ ก็แตกต่างกัน เช่น ในวัยทำงานอาจจะเจอโรคที่ไม่อันตราย วัยสูงอายุขึ้นไปจะเจอโรคอันตรายมากกว่า โดยแบ่งกลุ่มตามอาการโรคปวดศีรษะเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ คือ กลุ่มอันตราย และกลุ่มไม่อันตราย

 

ในกลุ่มที่ไม่อันตราย เช่น โรคไมเกรน ปวดหัวเทนชั่น (*ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง / Tension type headache) หรือบางทีเราอาจจะเรียกง่ายๆ ว่า กล้ามเนื้อยึดตึง อีกอันหนึ่งก็เป็นคลัสเตอร์ (Cluster Headache) อาจจะคุ้นหูน้อยหน่อย แต่ก็สามารถเจอได้มากขึ้น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคปวดศีรษะไม่อันตราย ที่เราเจอบ่อยๆ กลุ่มอันตราย เช่น ก้อนในสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็ได้ หรือบางทีมีงูสวัดตามเส้นประสาทของสมองก็ได้ เหล่านี้จัดเป็นกลุ่มอันตราย

 

ส่วนอาการปวดในกลุ่มที่ไม่อันตราย ตัวอย่างเช่น ไมเกรน ก็จะมีรูปแบบเฉพาะจริงๆ กลุ่มนี้ทั้งกลุ่มลักษณะทั่วไปจะมีอาการปวดหัวเป็นๆ หายๆ คือจะต้องมีช่วงที่หายสนิทเกิดขึ้น แต่ละโรคก็จะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ไมเกรนไม่ควรเกิน 3 วัน ปวดหัว Tension อาจจะปวดได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ แล้วก็เป็นใหม่ ขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้น ส่วนคลัสเตอร์ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ใน 1 วัน อาจจะมาได้ 2-3 รอบ แล้วก็มาเป็นชุดๆ ตามชื่อว่า Cluster ไมเกรนลักษณะจะปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถปวดสลับข้างกันได้ ขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ตำแหน่งที่ไมเกรนมักจะปวดจะมีได้ตั้งแต่เบ้าตา หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย โดยปวดเป็นซีก อาจจะมีปวดตุบๆ ร่วมด้วย ปวดค่อนข้างมาก และมีอาการร่วมคือคลื่นไส้ อาเจียน หรืออยากจะอยู่นิ่งๆในที่เงียบๆ มืดๆ เพราะว่า ไวต่อแสง,เสียง การกระเทือน บางครั้งตัวกระตุ้นอาจเกิดจากอาการร้อนหรือแดดร้อนก็ได้ ส่วนอาการปวดหัว Tension ส่วนมากจะเกิดจากความเครียด อดนอน ลักษณะคล้ายๆ มีอะไรมารัดรอบๆ ศีรษะไว้ จะปวดได้ทั้งวัน แต่ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาทำงาน ส่วน (Cluster) จะปวดข้างเดียวไปตลอดชีวิต เช่น เราเคยปวดด้านซ้าย ก็จะปวดด้านซ้ายไปตลอด ตำแหน่งจะค่อนมาทางเบ้าตา แต่สิ่งสำคัญก็คือจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ปวดข้างซ้าย ก็จะมีหนังตาซ้ายบวม น้ำมูกน้ำตาไหลข้างเดียวกัน แต่อาการพวกนี้จะหายไปพร้อมกับอาการปวดหัว ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

 

การรักษาก็แตกต่างกัน ถ้าเป็นไมเกรน จะมียาแก้ปวดของไมเกรน เช่น กลุ่มทริปแทน (triptan) หรือกลุ่มเออกอท (*ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน /ergotamine) แต่เออกอทไม่ค่อยใช้แล้ว เพราะผลข้างเคียงด้านการหดหลอดเลือดมากเกินไป ทำให้หลอดเลือดตามส่วนของร่างกายตีบได้ เราจะหลีกไปใช้ยาแก้ปวดทั่วๆ ไปแทน กับยาป้องกันไมเกรนสำหรับกรณีที่คนไข้ปวดบ่อยจนเกินไป เช่น 1 เดือนเกิน 2-3 ครั้ง และที่สำคัญกลุ่มโรคพวกนี้ศึกษากันไปเรื่อยๆ เราจะทราบว่ามีตัวกระตุ้นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือจะต้องศึกษาหรือสังเกตอาการจากตัวกระตุ้นว่า ตัวกระตุ้นเป็นตัวไหน ก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยง
 

 ถ้าเริ่มๆ จะปวด การทานพาราเซตามอลก็อาจจะหาย อยู่ที่ทานเร็ว หายเร็ว สำหรับไมเกรนเอง บางคนที่มีออร่า คืออาการนำก่อนที่จะมีจะปวดหัว  ตาพร่ามัว ตาลาย ภาพเบลอ ถ้ารีบทานยาตั้งแต่ออร่า อาการปวดศีรษะจะหายเร็ว ส่วน Tension เราก็ไปลดปัจจัยกระตุ้น เช่น ลดความเครียด นอนให้พอ แล้วก็หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ยาแก้ปวดก็ค่อนข้างช่วย และยาลดความเครียดก็จะช่วยได้ ยาแก้ปวด ถ้าหายแล้วก็หยุดทาน เพราะส่วนมากยาแก้ปวดพวกนี้ เป็นกลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) มีฤทธิ์กัดกระเพาะอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรทานเกิน 5 วัน ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ไม่เกิน 15 วันต่อเดือน ส่วนปวดแบบ (Cluster) พบได้มากขึ้น แต่ไม่ได้บ่อยมาก ปวดศีรษะชนิดนี้ตอบสนองต่อการได้ออกซิเจน แต่เราไม่ค่อยสะดวกให้คนไข้ได้ ออกซิเจนได้ตลอด คนไข้อยู่บ้านก็ไม่มีออกซิเจน เราก็อาจจะใช้ยาคล้ายกับของไมเกรนช่วยพอได้ แล้วใช้ยาป้องกันแบบ (Cluster)  ระยะเวลาการได้ออกซิเจนก็ประมาณ 15 นาที

 

สำหรับปวดหัวกลุ่มอันตรายสามารถสังเกตได้คือ

1.อาการปวดหัวนั้นค่อนข้างเร็วและแรง เช่น ภายใน 1 นาที จากไม่ปวดเลยกลายเป็นปวดมากเหมือนหัวจะระเบิด แบบนี้มองว่าอันตรายไว้ก่อน เช่น อาจจะมีเลือดออกในสมองได้

2.สำหรับคนที่ไม่เคยปวดศีรษะเลย อยู่ๆ ก็ปวด หลังอายุ 50 ปี ก็จัดว่าอันตราย เพราะกลุ่มโรคที่ไม่อันตราย อย่างไมเกรน เทนชั่น คลัสเตอร์ ส่วนมากจะมีอาการปวดอยู่บ้างในอายุก่อน 50 ปี

3.สำหรับคนที่เคยปวดอยู่บ้างแล้ว เป็นรูปแบบซ้ำๆ เดิม แล้วอยู่ๆ รูปแบนั้นได้เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี เช่น ความรุนแรงมากขึ้น ตำแหน่งที่ปวดเปลี่ยนไป  หรือระยะเวลานานขึ้น หรือบางทีหลับๆ อยู่แล้วถูกปลุกจากความปวด ให้ต้องตื่นขึ้นมา เหล่านี้เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนไปค่อนข้างอันตราย

4.ถ้ามีอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อยู่ดีๆ อ่อนแรง เห็นภาพซ้อน หูอื้อ พูดไม่ชัด เดินเซ หรือคอแข็ง จัดว่าอันตรายไว้ก่อน

5.สำหรับคนผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคประจำตัวประเภทภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจจะต้องสงสัยปวดศีรษะอันตรายไว้ก่อน เช่น บางคนเป็น SLE ทานยากดภูมิอยู่ แล้วปวดหัวขึ้นมา ก็ต้องสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจจะมีติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เหล่านี้เป็นวิธีสังเกตของกลุ่มอันตราย โรคก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ก้อน หลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากปวดแล้วนอนไม่ได้ ให้สงสัยว่าอันตรายไว้ก่อน เพราะกลุ่มที่ไม่อันตรายส่วนมากการนอนจัดเป็นปัจจัยปกป้อง ทำให้อาการปวดดีขึ้นด้วยซ้ำ

 

ตำแหน่งของอาการปวดต่างๆ ส่วนมากแพทย์จะถามปวดตรงไหนบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร การดำเนินโรคเป็นอย่างไร ตำแหน่งที่ปวดช่วยอย่างไร เช่น เบ้าตา ต้องดูว่าปวดที่เบ้าตาไหน ถ้าปวดที่เบ้าตาอย่างเดียวก็อาจจะเป็นโรคต้อหินก็ได้ หรือบางทีจะเป็นคลัสเตอร์ก็ได้ หรือจะเป็นไมเกรนก็ได้ หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม ก็เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่คนไข้อาจจะต้องสังเกตแล้วบอกแพทย์ให้ได้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่บางโรคก็ปวดทั้งศีรษะหรือปวดเฉพาะจุด แต่ถ้าคนไข้สังเกตได้ การวินิจฉัยโรคก็จะง่ายขึ้น ถ้ามีอาการบ่งไปทางอันตราย ก็จะสแกนสมอง เพื่อยืนยันว่ามีอะไรผิดปกติในสมองหรือเปล่า หรือกรณีที่ลักษณะแบบฉบับคล้ายกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดหัวทั่วๆ ไป คลื่นไส้ อาเจียน แล้วก็คอแข็ง อันนี้อาจจะสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจจะต้องเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อนำ ไปวิเคราะห์อีกที สมมติว่า สงสัยไปทางเลือดออก อาจจะเลือกเป็น CT สมอง ซึ่งจะเห็นชัดกว่า แต่ถ้าต้องการเก็บรายละเอียด เช่น สงสัยไปทางพวกก้อน เนื่องงอกในสมองหรือสมองขาดเลือด เราก็อาจจะเลือกเป็น MRI เพราะเราสามารถดู MRA คือดูหลอดเลือดแดงได้ด้วย หรือถ้าสงสัยหลอดเลือดดำตีบตัน ก็ทำให้เกิดการปวดหัวได้ เราก็จะตรวจ MRV หรือ magnetic resonance venography พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าสงสัยแค่เลือดออกเราก็ทำแค่ CT สมอง ถ้าต้องการดูรายละเอียดของโรคปวดหัวอื่นๆ ร่วมด้วย ก็จะเลือกเป็น MRI แล้วก็ดู MRA หรือ MRV ไปด้วย

 

ลักษณะของการดำเนินโรค แบ่งออกเป็น 3 แบบ ง่ายๆ

1.ตุบๆ คล้ายๆ ตุบ ตุบ ตุบ เป็นตามจังหวะหัวใจเต้น บ่งไปโรคอะไรบ้าง เช่น โรคหลอดเลือด ไมเกรนก็ได้

2.แหลมๆ จี๊ดๆ แทงๆ อันนี้อาจมีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ

3.บีบรัดตึงๆ แบบเอาอะไรมาบีบไว้ที่ศีรษะ อันนี้บอกได้ค่อนข้างยาก เป็นได้ตั้งแต่กล้ามเนื้อยึดตึงธรรมดา ไปจนถึงก้อนเนื้อในสมองก็ปวดแบบนี้  

 

ส่วนระยะเวลาดำเนินโรค ก็สำคัญเหมือนกัน กลุ่มโรคที่ไม่อันตรายส่วนมาก การดำเนินโรคก็จะเป็นๆ หายๆ และมีช่วงหายสนิทเกิดขึ้น ระยะเวลาของแต่ละโรคก็จะไม่เหมือนกัน เช่น ไมเกรน อาจจะปวดไม่เกิน 3 วันต่อครั้ง แล้วก็หาย แล้วก็ปวดใหม่ คลัสเตอร์ก็อาจจะไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่วันหนึ่งเป็นได้หลายรอบ ส่วนเทนชั่นก็อาจจะเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์กว่าจะหาย ส่วนโรคกลุ่มอันตรายส่วนมาก ปวดแล้วจะไม่ค่อยหาย อาจจะทานยาพาราเซตามอลแล้วอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่หายสนิท แล้วถ้าอาการพวกที่เป็นก้อน จะค่อยๆ ปวดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเป็นพวกเลือดออกก็อย่างที่บอกไว้ จะมีลักษณะพิเศษ คือ เร็วแรง แล้วก็คงที่ หรือมากขึ้นแต่อาจจะไม่หาย หลังจากกินยาลดปวด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัย คนไข้อาจจะต้องสังเกตว่า ทำอะไรแล้วดีขึ้น หรือทำอะไรแล้วแย่ลง เช่น สำหรับไมเกรน ถ้านอนพักแล้วอาจจะดีขึ้น บางคนอาเจียนแล้วก็ดีขึ้น อันนี้ก็มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่า เพราะว่ามันเป็นกระบวนการดำเนินของโรค พออาเจียนมันค่อนข้างจะใกล้จบรอบไมเกรนแล้ว หรือถ้านอนพัก การนอนที่ดี จะช่วยให้ไมเกรนหมดรอบเร็วขึ้น

 

การนอนที่ดี อาจจะนอนพักผ่อนให้ชั่วโมงพอ อย่างน้อยต้อง 7 ชั่วโมง และคุณภาพการนอนต้องดี คือไม่มีอะไรรบกวน คุณภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น นอนกรน ก็จะทำให้ปวดหัว เป็นไมเกรนถี่ขึ้นบ่อยขึ้น อีกอันหนึ่งก็คือคนไข้ต้องสังเกตว่าทำอะไรแล้วแย่ลงด้วยหรือเปล่า เช่น บางทีไอ จาม หรือเบ่ง แล้วแย่ลง ต้องสงสัยกลุ่มโรคความดันในสมองเพิ่มขึ้น อาการร่วมก็สำคัญ เช่น ถ้าสังเกตแล้วมีไข้ คอแข็ง ปวดหัวทั่วๆ ก็อาจจะสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

หลายๆ คน มีอาการปวดบริเวณท้ายทอย ในส่วนนี้สามารถเป็นได้หลายโรค ไมเกรนบางทีก็ปวดท้ายทอยได้ กล้ามเนื้อยึดตึงก็ปวดท้ายทอยได้ โรคของกระดูกคอเสื่อมก็ปวดท้ายทอยได้ หรือแม้แต่โรคของก้อนเนื้องอกในสมอง ก็ปวดท้ายทอยได้ นอกจากตำแหน่งเราก็ใช้อาการร่วมอื่นๆ เช่น ลักษณะการดำเนินโรค ทำอะไรแล้วดีขึ้น แย่ลง แล้วก็ตรวจร่างกาย

 

นอกจากนี้ การให้หมอนวด นวดตรงคอ ต้องระวังดีๆ จริงๆ เวลาเราปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูกคอ การนวดโดยเฉพาะการยืดกล้ามเนื้อช่วยได้ ช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่บางวิธีไม่ถูกต้อง เช่น มีการบิดคอ อันนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดฉีกขาด ซึ่งค่อนข้างอันตราย

 

โรคปวดหัวที่ไม่อันตรายบางโรค เช่น ไมเกรน เมื่ออายุมากขึ้นอาจจะเบาบางลง อาจจะด้วยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ส่วนมากไม่หายไปจากชีวิตเราเท่าไหร่ เมื่อไหร่มีตัวกระตุ้น โรคพวกนี้ก็พร้อมที่จะกลับมา อย่างไมเกรน เราอาจทานอาหารต้องห้ามบางอย่าง เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ ชีส ผงชูรสเยอะๆ หรือพวกไนเตรตที่อยู่ในไส้กรอก กุนเชียง หรืออาจจะนอนพักผ่อนไม่พอ มันก็เตือนเราว่าต้องนอนให้พอ หรือเราอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนเกินไป เขาก็เตือนเรา คล้ายๆ อย่างนั้นมากกว่า ต้องหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอย่างที่เราทราบกัน แล้วก็อาจจะต้องใช้ยาแก้ปวดเฉพาะเวลาปวด ถ้าเกิดทราบว่าไมเกรนกำลังจะกำเริบ ให้รีบทานยาเร็วๆ เพราะรีบทานเร็วก็จะหายเร็ว ก็จะใช้ยาแก้ปวดน้อยลง แล้วก็ต้องดูว่าความถี่ของไมเกรนมาบ่อยแค่ไหน ถ้าบ่อยเกินไปเราก็ต้องใช้ยาป้องกันหรือยาควบคุม คือทานทุกกันเพื่อป้องกันให้เขามายากขึ้น ความถี่น้อยลง ความรุนแรงแต่ละครั้งก็จะน้อยลง

 

บางคนอาจจะไม่อยากทานยา กลุ่มบางประเภท เช่น กล้ามเนื้อยึด อันนี้เหมาะที่จะทำกายภาพ เพราะนอกเหนือจากการใช้ยา การยืดกล้ามเนื้อก็ช่วยได้พอสมควร บางทีการทำกายภาพยืดกล้ามเนื้อทำให้เราผ่อนคลายได้ด้วย ก็ทำให้กลุ่มพวกปวดหัวกล้ามเนื้อยึดตึงหรือเทนชั่นดีขึ้นได้
 

        การดูแลตัวเองเบื้องต้นสิ่งที่อยากจะเน้น คือ ทบทวนอาการปวดหัวของตัวเองว่า เข้ากับโรคอันตรายหรือไม่ เพราะว่าอาจจะเป็นอาการนำก่อนที่จะเป็นโรคทางสมองก็ได้ ถ้าเรารีบรักษาเร็วก็มีโอกาสที่จะหายได้

นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

<