การผ่าตัดลดน้ำหนักดีหรือไม่

การผ่าตัดลดน้ำหนักดีหรือไม่

      ความอ้วนไม่ได้เป็นเพียงแค่ลักษณะของบุคลิกภาพ แต่ปัจจุบันเราจัดภาวะนี้เป็นโรคเรื้อรังอย่างนึง เนื่องจากพบว่าภาวะโรคอ้วนทำให้มีการอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นภายในร่างกายรวมถึงภาวะภูมิคุ้มกันที่บกพร่องกว่าคนปกติอันจะนำไปสู่ความผิดปกติทางเมตาโบลิกต่างๆเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งหลายชนิดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วนที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกคือการใช้ดัชนีมวลกาย (น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หาร ส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)
ที่มากกว่า 30 kg/m2 โดยแบ่งเป็น

โรคอ้วนระดับที่ 1 มีดัชนีมวลกาย 30-34.9 kg/m2

โรคอ้วนระดับที่ 2 มีดัชนีมวลกาย 35-39.9 kg/m2

โรคอ้วนระดับที่ 3 มีดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 40 kg/m2  เป็นต้นไป

    อุบัติการณ์ในประเทศไทยพบมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนสูงขึ้นอย่างมาก ในปีพ.ศ.2552 พบโรคอ้วนระดับที่ 1 กับระดับที่ 2 รวมกันคิดเป็นร้อยละ 35% ซึ่งด้วยวิถีชีวิตและอาหารการกินของคนยุคนี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังพบว่าสรีระของคนเอเชียกับชาติตะวันตกมีความแตกต่างกันในเรื่องของการกระจายตัวของไขมันในร่างกาย โดยชาวเอเชียมักมีไขมันสะสมอยู่ในอวัยวะภายในมากกว่าที่จะเห็นจากรูปลักษณ์ภายนอกซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่มากกว่า องค์กรต่างๆจึงมักแนะนำให้ลดดัชนีมวลกายลงสำหรับเกณฑ์การรักษาภาวะโรคอ้วนในคนเอเชีย
 

ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนถือเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก กล่าวคือทําให้น้ำหนักผู้ป่วยลดลงอย่างรวดเร็ว สามารถควบคุมน้ำหนักในระยะยาว และยังสามารถทําให้โรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน นอนกรน หายหรือควบคุมได้ดีขึ้น

การผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

1. การผ่าตัดแบบสลีฟ

ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะให้มีขนาดเล็กลงเหลือเพียงประมาณ 20% ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และปรับฮอร์โมนให้ลดความอยากอาหาร ผู้ป่วยจึงไม่ทรมานจากความหิวโหย

ข้อดี

  • เป็นการผ่าตัดที่ลดนำหนักได้มากและเร็วกว่าวิธีไม่ผ่าตัดต่างๆ เช่น ยา บอลลูน ห่วงรัดกระเพาะ และสามารถควบคุมน้ำหนักได้ในระยะยาว ทั้งนี้ต้องขึ้นกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
  • เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน ภาวะแทรกซ้อนต่ำ

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถทำกับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
  • ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เคยปรับขนาดกระเพาะด้วยการใส่ห่วงมาก่อน
     

2. การผ่าตัดแบบบายพาส

ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะให้เป็นกระเปาะขนาดเล็กนำไปต่อกับลำไส้เล็ก และนำลำไส้เล็กส่วนปลายตัดอีกข้างไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนปลายกว่าเพื่อลดระยะในการดูดซึมสารอาหาร เพราะฉะนั้นนอกจากจะทำให้ทานอาหารได้น้อยแล้วยังลดการดูดซึมสารอาหารด้วย

ข้อดี

  • สามารถเกิดผลลัพธ์ในเรื่องน้ำหนักที่ลดรวมถึงการควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้มากกว่าการผ่าตัดแบบสลีฟ

ข้อเสีย

  • พบปัญหาในการดูดซึมสารอาหารได้ในบางราย
  • จำเป็นต้องทานยาตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
  • เป็นการผ่าตัดที่ยาก ซับซ้อน อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
<