โรคซีพีพีดี (CPPD disease)

โรคซีพีพีดี (CPPD disease)

                โรคซีพีพีดี (calcium pyrophosphate deposition; CPPD) หรือโรคเกาต์เทียม คือ โรคที่เกิดจากผลึกซีพีพี (calcium pyrophosphate; CPP crystal) กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ผลึกซีพีพีเป็นผลึกที่มีแคลเซียมและไพโรฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบ เกาะฝังอยู่ในบริเวณข้อ เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยรองจากโรคเกาต์ ในบางคนอาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่บางคนก็อาจทำให้เกิดข้ออักเสบอย่างเฉียบพลัน และในบางคนก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อเรื้อรังได้

รูปแบบอาการแสดงของโรคซีพีพีดี

                การที่โรคซีพีพีดีแสดงลักษณะอาการได้หลากหลาย อีกทั้งโรคซีพีพีดียังเกิดกับข้อได้ในหลายตำแหน่ง โรคซีพีพีดีจึงเป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายอาการของโรคข้ออื่นๆอีกหลายโรค อาการแสดงต่างๆของโรคซีพีพีดี ได้แก่

  • ข้ออักเสบเฉียบพลันลักษณะคล้ายโรคเกาต์ รูปแบบนี้เป็นลักษณะที่แพทย์ส่วนใหญ่รู้จักเพราะเป็นลักษณะที่มีการรายงานเป็นแบบแรกๆและเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อย ทำให้โรคซีพีพีดี เคยถูกรู้จักในชื่อโรคเกาต์เทียม (pseudogout) การอักเสบของข้อจะเกิดอย่างเฉียบพลัน มีอาการปวด บวม แดง ร้อน ที่บริเวณข้อ และมีการอักเสบต่อเนื่องเป็นวันถึงสัปดาห์ ข้อเข่าคือข้อที่มีการอักเสบได้บ่อยที่สุด ข้ออื่นๆที่อาจมีการอักเสบ เช่น ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อสะโพก เป็นต้น แต่ข้อที่พบการอักเสบได้น้อย คือ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าเป็นตำแหน่งของข้ออักเสบที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ ตำแหน่งของข้ออักเสบนี้จึงเป็นหนึ่งในลักษณะที่ช่วยแยกโรคทั้งสองออกจากกันได้ ทั้งนี้เมื่อข้อนั้นหายอักเสบแล้วก็อาจมีการอักเสบขึ้นอีกในข้อเดิมที่เคยอักเสบหรือข้ออื่นที่ยังไม่เคยอักเสบก็ได้ จึงมีลักษณะข้ออักเสบเป็นๆหายๆคล้ายโรคเกาต์ แต่เนื่องจากโรคซีพีพีดียังมีรูปแบบการแสดงของโรคในแบบอื่นอีกซึ่งไม่ได้คล้ายกับโรคเกาต์ ชื่อโรคเกาต์เทียมจึงไม่ครอบคลุมลักษณะอาการในแบบอื่นๆ
  • ในผู้ที่ไม่มีอาการใดแต่ตรวจพบความผิดปกติที่เข้ากับโรคซีพีพีดีในภาพถ่ายรังสี
  • ข้ออักเสบเรื้อรังในหลายข้อ รูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายอาการแสดงของโรครูมาตอยด์ จึงอาจถูกเรียกว่าโรครูมาตอยด์เทียม
  • ทำให้เกิดข้ออักเสบเป็นๆหายๆในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (ซึ่งโรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่จะไม่มีการอักเสบร่วมด้วย) หรือทำให้เกิดข้อเสื่อมในตำแหน่งของข้อที่ไม่ได้เสื่อมตามธรรมชาติ เช่น ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ หรือข้อไหล่ เป็นต้น
  • ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอ ทำให้มีอาการคล้ายลักษณะของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

และยังมีลักษณะคล้ายโรคอื่นๆอีกมากมาย เช่น ลักษณะคล้ายอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด คล้ายการติดเชื้อในข้อ คล้ายโรคข้อที่เกิดจากโรคระบบประสาท เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซีพีพีดี

                ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคซีพีพีดีจะอยู่ในวัยสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ประวัติการบาดเจ็บที่ข้อ พันธุกรรม โรคพาราไทรอยด์สูง โรคฮีโมโครมาโตซิส ภาวะแมกนีเซียมต่ำ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคซีพีพีดี

                แพทย์จะสามารถวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคซีพีพีดีจากประวัติและการตรวจร่างกายที่มีลักษณะเข้ากันกับโรค ประกอบกับผลการตรวจน้ำไขข้อและภาพถ่ายรังสีหรือผลการอัลตราซาวด์ข้อ

                การตรวจพบผลึกซีพีพีในน้ำไขข้อ แพทย์จะทำการเจาะข้อแล้วนำน้ำไขข้อที่ได้มาตรวจวิเคราะห์เพื่อหาผลึกซีพีพีด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องจุลทรรศน์แสงโพลาไรซ์ การตรวจน้ำไขข้อนอกจากเพื่อหาหลักฐานการวินิจฉัยโรคซีพีพีดีโดยตรงแล้วยังเป็นการตัดข้อสงสัยในโรคอื่น เช่น โรคเกาต์หรือโรคข้ออักเสบติดเชื้อด้วย

                การตรวจพบลักษณะของการฝังตัวของผลึกซีพีพีในกระดูกอ่อนด้วยภาพถ่ายรังสีเรียกว่าคอนโดรแคลซิโนซิส (chondrocalcinosis) นอกจากการตรวจด้วยการภาพถ่ายรังสีแล้วมีการตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์ข้อซึ่งมีความไวในการตรวจหาคอนโดรแคลซิโนซิสมากกว่าการตรวจจากภาพถ่ายรังสี และสามารถชี้นำการเจาะข้อในข้อที่เจาะได้ยากเพื่อนำน้ำไขข้อมาตรวจได้

การรักษาโรคซีพีพีดี

                ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่สามารถขจัดผลึกซีพีพีที่ฝังอยู่ในกระดูกอ่อนได้ แต่การปวดอักเสบของข้อซึ่งเกิดจากผลึกซีพีพีสามารถดีขึ้นได้ด้วยการรักษาต่างๆ ได้แก่

  • การเจาะข้อและการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ ในกรณีที่มีข้ออักเสบหนึ่งถึงสองข้อ แพทย์อาจพิจารณาเลือกวิธีการเจาะข้อเพื่อลดปริมาณน้ำไขข้อและจำนวนผลึกในข้อที่มีการอักเสบเพื่อลดแรงดันในช่องข้อและบรรเทาอาการปวดข้อ นอกจากนั้นยังอาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในข้อซึ่งเป็นการช่วยลดการอักเสบของข้อที่มีประสิทธิภาพดี
  • การรับประทานยาต้านการอักเสบ มักจะเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อที่มีการอักเสบเป็นข้อที่เจาะได้ยาก หรือมีการอักเสบจำนวนหลายข้อ กลุ่มยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โคลชิซิน (colchicine) หรือสเตียรอยด์ นอกจากใช้เพื่อระงับข้ออักเสบเฉียบพลันแล้วอาจใช้ในขนาดต่ำเพื่อป้องกันข้ออักเสบกำเริบในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้ออักเสบกำเริบบ่อยหรือเรื้อรัง
  • การรับประทานยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน หากแพทย์ไม่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยวิธีการต่างๆข้างต้น แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน เช่น ไฮดรอกซีโคลโรควิน (hydroxychloroquine) หรือเมโธเทรกเซท (methotrexate เป็นต้น เพื่อช่วยควบคุมโรค  

 

#โรคซีพีพีดี (CPPD disease) #รูปแบบอาการแสดงของโรคซีพีพีดี  #ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซีพีพีดี #การวินิจฉัยโรคซีพีพีดี #การรักษาโรคซีพีพีดี #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihotpital

<