กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ (spondyloarthritis)

กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ

           

            กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบหรือข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส (spondyloarthritis) เป็นกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของข้อชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งแยกย่อยได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) และกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) โรคต่างๆในกลุ่มโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ได้แก่ โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (ankylosing spondylitis) โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรีแอ็กทีฟ (reactive arthritis) โรคข้ออักเสบที่สัมพันธ์กับโรคลำไส้อักเสบ

 

กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis)

            กลุ่มโรคนี้มีปัญหาสำคัญคือมีอาการปวดหลังส่วนเอวหรือปวดที่ก้น แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อระยางค์อักเสบร่วมด้วยแต่ต้องมีอาการหลักคือข้อกระดูกสันหลังอักเสบ กลุ่มโรคนี้แบ่งได้เป็น โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์และโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (โรคข้อสันหลังอักเสบที่เห็นได้ด้วยเอ็กซ์เรย์) ความผิดปกติที่แยกสองโรคนี้ออกจากกันคือ ความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บที่มีการอักเสบซึ่งเห็นได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือไม่ ในโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ก็จะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้เมื่อติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ไประยะหนึ่ง ก็จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่พัฒนาต่อกลายเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด

            ประวัติและอาการที่ชี้นำว่าอาจเป็นโรคในกลุ่มนี้คือ อาการปวดหลังที่น่าจะเกิดจากการอักเสบไม่ใช่อาการปวดหลังที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือจากความเสื่อม ลักษณะที่ชี้นำว่าอาการปวดหลังนั้นน่าจะเกิดจากการอักเสบ เช่น เริ่มมีอาการปวดในผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี เริ่มมีอาการปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่เริ่มปวดอย่างฉับพลันทันที ระยะเวลาที่ปวดเรื้อรังอย่างน้อย 3 เดือน ปวดในเวลากลางคืน มีอาการฝืดตึงหลังจากตื่นนอนนานอย่างน้อย 30 นาที อาการดีขึ้นเมื่อได้ลุกขยับหลัง อาการปวดดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกายหรือรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาการไม่ดีขึ้นด้วยการพัก นอกจากอาการที่หลังโดยตรงแล้วอาจมีประวัติและอาการอื่นๆที่ช่วยชี้นำว่าอาจเป็นโรคกลุ่มนี้ เช่น มีประวัติเคยเป็นม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ข้อระยางค์อักเสบ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมอักเสบคล้ายไส้กรอก เอ็นร้อยหวายอักเสบหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดหรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หากมีประวัติและอาการหลายข้อที่ชี้ว่าสาเหตุอาจมาจากกลุ่มโรคข้อสันหลังอักเสบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แต่หากมีอาการปวดหลังที่ไม่มีลักษณะชี้นำว่าเป็นอาการปวดหลังจากการอักเสบควรปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

 

กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis)

            ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มนี้อาจมีอาการข้ออักเสบ จุดเกาะเอ็นอักเสบ หรือนิ้วอักเสบบวมมีลักษณะคล้ายไส้กรอก

  • ข้ออักเสบ ข้อที่อาจมีการอักเสบ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า จำนวนข้อที่มีการอักเสบมักจะไม่มาก อักเสบครั้งละหนึ่งถึงสี่ข้อ หรือหากมีข้ออักเสบหลายข้อก็มักจะมีแนวโน้มเป็นแบบไม่สมมาตร เช่น ข้อมือขวาอักเสบข้อมือข้างซ้ายก็จะไม่อักเสบ ข้อเท้าซ้ายอักเสบข้อเท้าข้างขวาก็จะไม่อักเสบ ข้อนิ้วชี้มือขวาอักเสบข้อนิ้วชี้มือซ้ายก็จะไม่อักเสบ เป็นต้น
  • จุดเกาะเอ็นอักเสบ จุดเกาะเอ็นคือบริเวณที่เส้นเอ็นมาเกาะกับกระดูก ตัวอย่างจุดเกาะเส้นเอ็นที่มักจะมีการอักเสบ เช่น จุดเกาะของเอ็นร้อยหวายที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะของเอ็นฝ่าเท้าที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อศอก และจุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อเข่า เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบมักจะมีปัญหาจุดเกาะเอ็นอักเสบร่วมด้วย
  • นิ้วอักเสบบวมคล้ายไส้กรอก ลักษณะดังกล่าวเกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบเส้นเอ็น เกิดได้กับนิ้วมือหรือนิ้วเท้า อาจเกิดกับนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้

            ทั้งนี้ในผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลักนี้อาจมีอาการปวดหลังเช่นเดียวกับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักได้เช่นกัน แต่อาการปวดหลังไม่ใช่อาการหลักของผู้ป่วยในกลุ่มนี้

 

อาการนอกหลังและนอกข้อของข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส

            ผู้ป่วยที่เป็นโรคในกลุ่มนี้อาจมีอาการอื่นๆนอกจากปัญหาข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคกลุ่มนี้โดยตรง ได้แก่ โรคม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆร่วม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไฟโบรไมอาลเจีย โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

            โรคม่านตาอักเสบเป็นอาการนอกข้อที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีผื่นสะเก็ดหนาสีเงินหรือสีขาว พื้นหนาสีแดง และอาจมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองที่ลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด

 

การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส

            โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยโดยอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มเพราะต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับโรคสปอนไดโลอาร์ไทรติสและโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งหมด แพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือด และผลการตรวจภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ แล้วประมวลว่าอาการต่างๆน่าจะอธิบายจากโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสหรือไม่ การวินิจฉัยไม่สามารถทำได้ด้วยการให้คะแนนว่าครบตามเกณฑ์หรือไม่

            ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดที่จะสามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแน่นอน แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเลือดที่อาจช่วยสนับสนุน (หรือคัดค้าน) การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส  เช่น ยีน HLA-B27 และ ค่าการอักเสบ CRP และ ESR แพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคอื่น เช่น rheumatoid factor, anti-CCP หรือ ANA เป็นต้น

            ผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักจะพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บ (ข้อต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับกระดูกปีกสะโพก) จากการตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้การแปลผลความผิดปกติที่พบในภาพเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอค่อนข้างยาก แพทย์แต่ละท่านอาจให้ความเห็นที่แตกต่างกันได้ ความผิดปกติในเอ็มอาร์ไอบางอย่างที่ชี้นำว่าอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสอาจพบได้แม้ในคนปกติ ดังนั้นการแปลผลจึงจำเป็นต้องประเมินร่วมกับประวัติ การตรวจร่างกายและผลการตรวจเลือดร่วมด้วยเสมอ

 

การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส

            การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่คล้ายกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยของการรักษาที่แตกต่างกันตามลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค

 

การออกกำลังกาย

            การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ชนิดการออกกำลังกายที่แนะนำในผู้ป่วยได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อลำตัว การออกกำลังกายชนิดแอโรบิกเพื่อพัฒนาศักยภาพของปอดและหัวใจ การออกกำลังกายที่มีการขยายทรวงอกเพื่อพัฒนาการหายใจ การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาพิสัยข้อสันหลังและข้อระยางค์ การออกกำลังกายชนิดยืดเหยียด รายละเอียดวิธีการออกกำลังกายสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล

            ท่าทางในกิจวัตรประจำวันมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดเนื่องจากผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเกิดข้อสันหลังติดในท่าก้ม ข้อสะโพกติดในท่างอ คอติดในท่าก้ม ซึ่งท่าดังกล่าวเป็นท่าที่ผู้ป่วยซึ่งทำงานสำนักงานต้องนั่งใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะส่งผลให้หลังและข้อสะโพกติดยึดได้โดยง่าย จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องจัดท่าและอุปกรณ์สำนักงานให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และควรมีการขยับยืดเหยียดร่างกายเป็นระยะ ท่าทางการนอนก็มีความสำคัญ หมอนที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดใช้ควรเป็นหมอนที่ค่อนข้างแบนเพราะการนอนหมอนสูงจะทำให้คอของผู้ป่วยมีโอกาสติดในท่าก้มได้

            กีฬาที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดควรหลีกเลี่ยงคือกีฬาที่มีการกระทบกระแทกรุนแรง เช่น ต่อยมวย เตะฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการนวดแผนไทยในท่าที่มีการดัดกระดูกสันหลังหรือกระดูกคอ  รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีไคโรแพรคติก เพราะกิจกรรมต่างๆดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหักและกดทับไขสันหลังได้

 

การรักษาด้วยยา

  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่มักจะใช้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่ายาจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่จึงจะตัดสินได้ว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เช่น การฉีดยาเข้าข้อ หรือรอบเส้นเอ็น อาจได้ประโยชน์เพื่อลดการอักเสบเฉพาะจุด จึงเป็นประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีตำแหน่งที่มีการอักเสบไม่กี่จุด
  • ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) และเมโธเทรกเซท (methotrexate) อาจได้ประโยชน์ในการควบคุมการอักเสบของข้อระยางค์

ยาในกลุ่มยาชีววัตถุต้านรูมาติกและยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติก เช่น infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, secukinumab, ixekizumab, และ tofacitinib ยาในกลุ่มนี้อาจพิจารณาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในลำดับต้นๆ

#กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ #กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) #กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) #การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

 

<