การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม

การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม

 

            การตรวจอัลตราซาวด์คือการตรวจโดยใช้ประโยชน์จากคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพโครงสร้างที่ทำการตรวจ โดยหลักการคือ หัวตรวจปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านเข้าสู่โครงสร้างที่กำลังตรวจ และคลื่นเสียงที่ตกกระทบเนื้อเยื่อต่างๆก็จะสะท้อนกลับมายังหัวตรวจซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นเสียงด้วย แล้วแปลงคลื่นเสียงกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้าแสดงเป็นภาพขึ้นที่หน้าจอแสดงภาพ ด้วยคุณสมบัติการสะท้อนคลื่นเสียงที่แตกต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดทำให้ได้ภาพซึ่งสามารถแยกแยะเนื้อเยื่อแต่ละอย่างได้ นอกจากสามารถดูเนื้อเยื่อต่างๆแล้วยังสามารถดูเลือดที่มาเลี้ยงที่เนื้อเยื่อต่างๆได้ด้วย การอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal ultrasound) เป็นหนึ่งในแขนงของการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการประเมินความผิดปกติ ตัวอย่างการตรวจอัลตราซาวด์ เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในช่องท้อง อัลตราซาวด์หลอดเลือดเพื่อดูภาวะหลอดเลือดอุดตัน อัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram) เพื่อประเมินหัวใจและหลอดเลือดบริเวณหัวใจ เป็นต้น

            มีแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาที่ใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ เช่น รังสีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ความนิยมในการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องมาจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์มีให้รายละเอียดของภาพที่สูงมาก เครื่องอัลตราซาวด์ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถนำมาใช้ในการตรวจในสถานที่ที่ดูแลรักษา เช่น ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ที่หอผู้ป่วยใน หรือที่ห้องฉุกเฉิน การตรวจสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ที่เหนือกว่าการตรวจด้วยภาพในวิธีอื่นๆ เช่น มีความปลอดภัยไม่ต้องสัมผัสรังสีอย่างการถ่ายเอ็กซเรย์ (X-ray) หรือถ่ายเอ็กซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถประเมินหลอดเลือดหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อด้วยภาพดอปเพลอร์ (Doppler imaging) โดยไม่ต้องฉีดสี สามารถตรวจในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ตรวจได้ และค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ในการติดตามผลการรักษา และใช้ช่วยในการทำหัตถการให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นโดยการนำด้วยอัลตราซาวด์ (ultrasound-guided) เช่น การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อ การฉีดยาเข้าข้อ การฉีดยาเข้าปลอกหุ้มเอ็น การฉีดยาเฉพาะจุด การตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มข้อ อย่างไรก็ตามอัลตราซาวด์ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถตรวจโครงสร้างที่อยู่ใต้กระดูกได้ ให้ภาพรายละเอียดสูงเฉพาะโครงสร้างที่ค่อนข้างตื้น หากตรวจหลายบริเวณจะใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่อาศัยความชำนาญของผู้ตรวจสูง

            การนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจโรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือรูมาโตโลยี (ultrasound in rheumatology) มีการต่อยอดไปมากกว่าการตรวจในระบบข้อและกล้ามเนื้อ โดยนำไปตรวจเพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินความผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรครูมาติสซั่มอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำลายในโรคโจเกร็น หลอดเลือดในโรคหลอดเลือดอักเสบ และปอดในโรคปอดที่เกี่ยวข้องกับแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น

            แม้ว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวด์จะยังมีการใช้ในเวชปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคข้อและรูมาติสซั่มไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดบางประการ แต่เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ราคาเครื่องอัลตราซาวด์ถูกลงแต่มีคุณภาพสูงขึ้น พกพาสะดวกมากขึ้น และเป็นประโยชน์ในการช่วยดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ในผู้ป่วยโรครูมาติสซั่มจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต

#การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

<