โรคหัด ผู้ใหญ่ก็เป็นได้

โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Measles เป็นโรคที่มีอาการแสดงชัดเจน คือ จะมีผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้นตามร่างกาย พบได้บ่อยตลอดทั้งปี แต่มักมีการแพร่ระบาดสูงในช่วงหน้าร้อน


สามารถติดต่อกันได้หรือไม่?

โดยโรคหัดสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยผ่านทางลมหายใจ การสัมผัส ซึ่งเชื้อไวรัสโรคหัดจะแพร่ระบาดจากละออง ไอ จาม ของคนไข้ที่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้หากมีคนอื่นที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดสูดหายใจเข้าไป หรือสัมผัสถูกเชื้อแล้วนำไปขยี้ตา แคะจมูก หรือหยิบอาหารรับประทาน ก็จะมีโอกาสติดโรคหัดได้

 

สามารถหายเองได้หรือไม่?

ซึ่งโรคหัดเมื่อเป็นแล้วจะสามารถหายเองได้ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ทว่าในผู้ป่วยบางราย ก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจนกระทั่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นแนะนำว่าหากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโรคหัด แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าโรคหัดจะพบได้เฉพาะในเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคหัดได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคหัดจัดอยู่ในภาวะที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง ตามคำประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลก เพราะสามารถติดต่อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดยังอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วย

 

อาการของโรคหัด

จะมีลักษณะคล้ายการเป็นหวัด คือจะมีอาการคัดจมูก ไอ จาม และมีไข้สูง ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีความรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ปวดเมื่อย ไม่อยากอาหาร เป็นต้น
 

อาการแสดงสำคัญของโรคหัดที่สามารถทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคหัดคือ

  • มีจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม
  • มีผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้นตามร่างกาย โดยเริ่มจากศีรษะ คอ และลามไปตามร่างกาย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันจากผื่นร่วมด้วย

 

ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหัด

อาจเป็นได้ทั้งการเกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ  อาทิ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ รวมถึงอาจเป็นการเกิดอาการผิดปกติในระบบประสาท  อย่างเช่น ภาวะสมองอักเสบ ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ถือว่าอันตรายมาก

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหัดจากอาการแสดง รวมถึงลักษณะของผื่น โดยเฉพาะการพบจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

การรักษา

จะเป็นไปในลักษณะของการรักษาตามอาการ  เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เช่นหากพบว่าผู้ป่วยมีไข้ ก็ให้ยาลดไข้ บรรเทาปวด ควบคู่ไปกับการให้คนไข้ได้พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำมากๆ โดยแยกคนไข้ออกจากคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และเฝ้าดูอาการแทรกซ้อนต่างๆ จนการดำเนินของโรคหายไปเอง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน

 

การป้องกัน

การป้องกันตัวเองจากโรคหัดนั้น สามารถทำได้ด้วยการรับวัคซีน MMR หรือ Measles, Mumps and Rubella Vaccine ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และโรคคางทูม โดย จะฉีดกันเข็มแรกในตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่ 2 ตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง และปัจจุบันเพื่อเป็นการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทาง WHO แนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

 

ด้วยความปราถนาดีจาก
โรงพยาบาลวิภาวดี

แพทย์

FAQ

<