นิ้วล็อค (Trigger Finger) โรคฮิตของคนทำงาน

     ภาวะนิ้วล็อค (Trigger finger) หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว มีโอกาสเป็นได้กับทุกนิ้ว สาเหตุเกิดจากการหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ได้ยากขึ้น ทำให้เกิดการติดล็อคหรือเกิดอาการปวดได้

โรคนี้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากที่สุดในผู้หญิงวัยกลางคน โดยมากจะเกิดกับกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ และทำให้มือต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้าน การหิ้วของหนัก การยกของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ตตลอดเวลานานๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อค

ลักษณะอาการของโรคนี้

1. มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และอาจรู้สึกติดแข็งในตอนเช้า

2. รู้สึกสะดุด หรือมีเสียงเวลาขยับข้อนิ้ว และอาจคลำได้ก้อนบริเวณโคนนิ้ว

3. รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค

4. นิ้วล็อคติดในท่างอ แต่ยังสามารถจับเหยียดนิ้วออกมาได้

5. นิ้วล็อคติดในท่างอ โดยที่ไม่สามารจับเหยียดออกมาได้

วิธีการรักษา ดังนี้

1.ให้พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ และหลีกเลี่ยงการงอและเหยียดนิ้วมือซ้ำๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์

2.แนะนำให้แช่น้ำอุ่นและนวดบริเวณโคนนิ้ว ยืดเหยียดนิ้วมือให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในตอนเช้าอย่างน้อย   5-10 นาทีต่อวัน

3.การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดไม่ให้งอข้อปลายนิ้ว ข้อโคนนิ้วใหแคลื่อนไหวได้ปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้

4.การใช้วิธีทางกายภาพบำบัดได้แก่ การใช้ความร้อนประคบ การนวดเบา ๆ การออกกำลังโดยการเหยียดนิ้วและการใช้เครื่องดามนิ้วมือ โดยอาจมีการรักษาร่วมกันด้วยการใช้ยาและกายภาพบำบัด และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะช่วงแรก

5.การรับประทานยา จำพวกยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์(NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำก่อนใช้ยา

6.การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมานาน หรือการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษา โดยฉีดยาสเตียรอยด์(steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้นเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ซึ่งการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย หากผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องใช้งานมือข้างที่มีอาการอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกำเริบซ้ำขึ้นอีกได้ โดยอาจจะมีอาการกลับมาหลังฉีดยาประมาณ 3-6 เดือน และหากมีอาการกลับมาอีกครั้ง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดยาซ้ำได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะฉีดยามากกว่า 2 ครั้งในนิ้วเดียวกัน

7.การรักษาโดยการผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

-  การผ่าตัดแบบเปิด(Open release)  เป็นการทำในห้องผ่าตัดโดยทั่วไปสามารถทำได้ โดยหลักในการผ่าตัด คือ การฉีดยาชาฉพาะที่และเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1cm และใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัด หรือสะดุดอีก หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้วต้อง หลีกเลี่ยงการใช้งานมือหนักประมาณ 2 สัปดาห์ การผ่าตัดโดยมีแผลเปิดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะนัดมาตัดไหมที่ประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด

-  การผ่าตัดแบบปิด (Percutaneous release) โดยการใช้เข็มเขี่ย หรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก วิธีนี้มีข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 2mm ซึ่งการผ่าตัดแบบปิดนี้นั้นแทบจะไม่มีแผลให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์มากขึ้น และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เนื่องจากเส้นประสาทอยู่ใกล้กับบริเวณที่ผ่าตัดมาก และการผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไป โดยภาพรวมนั้นถือว่าการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในการที่จะช่วยไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคได้อีก

<