ลดน้ำหนักไม่ลงเสียทีมีแต่น้ำหนักขึ้น ตรวจอะไรบ้างดีนะ ?

ทำไมเราถึงอ้วน ?

ความอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน มักเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัยร่วมกันนะคะ โดยสาเหตุหลักๆมีดังนี้ค่ะ

 

  1. อาหารที่เรากิน ทั้งในเชิงปริมาณที่อาจมากเกินไป หรือในเชิงคุณภาพไม่ดี เช่น อาหารแปรรูป ซึ่งพลังงานสูง แต่มีเส้นใยและคุณค่าทางอาหารต่ำ ทำให้เรากินได้เยอะ โดยยังไม่อิ่ม และยังทำให้กลายเป็นแคลอรี่ส่วนเกินได้มากอีกด้วย
  2. การออกกำลังกาย หรือ ใช้พลังงานน้อยเกินไป เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น การเดินทางสะดวกสบาย มีเครื่องมือ เครื่องทุ่นแรงมาก ทำให้เราใช้พลังงานน้อยกว่าคนสมัยก่อน ทำให้มีการเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินในร่างกายมากขึ้น
  3. ความเครียด และ อารมณ์ต่างๆ เช่น ซึมเศร้า อารมณ์และความเครียดส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ความเครียดระยะยาวกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเครียดคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งมีผลให้เรารู้สึกอยากอาหารมากขึ้น และกินอาหารมากขึ้น
  4. การนอนหลับ งานวิจัยพบว่า คนที่นอนน้อยมีความเสี่ยงอ้วนมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ได้นอน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน นอกจากนี้คนที่ต้องทำงานกะกลางคืน มีผลให้วงจรการนอนผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวาน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการนอนไม่เพียงพอ กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนหิวเกรลิน (Ghrelin) และ ยับยั้งฮอร์โมนอิ่มเลปติน (Leptin) ทำให้เรากินอาหารมากขึ้นนั่นเอง
  5. พันธุกรรม ยีนบางตัวของเราส่งผลต่อระดับการเผาผลาญ และการหิวอิ่ม เช่น ยีน FTO, ยีน MC4R  ยีนบางตัวส่งผลต่อการเก็บสะสมไขมัน เช่น ยีน ADIPOQ, ยีน PPARG ทำให้คนที่ใช้ชีวิตเหมือนกัน บางคนอ้วนง่าย บางคนอ้วนยาก
  6. โรคหรือภาวะต่างๆ ที่พบบ่อยเช่น
    • ไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ของเราทำงานน้อยกว่าปกติ ทำให้การเผาผลาญต่ำกว่าปกติ นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินได้
    • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) คือภาวะที่ร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น เพื่อหวังว่าจะนำน้ำตาลเข้าไปใช้ในเซลล์ได้ดีขึ้น ภาวะดื้ออินซูลินอาจเป็นสาเหตุให้เราอ้วนได้เนื่องจาก ฮอร์โมนอินซูลินช่วยในการเก็บน้ำตาลส่วนเกินไปสะสมเป็นไขมัน และทำให้การนำไขมันมาใช้เมื่อร่างกายต้องการทำได้ไม่ดี นอกจากนี้ฮอร์โมนอินซูลินยังไปมีผลต่อฮอร์โมนหิวและอิ่ม (ฮอร์โมนเกรลิน และ ฮอร์โมนเลปติน) ทำให้เรารู้สึกหิวมากขึ้น และกินมากขึ้นได้
    • ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome, PCOS) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการ เช่น การตกไข่ไม่ปกติ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก และบางคนมีถุงน้ำเกิดขึ้นหลายใบในรังไข่ได้ ซึ่งภาวะนี้มักพบร่วมกับภาวะน้ำหนักเกินด้วย
  7. จุลินทรีย์ในลำไส้

ปัจจุบันมีการศึกษาว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา สัมพันธ์กับความอ้วนเช่นกัน โดยพบว่าคนอ้วนมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้น้อยกว่ากลุ่มคนสุขภาพดี นอกจากนี้กลุ่มจุลินทรีย์ที่พบในคนอ้วนกับคนผอมก็แตกต่างกันอีกด้วย เช่น คนอ้วนมักมีอัตราส่วนจุลินทรีย์กลุ่ม Firmicutes ต่อ Bacteroidetes สูง นอกจากนี้พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักมีแบคทีเรียชนิด Akkermansia muciniphila และ Bifidobacterium longum น้อยกว่าคนปกติ เป็นต้น

 

เราสามารถตรวจอะไรบ้าง ?

 

สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน หรือ อ้วน นอกจากตรวจเลือดทั่วไป เช่น ระดับไขมัน น้ำตาล การทำงานของตับไตแล้ว เราอาจตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ เช่น

 

  • การทำงานของไทรอยด์ (Thyroid function test)
    หากพบว่ามีการทำงานของไทรอยด์ผิดปกติ เช่น มีภาวะไทรอยด์ต่ำ สามารถเข้ารับการรักษา ซึ่งจะช่วยให้น้ำหนักกลับมาเป็นปกติได้
  • การดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)
    เราสามารถตรวจการดื้อต่ออินซูลินได้จากการตรวจสาร C-peptide ในเลือด เนื่องจากสารตั้งต้นของอินซูลินที่ชื่อ Proinsulin จะถูกแบ่งเป็น ฮอร์โมนอินซูลิน และ สาร C-peptide ซึ่งสาร C-peptide นี้มีความคงตัวมากกว่าฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ตรวจได้ง่ายกว่าและแม่นยำกว่า พบว่าสารนี้มีปริมาณสูง สามารถบ่งบอกถึงการดื้อต่ออินซูลินได้
    หากพบว่ามีการดื้อต่ออินซูลิน เราสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไม่ว่าจะเป็นการปรับอาหาร การออกกำลังกาย หรือ ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาเพื่อลดภาวะดื้ออินซูลิน น้ำหนักก็จะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
  • ตรวจหาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) แพทย์สามารถตรวจหาภาวะนี้ได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีขนเยอะขึ้นตามตัว มีสิวมาก นอกจากนี้อาจตรวจด้วยการอัลตราซาวด์กับสูตินรีแพทย์ หากพบว่ามีภาวะนี้แพทย์สามารถแนะนำการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือ ให้การรักษาโดยยาต่างๆได้
  • การตรวจยีน (Genetic test) เราสามารถตรวจยีนเพื่อดูว่า พื้นฐานการเผาผลาญ หรือ การควบคุมความหิวอิ่มของเรา รูปแบบการเก็บสะสมไขมันของเราเป็นอย่างไร เสี่ยงต่อการอ้วนมากน้อยแค่ไหน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของเรา เมื่อเรารู้พื้นฐานของร่างกายเรา เราก็จะสามารถปรับการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆได้
  • ตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiome test)  เราสามารถตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้โดยตรวจจากอุจจาระ ช่วยให้ทราบความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา ทราบถึงจุลินทรีย์ชนิดดี ชนิดไม่ดีที่มีอยู่ในลำไส้ของเรา ซึ่งเมื่อเราทราบพื้นฐานจุลินทรีย์ที่มีในร่างกายเรา เราสามารถปรับอาหาร เพิ่มอาหารกลุ่มที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี (Prebiotics) หรือ เพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดี (Probiotics) ที่เหมาะกับเราเข้าไปในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้
<