โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases): โรคมือ เท้า ปาก (HFMD)/ โรคแผลในคอหอย (Herpangina)

โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases): โรคมือ เท้า ปาก (HFMD)/ โรคแผลในคอหอย (Herpangina)

เชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัสประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสทั้งหมด 68 สายพันธุ์ เชื้อไวรัสกลุ่มนี้ เกือบทั้งหมดอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ โดยแสดงอาการของโรคต่างกัน ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคในเด็กซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง เช่น โรคมือ เท้า ปาก บางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงได้ เช่น โรคโปลิโอ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Human enteroviruses โดยเชื้อในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย คือ Coxsackie virus (Coxsackie virus A16, A5, A9, A10, B1 และ B3) และ Enterovirus ประเทศไทยพบโรคมือ เท้า ปาก ได้ตลอดทั้งปี พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น พบได้ทุกอายุแต่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  ติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกและลำคอ น้ำลาย ของเหลวจากตุ่มน้ำหรืออุจจาระของผู้ป่วย ทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น น้ำดื่มและอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัว 3 – 6 วันหลังได้รับเชื้อ  

อาการของโรค แสดงได้หลายลักษณะ ดังนี้

1. โรคแผลในคอหอย (Herpangina) มีไข้ 1 – 2 วัน อาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมได้ร้อยละ 5  เจ็บคอ มีตุ่มพองใสขนาด 1 – 2 มิลลิเมตรบนฐานสีแดง กระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน โดยมากพบที่บริเวณด้านหน้าของต่อมทอนซิล เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิล มักเป็นอยู่นาน 4 – 6 วัน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

2.โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease: HFMD) ส่วนใหญ่มีไข้ 1 – 2 วัน บางรายไข้สูง แผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้มและเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น หลังจาก 2 – 3 วันจะค่อยๆ เริ่มตกสะเก็ดและค่อยๆ หายไปภายใน  7 – 10 วัน และจะมีผื่นหรือตุ่มพองใสเกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า แขน ขา ข้อศอกและรอบทวารหนักได้  ผู้ป่วยมีอาการเจ็บช่องปากและลำคอมากในช่วงวันที่ 3 – 5 ของอาการป่วย น้ำลายไหล กลืนลำบาก อาเจียน รับประทานอาหารได้ลดลง บางรายมีถ่ายเหลว

3.โรคคออักเสบมีต่อมน้ำเหลืองโต (Pharyngitis with lymphadenopathy) แผลที่ค่อนข้างแข็ง นูน กระจาย มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองขนาดประมาณ 3 – 6 มิลลิเมตรอยู่บนฐานรอบสีแดง และพบมากบริเวณลิ้นไก่ ด้านหน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง

การวินิจฉัยโรค สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติ ตรวจร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องส่งตรวจเชื้อเพื่อการวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจง (สายพันธุ์ย่อยของเชื้อ) โดยตรวจจากป้ายแผลในช่องปากและอุจจาระ มาเพาะแยกเชื้อและการตรวจหาทางน้ำเหลือง

การดูแลผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่บ้าน

- แยกเด็กป่วยให้พักอยู่บ้าน หยุดเรียน งดพาไปแหล่งชุมชนจนกว่าตุ่มหรือผื่นแห้งประมาณ 5 – 7 วัน ถ้าพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน อาจพิจารณาปิดห้องเรียน/สถานศึกษาชั่วคราว 5 – 7 วัน เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส

- แยกข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่น

- เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ยาชาและยาอื่นๆ ตามแพทย์แนะนำ

- ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัดและสามารถรับประทานของเย็นได้

- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสผู้ป่วย ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยทุกวัน ด้วยสบู่ ผงซักฟอกและน้ำยาทำความสะอาด เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสเปลือย (non-enveloped virus หรือ naked virus) ทำให้ทนทานต่อสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์และอีเทอร์ 

- ใช้ผ้า/กระดาษชำระปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ควรทิ้งกระดาษชำระรวมทั้งผ้าอ้อมสำเร็จรูปในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

- หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้หรืออาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์

อาการที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที

- ไข้สูง โดยเฉพาะมากกว่า 39 C และนานกว่า 48 ชั่วโมง

- กระสับกระส่าย  ร้องกวนตลอดเวลา

- อาเจียนบ่อยๆ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยมาก

- มีอาการทางระบบประสาท ได้แก่ ซึม การกรอกตาที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไม่รู้สึกตัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรงฉับพลัน เดินเซ

- ตัวลาย ซีด

- หายใจหอบเหนื่อย

การรักษา ยังไม่มียารักษาจำเพาะ เน้นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น เช็ดตัวลดไข้ร่วมกับการใช้ยาลดไข้ ใช้ยาชาทาบริเวณแผลในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บและทำให้รับประทานอาหารได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลียมาก แนะนำให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบผู้ป่วยที่เกิดโรครุนแรงประมาณ 0.05% – 1% ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด (1 ต่อ 2,000 – 10,000 ราย) เกิดจากเชื้อ EV71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงที่สุด มีอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้หลายระบบ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง (สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน) ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน) ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตได้ 

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การมีสุขลักษณะที่ดีและการรับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71

ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) แล้ว  ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนมาแล้วกว่า 48 ล้านโดสในประเทศจีน ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง มีเพียงอาการไข้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ปกติภายหลังการฉีดวัคซีนทั่วไป

วัคซีนแนะนำให้ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี 11 เดือน 29 วัน ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมือ เท้า ปากที่มาจากการติดเชื้อ EV71 ได้ 97.3%  ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือ เท้า ปากรุนแรงจากเชื้อ EV71 ได้ 100%  วัคซีนฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 1 เดือน

ผู้ป่วยที่หายจากโรคมือ เท้า ปาก ประมาณ 1 เดือน สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้ออีวี 71 ได้

 

ข้อควรทราบ  เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71 เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้ออีวี 71 แต่ยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปากได้ เนื่องจากไวรัสกลุ่มนี้มีหลายสายพันธุ์

                              

                              บทความจาก   แพทย์หญิงปราณี  สิตะโปสะ   กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลวิภาวดี

<