รู้จักกับ มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer)

มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer หรือ Heart cancer) เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ซึ่งพบว่าเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ลำไส้ เป็นต้น ซึ่งจะแพร่มาที่ผนังหัวใจ ด้านนอกและช่องเยื่อบุหัวใจ แต่มะเร็งที่เกิดในหัวใจเองมักเป็นในผนังชั้นกลาง จึงเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า Angiosarcoma และ Rhabdomyosarcoma

 

มะเร็งหัวใจนั้นพบได้น้อยมาก จึงยังไม่ทราบถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค และยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหัวใจในระยะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ  ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค และเนื่องจากพบได้น้อย จึงยังไม่มีอาการเฉพาะ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจทุกโรค ร่วมกันกับอาการของโรคมะเร็งทุกๆชนิด

 

อาการของโรคมะเร็งหัวใจ

อาการของมะเร็งหัวใจมักจะมาด้วยอาการเหล่านี้ ได้แก่ เหนื่อยง่าย หอบ ไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำ ๆ หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ตับโต ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง หรือขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง

 

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งหัวใจ

สามารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Echocardiography ที่จะทำให้เห็นตำแหน่งก้อนเนื้องอกชัดเจนช่วยในการวางแผนผ่าตัดได้ดี ขณะที่การตรวจด้วย Cardiac CT และ Cardiac MRI สามารถใช้เป็นการตรวจวินิจฉัยและดูการลุกลามของโรคว่าได้ลุกลามไปส่วนอื่นหรือไม่


อย่างไรก็ตาม มะเร็งกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการฉายแสงและยาเคมีบำบัดได้ไม่ดี จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกให้หมดถ้าทำได้ โดยปกติผนังหัวใจด้านขวาบนและล่างอาจตัดออกได้ แต่ถ้าลุกลามมาถึงหลอดเลือดแดงหัวใจ ก็อาจต้องต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจจึงจะเป็นการปลอดภัยต่อชีวิตและป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรังหรือเป็นหนักควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และถึงแม้จะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคแต่การดูแลสุขภาพก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพื่อลดความเสี่ยงโรคต่างๆ

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<