โรคข้อเข่าเสื่อม อาการ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษา ต้องผ่าไหม?

โรคข้อเข่าเสื่อม หรือ osteoarthritis เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน (cartilage) เยื่อหุ้มข้อ (joint capsule) กับ น้ำไขข้อ (synovial fluid) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการเสียดสีเมื่องอหรือเหยียดหัวเข่า และช่วยหล่อลื่นข้อต่อต่างๆให้เคลื่อนไหวได้ง่าย

หากมีการสึกหรอของกระดูกอ่อนที่หัวเข่าจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกขาบนและล่างเมื่องอหรือเหยียดหัวเข่ามากขึ้นจนเกิดการอักเสบของข้อได้

อย่างไรก็ดี โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่ “โรคผู้สูงอายุ” ตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ด้วย

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

ระยะแรก

  • ปวดข้อเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาที่ขยับตัวหรือลงน้ำหนักที่ขา ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้พักแต่จะกลับมาปวดอีก
  • มีอาการบวมที่ข้อ
  • ขยับข้อลำบาก มีความฝืดหรือรู้สึกไม่คล่องตัวเหมือนก่อน
  • เวลาขยับขา ข้อมีเสียงดัง

ระยะรุนแรง

  • ปวดข้อแบบรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
  • ข้อเข่าบวมและผิดรูปหรือโก่ง
  • อาการปวดในหัวเข่ากระจายไปยังส่วนอื่นของขา

ปัจจัยเสี่ยงของโรค

  • อายุ  ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจากการสึกหรอของข้อตามอายุ
  • โรคอ้วน ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อเข่า แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
  • สตรี ฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรี เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคทางกระดูกมากกว่าบุรุษ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับข้อและกระดูกอ่อน เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ เก๊าท์

การป้องกัน

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะข้อเข่าเป็นข้อที่รับน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าไร ข้อเข่าก็รับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่าที่ไม่ถูกต้อง ( เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ หรือนั่งยอง ๆ )
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น การยืนนาน ๆ การขึ้น-ลงบันได  การยกของหนัก 
  4. เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรงเพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อเข่า  แต่หากออกกำลังหนักเกินไป โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกของข้อที่รับน้ำหนัก เช่น วิ่ง  กระโดด ก็จะสร้างภาระให้กับกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ดังนั้นการออกกำลัง ชนิดที่ข้อไม่รับแรงกระแทกมาก จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรง เช่น การเล่นเวท (สร้างกล้ามเนื้อขา เข่า และต้นขา) การว่ายน้ำ (เดินในน้ำ) การขี่จักรยาน
  5. เมื่อมีความผิดปกติในเข่าต้องรักษาให้ถูกต้อง เช่น โรคเก๊าท์  โรครูมาตอยด์ หรือถ้าได้รับอุบัติเหตุในเข่า เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เส้นเอ็นขาด  หรือกระดูกหักต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนเข่าปกติ

แนวทางการรักษา

โรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถประคับประคองและรักษาตามอาการดังต่อไปนี้ได้

  • ทานยาแก้ปวด หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เมื่อมีอาการปวด
  • ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกดดันในข้อหัวเข่าได้
  • ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
  • เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดแรงกระแทกในข้อเข่า เช่น เลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือขัดสมาธิ
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในกลุ่มผู้ป่วยข้อเข้าเสื่อมระยะแรกได้ แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

ในกรณีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรงและผิดรูป ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า (knee replacement) 

  • ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนข้อบางส่วน (unicompartmental knee replacement)
  • หรือเปลี่ยนทั้งข้อ (total knee replacement) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • โดยการผ่าตัดจะใช้วัสดุมาตรฐานทางการแพทย์เช่นโลหะ หรือ พลาสติคมาช่วยเสริมส่วนข้อต่อที่สึกหรอได้ ซึ่งข้อเข่าเทียมเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่ต่างกันไป

รูปคนเจ็บหัวเข่า

การผ่าตัดข้อเข่าสมัยนี้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วเพราะแผลมีขนาดเล็กและเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบเก่า

การผ่าตัดจะใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง และพักฟื้นแค่ 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตามแพทย์จะทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด เพื่อความปลอดภัยและความแม่นยำในการระงับการปวดระหว่างผ่าตัด

ในรายที่ข้อเข่าเสื่อมมากและไม่หายด้วยวิธีการอื่น ผมแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งผมใช้วิธีการรักษาเทคนิคใหม่

แผลผ่าตัดเล็ก ตัดกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อย เลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่มีมาตรฐานสูงจากอเมริกาและเย็บแผลผ่าตัดอย่างปราณีตไม่ต้องตัดไหม แผลไม่ชอกช้ำ

ดังนั้นผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินได้หลังผ่าตัดเร็วขึ้น แผลสวยและลดการเกิดโรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตประจำวันที่ปกติ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ สุขภาพกายและจิตใจดีขึ้น แล้วท่านก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพดี

แพทย์

นพ.ทวีเกียรติ รัศมีสุนทรางกูล
แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ

แพทย์

<