WORLD KIDNEY DAY 2018

 WORLD  KIDNEY   DAY    2018    ตรงกับวันที่ 8  มีนาคม  พ.ศ.2561

หัวข้อเรี่อง  Kidneys & Women s  Health

ไตและสุขภาพของผู้หญิง

           โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease :CKD) เป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ผลที่ตามมาคือภาวะไตวายและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้หญิง 195 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคไตเรื้อรัง เป็นสาเหตุตายอันดับที่ 8 ทุกปีจะมีผู้หญิงตาย เกือบ 600,000 คนด้วยโรคไต 

 ความเสี่ยงของหญิงและชายเท่ากัน และอาจมากกว่าในบางแห่งผู้หญิงพบ 14% ผู้ชายพบเพียง 12% แต่ผู้หญิงจะได้รับการรักษาน้อยกว่าทั้งการฟอกเลือดและการปลูกถ่ายไต ผู้หญิงมักเป็นผู้บริจาคไตมากกว่าผู้รับไตจำเป็นที่จะต้องให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

          โรค เอส แอล อี (SLE) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองมีโรคแทรกซ้อนทำให้ไตอักเสบและไตทำงานน้อยลงในที่สุดเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย  การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพบบ่อยในผู้หญิงทุกวัยตั้งแต่เด็กวัยเจริญพันธุ์และวัยชรา โดยเฉพาะระหว่างตั้งครรภ์ ถ้ารักษาไม่ดีอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและหรือเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นในเด็กหญิงบ่อยๆ จะเกิดแผลเป็นในไตกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง การตรวจปัสสาวะจะสามารถพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ไข่ขาวในปัสสาวะจะวินิจฉัยโรคไตได้ง่าย

โรคไตและการตั้งครรภ์  

          ผู้หญิงที่มีโรคไตเรื้อรัง  จะมีลูกยากและผลการตั้งครรภ์ไม่ดีทั้งแม่และเด็ก  แม่มักมีความดันโลหิตสูงและหรือตั้งครรภ์เป็นพิษ  (Toxemia of Pregnancy)   ลูกมักคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาโดยการฟอกเลือดมักไม่ตั้งครรภ์หรือแท้งแต่ผู้ที่ปลูกถ่ายไตและไตทำงานปกติสามารถตั้งครรภ์ได้เด็กอาจคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อยกว่าเด็กปกติ 

         การตั้งครรภ์ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต   ในภาวะพิษจากการตั้งครรภ์ (Pre -eclamsia)  มีความดันโลหิตสูงและพบไข่ขาวในปัสสาวะ  อาจทำให้แม่เสียชีวิต   หรือเป็นไตวายเฉียบพลัน  และอาจเป็นโรคไตเรื้อรังได้    ในประเทศที่กำลังพัฒนา  การดูแลรักษาระหว่างตั้งครรภ์และคลอดไม่ดี   ไม่มีการฟอกเลือดทำให้อัตราเสียชีวิตสูง   ดังนั้นการดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ให้ดี  จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคไตและการเสียชีวิตได้

         โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าในการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย ที่รักษาโดยวิธีบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2557 พบว่าสาเหตุเกิดจากเบาหวาน 38.47% ความดันโลหิตสูง  30.00%

ผู้ชายฟอกด้วยเครื่องไตเทียม 52.5% ผู้หญิง 47.5%  ในการรักษาโดยการล้างช่องท้องถาวร  ผู้ชาย 49.2%       ผู้หญิง50.8%  

โรคเบาหวานชนิด 2 พบมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเอเซีย ดังนั้นการค้นหาและรักษาโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคหัวใจ โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ ตาบอด  และถูกตัดขาเป็นต้น

           การค้นหาโรคเบาหวานโดยการเจาะน้ำตาลก่อนอาหารอาจไม่ไวพอ    การเจาะน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังอาหาร   หรือให้รับประทานกลูโคส  75 กรัมและเจาะน้ำตาล 2 ชั่วโมงต่อมา  ถ้าเกิน 200 mg/dl   แสดงว่าเป็นเบาหวาน ถ้าระหว่าง 140 - 200 mg/dl  แสดงว่ามีความโน้มเอียงที่จะเป็นเบาหวาน  ต้องตรวจบ่อยๆ  โดยเฉพาะคนที่มีพ่อและหรือแม่เป็นเบาหวาน   คนอ้วนลงพุง  เป็นต้น

          โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นโรคกรรมพันธุ์   พบในคนอายุุ 35 ปีขึ้นไป   การตรวจค้นไม่ยาก  ถ้าวัดความดันโลหิตมากกว่า 140/90  มิลลิเมตรปรอท ก็เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรต้องพบแพทย์และรับการรักษา  การไม่รักษาจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวมาแล้ว  นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากโรคไต  และเกิดร่วมกับโรคเบาหวาน  โรคเก๊าท์  เป็นต้น

           การรักษาโรคทั้งสองรวมทั้งโรคเรื้อรังอื่นๆ  ผู้ป่วยต้องยอมรับการรักษาและปฏิบัติตน   รับประทานอาหาร  ยา ออกกำลังกายเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ  โดยเฉพาะโรคไต   ผู้หญิงมีโอกาสที่โรคจะเลวร้ายลงระหว่างหรือหลังตั้งครรภ์   ต้องดูแลตนเองให้ดีเพื่อจะมีชีวิตอยู่กับลูกและครอบครัวนานๆ

<