โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์

 

 โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์

   ยุงร้ายกว่าเสือ...ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น             

ทำไมยุงร้ายกว่าเสือ ลองมาฟังเรื่องนี้กันดีกว่า...ในช่วงนี้หลายคนคงเคยได้ยินโรคใหม่ที่ชื่อ” โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” จริงๆโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่พบตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นปีที่ตรวจพบเชื้อไวรัสได้ครั้งแรกในลิง และที่เรียกว่า เชื้อไวรัสซิกา เพราะลิงที่ติดเชื้อเป็นลิงที่มาจากป่าซิกา ประเทศยูแกนดาแถบแอฟริกา หลังจากนั้นก็มีการระบาดไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานยืนยันพบผู้ป่วยครั้งแรก ในพ.ศ. 2555 โดยพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 ราย แต่ที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อไวรัสซิกาคือ เมื่อพ.ศ.2558 พบว่าการติดเชื้อไวรัสซิกาในมารดาตั้งครรภ์สัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก....โอ น่ากลัวจริงๆ!

และตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงต้นเดือนกันยายนมีผู้ป่วยมากถึง279 ราย แต่ในประเทศไทยยังไม่พบว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกา มีภาวะศีรษะเล็ก

เชื้อไวรัสซิกาติดได้ทางใด?

เชื้อไวรัสเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส กลุ่มเดียวกับไวรัสเดงกี่(ไข้เลือดออก), ไวรัสไข้สมองอักเสบ, ไข้เหลือง, ไข้เวสไนล์ โดยมีภาหะนำโรค คือ ยุงลาย....นี่ไง ที่ว่า ยุง(ลาย)ร้ายกว่าเสือ!

การติดโรคส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด(โดยยุงที่ไปกักคนที่มีเชื้อไวรัสซิกา และมากัดเราต่อ) นอกจากนี้ยังสามารถติดกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ พบว่าสามารถตรวจพบเชื้อในน้ำอสุจิของคนที่เป็นโรคซิกาได้นานถึง 180 วัน(หรือ 6 เดือน)ดังนั้นคนทีเป็นโรคซิกาจึงต้องงดการมีเพศสัมพันธ์นานถึง 6 เดือน...โอ! ช่างทรมานจริงๆ และติดทางการได้รับเลือดที่มีเชื้อไวรัสซิกา และที่สำคํญที่สุดก็คือ       ติดจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้

อาการของโรคไวรัสซิกา

ส่วนมาก80%ไม่มีอาการ ส่วนอีก 20% จะมีอาการ โดยที่อาการที่พบส่วนใหญ่ประมาณ 90% คือ ผื่น(maculopapular rash) อีก45-65% มีไข้ต่ำๆ(37.8C -38.7C),ตาแดง(แบบไม่มีขี้ตา), ปวดข้อ, ปวดศีรษะ และอีกส่วนน้อยมากๆ อาจเกิดอาการทางระบบประสาทกล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง ดังนั้นถ้าเกิดโรคซิกาในคนทั่วไปก็อาจไม่มีความกังวลอะไร แต่ถ้าโรคนี้เกิดในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีศีรษะเล็ก(microcephaly) ยิ่งติดเชื้อที่อายุครรภ์น้อยๆก็จะพบทารกศีรษะเล็กและมีความผิดปกติของสมองได้มากกว่ามารดาที่ติดเชื้อในช่วงท้ายๆของการตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ใดที่เข้าข่ายต้องตรวจการติดเชื้อไวรัสซิกา?

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการดังนี้

1.มีผื่น(maculopaular rash) ร่วมกับมีอาการ 1ใน3ของ

ไข้  ปวดข้อ  ตาแดง                 

 2. มีไข้ ร่วมกับมีอาการ 2 ใน 3 ข้อของ

ปวดศีรษะ  ปวดข้อ    ตาแดง

3.มีผื่น(macupolapular rash) ที่อาศัยอยู่หรือมีประวัติเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันและยังอยู่ในระยะควบคุมโรค(28วัน)

ซึ่งการตรวจก็จะตรวจเลือด และ/หรือปัสสาวะ ตามระยะเวลาที่แสดงอาการ โดยต้องส่งไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

·       โรคนี้มีการรักษาอย่างไร?

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาโดยเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ก็ทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้, เป็นผื่นก็ใช้คาลาไมด์ทา และอาการที่เกิดขึ้นจะหายได้เองใน 5-7 วัน

ส่วนการรักษาในมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ก็ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีการอัลตร้าซาวด์ติดตามขนาดของศีรษะทารกในครรภ์ แต่แม้ว่าจะตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็ก ในปัจจุบันก็ยังไม่มียาหรือการรักษาใดๆ ในทารกที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติ ในตอนนี้ก็คงมีแต่การทำบุญและสวดภาวนาขอให้บุตรที่คลอดออกมา ไม่มีอาการทางระบบประสาท ซึ่งหลังคลอดแล้ว กุมารแพทย์ก็จะต้องตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง

·         สิ่งที่สำคัญ คือ การป้องกันโรค!

เนื่องจากยังไม่มียาที่ใช้รักษาและวัคซีนป้องกันเฉพาะ ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ

  1.กำจัดยุงลาย ด้วยมาตรการของกรมควบคุมโรค คือ 3เก็บ

 เก็บบ้าน    เก็บขยะ  เก็บน้ำ                                                                   

  2.ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด

               ทายากันยุง ในหญิงตั้งครรภ์ เน้นยาที่ทำจากสมุนไพร เช่นตะไคร้

  3.งดมีเพศสัมพันธ์ ในคนที่ติดเชื้อไวรัสซิกานาน 6 เดือน

เนื่องจากสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสซิกาในน้ำอสุจิได้นาน 180 วัน (6เดือน) นั่นเอง หรือต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

สิ่งสำคัญคือ หญิงตั้งครรภ์ใดที่มี ไข้, ผื่น, ปวดข้อ, ตาแดง อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์

และในตอนนี้ ถ้ามีใครมาถามว่า ยุงร้ายกว่าเสือจริงมั้ย?...ทุกคนคงต้องยกมือเห็นด้วยเป็นแน่   ตระหนักแต่อย่าตระหนก

                                                                                                                                 ด้วยความปรารถนาดี                                                                         

พ.ญ. รุจิเรข        เกตุทอง   สูตินรีแพทย์      (เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์)

<