โรคที่มากับ...มือ

โรคที่มากับ...มือ

   นอกจาก “สมอง” แล้ว, “มือ” นับเป็นอวัยวะที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกใบนี้ เนื่องจากมนุษย์ ใช้สมองคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่ใช้มือในการประดิษฐ์ และทำงานที่สัตว์อื่นทำไม่ได้ เราใช้มือของเรานี้ในการจับต้องสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาตอนเช้า ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ สัมผัสผู้อื่น รวมทั้งหยิบอาหารเข้าปาก แคะจมูก ป้ายตา มือจึงอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย และหากใครสักคนเป็นโรคติดเชื้อ มือนี้ก็สามารถกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น จากการสัมผัสกันโดยตรง หรือแม้กระทั่งสัมผัสผ่านตัวกลาง 1 ซึ่งตัวกลางที่พบบ่อยและผู้คนมักมองข้าม ได้แก่ ลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์ และราวบันไดเลื่อน

เชื้อโรคบนมือ                                  

   สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่บนมือของคนโดยทั่วไป แบ่งได้ 2 ประเภท 1,2 คือพวกที่พบได้ในภาวะปกติ ซึ่งมีอยู่นับสิบชนิด 3 (แม้ว่ามือนั้นจะยังดูสะอาด ไม่เปรอะเปื้อนก็ตาม) กับพวกที่พบได้ชั่วคราว ซึ่งได้รับมาจากการสัมผัส ซึ่งจะติดอยู่ที่ผิวหนังอย่างหลวม ๆ และล้างออกได้ง่าย ๆ 1 พวกแรกนี้โดยทั่วไปไม่ก่อโรค เว้นเสียแต่มีการเหนี่ยวนำเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือด หรืออวัยวะภายใน เช่น ในทางการแพทย์ การใส่สายให้น้ำเกลือเข้าไปในหลอดเลือดโดยตรง อาจมีเชื้อที่ผิวหนังปนเปื้อนเข้าไปและก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ ส่วนพวกหลัง อาจเป็นเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดต่อได้มากมาย บางอย่างรุนแรงถึงชีวิต

โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางมือ              

โรคติดเชื้อมากมาย สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส ตัวอย่างโรคที่พบบ่อย มีดังนี้

1.โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หัดเยอรมัน นอกจากจะติดต่อผ่านการหายใจเอาเชื้อเข้าไปแล้ว การที่มือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่น หรือเครื่องใช้ในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์ หรือราวบันได แล้วมาแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้า เมื่อหายใจเข้าไป ก็ทำให้เกิดโรคได้

2.โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่าง ๆ ซึ่งติดต่อได้จากการที่มือปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ แล้วหยิบจับอาหารรับประทานเข้าไป

โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา โรคเริม

โรคที่ติดต่อได้หลายทาง เช่น โรคอีสุกอีใส อาจติดต่อได้จากการหายใจ และการสัมผัส

โรคติดเชื้อเหล่านี้ เป็นโรคที่พบบ่อย และบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้         

แนวทางรักษา

วิธีการง่าย ๆ ที่ลงทุนน้อย และได้ผลตอบแทนมาก ในการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อที่ผ่านทางมือ ก็คือ “การล้างมือ” จากการวิจัยทางการแพทย์ ค้นพบมานานกว่า 150 ปีแล้วว่า การล้างมือของแพทย์จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล 2,4,5 นอกจากนี้การล้างมือบ่อย ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง ก็เป็นวิธีป้องกันการระบาดของโรคได้ 6 หรือการล้างมือของผู้ประกอบอาหาร ก็ป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารเช่นกัน 7 แต่ปัญหาก็คือ คนทั่วไปไม่ค่อยได้สนใจและไม่ระวัง เนื่องจากเชื้อก่อโรคดังกล่าวข้างต้นแม้จะมีอันตราย แต่ก็มีขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากการไม่แคะจมูกและขยี้ตาบ่อย ๆ แล้ว การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การล้างมือที่ถูกวิธี

การล้างมือที่ถูกต้อง ต้องทำให้มือสะอาดทั้งมือ โดยมีทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน คือ

1) ถูฝ่ามือ กับฝ่ามือ

2) ฝ่ามือถูบริเวณหลังมือสลับกันทั้งสองข้าง

3) ซอกนิ้วมือด้านฝ่ามือถูกัน

4) ถูซอกนิ้วมือด้านหลังมือ ด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างสลับกัน

5) ล้างนิ้วหัวแม่มือให้สะอาดโดยรอบทั้งสองข้าง และ

6) เอาปลายนิ้วมือ ถูฝ่ามือ สลับกันทั้งสองข้าง 8 รวมเวลาที่ใช้ล้างมือนี้ประมาณ 15-30 วินาที (อย่างน้อย 10 วินาที) นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยน้ำที่กำลังไหลรินจากก๊อกน้ำ และควรใช้ผ้าหรือกระดาษสะอาดเช็ดมือให้แห้ง หรือทำให้แห้งด้วยเครื่องเป่าลมหลังล้างเสร็จ 5

การล้างมือนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่ใช้สบู่กับน้ำสะอาด ล้างอย่างถูกวิธีก็จะสามารถลดการติดเชื้อได้อย่างดีมากแล้ว

เมื่อไรบ้างที่ควรล้างมือ                                              

ควรล้างมือในกรณีต่าง ๆ ดังนี้: ล้างมือ หลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เช่น ทำงาน ยกของ พรวนดิน กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำ เป็นต้น, ล้างมือ เมื่อจะประกอบอาหาร หรือหยิบจับอาหารเข้าปาก, ล้างมือ ก่อนล้างหน้า แปรงฟัน หรือหลังเข้าห้องน้ำ, ล้างมือ เมื่อจะสัมผัสจมูก ปาก หรือตา, ล้างมือ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งในกรณีที่ป่วยเองก็ยิ่งต้องล้างมือให้บ่อย ๆ หลังเช็ดน้ำมูก ไอ จาม, ล้างมือ ก่อนสัมผัสบุตรหลาน และล้างมือ หลังจากกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน

การล้างมือควรกระทำบ่อย ๆ ให้เป็นนิสัย เนื่องจากการสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก หยิบจับอาหาร สามารถนำเชื้อโรคบนมือเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงดูบุตรหลาน โอบกอด ป้อนอาหาร ก็สามารถนำโรคสู่เด็กเหล่านั้นได้ด้วย

รณรงค์อย่างไร

แม้โรคติดเชื้อจำนวนมาก สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ๆ ด้วยการสัมผัส การล้างมือก็เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรคเหล่านี้ แต่โดยประชาชนโดยทั่วไปอาจมองข้ามว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และละเลยสิ่งที่ควรปฏิบัติ เห็นได้จากการระบาดของโรคติดต่อ เช่น ตาแดง ให้เห็นอยู่เนือง ๆ การรณรงค์ในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ โดยต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว การที่ผู้ใหญ่ล้างมือให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง จะสามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้แก่เยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

                                                          

จะเห็นว่าการให้ความรู้กับประชาชน แม้จะสามารถเพิ่มความตระหนักในหน้าที่การดูแลสุขภาพของตนได้ แต่จะคงการปฏิบัติและพฤติกรรมของการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องได้นานสักเท่าไร เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง

“ถึงเวลาหรือยัง ที่ท่านจะสละเวลาที่มีค่าของท่านสักนิด ล้างมือของท่านให้สะอาด

เพื่อตัวท่าน บุตรหลานของท่าน และสังคมส่วนรวม

Reference

1. Edmond MB, Wenzel RP. Isolation. In Mandell GL, Bennett JE, Dolin R (eds). Principles and practice of infectious diseases. Philadelphia: Churchill Living Stone; 2000:2991-2995.

2. Pinney E. Hand washing. Br J Perioper Nurs 2000; 10:328-331.

3. Herceg RJ, Peterson LR. Normal flora in health and disease. In Shulman ST, Phair JP, Peterson LR, Warren JR (eds). The Bilogic and Clinical Basis of Infectious Diseases. Philadelphia: W.B. Saunders Company; 1997:5-14.

4. Handwashing Liaison Group. Hand washing: A modest measure-with big effects. BMJ 1999; 318:686.

5. Wendt C. Hand hygiene--comparison of international recommendations. J Hosp Infect 2001; 48 Suppl A:S23-S28.

6. Horton JC. Disorders of the eye. In Braunwald E, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Longo DL, Jameson JL (eds). Harrison's Principles of Medicine. New York: McGraw Hill; 2001:164-178.

7. Begue RE, Gastanaduy AS. Clinical Microbiology : Acute Gastroenteritis Viruses. In Armstrong D, Cohen J (eds). Infectious Diseases. London: Harcourt Publishers; 1999:8.1.1-8.1.10.

8. Ayliffe GA, Babb JR, Quoraishi AH. A test for 'hygienic' hand disinfection. J Clin Pathol 1978; 31:923-928.

ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี

  ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com

<