การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน

การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน

 

นพ. ภาคิน โลวะสถาพร
อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี

           สวัสดีครับ วารสารฉบับเดือนนี้เป็นฉบับพิเศษที่มาพร้อมกับการฉลองครบรอบวันเกิดการก่อตั้งโรงพยาบาลมาครบ 25 ปี ผมในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำของรพ.วิภาวดี  ได้มีโอกาสเขียนบทความในวารสารฉบับนี้ ซึ่งได้เข้าถึงผู้อ่านโดยตรงและแม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์เอง  บทความนี้จึงมุ่งเน้นถึงปัญหาสุขภาพในทางเวชปฏิบัติที่พบได้บ่อยจากกการทำงาน  และมักจะถูกมองข้ามไป   ในขณะที่เขียนนี้ผมก็ได้นั่งตรวจคนไข้ไปด้วย และบังเอิญที่มีผู้ป่วยเป็นสุภาพสตรีวัยทำงานท่านหนึ่งมารับการตรวจพอดี ผมจึงขออนุญาตยกมาเป็นกรณีศึกษาเลยนะครับ 

          คนไข้มาด้วยอาการปวดศีรษะ 2 วัน มักจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ  ร้าวมาต้นคอและมีอาการคลื่นไส้ เป็นบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นในช่วงบ่ายและเย็น ในบางครั้งหลังจากตื่นนอน  ก็จะมีอาการมึนศีรษะรู้สึกเหมือนกับไม่ได้นอนหลับ  เป็นอย่างไรบ้างครับ มีใครเคยมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ครับ จากการซักประวัติต่อไปของคนไข้ ทราบว่าทำงานอ๊อฟฟิตในตำแหน่งวิเคราะห์การเงิน ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันและอยู่กับตัวเลขทางบัญชี ต้องมีการประชุมกับผู้บริหารอาวุโสทุกสัปดาห์  ทุกวันต้องนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน นอนดึกตื่นแต่เช้าเพื่อส่งลูกไปโรงเรียน ถึงแม้คนไข้จะบอกว่าเป็นคนอารมณ์ดี ไม่มีความเครียดเรื่องงาน แต่หลายคืน ต้องตื่นกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากทำการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเลยแม้แต่น้อย แต่ที่ตรวจพบนั่นก็คือ คนไข้มีรูปร่างท้วม ดัชนีมวลกายมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีภาวะความดันโลหิตสูง และมีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ เมื่อกดถูกกล้ามเนื้อจะมีอาการเจ็บ คราวนี้พอจะทราบแล้วใช่มั้ยครับว่า คนไข้รายนี้น่าจะมีอาการปวดศีรษะจากสาเหตุการนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมๆเป็นระยะเวลานาน มีการใช้สายตาโดยต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน  จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขมับ หนังศีรษะและต้นคอรวมถึงบ่าและไหล่ มีการหดเกร็งสะสมเป็นระยะเวลานานจึงมีอาการปวดเรื้อรังขึ้น นอกจากนั้นการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารจานด่วน จึงทำให้น้ำหนักของคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน ความดันโลหิตเริ่มอยู่ในเกณฑ์สูง ความเครียดจากการทำงานส่งผลให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท 


            เห็นหรือไม่ครับว่า  อาการปวดศีรษะของคนไข้รายนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่พบ ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นโดยคนไข้ไม่รู้ตัว ดังนั้นการรักษาคนไข้ในรายนี้ นอกจากจะรักษาโดยการใช้ยารับประทานยา การส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด หรือแม้กระทั่งการฝังเข็มบริเวณจุดที่กล้ามเนื้อยึดเกร็งแล้ว จึงต้องกลับมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของสาเหตุ การปรับตัวการทำงานเช่นการพักสายตา หลังจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หลังจากใช้งานไปสักระยะ ท่าการบริหารกล้ามเนื้อต้นคอ หัวไหล่ และเอว การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และยังทำให้การควบคุมน้ำหนัก ระดับไขมันในร่างกายดีขึ้นด้วย  ยังมีข้อดีของการออกกำลังกายอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้นะครับ  สำหรับการเลือกรับประทานอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะชีวิตคนเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ อย่างที่เคยได้ยินมาว่า You are what you eat.  คือคุณรับประทานอาหารอย่างไร มันก็จะแสดงออกให้เห็นในร่างกายของคุณนั่นแหล่ะครับ 

            การรับประทานอาหารที่ไขมันสูง ก็ก่อให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งก็จะเป็นตัวเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน การรับประทานอาหารหวานมากเกินไปก็ก่อให้เกิดภาวะเบาหวาน โรคอ้วนได้เหมือนกัน มาถึงตรงนี้สงสัยคนไข้จะปวดศีรษะมากขึ้นหลังจากที่ผมได้แนะนำไปซักพักใหญ่ คนไข้ก็ถามมาว่า   “คุณหมอคะ  ตอนนี้ปวดศีรษะมากเลย ฉีดยาแก้ปวดก่อนได้มั้ยคะ”   เท่านั้นแหล่ะครับ ผมจึงฉุกคิดได้ว่าผมพูดมากเกินไปแล้ว จึงต้องหยุดการสนทนาแล้วจึงพาคนไข้รายนี้ไปรอฉีดยา  อย่างไรก็ตามผมก็ได้นัดคนไข้มาเพื่อติดตามอาการปวดศีรษะ   ตรวจวัดความดัน และนัดตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดในครั้งต่อไป ผมจึงอยากเตือนทุกท่านว่าให้หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  เพราะสุขภาพดีนั้น  สามารถสร้างขึ้นได้จากตัวของคุณเองครับ

<