ข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน

ข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน

สำหรับข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน

          สำหรับข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน ทำได้ดังนี้ • อ่านฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา ควรอ่านให้เข้าใจว่าใช้อย่างไร ต้องใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือไม่ หรือ ใช้นานเท่าใด ยาบางชนิด เช่นยาปฏิชีวนะ ต้องกินติดต่อกันจนหมด เพื่อให้ได้ผลในการรักษา หรือยาหยอด ตา เมื่อเปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน ให้ทิ้งไป เป็นต้น ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก จะช่วยลดยาเหลือใช้ • นำยาที่เหลืออยู่ไปพบแพทย์ตามนัด หากท่านมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง และต้องไปพบแพทย์ตามนัด อย่าลืมนำยาที่เหลืออยู่ไปด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทราบถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่ และสั่งจ่ายยาตามจำนวนที่หักยาเดิมให้พอถึงวันนัดครั้งต่อไป แทนที่จะสั่งยาให้ตามจำนวนวัน ซึ่งทำให้มียาเดิมเหลือค้างอยู่จำนวนหนึ่ง หากแพทย์มีการเปลี่ยนยาให้ใหม่ และท่านใช้ร่วมไปกับยาเดิม จะทำให้ได้รับยามากเกินไปจนอาจเป็นอันตราย แต่ถ้าท่านไม่ใช้ ยาเดิมนั้นก็จะเป็นยาเหลือใช้ • ไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการคราวละมากๆ ยาบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด หลังจากหายแล้วถ้าเหลืออยู่ จะกลายเป็นยาเหลือใช้ หากมียาเหลือใช้ในบ้าน..จะจัดการอย่างไร ก่อนอื่นควรตรวจสอบสภาพยาและวันหมดอายุของยาก่อน โดยดูจากข้อมูลวันหมดอายุบนแผงยา หรือที่ข้างกล่องยา ทั้งนี้โดยดูสภาพเม็ดยาประกอบด้วย เพราะบางครั้งการเก็บยาไม่ดีก็จะทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ เช่น เก็บไว้ในที่ร้อนหรือที่แดดส่องถึง หรือไว้ในที่ชื้น เป็นต้น หากไม่มีวันหมดอายุระบุไว้ ให้ดูจากวันที่ที่ได้รับยามาซึ่งระบุบนซองใส่ยา หากได้รับยามาเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี ก็ไม่ควรใช้อีกต่อไป • ยาเหลือใช้ที่ยังไม่หมดอายุและอยู่ในสภาพดี ควรเก็บอยู่ในซองยา หรือขวดยาเดิม และวางรวมไว้ที่เดียวกันในที่ที่เหมาะสม หรือเก็บในตู้ยา หรือกระเป๋ายา ให้พ้นแสงแดด ไม่เก็บในที่ชื้น และต้องให้พ้นมือเด็ก ตรวจสอบด้วยว่าฉลากยายังชัดเจน มีวิธีใช้ครบถ้วน หากไม่มั่นใจ ให้นำไปปรึกษาเภสัชกร • ยาเหลือใช้ที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว ให้ทำลายก่อนทิ้ง โดยแกะฉลากที่มีชื่อของท่านออก ถ้าเป็นยาเม็ด ให้ทุบทำลายและเติมน้ำเล็กน้อย หรือถ้ามียาน้ำที่หมดอายุให้เทผสมลงไป ยาครีม/ขี้ผึ้งให้บีบออกจากหลอด จากนั้น นำกากใบชา ขี้เลื่อย เศษผัก หรือเปลือกผลไม้ผสมลงไปในถุงเดียวกัน ปิดปากถุงให้สนิท (ถ้าเป็นถุงซิปล็อกได้ก็จะดี) ก่อนจะทิ้งลงถังขยะต่อไป เพื่อไม่ให้คนอื่นนำยาที่ทิ้งนั้นไปใช้ได้อีก แต่หากมียาเหลือใช้จำนวนมาก ให้นำไปปรึกษาเภสัชกร สิ่งที่ไม่ควรทำ •อย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ ขณะเดียวกันก็อย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการคล้ายกันแต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสม และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย •อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยา หรือขวดยาเดียวกัน •อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้ •อย่าเก็บยาในตู้เย็น ยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้ •อย่าเก็บยาในรถที่จอดทิ้งไว้เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อม •อย่าหยุดยาเอง เพราะแพทย์จะเข้าใจผิดว่าอาการที่เลวลงเป็นเพราะโรค แล้วเพิ่มยาให้อีก •อย่าซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร เพราะถ้าได้รับยาจำนวนมากจากสถานพยาบาลแล้วอาจได้รับยาซ้ำซ้อน

<