รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)

รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)

          รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น) จาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2552 เวลา 8.00 น. ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ยาต้านไวรัส การป้องกัน การปฏิบัติตัว การระบาดของเชื้อ อ่านได้ที่นี่ค่ะ

รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)

 

1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร ? 

           โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย เริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” 

2. เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าไข้หวัดสุกร (Swine flu) เหมือนชื่อที่ใช้เรียกในระยะแรกของการระบาด ?

           เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในการรายงานโรคนี้ช่วงแรกในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่สุกร โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่สุกรเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในสุกร มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1 และ H3N2 แต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในสุกร บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากสุกรและป่วยซึ่งเกิดไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดโดยคนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อสุกรไอ หรือจาม เข้าไป หรือการสัมผัสกับสุกร หรือสิ่งแวดล้อมที่สุกรอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมพบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน และยังไม่เคยพบในสุกรมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มีรายงานโรคนี้ระบาดในสุกรทั้งในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากสุกร หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนเท่านั้น

           ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2552 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดสุกร หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” (Influenza A H1N1) ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” และชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้สอดคล้องกันและสื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่สับสนกับไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่เกิดตามฤดูกาล ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่คนละตัวกัน

3. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร ?

          คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน แต่ในเด็กเล็ก อาจแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน 

4. คนสามารถแพร่เชื้อนี้ให้แก่สัตว์อื่นได้หรือไม่ ?

          องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.52 ว่า มีรายงานสุกรติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 นี้จากคน และพบการระบาดของโรคนี้ในสุกรแล้วในประเทศแคนาดา 

5. การรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?

          ประชาชนสามารถบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุกนั้นปลอดภัย เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะถูกทำลาย (inactivate) ได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายมาประกอบอาหาร

6. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง ?

          อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะอ้วน และหญิงมีครรภ์ 

7. โรคนี้รักษาได้หรือไม่ อย่างไร ?

          เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้น ผู้ที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ รับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสหรือรับไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล

8. จะป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้อย่างไร ?

         ท่านสามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้ง่าย โดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หากต้องดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยและให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา

 

สถานการณ์การระบาดและความรุนแรงของโรค

9. สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) ขณะนี้เป็นอย่างไร ?

          ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา ประเทศเม็กซิโกเริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวมสูงขึ้นผิดปกติ จากนั้น จึงเริ่มมีการส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (ตามเวลาประเทศไทย) พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 29,669 ราย ใน 74 ประเทศ และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 145 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ประมาณร้อยละ 0.49 ขณะนี้ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ รายชื่อประเทศที่พบผู้ป่วย และรายงานสถานการณ์โรครายวัน ท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th

10. พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่ ?

          จากการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552-ปัจจุบัน (15 มิถุนายน 2552) ไทยพบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 201 ราย ซึ่งจำแนกเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศจำนวน 30 ราย และผู้ที่ติดเชื้อภายในประเทศ 171 ราย โดยขณะนี้ มีการระบาดของโรคในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปทุมธานี ซึ่งมีการระบาดในโรงเรียนและสถานบันเทิงในแหล่งท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้รับการติดตามเฝ้าสังเกตอาการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด บางรายมีอาการป่วยแต่ไม่มีอาการรุนแรงและได้รับการดูแลรักษาแล้ว

11. แนวโน้มการระบาดของโรคเป็นอย่างไร ?

           องค์การอนามัยโลกชี้ว่า โอกาสที่จะควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้จำกัดอยู่ในประเทศที่เป็นต้นเหตุได้ผ่านเลยไปแล้ว และการระบาดมีแนวโน้มกระจายกว้างขวาง ต่อไป จนเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)ไปทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้การระบาดมีความรุนแรงน้อยลงหรือมากขึ้น ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่จากประสบการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มักมีการระบาดระลอกหลังตามมาอีก และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าระลอกแรก

12. กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์แนวโน้มการระบาดในประเทศไทยอย่างไร ?

          เมื่อพิจารณาสถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศ ลักษณะธรรมชาติของโรค ร่วมกับสภาวะแวดล้อมและศักยภาพในประเทศ จึงควรจัดแบ่งสถานการณ์การระบาดในประเทศเป็น 3 ระยะต่อเนื่องกัน ดังนี้

สถานการณ์ A มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ 

สถานการณ์ B มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด 

สถานการณ์ C มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางภายในประเทศ

          ในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึง ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ประเทศไทยได้ทำการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ (สถานการณ์ A ) และยืนหยัดสกัดการแพร่เชื้อในประเทศได้นานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งนับว่านานกว่าประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศแล้ว (สถานการณ์ B ) และ การระบาดภายในประเทศอาจจะขยายวงกว้างต่อไป (สถานการณ์ C ) เช่นเดียวกับการระบาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากความร่วมมือด้านการป้องกัน และควบคุมโรคจากทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน มีความเข้มแข็ง ไทยก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ไปได้ และมีความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมน้อยที่สุด

13. หากเกิดการระบาดในวงกว้าง จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

        การระบาดของโรคในอดีตที่ผ่านมา จะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชน อาจมีผู้ป่วยในประเทศ 10-40%ของประชากรไทย (ประมาณ 6.5 – 26 ล้านคน) และอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้ นอกจากนี้ จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อีกมาก เช่น ทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ ชีวิตประจำวันของประชาชน 

14. กระทรวงสาธารณสุขมีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเรื่องการระบาดของโรคหรือไม่ อย่างไร ?

        กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคมิให้แพร่กระจายออกไป ในการให้ข้อมูลใดอย่างเป็นทางการนั้น อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบความถูกต้อง หรือบางครั้งจำเป็นต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางส่วน ที่การเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด และอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น รายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยในส่วนที่ไม่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค อาจมิได้มีการเปิดเผย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยประกอบกับต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยร่วมด้วย

15. เหตุใดตัวเลขจำนวนผู้ป่วยของไทยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลกจึงน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ?

          ในการรายงานตัวเลขผู้ป่วยอย่างเป็นทางการให้องค์การอนามัยโลกทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 100 รายแรก เพื่อให้ทราบองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ จะต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานเป็นรายบุคคล และมีข้อมูลในรายละเอียด รวมทั้งข้อมูลบางอย่างต้องรอเวลาหรือทราบผลก่อนจึงจะกรอกได้ เช่น ผลการรักษาผู้ป่วย จะต้องรอเวลาให้ผู้ป่วยหายหรือได้ยาครบก่อน จึงจะรายงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะหลังที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มก้อนอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกรายงานน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศในทันทีทันใด

 

ระดับเตือนภัยการระบาดของโรค

16. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคคืออะไร ?

           องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เมื่อปี 2005 เพื่อแสดงถึงขั้นตอนของการระบาดของโรคเริ่มตั้งแต่การพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ จนเริ่มแพร่เชื้อมาสู่คน และมีการกระจายออกไป จนกระทั่งระบาดไปทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้น เป็นที่คาดกันว่า เชื้อไวรัสที่จะเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จะมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แต่เมื่อในปัจจุบัน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 เป็นต้นเหตุ และมีการระบาดเกิดขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ปรับปรุงคำจำกัดความของแต่ละระดับการระบาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นในปี 2009 เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งมาตรการต่างๆ และมีความเข้าใจตรงกันทั่วโลก

17. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคมีกี่ระดับ มีหมายความว่าอย่างไรบ้าง ?

           องค์การอนามัยโลกได้กำหนด ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (ฉบับปรับปรุง ปี 2009) จำนวน 6 ระดับ ดังนี้

ระดับ 1 :พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์

ระดับ 2 : เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นในคน 

ระดับ 3 : พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มเล็ก การติดต่อระหว่างคนสู่คนอยู่ในวงจำกัด 

ระดับ 4 : เกิดการระบาดในระดับชุมชน 

ระดับ 5 : มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกันขององค์การอนามัยโลก

ระดับ 6 : มีการระบาดมากกว่า 1 ภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก

18. สถานการณ์ขณะนี้ เราอยู่ในระดับเตือนภัยการระบาดที่เท่าไร ?

           วันที่ 12 มิถุนายน 2552 (ตามเวลาในประเทศไทย) พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับเตือนภัยการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 ซึ่งหมายถึง การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วโดยมีการติดต่อจากคนสู่คน ณ ขณะนี้ มีผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ มากกว่า 30,000 ราย ใน 74 ประเทศทั่วโลก 

19. การอยู่ในระดับการระบาดที่ 6 จะต้องทำอย่างไร ?

           องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ เตรียมรับมือกับการที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนประเทศที่มีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางไปแล้ว ควรเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคระลอกที่สอง โดยควรเน้นหนักในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม สำหรับการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการและการสอบสวนโรคสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดในวงกว้างแล้ว ควรลดความสำคัญลง เพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ต้องทุ่มเทลงไป 

           ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังประสานกับผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่า จะพยายามให้มีปริมาณวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ให้มากที่สุด ภายในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ส่วนในระหว่างที่รอการผลิตวัคซีนนั้น ขอให้ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและชุมชนหรือมาตรการที่ไม่ใช้ยา/เวชภัณฑ์ (Non-pharmaceutical Intervention) เช่น การส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล การจำกัดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังคงแนะนำว่า ไม่ควรจำกัดการเดินทางหรือปิดพรมแดน 

 

ยาต้านไวรัส

20. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ?

           ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้พบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine ยาต้านไวรัส oseltamivir จะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้

21. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่ ?

           เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือได้ยาต้านไวรัส ประเทศไทยจึงมีความมั่นใจได้ว่า ได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 420,000 ชุด (สำหรับผู้ป่วย420,000 ราย) โดยองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบสำหรับผลิตเพิ่มอีก 1 แสนชุด (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย)

22. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาคเอกชน จำเป็นต้องสำรองยาต้านไวรัสหรือไม่ อย่างไร ?

           ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ใช้ในขณะนี้คือ โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) โดยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาและป้องกันโรค ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการสำรองยาต้านไวรัส เพื่อเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และเพื่อขยายปริมาณสำรองยาต้านไวรัสของประเทศ

 

           อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวถือเป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากต้องติดตามการดื้อยาและอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา สถานประกอบการสามารถสำรองหรือบริจาคยาผ่านโรงพยาบาลเอกชนที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบ โดยผู้นำเข้าติดต่อส่งหลักฐานการนำเข้าให้กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

<