การป้องกันอันตรายจากรังสี

การป้องกันอันตรายจากรังสี

          ในปัจจุบันนี้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามี บทบาทต่อชีวิตประจำวันและการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน แต่ในแง่หนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ขาดการควบคุมดูแลให้ถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นผลให้เกิดอันตรายได้ เช่นเดียวกันกับการนำเอาสารกัมมันตรังสีมาใช้ก็เช่นกันเพราะสารกัมมันตรังสีนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นจากรังสีนั้นก็มีมากและหลายระดับทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี เช่น ถ้าได้รับรังสีปริมาณสูงแบบเฉียบพลันอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หรือการรับรังสีที่อวัยวะสืบพันธ์แล้วทำให้เป็นหมัน ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลให้ลูกหลานที่เกิดมาผิดปกติ 

          ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทางด้านรังสีจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันอันตรายจากรังสีเป็นอย่างดี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด 

ที่มาของรังสี สารกัมมันตรังสี คือสารที่สลายตัวปลดปล่อยรังสีออกมา รังสี คืออนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมของกัมมันตรังสี สารกัมมันตรังสี จำแนกตามลักษณะการเกิดได้จาก 2 แหล่ง คือ
   1. จากธรรมชาติ โดยสารกัมมันตรังสีจากธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม 235 , ยูเรเนียม 238,คาร์บอน 14 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก 
   2. จากมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (Nuclear reactor) หรือในเครื่องเร่งอนุภาค เช่น เครื่องเร่งอนุภาคนิวตรอน (Neutron generator) และซิลโครตรอน( Cyclotron generator) เป็นต้น สารกัมมันตรังสีที่ได้จากการผลิต เช่น โคบอลต์ 60, ไอโอดีน 131 , ซีเซียม 137, นิวตรอน สารกัมมันตรังสีทั้ง 2 กลุ่ม จะให้รังสีออกมา ได้แก่ รังสีแอลฟ่า , รังสีเบต้า , รังสีแกมมา นิวตรอน นอกจากนี้รังสีที่เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างกว้างขวางมีประโยชน์มากมาย ได้แก่ รังสีเอกซ์(X-ray) ซึ่งเกิดจากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ซึ่งใช้ระบบไฟฟ้าแรงสูงเร่งให้อิเลกตรอนวิ่งด้วยความเร็วสูงเข้าชนเป้าที่ทำด้วยโลหะหนักและเกิดเป็นรังสีขึ้น มีความสามารถทะลุทะลวงผ่านวัตถุต่าง ๆ ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุนั้น ๆ 

ประโยชน์ของรังสี 
          รังสีที่กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตรและงานวิจัยต่าง ๆ ดังนี้ 

รังสีแอลฟ่า ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สายล่อฟ้า (Am-241 , Ra-226) ,อุปกรณ์กำจัดฝุ่นละอองในผลิตภัณฑ์ (Po-210) , เป็นส่วน ประกอบของอุปกรณ์ตรวจสอบควันไฟ (Am-241) 
รังสีเบต้า ใช้รักษาโรคต้อเนื้อ (Sr-90) , สารพรายน้ำ (H-3) , สารสะท้อนแสง/เรืองแสง (Pm-147) , ใช้ระงับอาการปวดของมะเร็งที่ลามไปกระดูก(Sm-153) 
รังสีแกมมา ใช้รักษาโรคมะเร็ง (Co-60) , การฆ่าเชื้อโรคในเวชภัณฑ์ (Co-60) ,การวินิจฉัยโรคและรักษาโรคต่อมไทรอยด์ (Co-60)(I-125 , I-131) , ตรวจสอบการทำงานของไต (I-131) , การตรวจสอบการทำงานของตับ/ทางเดินน้ำดี/ กล้ามเนื้อหัวใจ (Tc-99m) , ศึกษาการไหลเวียนของเลือดที่ปอด/สมอง (Tc-99m) 
รังสีเอกซ์ ใช้ในการถ่ายภาพอวัยวะต่าง ๆ , ตรวจจับวัตถุแปลกปลอม และสารกัมมันตรังสีที่มีบทบาทสำคัญตัวหนึ่งที่จะกล่าวถึงก็คือ โคบอลต์-60 ซึ่งเมื่อกุมภาพันธ์ 2543 ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดกรณีตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นโทษมหันต์ของรังสีที่เราไม่ควรมองข้ามเลย โคบอลต์-60 (Co-60) เป็นสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ เกิดขึ้นได้จาการนำโคบอลต์-59 ซึ่งเป็นโลหะในธรรมชาติอาบอนุภาคนิวตรอน ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดเป็นโคบอลต์-60 ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 5.26 ปี และสลายตัวให้รังสีแกมมาและเบต้า แต่รังสีที่นำมาใช้ประโยชน์มาก คือ รังสีแกมมา ซึ่งใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 
   1. ทางการเกษตร 
      1.1 การปรับปรุงพันธุ์พืช (Mutation Breeding) เช่น พันธุ์ข้าว กข 6 , กข 10 , กข 15 , ถั่วเหลืองพันธ์ดอยคำ , กล้วยหอมทอง KU1
      1.2 การกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยการทำหมัน (Sterile Insect technique) เช่น กำจัดแมลงวันผลไม้บนดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ 
      1.3 การถนอมอาหาร (Food Preservation) โดยศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ให้บริการ ดังนี้ 
         ก. ยับยั้งการงอก : มันฝรั่ง , หอมใหญ่ , กระเทียม , ขิง 
         ข. ชะลอการสุก : มะม่วง , มะละกอ 
         ค. ชะลอการบาน : เห็ด 
         ง. ทำลายพยาธิ : เนื้อหมู , แหนม 
         จ. ลดแบคทีเรียและเชื้อรา : ปลาสด ,เนื้อสด , กุ้งแช่แข็ง , เครื่องเทศ 
         ฉ. ควบคุมแมลง : ข้าว,ถั่วเขียว ,ผลไม้แห้ง ,ปลาแห้ง ,มะขามหวาน 
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วนั้นจะไม่มีรังสีตกค้างอยู่เลย ทั้งนี้เนื่องจากรังสีแกมมาที่นำมาใช้ จะไม่แตกตัวและไม่ทำให้ตัวกลางกลายเป็นรังสีแต่อย่างใด ดังนั้นอาหารที่ผ่านการฉายรังสี จึงปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค 
   2. ทางอุตสาหกรรม ในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 165 แห่ง ทีนำสารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 มาใช้ ดังนี้
      2.1 การวัดระดับ เช่น โรงงานทอผ้า , โรงงานพลาสติก
      2.2 การวัดความหนา เช่น โรงงานโลหะ
      2.3 การวัดความหนาแน่น เช่น โรงงานพลาสติก , โรงงานกระเบื้อง
      2.4 การสำรวจหลุมเจาะ เพื่อเสาะหาแหล่งแร่
      2.5 การฉายรังสีเวชภัณฑ์ เช่น เข็มฉีดยา , ถุงมือ , มีดผ่าตัด และยารักษาโรค

   3. ทางการแพทย์ 
ในประเทศไทยมีสถาบันทางการแพทย์และโรงพยาบาลทีมีเครื่องโคบอลต์-60 อยู่ 39 เครื่อง ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและในการตรวจต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

การจัดเก็บต้นกำเนิดรังสี
        ในทางปฏิบัติคนทั่วไปมักไม่ได้รับรังสีมากเกินไปจนเป็นอันตรายเพราะเนื่องจากในการปฏิบัติงานทางรังสีนั้นจำเป็นต้องใช้วัสดุมาหุ้มหรือกั้น เช่น คอนกรีต , โลหะหรือตะกั่ว เพื่อกำบังรังสีในทิศทางที่ไม่ได้ใช้งาน หรือในการเก็บรักษา เพื่อทำให้อัตราของรังสีลดลง และป้องกันการรั่วไหลของรังสี สารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 ที่ใช้อยู่ทั่วไปเป็นแบบปิดผนึก (Sealed Source) เมื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ต้นกำเนิดรังสีจะอยู่ในวัสดุกำบังรังสี เช่น ยูเรเนียม , ตะกั่ว เวลาใช้งานต้นกำเนิดรังสีจะถูกเคลื่อนออกมาทางช่องฉายรังสีด้วยระบบลม (Pneumatic) รังสีจะถูกฉายไปยังอวัยวะเป้าหมาย 
        สำหรับในทางอุตสาหกรรมหรือการถ่ายภาพด้วยรังสี สารกัมมันตรังสีจะบรรจุอยู่ในโปรเจคเตอร์ ตัวต้นกำเนิดรังสีจะถูกขับเคลื่อนไปยังจุดที่ต้องการ ด้วยอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลเพื่อฉายรังสี หน่วยวัดปริมาณรังสี ปริมาณรังสีมีหน่วยวัดเป็น เกร์ย ( Gray ), แรด( Rad ), ซีเวิร์ต ( Sievert ), แรม( Rem) โดย ปริมาณรังสี 1 เกร์ย = 1 ซีเวิร์ต = 100 แรด และ 1 แรด = 1 แรม 

อันตรายหรือโทษจากรังสี 
        จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ารังสี คือ อนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมจึงไม่มีสี กลิ่น หรือสิ่งที่ทำให้สังเกตเห็นได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับไม่ทราบว่าตนเองได้รับรังสี ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องวัดรังสีที่ได้รับจากภายนอก มีประจำติดตัวไว้ทั้งนี้เพื่อวัดรังสีที่ได้รับว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และในการตรวจวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยด้วยรังสีเอกซ์ ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี จะได้รับรังสีได้ ดังนี้
- จากลำแสงเอกซเรย์จากหลอดเอกซเรย์โดยตรง
- จากรังสีที่รั่ว ( leakage ) จากหลอด
- จากรังสีกระเจิง ( scatter radiation ) ที่ไปกระทบผู้ป่วยนอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น ประกอบด้วย
- การส่งตรวจทางรังสีโดยไม่จำเป็น
- การถ่ายภาพรังสีซ้ำ
- ใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสม
- เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนักถึงหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีและองค์ประกอบต่างๆ ที่สามารถลดปริมาณรังสีได้ 

   การเกิดอันตรายจากรังสีต่อมนุษย์ อาจแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ 
      1. การได้รับรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีจากภายนอก ( External exposure ) ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ขึ้นอยู่กับความแรงของแหล่งกำเนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี แต่ตัวผู้ที่ได้รับอันตรายไม่ได้สารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย จึงไม่มีการแผ่รังสีไปทำอันตรายผู้อื่น
      2. การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ( Internal exposure ) มักพบในกรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซ ของเหลว หรือฝุ่นละอองจากแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี หรือที่เก็บกากสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ประทศญี่ปุ่น การกระจายของสารกัมมันตรังสีจะฟุ้งไปในอากาศ น้ำ มนุษย์อาจได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทางการหายใจฝุ่นละอองของรังสีเข้าไป , กินของที่เปรอะเปื้อนเข้าไป หรือการกิน, การฝั่งสารกัมมันตรังสีเพื่อการรักษา สารกัมมันตรังสีที่อยู่ในร่างกายจะแผ่รังสีออกมา ทำอันตรายต่อร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนกว่าจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายจนหมด และยังสามารถแผ่รังสีไปทำอันตรายคนที่อยู่ใกล้เคียงได้ การได้รับรังสีอาจมีผลต่อร่างกายได้เป็น 2 แบบ คือ 
         1. เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีอาการป่วยทางรังสี ( Acute หรือ Deterministic Effect) เมื่อได้รับรังสีเป็นปริมาณมาก( สูงกว่า 10 แรด ในครั้งเดียว ) ทำให้เซลล์จำนวนมากบาดเจ็บ เสียหาย หรือตาย จะมีผลให้อวัยวะต่าง ๆที่ได้รับรังสี ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ อวัยวะสำคัญของร่างกายที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับรังสี คือ 
            • ไขกระดูก เป็นอวัยวะที่ไวที่สุดและเปลี่ยนแปลงให้เห็นเร็วที่สุด เพราะเป็นอวัยวะที่มีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา 
            • ทางเดินอาหาร นับเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อรังสีรองลงมาจากไขกระดูก 
            • ผิวหนัง ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่ไม่มีแผล แต่รู้สึกแสบร้อน ผิวดำคล้ำ เหมือนตากแดด หรือได้รับปริมาณมาก ผิวหนังจะค่อย ๆ แดงขึ้น ต่อมาพองออกเป็นถุงน้ำใส เมื่อถุงน้ำแตกออกจะเห็นเป็นเนื้อแดงเหมือนถูกไฟไหม้ 
            • อวัยวะสืบพันธ์ 
            • ระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เนื่องจากเซลล์ของระบบประสาทค่อนข้างดื้อต่อรังสี ทำให้การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกทำลายมากกว่าเกิดการตายของเซลล์สมอง 
            • ปอด 

   อาการของผู้ป่วยที่ได้รับรังสี จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 
      ระยะที่ 1 ( Initial Syndrome) เกิดตั้งแต่เริ่มได้รับรังสีหรือหลังได้รับเป็นชั่วโมง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ มีอาการทางผิวหนัง อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจนานหลายวัน 
      ระยะที่ 2 (Remission phase) เป็นช่วงที่อาการของระยะที่ 1 หายไป 
      ระยะที่ 3 (Established acute radiation Syndrome) จะมีอาการและตรวจพบเนื่องจากอวัยวะนั้น ๆ ถูกทำลาย คือ 
         • ไขกระดูก : เม็ดเลือดขาวค่อย ๆ ต่ำลง ทำให้ภูมิต้านทานลดลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย , เกล็ดเลือดลดลงทำให้มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก 
         • ทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ , อาเจียน , ท้องเสีย 
         • ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง : สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อของร่างกาย , หายใจลำบาก ซึ่งถ้ามีอาการของระบบนี้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิต 100 % • อาการทางปอด : เนื้อปอดบวม มักจะเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ 3 – 4 และถ้าได้รับรังสีตลอดทั่วร่างกาย (Whole Body Exposure) จะทำให้เกิดอาการดังนี้ 
            1. ได้รับรังสี 3 – 5 เกรย์ ไขกระดูกไม่มีการสร้างเม็ดเลือดอาจเสียชีวิตถึง 50 % โดยอาจเสียชีวิตภายใน 30 – 60 วัน 
            2. ได้รับรังสี 5 – 15 เกรย์ มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจเสียชีวิตภายใน 10 –20 วัน 
            3. ได้รับรังสีมากกว่า 15 เกรย์ มีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 1–5 วัน 

      2. มีผลระยะยาว ( Delayed หรือ Stochastic Effect) การที่ร่างกายได้รับรังสีปริมาณน้อย ๆ ถ้าเซลล์ตายร่างกายจะไม่เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ถ้าเซลล์ไม่ตายก็อาจเกิดความผิดปกติของเซลล์นั้น ๆผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับรังสี คือ การเป็นโรคมะเร็งและผลกระทบต่อพันธุกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับรังสี และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งนั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะการได้รับรังสีและปริมาณของรังสี ส่วนผลกระทบต่อพันธุกรรมของมนุษย์นั้น สรุปได้ดังนี้ 
         (1) การก่อกลายพันธุ์ (Mutation) ที่เกิดจากรังสีมักจะเป็นอันตราย 
         (2) ปริมาณรังสีใด ๆ ก็ตาม (ถึงแม้จะปริมาณน้อย) ก็มีบทบาททำให้เกิดความเสี่ยงทางพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์ 
         (3) ความถี่ของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากรังสี เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณรังสี 
         (4) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรังสีขึ้นกับอัตราการได้รับรังสีและระยะเวลาที่ได้รับรังสี 
         (5) ลักษณะกลายพันธุ์ที่เกิดจากรังสีส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะด้อย ดังนั้นจะยังไม่มีการแสดงออกในหลายชั่วคน ทำให้มีประเด็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อกล่าวถึงอันตรายจากรังสี คือ 
            - ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์และทารกในครรภ์ อาจทำให้เป็นหมัน หรือส่งผลถึงทารก ทำให้แท้ง , มีความพิการแต่กำเนิดและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

ตาราง แสดงผลกระทบของรังสีต่อการเป็นหมัน



ตาราง แสดงผลกระทบของรังสีต่อทารกในครรภ์


ผลผลต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งต้องได้รับรังสีปริมาณมากในครั้งเดียว หรือหลาย ๆ ครั้ง ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยจะแสดงผลเมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายปี 

ตารางแสดงผลกระทบจากรังสีต่อร่างกาย โดย International Commission on Radiological Protection (ICRP) ซึ่งเป็นองค์การสากลในการป้องกันอันตรายจากรังสี ได้รวบรวมผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายไว้ดังนี้ 



ตาราง แสดง ปริมาณรังสีที่จำกัดให้ประชาชนทั่วไปและผู้ปฏิบัติงานทางรังสีได้รับ ต่อปีตามเกณฑ์ ของ ICRP



หมายเหตุ มิลลิซีเวิร์ตเป็นหน่วยวัดปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ และโดยปกติใน 1 ปี แต่ละคนจะได้รับรังสีจากธรรมชาติประมาณ 2.23 มิลลิซีเวิร์ต ดังนี้



การป้องกันอันตรายจากรังสี
สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ควรปฏิบัติดังนี้ 
   1. ใช้เวลาปฏิบัติงานให้สั้นที่สุด เนื่องจากปริมาณรังสีที่ได้รับนั้นจะขึ้นกับเวลาของการได้รับรังสี และควรหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น 
   2. รักษาระยะทางให้ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุด การอยู่ห่างเท่ากับเป็นการอาศัยอากาศ เป็นกำแพงกำบังรังสีได้ ถ้าอยู่ที่ห่างจากเดิม 2 เท่า ปริมาณรังสีจะลดลงเหลือ 1 ใน 4 
   3. จัดให้มีเครื่องกำบังรังสี ให้เหมาะสมตามคุณสมบัติของรังสีแต่ละชนิด ได้แก่ 
      - รังสีแอลฟ่าสามารถกั้นได้ด้วยแผ่นกระดาษแข็ง 
      - รังสีเบต้าสามารถกั้นได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลต่ำ เช่น แผ่นพลาสติกหนาๆ 
      - รังสีแกมม่าหรือรังสีเอกซ์สามารถกั้นได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลสูง เช่น ตะกั่ว , เหล็ก 
      - รังสีนิวตรอน สามารถกั้นได้ด้วย คอนกรีต , ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน 
   4. การจำกัดขอบเขตของลำรังสีจะมีประโยชน์มากในการป้องกันการได้รับรังสีมากเกินความจำเป็น นั้นคือการเปิดขนาดของขอบเขตของลำรังสีตามขนาดของอวัยวะที่ต้องการตรวจ ที่ทำให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดและภาพออกมากชัดเจน
   5.ขณะถ่ายภาพรังสี เจ้าหน้าที่จะต้องมีฉากกั้นรังสีทุกครั้ง และไม่ยื่นส่วนใดออกมานอกฉาก โดยไม่จำเป็น 
   6. ถ้ามีความจำเป็นต้องจับตัวผู้ป่วยขณะถ่ายภาพรังสี ควรให้ญาติหรือผู้อื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีเป็นผู้จับ และต้องสวมเสื้อและใส่ถุงมือกั้นรังสีทุกครั้ง 
   7. สภาพเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับรังสี ต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและใช้งานได้ตลอดเวลา 
   8. ควรติดเครื่องมือวัดรังสีไว้ติดตัวตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน เพื่อตรวจสอบปริมาณ รังสีที่เราได้รับ 
   9. ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีควรระมัดระวังการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางการหายใจ การกิน หรือการสัมผัสทางผิวหนังหรือแผล 
   10. สารกัมมันตรังสีควรมีป้ายบอกชัดเจน ทั้งในเรื่องของ ชนิด ประเภท วันที่ ความแรงของสารกัมมันตรังสี 

สำหรับประชาชนทั่วไป 
   1. ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสี หรือในบริเวณที่มีการปฏิบัติงานทางรังสี ซึ่งโดยทั่วไปจะมีป้ายเตือนเป็นรูปใบพัดสามแฉกติดอยู่ 
   2. สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจหรือการรักษาที่ต้องใช้รังสี แต่หากมีความจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 
   3. หลีกเลี่ยงการถ่ายเอกซเรย์หลายครั้ง หรือถ่ายซ้ำโดยไม่จำเป็น 
   4. สำหรับผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นต้องถ่ายเอกซเรย์ ควรมีเครื่องกำบังรังสีให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ 
   5. ห้ามสตรีมีครรภ์และเด็ก เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับการฝังหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสี 
   6. ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสี ไม่ควรกลับบ้าน ก่อนได้รับความยินยอมจากแพทย์ 

   เครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคล คือ อุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูล ปริมาณรังสีจากภายนอกร่างกายที่บุคคลนั้นได้รับ เพื่อใช้ในการประเมินระดับอันตรายจากการได้รับรังสี มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ
      1. Pocket dosimeter : ใช้กับผู้ที่ต้องเข้าไปในบริเวณที่มีรังสีค่อนข้างสูงในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อออกจากบริเวณนั้นก็อ่านค่าปริมาณรังสีที่ได้รับได้ทันที 
      2. Film Badge : เป็นฟิล์มที่อยู่ในตลับ วัดได้ทั้งรังสีเอกซ์ , รังสีแกมม่า , เบต้าและนิวตรอน วัดปริมาณรังสีในช่วงกว้างและสามารถแยกได้ว่า ได้รับจากรังสีชนิดใดเป็นปริมาณเท่าไหร่ ส่วนด้านนอกของกระดาษห่อฟิล์ม จะมีชื่อ วันที่ที่เริ่มใช้และเลขประจำตัวของผู้ใช้พิมพ์ไว้ 
      3. TLD ( Thermolumine scene dosimeter ) : มีหลายชนิด ช่วงของการใช้งานต่างกัน สามารถวัดปริมาณรังสีที่น้อยกว่าและมีความแน่นอนกว่าฟิล์ม นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่มีราคาแพงกว่าฟิล์มและเก็บข้อมูลถาวรอย่างฟิล์มไม่ได้ 

ข้อควรระวังในการใช้เครื่องวัดรังสีประจำตัว
   1. ห้ามยืมหรือแลกเปลี่ยนกันใช้งาน 
   2. ระวังไม่ให้เปียกน้ำ หรือได้รับความชื้น หรือแตกหัก เสียหาย 
   3. ระวังไม่ให้อยู่ใกล้ความร้อน หรือที่ที่ได้รับแสงแดดโดยตรง เช่น ในรถยนต์ 
   4. ใช้เครื่องวัดรังสีให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ 
   5. ส่งคืนเมื่อครบกำหนด เพื่อการประเมินผลการรับรังสี ( ฟิล์มและ TLD นำมาประเมิน ทุก 1-3 เดือน ) 

ที่มา รุ่งทิพย์ อุดมวิเศษสันต์
หน่วยรังสีวินิจฉัย
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 

<