ความจำของกล้ามเนื้อ

Muscle Memory
ความจำของกล้ามเนื้อ

ท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Muscle

          memory ไม่ว่าจะอ่านจากนิตยสารกอล์ฟหรือตำรากอล์ฟทั่วไป มักใช้คำนี้ซึ่งหมายถึง การเรียนกอล์ฟ จะให้ได้ดี ต้องฝึกจนให้กล้ามเนื้อจำได้ โดยสามารถสั่งให้ลูกกอล์ฟไปทางไหน ได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะ ตีอย่างไร หมุนตัว ถ่ายน้ำหนักแบบไหน

          Muscle memory เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายและ เป็นที่เข้าใจกัน ถ้าจะใช้ศัพท์ทางการแพทย์หรือทางสรีระวิทยาจะใช้คำว่า Motor memory จะถูกต้องกว่า เพราะกล้ามเนื้อไม่มีความจำ ทำหน้าที่หดตัวและคลายตัวออก เท่านั้น โดยรับคำสั่งและควบคุมจากสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) บริเวณMotor area และผสมผสานจากสมองส่วนต่าง ๆ อีกหลายส่วนเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปราณีตและเป็นอัตโนมัติ

          ทางด้านการแพทย์ สามารถผ่าตัดย้ายที่เกาะของกล้ามเนื้อเปลี่ยนหน้าที่ของกล้ามเนื้อ ได้ เช่น ผู้ป่วยที่เส้นประสาทเรเดียลเสีย (Radial nerve injury) ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ การผ่าตัดรักษาโดยย้ายที่เกาะปลายกล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ไปต่อกับเอ็นที่เหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยก็สามารถเหยียดนิ้วมือได้ ระยะแรกอาจต้องฝึกความรู้สึกว่า งอข้อมือก่อน ฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถใช้กล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ให้สามารถเหยียดนิ้วมือได้จนเป็นอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งยกกล้ามเนื้อทั้งมัดที่งอเข่าบริเวณต้นขาด้านใน (Gracilis muscle) ยกกล้ามเนื้อมัดนี้มาไว้ที่ต้นแขน (ในกรณี ผู้ป่วยที่งอข้อศอกไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีอื่นได้) ต่อที่เกาะต้นไว้ที่หัวไหล่ ที่เกาะปลายต่อกับเอ็นที่งอข้อศอก หลังจากนั้นต่อหลอดเลือด , เส้นประสาท เข้ากับกล้ามเนื้อมัดนี้ ( เรียก Free gracilis muscle transfer ) เมื่อเส้นประสาททำงานได้ดี ก็สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อมัดนี้งอข้อศอกได้ 

          จากตัวอย่างผู้ป่วย จะเห็นได้ชัดเจนว่า กล้ามเนื้อมีหน้าที่สำคัญคือ หดตัว จากการกระตุ้นผ่านระบบประสาท เท่านั้น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวก็จะดึงที่เกาะต้น และที่เกาะปลายเข้าหากัน ไม่สำคัญว่า เดิมกล้ามเนื้อจะอยู่ที่ตำแหน่งไหน หรือมีหน้าที่อะไรทั้งนั้น

ความจำ (memory)

          ความจำเป็นความสามารถของสมอง (ไม่ใช่ของกล้ามเนื้อ) ที่จะเก็บข้อมูลไว้ และสามารถเรียกกลับมาใช้ได้
กระบวนการที่ทำเกิดความจำ
          ต้องอาศัยข้อมูลที่เข้ามาที่สมอง จากตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รับภาพจากจอตา , รับเสียงผ่านอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน (Organ of corti) รับรู้ตำแหน่งต่าง ๆ ของแขน ขา ข้อ ว่าอยู่ตำแหน่งใดผ่าน proprioceptive sense 
          การเก็บความจำขึ้นอยู่กับสมองหลายบริเวณ ซึ่งร่วมถึงระบบการทำงานของระบบการรู้สติ เพื่อให้สมองตื่นตัวดี จึงจะสามารเก็บความจำได้ ถ้าไม่สนใจ สมองไม่ตื่นตัว เช่น หลับหรือหมดสติ ก็ไม่สามารถเก็บความจำได้

ชนิดของความจำ

1. ความจำการรับความรู้สึก (Sensory memory) ความสามรถจำข้อมูลที่ส่งเข้ามา ที่สมองในช่วงสั้น ๆ เช่น การมองวัตถุแล้วเบนสายตาไปที่อื่น ภาพจะคงที่นานประมาณ 250 มิลลิวินาที จากนั้นจะจางหายไปในเวลาไม่ถึง 1 วินาที โดยถูกแทนที่สัญญาณภาพที่เข้ามาใหม่ การได้ยินเสียงจะจำได้ไม่ถึง 5 วินาทีถ้าไม่มีการกระตุ้นซ้ำ

2. ความจำระยะสั้น (Short-term memory ) เป็นความจำช่วงสั้น 10 วินาที จนถึง 2 – 3 นาที เช่น การจำเบอร์โทรศัพท์ อ่านทบทวน สามารถจะจำเบอร์และหมุนได้และจะสั่งใน ระยะสั้น ๆ ถ้าไม่มีการทบทวนซ้ำ

3. ความจำระยะยาวหรือความจำถาวร (Long term memory) สามารถจำได้นาน ๆ เป็นวัน เป็นปี เช่น จำชื่อตนเอง สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

กลไกลการเกิดความจำ

ความจำระยะสั้น 
จากการศึกษา 

1. ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเปลือกสมอง (cerebral cortex) 1 นาที พบว่าบริเวณที่ถูกกระตุ้นยังมีศักย์ไฟฟ้า ต่อไปอีก ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังหยุดกระตุ้น เรียก reverberating circuit ซึ่งเป็นรากฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งจะหายไปหลังจากมี circuit อันใหม่เข้ามา 

2. กระตุ้นสมอง 2 – 3 นาที แล้วกระตุ้นซ้ำอีก เซลล์ประสาทจะตอบสนองได้รุนแรงกว่าปกติ เรียก post titanic potentiation เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงการประสาน (synapse) ของเซลล์ประสาทชั่วคราว ทำให้เกิดความจำระยะสั้นได้ 

ความจำระยะยาว

1. การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของจุดประสานประสาท (Synapse) พบว่าเส้นใย ประสาท (Terminal fibrils) ที่จุดประสานประสาท ของเซลล์สมองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นแต่บริเวณเซลล์ประสาทของสมองที่ทำงานลดลง เช่น สัตว์ทดลองที่ตาบอด จำนวน Terminal fibrils ที่มาที่จุดประสานประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นน้อยลง จากการศึกษา เชื่อว่า กลไกลความจำถาวรเกิดจาก การเปลี่ยนรูปร่าง จำนวนของจุด ประสานประสาท อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เพิ่มการทำงานของจุดประสานประสาท ทำให้สัญญาณประสาทผ่านได้ง่ายขึ้น การทำงาน การทบทวนความจำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จะทำให้ความจำเรื่องนั้น ๆ ดีขึ้นและลืม ได้ยาก

2. การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี 

2.1 การทดลองในหนู พบว่า เซลล์ประสาทที่ทำงานมาก ๆ จะมีการสร้างโปรตีน และ RNA เพิ่มขึ้น การให้สาร Actinomycin D ที่ยับยั้งการสร้าง RNA จะลดความจำชั่วคราวในหนู

2.2 การทดลองใช้ Growth hormone เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และมีอิทธิพล ต่อความจำถาวร

2.3 ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มีผลต่อการเกิดความจำ เด็กที่ขาดฮอร์โมนนี้ จะทำ ให้เกิดปัญญาอ่อนได้

ความจำระยะยาวมี 2 ชนิด

1. Reflexive (Implicit) memory เป็นความจำที่เกิดโดยอัติโนมัติ ไม่ต้องการความคิด ความจำชนิดนี้เกิดจากการฝึก หรือทำซ้ำบ่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เกี่ยวข้องกับทักษะการทำงานของร่างกาย บางทีเรียกว่า muscle memory เช่น การเล่นกีฬา , การตีกอล์ฟ , การขับรถ , การทำงานในชีวิตประจำวัน

2. Declarative (Explicit) memory 
เป็นความจำที่ต้องคิด มีสติ เอาใจใส่ ตั้งใจ เพื่อที่จะเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ เอามา อธิบายเป็นคำพูด หรือการเขียนบรรยายได้ สามารถเปรียบเทียบ หรือแปรผลได้

ข้อสรุปสำหรับนักกอล์ฟ

1. ท่านจะต้องแสวงหาข้อมูล จากการอ่านตำรากอล์ฟ ดูทีวี หรือจากครูผู้ฝึกสอน กอล์ฟ เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์และมีการเปลี่ยนแปลงสรีระวิทยาของสมอง (ไม่ใช่กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว)

2. ฝึกการกระทำโดยใช้ความพยายาม เพื่อให้การเรียนรู้ได้ผลและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ควรจะเรียนกับครูผู้ฝึกสอนกอล์ฟ จะได้ผลดีกว่าถ้าทำไม่ได้ ต้องเรียนรู้การปรับสภาพร่างกาย ที่สามารถจะใช้วงสวิงได้ เช่น การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัวของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3. ฝึกจำการรับความรู้สึก เช่น ท่าจรดกอล์ฟ แบ็คสวิง ดาวน์สวิง อิมแพ็ค และ ฟอลโลว์ทรู ตรวจสอบแต่ละตำแหน่ง โดยดูจากกระจก หรือถ่าย VDO ฝึกหลับตาสามารถรับรู้ความรู้สึกของตำแหน่งต่าง ๆ ได้(ส่วนใหญ่เราจะรับความรู้สึกจากตา ทำให้การเรียนรู้ความรู้สึกของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีน้อย) ฝึกจัดท่าตำแหน่งต่างๆจนเกิดความเคยชิน

4. ฝึกแต่ละขั้น ทำซ้ำจนเกิดความจำระยะสั้น ซึ่งต้องฝึกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ แล้วจึงฝึกขั้นต่อไป ข้อเสียของผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องความจำ คือ จะฝึกที่ละหลาย ๆ อย่าง ปะปนกัน ทำให้ไม่มีความจำระยะสั้นที่ถูกต้องแม้แต่อย่างเดียว ทำให้การเล่นกอล์ฟไม่สามารถควบคุมวงสวิงได้

5. กอล์ฟทิป บางครั้งไม่ได้ผล หรือเป็นอันตรายสำหรับวงสวิงของท่าน นักกอล์ฟที่ ขยันอ่านค้นคว้ามีทิปใหม่ ๆ ซึ่งกอล์ฟทิปบางอย่างก็แนะนำตรงข้ามกันก็มี ทำให้เกิดสับสนขาดความมั่นใจและเมื่อยังไม่ได้นำมาฝึกจนใช้ได้แน่นอนแล้ว จะทำให้ควบคุมวงสวิงไม่ได้ กอล์ฟทิปหลาย ๆ อัน ไม่เหมาะสำหรับกับนักกอล์ฟทุกคน ต้องเลือกสิ่งที่เรานำเอามาใช้ แล้วเกิดประโยชน์ได้จริง เพราะ รูปร่าง ความแข็งแรง การยืดเหยียดของนักกอล์ฟแต่ละคนแตกต่างกันออกไป

6. การซ้อมบ่อย ๆ ในวงที่ไม่ดีจนเกิดความเคยชินทำให้แก้ไขยากขึ้น เช่น นักกอล์ฟที่ เล่นมานาน ๆ แต่วงสวิงไม่ดี ตีสไลด์ ไม่ได้ระยะ การแก้ไขจะยากมากขึ้น ต้องเริ่มต้นพื้นฐานใหม่ แต่ละขั้นตอนจนเกิดความจำระยะสั้นให้ได้ก่อน การแก้ไขใหม่ ๆ อาจจะตีกอล์ฟไม่ได้ดีเท่าเดิม ถ้ามีความตั้งใจ อดทนฝึกจนมีวงที่ถูกต้องแล้วผลจะดีขึ้นมาก เช่น นิดฟัลโด ในการแก้ไขวงสวิง กว่าจะกลับมาดีได้ถึงจุดสูงสุดใช้เวลา 2 ปี 

7. เมื่อฝึกวงสวิงได้ดี ก็ต้องหมั่นตรวจสอบวงสวิง และฝึกสม่ำเสมอ เพราะจะมีการ เปลี่ยนแปลงของวงสวิงได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพของร่างกายและจิตใจด้วย

8. เมื่อท่านนักกอล์ฟฝึกจนถึงขั้น Reflexive memory หรือ Muscle memory การ เล่นกอล์ฟต้องฝึกวางแผน เกมการเล่น ว่าจะเลือกไม้อะไร ตีวางลูกตำแหน่งไหน จะตีลักษณะอย่างไรลูกลอยโด่ง ลูกพุ่งต่ำ หรือเลี้ยว หลังจากนั้นก็จะใช้ Muscle memory บังคับลูก ไปตามที่วางแผน ไม่ต้องคิดถึงที่วงสวิง หรือเกร็งมากเกินไป ห้ามนึกถึงสกอร์เด็ดขาด เพราะจะทำให้ Muscle memory เสียไป ซึ่งถ้าท่านฝึกทุกครั้งในการเล็ง การจรดไม้แบบเดิมทุกครั้งที่เรียกการทำ Routine ก็จะทำให้ท่านไม่ต้องนึกถึงวงสวิง และผลออกมาจะแน่นอนกว่า การคิดถึงวงสวิงซึ่งอาจจะตีผิดพลาดได้

จากนิตยสารสมาร์ทกอล์ฟ 

<