ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ

ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ ในการเล่นกอล์ฟให้ดีขึ้น ท่านนักกอล์ฟสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 3 อย่าง คือ เปลี่ยนไม้กอล์ฟ ปรับเปลี่ยนวงสวิง ปรับปรุงสมรรถภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟเอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ อุปกรณ์เกี่ยวกับกอล์ฟดีขึ้นมาก นักกอล์ฟโดยทั่วไปสามารถตีไกลขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน การศึกษาวงสวิง การใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้านการแพทย์ รวมทั้งการถ่ายภาพวีดีทัศน์ความเร็วสูง การประมวลข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้เข้าใจและพัฒนาวงสวิงของกอล์ฟได้มากขึ้น รวมทั้งการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้มากขึ้น

ผมอยากจะเน้นให้ท่านนักกอล์ฟ เข้าใจถึงการซ้อมกอล์ฟว่าควรจะซ้อมมากน้อยแค่ไหน ถึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและไม่เกิดการบาดเจ็บ

การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในร่างกาย
           เนื้อเยื่อในร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับแรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อนั้น เมื่อปี 1982 นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Julius Wolff ได้ศึกษากระดูกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการได้รับแรงที่มากระทำกับกระดูก จะมีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นที่รู้จักกันดีของแพทย์ปัจจุบัน เรียก Wolff’s Law แต่ถ้ากระดูกไม่ได้รับแรงมากระทำ จะลดความแข็งแรงและความหนาแน่นกระดูกลดน้อยลงในการศึกษาต่อมา รายหลังพบว่าเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดอื่นมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ด้วย เช่น เอ็น (tendon), เอ็นยึดกระดูกและข้อ (ligament) และกล้ามเนื้อ




รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเมื่อมีแรงมากระทำ

          แรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างก่าย เช่น กล้ามเนื้อเอ็น, เอ็นยึดกระดูกและข้อเปลี่ยนแปลงตามการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน จากน้อยมาก ปานกลาง จนถึงระดับสูงมาก เช่น แรงกระทำที่มีต่อกระดูกน้อยมากในผู้นอนพัก และมีแรงกระทำอย่างมากในผู้ที่วิ่งกระโดด
จากรูป แสดงขนาดของแรงที่มากระทำ ถ้าต่ำเกินไปจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ เอ็นไม่แข็งแรง กระดูกบางหักง่าย ในผู้ที่ค่อนข้างจะทำงานเคลื่อนไหวสม่ำเสมอกระดูกกล้ามเนื้อเอ็นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่อ่อนแอแต่ก็ไม่แข็งแรงขึ้น  ในการเพิ่มแรงกระทำ ที่ใช้ในการฝึกเพิ่มขึ้นกว่าการใช้ชีวิตประจำวัน เนื้อเยื่อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีการบาดเจ็บในระดับเซลล์ เรียก Microdamage ร่างกายตอบสนองโดยมีการปรับตัว (remodeling) สร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น มี Microdamage มาก จะมีการปรับตัวมาก และใช้เวลาในการปรับตัวและพักนานมากขึ้น ผลของการปรับตัวจะทำให้กระดูกเอ็นกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น ถ้ามีแรงกระทำมากเกิน จะทำให้เกิดการฉีกขาด การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์) ทำให้เกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อนั้น เช่น กระดูกหักร้าว เอ็นฉีก กล้ามเนื้อฉีกขาดได้

ขนาดของแรงและความถี่




รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของแรง และความถี่ที่มากระทำเป็นผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ

           แรงที่มากระทำบางครั้งไม่ได้เกิดจากความรุนแรงหรืออุบัติเหตุ แต่เกิดจากแรงกระทำ ขนาดน้อย ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ว่ามีการทำซ้ำบ่อย ๆ ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ การบาดเจ็บลักษณะที่แรงขนาดน้อยกระทำต่อส่วนของเนื้อเยื่อ แต่ทำซ้ำที่เดิมบ่อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรียก Overuse injury ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 อย่าง คือขนาดของแรง จำนวนครั้งที่ทำซ้ำและระยะเวลาที่พักเพื่อให้เนื้อเยื่อมีการปรับตัว การบาดเจ็บชนิดนี้พบได้บ่อยในนักกอล์ฟฝีมือดี เช่น บาดเจ็บเอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก

ข้อสรุปสำหรับท่านนักกอล์ฟ

1. ท่านนักกอล์ฟควรหาโอกาสออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ว่าในที่ทำงาน หรือสนาม กอล์ฟ ขึ้นลงบันได 1 – 2 ขั้น ไม่ควรใช้ลิฟต์ ถ้าท่านเดินไหวไม่ควรใช้รถกอล์ฟ เพื่อรักษากระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ
2. การฝึกออกกำลังกายเพิ่มขึ้นที่ละน้อย และสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายท่านแข็งแรงขึ้น
3. ถ้าท่านมีอาการปวด เมื่อย ท่านควรจะพัก ถ้าอาการหายได้ปกติ ภายใน 1 – 2 วัน ท่านจะแข็งแรงขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติมากขึ้น ท่านควรพบแพทย์เพื่อการรักษา
4. ในการซ้อมกอล์ฟถ้าท่านซ้อมไดร์ฟด้วยหัวไม้เต็มที่ จำนวนครั้งท่านจะต้องไม่มาก เกินจนถึงกับมีอาการปวด ควรสลับกับการซ้อมลูกสั้นต่ำกว่า 100 หลาลงมา
5. การซ้อมหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการสู่ความเป็นเลิศ แต่ท่านต้องซ้อม ให้ถูกวิธี และค่อย ๆ ฝึกสร้างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับวงสวิงให้แข็งแรงร่วมด้วย และรู้วิธีป้องกันการบาดเจ็บด้วยครับ

 

โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี

<