ข่าวดีของหญิง”โสด” ฝากไข่ใน “ธนาคารไข่” จริง หรือ มั่วนิ่ม

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิง ทุกคน ก็ต้องมีสัญชาตญาณความเป็นเพศแม่ในตัว เมื่อเติบโตขึ้น แก่ตัวลง ก็อยากจะสัมผัสความรู้สึกของการเป็นแม่ อยากมีคนให้รักได้ทั้งชีวิต อยากมีคนที่รักเราได้อย่างจริงใจ นั่นก็คือการมีลูกซักคนไว้เลี้ยงดู ดูแลกันตลอดทั้งชีวิต แต่ถ้าเป็นสาวโสดจะทำยังไงดีล่ะ จะมีลูกได้ยังไงดี หรืออนาคตเผื่อบุญพาวาสนาส่งให้เจอเนื้อคู่เมื่อแก่แล้ว ไข่หมดประสิทธิภาพแล้วก็อดมีลูกกันสินะ ถ้าเราสามารถคงสภาพไข่เราเพื่อรอวันพบเจอเนื้อคู่ได้คงดี
นั่นไง......ความคิดหรือไอเดียเรื่อง ฝากไข่ หรือ ธนาคารไข่ จึงเกิดขึ้น

มีข่าวบันเทิงหลายสำนัก อ้างว่า ดาราสาวโสดพากันเฮโลไปฝากไข่ไว้รอสามีในอนาคตบ้างล่ะ ดาราที่เป็นแฟนกัน ยังไม่พร้อมแต่งงานแต่จูงมือกันไปฝากไข่ฝากสเปริมไว้ก่อนบ้างล่ะ มันทำได้จริงเหรอ มาฟังข้อเท็จจริงกันตรงนี้ แฉกันให้ถึงพริกถึงขิง ล้วงลึกเบื้องลึกวงการแพทย์กันเลยค่ะ

“ไข่” ของผู้หญิง สร้างมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ คือยังไม่คลอดออกมาก็จะมีกระบวนการสร้างเซลล์ไข่เตรียมพร้อมแล้วประมาณ 7 ล้านใบ แต่เมื่อคลอดออกมา ไข่จะสามารถเริ่มทำงานได้เมื่อเข้าสู่วัยสาวหรือเริ่มมีประจำเดือน ไข่จะมีการเลือกขึ้นมาทุกเดือนประมาณ 10-20 ใบ เพื่อตกไข่ได้ใบเดียว ใบที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถตกไข่ออกมาได้ ดังนั้นทั้งชีวิตของผู้หญิงอาจเกิดการตกไข่ได้เต็มที่แค่ประมาณ 400 รอบ หรือ 400 ใบ โดยที่ไข่ก็จะแก่ไปตามอายุ ยิ่งอายุมากไข่ก็จะแก่มาก และอาจไม่สามารถปฏิสนธิกับสเปริมจนเป็นตัวอ่อนได้ อายุที่เหมาะสมสำหรับไข่ที่ดีที่สุด และพร้อมตั้งครรภ์คือ 24-30 ปี ดังนั้นความคิดที่ว่า ถ้าเราสามารถดึงไข่ในช่วงที่ดีที่สุดออกมารอสเปริมล่วงหน้า น่าจะทำให้เราได้บุตรที่ดีที่สุด

เทคนิคการเก็บไข่ออกมา คือการใช้เข็มเจาะดูดไข่ผ่านทางช่องคลอด โดยการเจาะเข้าไปในฟองไข่โดยตรงเพื่อดูดไข่แดง คิดง่ายๆถ้าเปรียบเทียบกับไข่ไก่ ไข่ที่เราต้องการนำมาผสมคือไข่แดงด้านในเท่านั้น ไข่ขาวกับเปลือกไข่เราไม่ต้องการ ดังนั้นเราก็จะเจาะผ่านเปลือกไข่และดูดเอาไข่แดงออกมาจากร่างกาย แน่นอน!!! เราไม่สามารถใช้เข็มเจาะสดๆผ่านเนื้อช่องคลอดเข้าไปง่ายๆได้ เราต้องทำให้ห้องปราศจากเชื้อหรือห้องผ่าตัด ดมยาสลบให้หลับสนิท มียาแก้ปวดให้ทางกระแสเลือด แล้วจึงจะเจาะเข็มเก็บไข่ออกมาได้ แต่ถ้าเราลงทุนดมยาสลบ ลงทุนโดนเจาะขนาดนั้น ถ้าเก็บมาเพียงใบเดียวคงไม่คุ้มค่าความเจ็บตัว ไม่คุ้มค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าบริการสถานพยาบาล เราจึงต้องผ่านขั้นตอนการกระตุ้นไข่ให้ได้ไข่มากกว่า 1 ใบ จะได้กี่ใบ 5-20 ใบก็แล้วแต่ว่าร่างกายในช่วงนั้นเรามีการดึงไข่ขึ้นมารอการกระตุ้นจากแพทย์มากน้อยแค่ไหน

ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ ก็คือการฉีดยาที่หน้าท้อง ประมาณ 8-10 วัน โดยต้องฉีดทุกวัน เพื่อทำให้ไข่ทุกใบโตได้พร้อมเพรียงกัน และคุณภาพดีพร้อมสำหรับการเก็บไข่
จากนั้นเมื่อเราเก็บไข่ได้แล้ว เราก็จะนำมาตรวจสอบคุณภาพไข่ในห้องปฏิบัติการ ไข่ที่ตรวจสอบแล้วพร้อมสำหรับการแช่แข็งจะถูกนำเข้ากระบวนการแช่แข็ง (egg freezing หรือ oocyte cryopreservation) ด้วยไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ –196องศา ด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบใหม่เรียกว่า Vitrification  ไข่ที่แช่แข็งด้วยเทคนิคแข็งตัวอย่างรวดเร็วในไนโตรเจนเหลวนี้ จะช่วยลดความเสียหายให้กับไข่ได้มากที่สุด สามารถคงความสมบูรณ์ และนำมาใช้หลังการละลายไข่ที่แช่แข็งเพื่อปฏิสนธิเมื่อพร้อมที่จะมีบุตรต่อไป


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเซลล์ไข่เป็นเซลล์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีความซับซ้อนของเซลล์มากเมื่อเทียบกับเซลล์สเปริม หรือเซลล์ตัวอ่อนซึ่งเกิดจากการผสมแล้วระหว่างไข่และสเปริม การแช่แข็งที่จะคงสภาพเซลล์ทั้งหมดของไข่ฝ่ายหญิง ยังสู้ความสมบรูณ์ของเซลล์สเปริมหรือตัวอ่อนไม่ได้ ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนในงานวิจัยทั่วโลกว่าคงสภาพได้ดีทั้งในไทยเอเชีย ยุโรปหรืออเมริกา

ดังนั้นในทางการแพทย์ หากแต่งงาน สมรสแล้ว มีสเปริมเป็นของตัวเองแล้วก็ควรทำการผสมเป็นตัวอ่อนเลย หรือเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วเพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ก่อน แล้วจึงทำการแช่แข็งตัวอ่อน ที่เรียกว่า embryo freezing หรือ embryo cryopreservation เมื่อพร้อมมีบุตร ก็ละลายตัวอ่อนออกมาฝังตัวในมดลูกได้เลย
อ้าว....แล้วคนโสดล่ะคะ ตกลงว่า ธนาคารไข่ ก็ มั่วนิ่ม ใช่มั๊ยคะ

ไม่มั่วค่ะ ทำได้จริง แต่ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่รับประกันว่า ไข่ที่แช่แข็งแล้ว เมื่อละลายออกมาจะสามารถปฏิสนธิกับสเปริมได้ 100% ไม่รับประกันว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนโครโมโซมและเจริญเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์ได้เต็มที่ ดังนั้นในสถานพยาบาลบางแห่งก็รับทำ อาจมีการโฆษณาชวนเชื่อให้เข้ามารับบริการได้ ก็ไม่ใช่เรื่องโกหก ก็ทำได้จริง แต่ผู้รับบริการก็ต้องมีการทำความเข้าใจก่อนว่ามีโอกาสที่จะไม่สำเร็จ หรือในบางสถานพยาบาลก็ไม่รับทำเลย เพราะคิดว่าไม่อยากให้ผู้รับบริการมีความหวังที่ไม่ชัดเจน

ดังนั้นหากหญิงโสดท่านใดตัดสินใจแล้ว ยังไงก็ยืนยันที่จะฝากไข่ ก็ลองโทรสอบถามสถานพยาบาล รพ.แต่ละแห่งที่มีศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก นัดคุยกับแพทย์โดยตรงได้เลย ว่ากรณีของเราฝากได้มั๊ย เหมาะสมหรือไม่ ราคาเท่าไหร่ เลือกสถานบริการตามสะดวกได้เลยนะคะ

ใน รร.แพทย์ มีการฝากไข่กันจริง ทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทำในกรณีคนไข้มะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และยาเคมีบำบัดจะเกิดการทำลายเซลล์ไข่ให้หมดประสิทธิภาพลงด้วย ดังนั้นทางเลือกเดียวที่จะคงสภาพการเจริญพันธ์ให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถมีบุตรได้ในอนาคต นั่นคือการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมีบุตรได้ของเพศแม่ไว้ให้เต็มที่ที่สุด จึงมีธนาคารไข่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะค่ะ

สุดท้าย ท้ายสุดของบทความนี้ หมอขอเอาใจช่วยสาวโสดทุกคนให้พบเจอรักแท้ พบเจอสเปริมที่เหมาะสมกับไข่ของเราโดยเร็ว ไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่างานนี้ฝากได้จริงหรือมั่วนิ่มนะคะ

โดย พญ. อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์

<