การเตรียมพร้อมก่อนรับการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal anesthesia)

การเตรียมพร้อมก่อนรับการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal anesthesia)

         การฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่  (ยาชา)   เข้าช่องน้ำไขสันหลังหรือการบล็อกหลัง   เป็นการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย   โดยการใช้เข็มขนาดเล็กแทงเข้าไปบริเวณหลังส่วนล่างจนถึงช่องไขสันหลังแล้วฉีดยาชา  เพื่อให้เกิดการชาบริเวณช่วงล่างของร่างกาย เหมาะสำหรับการผ่าตัดบริเวณสวนล่างของร่างกาย เช่น เท้า  ข้อเข่า ขา  ข้อสะโพก หรือช่องท้องสวนล่าง  เช่น  ไส้ติ่ง   มดลูกรังไข่   รวมถึงการผ่าคลอดลูกด้วย โดยวิสัญญีแแพทย์มักจะเลือกใช้การบล็อกหลังเพื่อระงับความรู้สึกเพื่อทําการผ่าตัดเป็นลําดับแรก อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถทำการบล็อกหลังได้เนื่องจากมีข้อห้าม วิสัญญีแพทย์จะให้การระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวหรือดมยาสลบแทน 

ข้อห้ามของการบล็อกหลัง  ได้แก่

  •  ผู้ป่วยปฏิเสธการบล็อกหลัง
  • ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อบริเวณที่จะแทงเข็ม
  • ภาวะพร่องน้ำ หรือเลือดรุนแรง
  • ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • มีโรคทางระบบประสาทอยู่ก่อน
  • มีลิ้นหัวใจผิดปกติ  หรือโรคหัวใจบางประเภท

ข้อดีของการบล็อกหลัง  คือ

  • ช่วยระงับปวดได้ภายใน 1-2 นาที
  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัว  สามารถพูดคุย โต้ตอบ  หรือบอกอาการผิดปกติระหว่างผ่าตัดได้
  • ผู้ป่วยที่มีความกังวลหรืออยากหลับขณะรับการผ่าตัด  สามารถบอกวิสัญญีแพทย์เพื่อให้ยานอนหลับหลังจากบล็อกหลังและทดสอบการชาแล้วได้
  • สามารถบริหารยาแก้ปวดได้  โดยใช้ปริมาณยาที่ลดลง

ข้อเสียของการบล็อกหลัง  คือ

  • ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคลื่นไส้  อาเจียน  สั่น  หรือคันตามตัวได้
  • ไม่สามารถขยับขาได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง
  • ปัสสาวะไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังบล็อกหลัง  แก้ไขได้ด้วยการสวนปัสสาวะออก
  • อาการปวดหลัง  ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง  และตอบสนองดีต่อยาแก้ปวด
  • ผลของการชาอาจทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด  ผู้ป่วยจะมีความดันเลือดลดลง  หรืออาจเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า  ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะให้การดูแลภาวะดังกล่าวอย่างเหมาะสมตลอดการผ่าตัด
  • อาจมีอาการหายใจลำบากกว่าปกติ
  • อาการปวดศีรษะหลังการผ่าตัด  ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะให้แจ้งพยาบาลหรือแพทย์ที่ดูแลรักษาเพื่อประเมินอาการหาสาเหตุ  และให้การรักษาที่เหมาะสม
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ  หรืออาการชาหลังยาชาหมดฤทธิ์ ( 12-24 ชั่วโมงหลังบล็อกหลัง) ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจประเมินอาการทางระบบประสาทอย่างละเอียด  เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาเพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนที่รุนแรง
  • การติดเชื้อ  อาจพบการติดเชื้อที่ผิวหนัง  หรือที่ช่องไขสันหลัง   ซึ่งพบน้อยมาก

 

ขั้นตอนการบล็อกหลัง

  • ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินแล้วเตรียมความพร้อม  รวมถึงเซ็นต์ใบยินยอมทำหัตถการ
  • กรณีที่เป็นการผ่าตัดไม่เร่งด่วน  ให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • เปิดเส้นเลือดดำเพื่อให้สารน้ำ
  • ได้รับการเฝ้าระวังเกี่ยวกับระบบการไหลเวียน  โดยการวัดความดันโลหิต  วัดชีพจร วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง  เฝ้าดูแลประเมินการหายใจและติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การจัดท่าผู้ป่วยก่อนแทงเข็มบล็อกหลัง  สามารถทำได้ทั้งท่านอนตะแคงและท่านั่ง  วิสัญญีแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงงอตัว  ก้มศีรษะ  เอาคางชิดอกให้มากที่สุด  หรือนั่งก้มตัวห้อยขา  จากนั้นจะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณหลังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ   และปูผ้าโดยวิธีปลอดเชื้อ

 

                                                

  • วิสัญญีแพทย์คลำหลังหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการแทงเข็ม   เมื่อแทงเข็มสำเร็จและปลายเข็มอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม  จะฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก  ผู้ป่วยจำเป็นต้องนิ่งให้มากที่สุด
  • หลังฉีดยาชาเรียบร้อย  จะทำการตรวจสอบระดับการชา  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ

เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด  ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลหลังผ่าตัดที่ห้องพักฟื้น  เพื่อเฝ้าระวังอาการหรือ

ภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด  อย่างน้อย  1  ชั่วโมง  หรือจนกว่าความดันเลือดและชีพจรอยู่ในระดับปกติอย่างน้อย 30 นาที   แนะนำให้ผู้ป่วยนอนราบอย่างน้อย 6 ชั่วโมง   

<