คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด

  • หน้าท้อง หลังคลอดใหม่ๆ หน้าท้องจะยังไม่ยุบลงทันที และมีริ้วรอยการแตก เนื่องจากกล้ามเนื้อยืดขยายขณะตั้งครรภ์ การบริหารร่างกายหลังคลอดจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องที่หย่อนยานกระชับขึ้น และช่วยละลายไขมันส่วนเกินออกไป สำหรับมารดาที่คลอดธรรมชาติสามารถเริ่มการบริหารตามท่าที่แนะนำได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 หลังคลอด ส่วนมารดาที่คลอดโดยการผ่าตัด สามารถเริ่มการบริหารได้ในสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด เมื่ออาการเจ็บแผลทุเลาลงแล้ว
  • เต้านม จะรู้สึกคัดตึงประมาณวันที่ 3-4 หลังคลอดในครรภ์แรก ส่วนครรภ์หลังจะรู้สึกคัดเต้านมเร็วกว่า ประมาณวันที่ 2-3 หลังคลอด มารดาบางรายอาจปวดคัดเต้านมมากจนมีไข้ต่ำๆ หนาวสั่นได้ สามารถให้ลูกดูดนมได้ตามปกติ และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดได้
  • อาการปวดมดลูก มารดาหลังคลอดจะมีอาการปวดมดลูกในระยะ 2-3 วันแรก เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อขับน้ำคาวปลา มักมีอาการปวดเป็นพักๆ โดยเฉพาะในขณะที่ลูกดูดนม ในครรภ์หลังจะพบว่ามีอาการปวดมากกว่าครรภ์แรก
  • น้ำคาวปลา ตามปกติจะมีประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ระยะ 3-4 วันแรก จะมีสีแดงคล้ายเลือดประจำเดือน ปริมาณจะค่อยๆลดลง และมีสีจางเป็นสีเหลืองขุ่นและจะค่อยๆหมดไป ระยะหลังคลอดและให้นมบุตร อาจมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ บางรายอาจขาดประจำเดือนไปหลายเดือนตลอดระยะเวลาที่ให้นมบุตร

การดูแลสุขภาพทั่วไป

  • อาหาร มารดาหลังคลอดควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและช่วยให้น้ำนมมีคุณภาพดี อาหารจำพวกนม ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควรรับประทานปริมาณเท่ากับขณะตั้งครรภ์ ส่วนข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน ควรรับประทานพอสมควรไม่มากจนเกินไป อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ของหมักดอง อาหารรสจัด เพราะอาหารเหล่านี้จะขับออกมากับน้ำนม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกได้
  • การขับถ่าย ระยะหลังคลอดใหม่ๆอาจมีปัญหาท้องผูก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และความรู้สึกกลัวเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บ จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยจำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และบริหารร่างกายอย่างถูกต้อง (ตามคำแนะนำเรื่องการบริหารร่างกายหลังคลอด)
  • การทำความสะอาดร่างกาย สามารถอาบน้ำ สระผมได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือใช้ฝักบัว ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำแบบแช่ (ในอ่าง อาบน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง) เนื่องจากในระยะนี้ ปากมดลูกปิดไม่สนิท อาจมีการลุกลามของเชื้อโรคภายในช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้

สำหรับมารดาที่คลอดด้วยการผ่าตัด ควรใช้วิธีเช็ดตัว ถ้าแพทย์เปลี่ยนผ้าปิดแผลเป็นแบบพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรสังเกตว่าพลาสเตอร์มีการลอกหรือมีน้ำซึมเข้าแผลผ่าตัดหรือไม่

  • การใช้ผ้ารัดหน้าท้อง ในเวลากลางวันควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องไว้ ขณะเดินแผลจะได้ไม่เคลื่อนไหว เพื่อลดอาการเจ็บแผล ส่วนกลางคืนเวลานอนควรถอดซักทำความสะอาดไม่ต้องใช้ผ้ารัดหน้าท้อง
  • แผลฝีเย็บ จะรู้สึกเจ็บตึงใน 3-4 วันแรก อาการเจ็บจะค่อยๆทุเลาลงแผลจะหายสนิทภายใน 7-10 วัน ไม่ต้องตัดไหม หลังการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระทุกครั้งควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด การทำความสะอาดควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ย้อนจากด้านหลังมาด้านหน้า เพราะจะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลบริเวณช่องคลอด

การพักผ่อน

          มารดาควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันควรได้หลับพักผ่อนบ้างขณะทารกหลับ ถ้าไม่หาโอกาสพักผ่อนมารดาจะอ่อนเพลียมากขึ้น

การปฏิบัติตัวของมารดาที่เป็นริดสีดวง

         ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก อาจประคบด้วยถุงน้ำแข็งเพื่อลดความเจ็บปวด และป้องกันไม่ให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำและรับประทานผัก ผลไม้มากๆ หรืออาจใช้เส้นใยอาหารเสริมจากธรรมชาติในโอกาสที่ต้องเดินทาง เพื่อความสะดวกและสะอาดปลอดภัย ถ้าปวดมากอาจใช้ครีม หรือยาเหน็บตามแพทย์สั่ง

การปฏิบัติตัวของมารดาขณะท้องผูก

        อาจใช้ยาถ่ายตามแพทย์สั่ง (ควรงดให้นมบุตรระหว่างใช้ยาทุกชนิด) หรืออาจให้ดื่มน้ำ รับประทานผัก และผลไม้มากๆ

การมีเพศสัมพันธ์

       ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพราะปากมดลูกยังไม่ปิด จะมีโอกาสติเชื้อได้ง่าย

การคุมกำเนิด

      การคุมกำเนิดมีหลายวิธี เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย ยาฝังใต้ผิวหนัง การทำหมันหญิงและชาย สามีภรรยาควรจะได้ปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลที่ทำหน้าที่นี้ เพราะยาคุมกำเนิดจะไม่ใช้กับผู้ป่วยโรคตับ หัวใจ ความดันโลหิตสูง และห่วงอนามัยจะไม่ใช้กับสตรีที่มีการอักเสบของช่องคลอด และโพรงมดลูก ถ้าสามีทำหมันต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นหลังทำหมัน 3 เดือน หรือได้รับการตรวจน้ำเชื้อว่าเป็นหมันแน่นอนแล้ว

 

อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์

  1. มีเลือดออกมากผิดปกติ ทางช่องคลอด
  2. ปวดท้องมาก ปวดจนบิด
  3. มีไข้ หนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  4. ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือแสบขัด
  5. แผลผ่าตัดบวมแดงมีหนอง
  6. แผลฝีเย็บบวมแดง มีหนองหรือเลือดไหลออกจากแผลฝีเย็บ
  7. น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีสีแดงตลอดภายใน 15 วัน หลังคลอด
  8. มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง

บริหาร 10 ท่วงท่า...รักษารูปร่างสวย

      ก่อนเริ่มบริหาร ขอแนะนำให้คุณแม่ที่คลอดเอง เริ่มบริหารร่างกายหลังจากคลอดได้ 2-3 วัน ส่วนคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัดควรรอจนครบ 1 เดือนก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มบริหารจะดีกว่า แต่เริ่มทำช้าก็ได้ผลช้า เพราะฉะนั้นเริ่มเร็วก็สวยเร็วขึ้นด้วย

ท่าที่ 1 บริหารหน้าอก ไหล่ หลัง ลำคอ และลดหน้าท้อง

     นอนหงายแขนแนบข้างลำตัว ค่อยๆยกศีรษะขึ้นจากพื้นช้าๆจนคางจรดหน้าอก นับหนึ่ง สอง สาม ขณะที่ยกศีรษะขึ้น แขน ขา และลำตัวต้องเหยียดตรงแล้วค่อยๆ วางศีรษะลงช้าๆ ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

หากคุณแม่มีหน้าท้องหย่อนมาก ให้ใช้มือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่หน้าท้องกดกล้ามเนื้อลงเมื่อยกศีรษะขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องจะตึง แล้วพยายามใช้มือกดไว้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งแยกจากกันสองข้างกลับเข้ามาชิดกันได้ดียิ่งขึ้น

ท่าที่ 2 บริหารขา ต้นขา  หน้าท้อง และสะโพก

     นอนหงายราบแขนแนบข้างลำตัว ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น ทำเป็นมุมฉากให้เข่าทั้งสองชิดกันวางเท้าให้ราบและห่างกันพอสมควร ยกสะโพกขึ้นโดยใช้ไหล่ยันพื้นไว้ ขณะเดียวกันพยายามหนีบกล้ามเนื้อสะโพก จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บหดตัวดีขึ้น

ท่าที่ 3 บริหารหน้าท้อง สะโพก อก และช่วยขับน้ำคาวปลา

    นอนคว่ำและยกก้นขึ้นมาให้เข่าใกล้หน้าอกมากที่สุด จนเป็นท่าโก้งโค้ง เข่าทั้งสองห่างกันประมาณ 1 ฟุต หน้าอกจะต้องวางแนบกับพื้น พักอยู่ในท่านี้ประมาณ 2 นาที แล้วใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้อง 1 ใบ เพื่อลดความเมื่อยล้า และนอนพักในท่านี้ประมาณครึ่งชั่วโมง

ท่าที่ 4 บริหารกล้ามเนื้อทั่วตัว

    คุกเข่า ต้นขา เข่า และเท้าชิดกับข้อศอก เอาฝ่ามือยันพื้นเหมือนท่าคลานแล้วค่อยๆลดข้อศอกลงวางราบกับพื้น ก้มศีรษะให้คางจรดหน้าอก แขม่วท้อง เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกและขา แล้วค่อยๆลดสะโพกลงแตะกับส้นเท้า ถอยหลังออกเล็กน้อย หน้าผากแตะพื้น ตอนนี้แขนจะเหยียดตรง แล้วยกลำตัวขึ้นกลับไปอยู่ในท่าเดิมมดลูกจะกลับคืนสู่ปกติได้เร็วยิ่งขึ้น

ท่าที่ 5 บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด

    คือ การขมิบช่องคลอดหรือทวารหนักในขณะที่นอนหรือนั่ง เหมือนกำลังถ่ายปัสสาวะแล้วหดทันที ควรทำครั้งละประมาณ 5-10 นาที หรืออาจขมิบประมาณวันละ 20 ครั้ง ขณะกำลังทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกอยู่ก็ทำได้ทั้งนั้น

ท่าที่ 6 บริหารหน้าอก หน้าท้อง และปอด

    นอนหงาย เหยียดแขนขา ให้ตรงตามลำตัว สูดลมหายใจให้เต็มที่ช้าๆ นับหนึ่ง สอง สาม และแขม่วท้องไว้สักครู่ พยายามให้บั้นเอวติดพื้นแล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พักสักครู่ก่อนแล้วค่อยทำต่อไปประมาณ 10 ครั้ง

ท่าที่ 7 บริหารแขน หน้าอก และปอด

    นอนหงายเหยียดตรงแขนแนบข้างลำตัว ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นในท่าเหยียดตรงชูขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัวจนมือทั้งสองจับกันได้ หลังจากนั้นค่อยๆ ปล่อยแขนลงช้าๆ จนกลับมาแนบลำตัวตามเดิม ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

ท่าที่ 8 บริหารขา สะโพก และหน้าท้อง

   นอนหงายราบกับพื้น วางแขนแนบข้างลำตัว ยกขาขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัว พร้อมทั้งเหยียดขาให้ตรงสักครู่ แล้วลดขาลงที่เดิมช้าๆ ทำสลับกันทีละข้าง ทำประมาณ 10 ครั้ง เมื่อแข็งแรงดีแล้วค่อยลองยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง

ท่าที่ 9 บริหารหน้าท้อง ไหล่ หลัง และลำคอ

   นอนหงายลำตัวเหยียดตรง แขนวางแนบข้างลำตัว ยกตัวลุกขึ้นนั่งโดยงอเข่าและไม่ใช้แขนช่วยเลย ยกแขนขึ้นให้ขนานกับพื้นราบด้วย จากนั้นค่อยๆ นอนลงทำวันละ 1-2 ครั้ง ในครั้งแรก เมื่อแข็งแรงขึ้นค่อยๆ เพิ่มอีกวันละ 1 ครั้ง และแขนอาจจะเปลี่ยนที่ได้ 3 ท่า คือ วางแขนแนบข้างลำตัว ประสานมือทั้งสองข้างบนหน้าอกและประสานมือไว้ที่ท้ายทอย

ท่าที่ 10 บริหารหน้าท้อง สะโพก และ ขา

   นอนหงายราบ แขนเหยียดตรง งอเข่าขึ้นให้ชิดหน้าท้องมากที่สุด ให้ส้นเท้าสัมผัสกับก้น แล้วเหยียดขาให้ตรงค่อยๆ วางขาลงในท่าเดิม นับหนึ่ง สอง สาม โดยไม่งอเข่าเลย ทำสลับกันทีละข้าง โดยเริ่มจากทำทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีก 1-2 ครั้งทุกวัน

 

วัคซีนสำหรับลูกน้อย คนสำคัญสำหรับคุณ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับลูกน้อยของคุณ

    ในภาวะปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่คนใหม่ย่อมมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีบุตร รพ.วิภาวดี จึงขอมีส่วนช่วยในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเสนอ Package ฉีดวัคซีนสำหรับลูกน้อยคนใหม่ของคุณ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้เลย

อายุ

การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 1

(Baby 1)

การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 2

(Baby 2)

การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 3

(Baby 3)

1 เดือน

ตับอักเสบบี, ยาลดไข้

ตับอักเสบบี, ยาลดไข้

ตับอักเสบบี, ยาลดไข้

2 เดือน

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB)

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd

4 เดือน

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB)

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd

6 เดือน

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี

วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี, ป้องกันโรค ipd

9 เดือน

หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม

หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม

หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม

1 ปี

ไข้สมองอักเสบ (2 does)

ไข้สมองอักเสบ (2 does)

ไข้สมองอักเสบ (2 does) ป้องกันโรค ipd

 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกกุมารเวช โทร 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 ต่อ 4220-21

 

ศูนย์หัตถเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

ขอเสนอบริการ

ฟื้นฟูมารดาหลังคลอด 1 คอร์ส/3วัน พร้อมบริการด้านอื่นๆ

รายการ

-นวดเท้าแช่สมุนไพร

-นวดตัว , กดจุด

-นวดหน้า

-นวดประคบสมุนไพร

-นวดน้ำมัน (รีดเส้น)

-สุวคนบำบัด (อโรมา)

-นวดศีรษะคลายเครียด

-อบสมุนไพรสด (ตู้ไม้)

-อบสมุนไพรสด (ตู้ผ้า)

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายได้ที่ : ศูนย์หัตถเวช รพ.วิภาวดี

โทร 02-561-1111 ต่อ 2928,2929

 

 

<