เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การแพทย์แนวใหม่ที่ทุกคนต้องใช้

เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การแพทย์แนวใหม่ที่ทุกคนต้องใช้

          ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาซึ่งเกิดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ฯลฯ ส่งผลให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ลดการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาวะ รวมถึงสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แนวทางจัดการปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงกรณีที่โรคเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตควบคู่กับการใช้ยาไปด้วยกัน ก็ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

          ด้วยความสำคัญและประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นการแพทย์แนวใหม่ที่นำองค์ความรู้หลากหลายแขนงเช่น แพทยศาสตร์ โภชนวิทยา จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การกีฬา ฯลฯ มาบูรณาการเชื่อมโยงกัน เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เปรียบเสมือนเสาหลักของการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ 6 ด้าน ดังนี้

โภชนาการ: อาหารที่ดีเปรียบเสมือนยารักษาโรค จึงมีคำแนะนำให้รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป จำกัดปริมาณน้ำตาล ไขมัน เกลือ เน้นอาหารที่มาจากพืชผักผลไม้

กิจกรรมทางกาย: ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ออกกำลังกายให้เพียงพอ ทั้งการออกกำลังเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

การนอนหลับ: นอนหลับอย่างมีคุณภาพให้เพียงพอ เป็นเวลา และต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ส่งผลให้ระบบเผาผลาญอาหารดีขึ้น อารมณ์สดใส เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้การควบคุมอาหารและออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลดเลิกการใช้สารเสพติด: การใช้สารเสพติดทุกชนิดสัมพันธ์กับการเสียชีวิตและความพิการจากโรคทางกาย โรคทางจิตเวช และอุบัติเหตุ เวชศาสตร์วิถีชีวิตจะมุ่งเน้นการลด ละ เลิก สารเสพติดที่ใช้กันแพร่หลายและก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือบุหรี่และแอลกอฮอล์

การจัดการกับความเครียด: มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อดีของความเครียดคือทำให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตนเอง แต่ข้อเสียคือทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าวิตกกังวล โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ ได้ง่ายขึ้น ความเครียดจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม

ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง: การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเป็นความต้องตามธรรมชาติของมนุษย์ ความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม โรคหัวใจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

              แม้ว่าวิถีชีวิตทั้ง 6 ด้านดังกล่าว จะได้รับการยอมรับในวงกว้างว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมหาศาล แต่อุปสรรคของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพให้สำเร็จมีหลายปัจจัย เช่น ความเคยชิน ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ข้อจำกัดเรื่องเวลา สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น ทางองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงร่วมกันผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้บุคคลสามารถรับมือและจัดการกับอุปสรรคเหล่านั้นได้

              บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิตคือ ร่วมมือกับคนไข้ในการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นเสาหลักของสุขภาพทั้ง 6 ด้าน โดยใช้วิธีการหลากหลาย เช่น การสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจ การให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยา การให้สุขศึกษา การตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ร่วมกัน การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การหาแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง รวมทั้งช่วยคนไข้ให้เข้าถึงการบริการจากสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น เพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล นำไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน

<