โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์คืออะไร?

                สาเหตุที่ทำให้ข้อมีการอักเสบมีมากมายหลายโรค โรครูมาตอยด์เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดข้ออักเสบได้ ข้อที่มีการอักเสบจะมีอาการปวด บวม หรือฝืดตึง โดยโรครูมาตอยด์เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไปทำร้ายข้อของตนเอง โรครูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมโรคให้สงบ และต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมากำเริบอีก

 

อาการของโรครูมาตอยด์

                อาการสำคัญของโรครูมาตอยด์คืออาการปวด บวม ฝืดตึงของข้อ โดยมักจะเกิดกับข้อเล็กเป็นหลัก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า อาจมีข้อใหญ่อักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อไหล่ ทั้งนี้ข้อส่วนใหญ่ของร่างกายอาจมีการอักเสบที่เกิดจากโรครูมาตอยด์ได้ยกเว้นข้อสันหลังส่วนเอวและส่วนอก โรครูมาตอยด์มักจะเกิดอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการดำเนินโรคที่เรื้อรัง ข้อที่อักเสบมักจะอักเสบพร้อมๆกันจำนวนหลายข้อ และส่วนใหญ่เกิดในข้อที่ตรงกันในด้านตรงข้ามด้วย เช่น มีการอักเสบของข้อมือทั้ง 2 ข้าง ข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการฝืดตึงของข้อหลังตื่นนอนโดยอาการฝืดตึงของข้อจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง

                เมื่อโรคมีการดำเนินต่อ ข้อที่มีการอักเสบจะถูกทำลายตามระยะเวลาที่ผ่านไป ส่งผลให้ข้อค่อยๆเคลื่อนและผิดรูป ส่วนของข้อที่ถูกทำลายและผิดรูปไปแล้วจะเป็นอย่างถาวร ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรครูมาตอยด์และแนะนำให้เริ่มการรักษาเพื่อควบคุมโรคแล้ว ผู้ป่วยควรเริ่มรับการรักษาเลย

                อาการอื่นนอกจากปัญหาที่ข้อซึ่งสัมพันธ์กับการกำเริบของโรครูมาตอยด์โดยตรง เช่น ก้อนรูมาตอยด์ที่ผิวหนัง ผื่นหลอดเลือดอักเสบ ตาขาวอักเสบ และการเป็นโรครูมาตอยด์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคพังผืดในปอด โรคกระดูกพรุน ไขมันในเลือดสูง และโรคซึมเศร้าอีกด้วย

 

การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์

                การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์อาศัยผลของการซักประวัติและการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรครูมาตอยด์ ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์และคัดค้านโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรครูมาตอยด์ ผลการตรวจเลือดที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ได้แก่ การตรวจพบปัจจัยรูมาตอยด์ (rheumatoid factor) หรือ anti-CCP แต่การตรวจพบก็ไม่ได้ยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์อย่างแน่นอนเพราะแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อาจพบในโรคอื่นได้เช่นกัน ทางกลับกันในผู้ป่วยรูมาตอยด์บางรายอาจตรวจไม่พบปัจจัยรูมาตอยด์ และ anti-CCP ได้ การตรวจลำดับถัดไปที่แพทย์มักจะส่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยคือการตรวจเอ็กซ์เรย์ แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว การตรวจด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์อาจไม่พบความผิดปกติของกระดูกและข้อได้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดและฝืดตึงข้อแต่ไม่มีอาการข้อบวมชัดเจนและภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ปกติ กรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการอักเสบของข้อหรือไม่ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจอัลตราซาวด์ข้อหรือเอ็มอาร์ไอข้อเพิ่มเติม

 

การรักษาโรครูมาตอยด์

                ในปัจจุบันมียาเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์ อาจแบ่งเป็นกลุ่มของยาที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ และกลุ่มของยาที่ช่วยปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (ทำให้โรคสงบ ป้องกันการทำลายข้อและข้อผิดรูป)

  • กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin, meloxicam, celecoxib, etoricoxib เป็นต้น เป็นยาที่บรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของข้อแต่ไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค
  • ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone, dexamethasone ยาสเตียรอยด์อาจใช้ในช่วงแรกของการรักษาร่วมกับยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคเพื่อควบคุมการอักเสบของข้อระหว่างรอการออกฤทธิ์ของยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค
  • กลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน ได้แก่ hydroxychloroquine, chloroquine, methotrexate, sulfasalazine, leflunomide, azathioprine, cyclosporine ยาในกลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ช่วยควบคุมโรคในระยะยาว แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดเพื่อช่วยควบคุมโรค ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับชนิดของยา ยาบางชนิดต้องติดตามผลข้างเคียงด้วยการเจาะเลือดตรวจ บางชนิดต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ บางชนิดต้องตรวจปัสสาวะ
  • ยาชีววัตถุต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, rituximab, tocilizumab, abatacept ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าหลอดเลือด มีผลกดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มจึงอาจเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน
  • ยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ tofacitinib และ baricitinib ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาด้วยการรับประทาน กดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน จึงอาจถูกเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน

 

                ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรครูมาตอยด์ (อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือ รูมาโตโลจิสต์) ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาใดและปริมาณยาเท่าใดในการช่วยควบคุมโรคจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค อายุและโรคร่วมของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของยา วิธีการบริหารยา และราคายา เป็นต้น ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์จึงอาจได้รับยาควบคุมโรคที่แตกต่างกันห้ามนำยาของตนเองให้ผู้อื่นรับประทานโดยเด็ดขาด แพทย์จะทำการติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลการรักษาและผลข้างเคียงของยาเป็นระยะ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่ติดตามการรักษาเพราะอาจเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะการขาดยามีผลต่อการกำเริบโรคและหากโรคกลับมากำเริบมากอาจควบคุมโรคได้ยากขึ้น

 

การดูแลตนเอง

                ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ควรมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้นและมีการบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการเริ่มขยับร่างกายจะมีอาการปวดฝืดตึงอยู่บ้างแต่หากไม่ขยับเคลื่อนไหว ข้อก็จะยิ่งฝืดตึงมากขึ้น อีกทั้งหากไม่ได้บริหารร่างกายเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อและศักยภาพการทำงานของข้อก็จะลดน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีความกังวลว่าการออกกําลังกายจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบ แต่จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความกระตือรือร้นในการทํากิจกรรมต่างๆและออกกําลังกายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับการใช้ข้ออย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของข้อและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทําให้ข้อผิดรูป  เช่น งานหัตถการ การตัดแต่งกิ่งไม้ การถอนหญ้า การบิดผ้า การเปิดฝาขวดแบบเกลียว และการหิ้วของหนักๆด้วยนิ้วมือ แต่ยังคงสามารถมีกิจกรรมด้วยการปรับการใช้ข้อ เช่น การบีบผ้าให้หมาดและตากให้แห้งแทนการบิดผ้า ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเปิดฝาขวด การหิ้วของหนักด้วยการคล้องที่แขนหรือใช้วิธีอุ้มของแทน เป็นต้น คําแนะนําสําหรับการออกกําลังกายคล้ายกับคําแนะนําสําหรับประชากรทั่วไป คือมีการออกกำลังกายเบาๆเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายและการยืดเหยียดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้งและอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ควรเริ่มอย่างเบาๆก่อน หากไม่มีอาการปวดข้อหรือกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายจึงค่อยๆปรับเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายตามลำดับ มีข้อควรพิจารณาเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์คือควรมีการปรับความหนักเบาของแผนการออกกําลังกายตามการกําเริบของโรคอย่างเหมาะสม ในช่วงที่ข้ออักเสบมาก การออกกําลังกายที่เหมาะสมคือการออกกําลังกายชนิดคงพิสัยข้อ และชนิดการเพิ่มความแข็งแรงเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เมื่ออาการอักเสบของข้อทุเลาลงแล้วจึงเริ่มออกกำลังกายชนิดแอโรบิก การออกกําลังชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อการออกกําลังชนิดเพิ่ม/คงพิสัยข้อ การออกกำลังกายของมือ และผู้ป่วยควรวางแผนความหนักของการออกกําลังกายอย่างเหมาะสมในผู้ที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย ควรระมัดระวังการเกิดกระดูกหักในผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมและผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมควรระมัดระวังแรงกระทําต่อข้อเทียมที่มากเกินไปหากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติหลังการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือนักกายภาพบำบัด

                การดูแลตนเองอย่างอื่นที่มีผลต่อการกำเริบโรค ได้แก่ ควรงดสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่มีผลต่อการควบคุมโรครูมาตอยด์ ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเนื่องจากในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีผลให้มีข้ออักเสบมากกว่าผู้ที่นำ้หนักปกติ ควรดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากฟันผุและเหงือกอักเสบมีผลต่อโรครูมาตอยด์

#การรักษาโรคซีพีพีดี #อาการของโรครูมาตอยด์ #การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ #การรักษาโรครูมาตอยด์ #การดูแลตนเอง #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

 

<