ปวดข้อ

            อาการปวดบริเวณข้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากอาการปวดแล้วอาจมีอาการอย่างอื่นด้วย เช่น อาการบวม แดง ร้อน อาจมีอาการฝืดข้อหลังตื่นนอนหรือหลังจากอยู่ในอิริยาบทท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ข้ออาจขยับได้ลดลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ผื่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด ตาอักเสบ แผลร้อนในที่ปาก ผมร่วง เป็นต้น ประวัติต่างๆเหล่านี้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยต้นเหตุของข้ออักเสบได้

สาเหตุของอาการปวดข้อ

            สาเหตุของอาการปวดข้อเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติที่โครงสร้างในข้อหรือรอบข้อก็ได้ หรืออาจเป็นการปวดร้าวมาจากที่อื่น โครงสร้างบริเวณข้อ ได้แก่ เยื่อหุ้มข้อ กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และนวมไขมัน อาการปวดข้ออาจมีสาเหตุจากปัญหาที่โครงสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างบริเวณข้อนั้น แพทย์ผู้ดูแลจะพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุว่าอาการปวดข้อนั้นเกิดจากปัญหาที่โครงสร้างใดและเกิดจากโรคอะไร การรู้สาเหตุของอาการปวดข้อมีความสำคัญมากเพราะแต่ละโรคมีพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน บางโรคสามารถหายได้เอง บางโรคไม่อันตรายและตอบสนองต่อการรักษาได้ดี บางโรคเรื้อรังแต่ไม่อันตราย บางโรคต้องเริ่มรักษาเร็วเพราะมีผลต่อความผิดปกติในระยะยาว บางโรคต้องรีบรักษาทันทีเพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ตัวอย่างสาเหตุอาการปวดข้อ เช่น

  • สาเหตุจากนอกข้อ เช่น เส้นเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อบริเวณข้อปวดตึง โรคไฟโบรไมอาลเจีย ความผิดปกติของระบบประสาท อาการปวดร้าวมาจากนอกข้อ เป็นต้น
  • สาเหตุจากในข้อ แบ่งเป็น
  • ข้อไม่มีการอักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม การบาดเจ็บของโครงสร้างข้อ เป็นต้น
  • ข้อมีการอักเสบ เช่น โรคเกาต์ โรคซีพีพีดี (โรคเกาต์เทียม) โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค

            แพทย์จะอาศัยการซักประวัติ ได้แก่ ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาเดิม ประวัติอาการนำก่อนอาการปวดข้อ ระยะเวลาการปวดข้อ ลักษณะการดำเนินโรคของอาการปวดข้อ ปัจจัยที่ทำให้มีอาการมากขึ้นหรืออาการทุเลาลง และประวัติอาการที่อวัยวะอื่นๆนอกจากที่ข้อ เป็นต้น ร่วมกับการตรวจร่างกายบริเวณข้อที่ปวดเพื่อแยกแยะว่าเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างใดในข้อ ผู้ป่วยอาจไม่ได้ปวดเพียงข้อเดียวแต่อาจปวดหลายข้อ โดยพิจารณาลักษณะรูปแบบของอาการปวดข้อ เช่น ปวดข้อเดียว ปวดสองถึงสามข้อ ปวดหลายข้อแบบไม่สมมาตร ปวดหลายข้อแบบสมมาตร รวมถึงการตรวจร่างกายในอวัยวะอื่นๆนอกข้อ เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจผิวหนังที่ต่างๆเพื่อหาผื่น ดูเล็บ ดูหนังศีรษะ ดูในช่องปาก คลำหาก้อน คลำต่อมน้ำเหลือง ตรวจปอด ตรวจหัวใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ร่องรอยความผิดปกตินอกเหนือจากบริเวณข้อสามารถบ่งชี้ต้นเหตุของโรคได้ ข้อมูลการซักประวัติและการตรวจร่างกายมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้แพทย์จะสามารถตีกรอบโรคที่สงสัยได้ แพทย์อาจสามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุได้เลย หรืออาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานสนับสนุน (หรือคัดค้าน) ในโรคที่สงสัย เช่น ทำการตรวจเลือด ตรวจนำ้ไขข้อ หรือตรวจด้วยภาพ

            ตัวอย่างการตรวจเลือดที่ช่วยในการวินิจฉัยโดยตรง เช่น หากสงสัยโรครูมาตอยด์ แพทย์จะส่งตรวจรูมาตอยด์แฟกเตอร์และแอนติซีซีพี หากสงสัยโรคเอสแอลอี แพทย์จะส่งตรวจเอเอ็นเอและอาจพิจารณาส่งตรวจแอนติบอดีจำเพาะ และแพทย์อาจส่งตรวจเลือดบางอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและการรักษา เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เอ็นไซม์ตับ การทำงานของไต ค่าการอักเสบ เป็นต้น

            การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยบางโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันจำนวนหนึ่งถึงสองข้อ เพราะช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคเกาต์และโรคซีพีพีดี เป็นต้น

            การตรวจด้วยภาพ ได้แก่ การตรวจเอ็กซ์เรย์ การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจเอ็มอาร์ไอ และการตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็กซ์เรย์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อยแต่สามารถเห็นได้ดีเฉพาะส่วนที่เป็นกระดูก ช่วยในการประเมินการกร่อนทำลายของข้อ ความแคบของช่องข้อ การงอกขึ้นของเนื้อกระดูกบริเวณข้อ แคลเซี่ยมที่พอกอยู่ที่บริเวณข้อ หรือความเสียหายในเนื้อกระดูก ซึ่งความผิดปกติต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงช้า ใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีจึงจะพบความผิดปกติในภาพเอ็กซ์เรย์ แต่ก็มีความสำคัญในการติดตามความเปลี่ยนแปลง การตรวจด้วยอัลตราซาวด์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถประเมินความผิดปกติได้ดีทั้งเนื้อเยื่อรอบโครงสร้างข้อ ข้อ และผิวกระดูก แต่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในส่วนที่ลึกกว่าผิวกระดูกได้จึงมักจะจำเป็นต้องประเมินคู่กับภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ และข้อจำกัดที่สำคัญของการทำอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ผู้ตรวจสูง การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอมีประโยชน์มากเพราะพบความผิดปกติได้รวดเร็ว ประเมินโครงสร้างทั้งส่วนตื้นและส่วนลึกได้ดี เห็นภาพรวมทั่วทั้งบริเวณที่ส่งตรวจ แต่มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และไม่เหมาะกับผู้ที่กลัวที่แคบ การตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่าเอ็มอาร์ไอ ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน แต่ประเมินได้ดีเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นกระดูกหรือบริเวณที่มีแคลเซี่ยมพอกอยู่ ทั้งนี้การตรวจด้วยภาพทุกวิธีมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องประเมินคู่กับอาการทางคลินิกเพราะอาจตรวจพบความผิดปกติที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่ได้เป็นต้นเหตุของอาการปวดข้อนั้นได้

แนวทางการรักษา

            แนวทางการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดข้อ ตัวอย่างแนวทางในการรักษา เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด ยาทรามาดอลเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ค่อนข้างมาก ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน อีโทริค็อกซิบ) เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบ การทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวด แก้ปัญหาการติดยึดของข้อและเส้นเอ็น และฟื้นฟูพัฒนากล้ามเนื้อ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบในข้อที่มีการอักเสบ ยาปฏิชีวนะในโรคข้ออักเสบติดเชื้อ ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไฮดร็อกซีคลอโรควิน สเตียรอยด์ เม็ทโทเทร็กเซท) เพื่อรักษาโรคในกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น

#ปวดข้อ #สาเหตุของอาการปวดข้อ #การวินิจฉัยโรค #แนวทางการรักษา #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihotpital

 

<