โรคเอสแอลอี (SLE)

โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า "ลูปัส" ซึ่งในภาษาลาตินแปลว่าหมาป่า ชื่อนี้มีที่มาจากรอยโรคที่หน้าของผู้ป่วยบางรายมีลักษณะคล้ายรอยถูกหมาป่ากัด โดยโรคลูปัสนั้นมีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ โรคที่ผิวหนังเท่านั้น (Cutaneous Lupus Erythematosus) และ โรคที่เกิดในระบบต่างๆนอกจากเฉพาะทางผิวหนัง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE)

โรคเอสแอลอี เป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune Rheumatic Disease)
    โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของตนเองโจมตีเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆซึ่งถูกภูมิคุ้มกันโจมตีนั้นมีการอักเสบ เกิดขึ้นโดยโรคต่างๆในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองจะถูกจำแนกชนิดตามลักษณะอาการที่ปรากฏในอวัยวะต่างๆและชนิดของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกี่ยวข้อง โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองมีหลายโรค เช่น โรคเอสแอลอี โรคหนังแข็ง โรครูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม โรคโจเกร็น เป็นต้น โดยอาจพบโรคในกลุ่มนี้พร้อมกัน 2 โรคในผู้ป่วยคนเดียวกันได้ ด้วยในโรคเอสแอลอีแม้อาจปรากฏอาการได้ในหลายระบบ เช่น ข้อ เลือด ไต สมอง หรือผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการแค่บางระบบเท่านั้น โดยในแต่ละช่วงเวลาอาจมีการกำเริบในอวัยวะที่แตกต่างกันได้ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีปัญหา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบเป็นปกติ


โรคเอสแอลอีเกิดจากอะไร?
    การเกิดโรคเอสแอลอีโดยมีปัจจัยหลัก 2 ส่วน ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมโดยมียีนบางชนิดที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและเมื่อถูกกระตุ้นโดยปัจจัย สิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเอสแอลอีขึ้น ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นเหตุกระตุ้น เช่น ยาบางชนิด หรือ แสงแดด เป็นต้น


การวินิจฉัย
    ต้องอาศัยหลักฐานลักษณะอาการร่วมกันกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค

การวินิจฉัยโรคเอสแอลอีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หลักฐานทางคลินิค และ หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกัน หลักฐานทางคลินิคประกอบด้วยลักษณะของอาการและอาการแสดงรวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะเข้ากันได้กับโรคเอสแอลอี เช่น ข้ออักเสบ ไตอักเสบ เยื่อบุปอดหรือช่องท้องอักเสบ ลมชัก ผื่นผิวหนังอักเสบ ลูปัส เม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกันที่เข้าได้กับโรคเอสแอลอี เช่น  ANA, anti-dsDNA, anti-Sm, anti-SSA เป็นต้น

อาการของโรค
       อาการทั่วไปที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้พบได้ในหลายโรค แต่หากผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าเกิดจากโรคกำเริบหรือไม่
 

อาการที่พบบ่อยเกิดใน 4 ระบบ ได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต และเลือด

  • ผิวหนัง เช่น ผื่นแดงลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อที่หน้า ผื่นแพ้แสง ผื่นเป็นวงที่หู ผมร่วง เป็นตัน
  • ข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • ไต เช่น ปัสสาวะมีฟองมาก ขาบวม เป็นต้น
  • เลือด เช่น โลหิตจางมีอาการซีดเพลีย เกร็ดเลือดต่ำมีอาการจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจพบอาการในอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาการชัก อาการชา ประสาทหลอน ความคิดสับสน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลายอาการกำเริบและสงบสลับกันไป ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนึ่งก่อนจะมีอาการอื่นๆค่อยๆทยอยมา อาจมีอาการจากความผิดปกติของอวัยวะเดียวหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้

การรักษาด้วยยา

  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ เยื่อบุปอดอักเสบ หรือไข้ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญคืออาจทำให้ปวดท้องหรือเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีโรคไตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับประทานยาในกลุ่มนี้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาชิน นาโพรเซน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น

ยากลุ่มใหม่ เช่น โมบิค อาร์ค็อกเซีย ซิลิเบร็ค ยาในกลุ่มใหม่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ากลุ่มเดิมแต่ยังคงต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีโรคไตหรือโรคหัวใจเช่นกันกับกลุ่มเดิม หากผู้ป่วยวางแผนที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดขอให้แจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อ พิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัด หากรับประทานยาในกลุ่มนี้ต่อเนื่องควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินผลข้างเคียงเป็นระยะ

  • กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

ยาในกลุ่มนี้ เช่น เพร็ดนิโซโลน เด็กซ่าเมทาโซน ไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้รู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์ ยานี้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ปกติถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ยาสเตียรอยด์ช่วยควบคุมการกำเริบโรคเอสแอลอีในอวัยวะต่างๆ เช่น ไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก ข้ออักเสบที่ไม่ตอบสนองต่อยาควบคุมโรคเบื้องต้น เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ในระยะยาวที่สำคัญ เช่น กดการทำงานของต่อมหมวกไต กระดูกพรุน อ้วนขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับขนาดและระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้นการติดตามการรักษาและปรับยาโดยแพทย์ผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว ดังนั้นการเข้ารับ การตรวจรักษาหรือวางแผนการผ่าตัดต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลให้ทราบ ว่ามีโรคประจำตัวเป็นโรคเอสแอลอีซึ่งกำลังรับประทานยาสเตียรอยด์ด้วยทุกครั้ง

  • กลุ่มยาต้านมาลาเรีย

ยาในกลุ่มนี้ช่วยควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ อาการผื่นผิวหนังอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีเมื่อรับประทานร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันยังช่วยให้สามารถลดขนาดยากดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้โรคสงบได้ นอกจากนี้เมื่อโรคเอสแอลอีเข้าสู่ระยะสงบแล้วยายังช่วยลดโอกาสโรคกลับมากำเริบ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญ คือ ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตาโดยความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของยา ขนาดของยา ระยะเวลาการรับประทาน เป็นต้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่จึงควรเข้ารับการตรวจตาเป็นระยะตามคำแนะนำของแพทย์ หากตรวจพบความผิดปกติของจอประสาทตาการหยุดรับประทานยาจะช่วยให้ผลข้างเคียงดังกล่าวกลับคืนเป็นปกติได้

  • กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน

       ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีในหลายลักษณะ เช่น ในกรณีการกำเริบโรคที่รุนแรง กรณีไม่ตอบสนองต่อยา ควบคุมโรคเบื้องต้น หรือเพื่อลดขนาดยาสเตียรอยด์ ตัวอย่างชนิดยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน เช่น เมทโทเทร็กเซ็ต อาชาไทโอปริน (อิมมูแรน) ไมโคฟีโนเลตโมเฟติล (เซลเซ็ป) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (เอ็นด็อกแซนด์) เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษาและปรับยาจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นประจำ โดยจำเป็นต้องรับการตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อติดตามผลข้างเคียงของยาตามแต่ชนิดของยานั้น

ควรปฏิบัติตัวดูแลตนเองอย่างไรเพื่อลดโอกาสโรคกำเริบ

  1. มีสุขนิสัยที่ดี ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ล้างมือให้สะอาด กินอาหารสุกสะอาด งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทําจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเดียวไม่ออกกำลังกายก็ทำให้กล้ามเนื้อลีบไม่มีแรง
     
  2. ป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากทั้งโรคเอสแอลอีและยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ติดเชื้อ ได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน จึงมีอาหารบางชนิดที่ต้องงด เช่น ปลาดิบ ส้มตำ ไข่ลวก เป็นต้น หากไปในสถานที่มีคนอยู่มากให้ระวังการติดเชื้อ ควรล้างมือบ่อย และอาจต้อง ไส่หน้ากากอนามัย รวมถึงควรดูแลสุขภาพของช่องปากอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบ
     
  3. เลี่ยงแดด เพราะรังสีอุลตราไวโอเลตในแสงแดดอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบ ควรทาครีมกันแดด SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกัน UVB และเลือกครีมกันแดดที่ป้องกัน UVA ในระดับ ++ ขึ้นไป โดยควรทาอย่างถูกวิธี ได้แก่ ทาหนาเพียงพอ ทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที
     
  4. ห้ามตั้งครรภ์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้นได้ ยาที่ควบคุมโรคบางชนิดจำเป็นต้องหยุดยาก่อนการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ในทางกลับกันยาบางชนิดก็ไม่ควรหยุดเพราะอาจทำให้โรคกำเริบในช่วงตั้งครรภ์ซึ่งกลับเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติบางอย่างในโรคเอสแอลอีเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือการเกิดโรคหัวใจของทารกในครรภ์ได้
     
  5. ห้ามขาดยา ปรับยาหรือหยุดยาเอง ยกเว้นกรณีแพ้ยา หากกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล รับยาเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นหรือรับประทานยาสมุนไพรควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลรับทราบ
<