ไอรุนแรง หายใจติดขัด สัญญาณเตือน! โรคไอกรน

                      โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอติดๆ กัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

 

สาเหตุ

              เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal

 

            ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการ ไอ จาม รดกัน โดยตรงผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกรายโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มากโรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมากในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูงส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน  ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

 

อาการและอาการแสดง

แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

              1) ระยะมีน้ำมูก  (Catarrhal stage) เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ

              2) ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal stage) ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุด ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ  จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ ระยะไอเป็นชุด ๆนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้

              3) ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ จะค่อยๆลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

 

โรคแทรกซ้อน

  1.  โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิด atelectasis
  2. จากการไอมากๆทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) มี petechiae ที่หน้าและในสมอง
  3.  ระบบประสาทอาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ ๆและอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง

 

การให้วัคซีนป้องกัน

เด็ก : ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน กระตุ้นอีก 1 เข็มเมื่ออายุ 4-6 ปี

สตรีตั้งครรภ์ : แนะนำฉีดช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ เพื่อป้องกันลูกน้อยตั้งแต่เกิด

ผู้ใหญ่ : ควรฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป และกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี

                      *ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้งนับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรนวัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว (Whole cell vaccine) รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids (Triple vaccine, DTP) ให้ฉีดเข้ากล้าม

 

เสริมเกราะปกป้องลูกน้อยจากโรคร้าย ด้วยการฉีดวัคซีนวันนี้

 

 

 

https://www.pidst.or.th/A299.mobile

ที่มาข้อมูล: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

<