"ซิฟิลิส" โรคติดต่อที่ไม่ควรมองข้าม

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum การติดต่อจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสระหว่างปาก อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกายของผู้รับเชื้อกับแผลซิฟิลิสของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังอาจติดจากมารดาไปยังทารกได้ทั้งในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด ทำให้ทารกป่วยจากโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้ซึ่งรายละเอียดจะยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสอาจมีอาการและอาการแสดงได้หลากหลายขึ้นกับระยะของโรค

ระยะแรก (Primary Stage Symptoms)

ผู้ป่วยมักมีแผลริมแข็ง (chancre) อาจเป็นแผลเดียวหรือหลายแผล ไม่มีอาการเจ็บ ส่วนมากเกิดในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ เช่น อวัยวะเพศ ริมฝีปาก ช่องปาก ทวารหนัก ไส้ตรง แผลอาจคงอยู่ราว 3 ถึง 6 สัปดาห์แล้วหายเอง หากผู้ป่วยไมได้รับการักษาโรคจะดำเนินเข้าสู่ระยะที่สอง เนื่องจากแผลดังกล่าวไม่เจ็บและส่วนมากเกิดในที่ลับ ผู้ป่วยจึงอาจไม่ทันสังเกตเห็นก่อนที่แผลจะหายไป

ระยะที่สอง (Secondary Stage Symptoms)

ผู้ป่วยมักมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้ารวมถึงอาจมีผื่นขึ้นที่ส่วนอื่นของร่างกาย ผื่นมีสีแดงน้ำตาล ไม่คัน อาจมีแผลเจ็บในปากหรือในช่องคลอดได้ บางครั้งอาจเรียกว่า "ระยะออกดอก" ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ผมร่วง อ่อนเพลีย ซึ่งอาการดังกล่าวอาจหายไปเอง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการักษาโรคจะดำเนินเข้าสู่ระยะถัดไป

ระยะแฝง (Latent Stage Symptoms)

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ ได้นานหลายปี โรคซิฟิลิสในระยะนี้อาจตรวจพบได้จากการเจาะเลือดเท่านั้น

ระยะที่สาม (Tertiary Stage Symptoms)

ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะก่อนหน้านี้จะเข้าสู่ระยะที่สาม เชื้อโรคอาจทำลายหัวใจ สมอง ตา รวมถึงอวัยวะอย่างอื่น ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง เช่น อาการขยับแขนขาได้ลำบาก อัมพาต อาการชา ตาบอด โรคหัวใจ หรือเสียชีวิตได้ บางครั้งโรคนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นนักเลียนแบบผู้ยิ่งใหญ่ (The Great Imitator) เนื่องจากทำให้มีอาการได้หลากหลาย คล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ หลายโรค

การวินิจฉัย

                การวินิจฉัยมักต้องอาศัยอาการและการตรวจเลือด ผู้ที่ควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ ผู้ที่มีอาการแผลริมแข็งที่อวัยวะเพศหรือปาก ผู้ที่มีคู่นอนติดเชื้อซิฟิลิสหรือมีอาการของโรคซิฟิลิส และผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ซึ่งในปัจจุบันการตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสก็เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจฝากครรภ์ในประเทศไทย

การป้องกัน

วิธีการป้องกันโรคซิฟิลิสที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่มีเชื้อซิฟิลิสและไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งจะลดความเสี่ยงการติดเชื้ออย่างไรก็ตามถุงยางอนามัยสามารถป้องกันได้เฉพาะบริเวณที่ถุงยางอนามัยคลุมไว้เท่านั้น หากเป็นคู่รักใหม่ควรพาไปตรวจเลือดก่อนการมีเพศสัมพันธ์หรือแต่งงาน จากข้อมูลที่มีพบว่าการล้างอวัยวะเพศ การปัสสาวะ หรือการสวนล้างช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

การรักษา

การรักษาสามารถทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ยาที่แนะนำให้ใช้คือยา benzathine penicillin G โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้งในรายที่ติดเชื้อน้อยกว่า 1 ปี ในรายที่มีการติดเชื้อมานานอาจต้องฉีดยาหลายครั้ง ในกรณีที่แพ้ยา penicillin อาจใช้ doxycycline หรือ tetracycline แทนได้ กรณีผู้ป่วยซิฟิลิสเข้าระบบประสาทแนะนำให้ใช้ benzylpenicillin ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือใช้ ceftriaxone แทน ระหว่างการรักษาผู้ป่วยอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ (Jarisch–Herxheimer reaction)

อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรักษาจนหายแล้ว ควรมีการติดตามโดยการตรวจเลือดทุก ๆ 3 เดือน จนครบ 3 ปี และควรปฏิบัติคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด แจ้งคู่นอนปัจจุบันและคู่นอนในอดีตให้รับการตรวจและรักษาเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกระทั่งได้รับการรักษาให้หายขาดทั้งผู้ป่วยและคู่นอน เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำกันและกัน หลังผู้ป่วยหายขาดจากโรคแล้วผู้ป่วยก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้จากคู่นอนที่ไม่ได้รักษา หรือจากคู่นอนใหม่ที่มีเชื้อนี้

ด้วยความปรารถนาดีจากแผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

<