ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในสตรี อาจเกิดจากโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้เป็นประจำ

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 
คือ ภาวะที่มีปัสสาวะซึมหรือไหลออกมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาวะนี้มีอุบัติการณ์สูงและจะเพิ่มมากขึ้นในสตรีสูงอายุ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในหลาย ๆ ด้านรวมถึงความอับอายทั้งต่อครอบครัวของตนเองและสังคม ผู้ป่วยส่วนมากพยายามปกปิดภาวะดังกล่าวไว้ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในสตรีมีหลายชนิดอาจมีความซับซ้อนในผู้ป่วยบางราย ที่สำคัญภาวะนี้อาจพบร่วมกับภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Pelvic Organ Prolapse) ได้บ่อย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและการรักษาที่ถูกต้อง

 

ชนิดของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Types of Urinary Incontinence)

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้มี 3 ชนิดหลักที่พบได้บ่อย ได้แก่

1. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง(Stress Urinary Incontinence) หรือภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด ในภาวะปกติสตรีจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะให้อยู่นิ่งและช่วยทำหน้าที่อุดกั้นท่อปัสสาวะเมื่อเกิดการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอหรือจาม การหัวเราะ การออกกำลังกาย แต่หากเกิดการบาดเจ็บหรือความเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันดังกล่าวย่อมทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดตามหลังการเพิ่มแรงดันในท้องได้

2. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน (Urgency Incontinence) หรือภาวะปัสสาวะราด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน โดยมักมีอาการตามหลังอาการปวดปัสสาวะฉับพลันซึ่งอาจมีอาการเกิดขึ้นเองหรือมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น การถอดกางเกงชั้นใน การเปิดประตูห้องน้ำ การล้างมือด้วยน้ำเย็น หรือแม้กระทั่งการไขกุญแจบ้าน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 7 ครั้ง) และปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน (ตื่นขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้ง) ร่วมด้วย

3. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบผสม (Mixed Incontinence) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีทั้งภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดและภาวะปัสสาวะราดรวมกัน

นอกจากนี้แล้วยังมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้อีกหลายชนิด แต่อาจพบได้น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะเปลี่ยนท่าทาง ภาวะปัสสาวะรดที่นอน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ตลอดเวลา ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบไม่รู้สึกตัว และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะมีเพศสัมพันธ์

 

การประเมินผู้ป่วยเมื่อมาพบแพทย์

            การประเมินผู้ป่วยจะนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จะสอบถามอาการเกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยละเอียด ประวัติทั่วไปรวมถึงเครื่องดื่มที่ดื่มประจำ โรคประจำตัวและยาที่ใช้ประจำ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจภายในโดยละเอียดรวมถึงประเมินภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน นอกจากนั้นแพทย์อาจแนะนำการตรวจพิเศษหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่างเพิ่มเติม ได้แก่

1. การจดบันทึกการปัสสาวะ (Bladder Diary) คือ การจดบันทึกปริมาณปัสสาวะ เวลาที่ปัสสาวะ ปริมาณน้ำดื่ม และกิจกรรมที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การจดบันทึกปัสสาวะเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากต่อการประเมินผู้ป่วยเนื่องจากอาจบ่งถึงสาเหตุและเป็นแนวทางในการรักษาได้อีกด้วย

2. การตรวจพื้นฐานอื่น ๆ (Simple Tests) ได้แก่ การวัดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การจำลองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง(Cough Stress Test) การวัดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะหลังจากปัสสาวะแล้วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

3. การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เช่น การอักเสบ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

4. การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ (Urodynamic Study) คือ การตรวจเพื่อจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกระเพาะปัสสาวะโดยเริ่มตั้งแต่ปัสสาวะเติมในกระเพาะปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถรับได้ จำลองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ไปจนถึงสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะปัสสาวะ การตรวจนี้มักจะทำในผู้ป่วยที่การวินิจฉัยปัญหามีความซับซ้อนหรือผู้ป่วยที่มีแผนจะเข้ารับการผ่าตัด

 

การรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับ

1. การรักษาทั่วไปของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้

1.1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Modification) ได้แก่

-การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น

-การรักษาอาการท้องผูกในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำอาจช่วยลดอาการได้

-การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ในผู้ป่วยที่ดื่มน้ำปริมาณมากเกินไป (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) และมีภาวะปัสสาวะบ่อยหรือภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ (1.5-2 ลิตรต่อวัน) จะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรระวังในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยและดื่มน้ำน้อยอยู่แล้วเป็นประจำ (น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน) ไม่ควรจะจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มอีกเนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ

-การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ สุรา รวมถึงอาหารบางชนิดที่มีรสชาติเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด

1.2 การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Training) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงจะช่วยบำบัดภาวะปัสสาวะเล็ดหรือราดได้ดี การบริหารจะได้ผลดีที่สุดเมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและมีวินัยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรเริ่มฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานภายใต้คำแนะนำของแพทย์เนื่องจากผู้ป่วยประมาณกึ่งหนึ่งบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผิดวิธี

2. การรักษาที่จำเพาะต่อภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด

3. การรักษาที่จำเพาะต่อภาวะปัสสาวะราด

3.1 การฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Training) มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น วิธีการฝึกคือการค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาระหว่างการไปเข้าห้องนํ้ากับการพยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นทีละน้อยเมื่อมีความรู้สึกต้องการถ่ายปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะควรฝึกภายใต้การดูแลของแพทย์

3.2 การใช้ยา ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้นและช่วยลดภาวะปัสสาวะราด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาการปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ยากลุ่มนี้มีหลายชนิดบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องเปลี่ยนชนิดยา 1-2 ครั้งจึงจะพบยาที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีที่สุด โดยทั่วไปการใช้ยาถือเป็นการรักษาที่มาเสริมกับการรักษาหลักที่ได้กล่าวไปข้างต้นและมักจะใช้ยาเป็นระยะเวลาเพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

3.3 การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) คือ การส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและฉีดท็อกซินเข้าไปในผนังของกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวเพื่อลดการปวดปัสสาวะแบบฉับพลันและช่วยให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามท็อกซินจะออกฤทธิ์อยู่นานประมาณ 6-9 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องมีการฉีดซํ้า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีอาการปัสสาวะยากหรือปัสสาวะคั่งตามมาและจำเป็นต้องใช้การสวนปัสสาวะช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

3.4 วิธีการรักษาอื่น ๆ ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการรุนแรงแม้จะได้รับการรักษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว เช่น การกระตุ้นเส้นประสาททิเบียล (Tibial Nerve Stimulation)การกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บ (Sacral Nerve Stimulation) อย่างไรก็ตามการรักษาทั้งสองวิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมทำในประเทศไทย เนื่องจากมีความยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก

 

         ด้วยความปราถนาดีจาก
นายแพทย์พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์ สูตินรีแพทย์ประจำ รพ.วิภาวดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม 

 

<