ไขมันในเลือดสูงหากมากกว่า 240 ม.ก. บวกกับความเสี่ยงของแต่ละคน อาจเกิดโรคร้ายตามมา

ไขมันในเลือดสูงหากมากกว่า 240 ม.ก. บวกกับความเสี่ยงของแต่ละคน อาจเกิดโรคร้ายตามมา

 

 

 ไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

       ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ไขมันเป็นส่วนประกอบของเซลล์ โดยเฉพาะผนังเซลล์ทุกชนิด เซลล์สมอง และเป็นแหล่งพลังงานสำรองโดยเก็บไว้ในรูปเซลล์ไขมัน ไขมันที่สูงผิดปกติมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
 

ไขมันในร่างกายได้มา 2 ทางคือไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นและไขมันที่ได้มาจากอาหาร

        ไขมันที่ได้มาจากอาหารมี 2 ประเภทคือ ไขมันจากพืชและไขมันจากสัตว์

        ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ไขมันที่ได้จากอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ มันสัตว์ หนังสัตว์ (หนังเป็ด หนังไก่)  ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) ไข่แดง สมองและเครื่องในสัตว์ ซึ่งมี “คอเลสเตอรอล”  เป็นส่วนประกอบสำคัญ

        ไขมันที่ได้จากพืชประกอบด้วย “ไตรกลีเซอไรด์” เป็นส่วนใหญ่ ได้จากอาหารประเภท กะทิ แป้ง ขนมหวานที่มีน้ำตาลมาก  ไขมันกลุ่มนี้ ในปัจจุบันเชื่อว่ามีส่วนที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน  แต่ความสำคัญน้อยกว่า คอเลสเตอรอล

        อาหารไขมันต่างๆ ที่รับประทานเข้าไปไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด เมื่อลงไปถึง ลำไส้เล็กจะถูกย่อยด้วยน้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน เป็นกรดไขมันและสารประกอบไขมันขนาดเล็กๆ จากนั้นถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย เข้าสู่กระแสโลหิต และเข้าไปย่อยสลาย และสร้างขึ้นใหม่ที่ตับ

       ในร่างกาย ไขมันต่างๆเหล่านี้จับตัวอยู่ในรูปสารประกอบต่างๆ คือ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์  จับกับสารประกอบ ฟอสโฟไลปิด  เป็นไขมันไลโปโปรตีน 2-3 ประเภท คือชนิดความแน่นสูง  ชนิดความหนาแน่นปานกลาง  และชนิดความหนาแน่นต่ำ  ( HDL, IDL ,LDL) 

       ไขมันในเลือดที่เราทำการตรวจเลือดกันอยู่ ประมาณ 2/3 หรือ 60-70% มาจากไขมันที่เราสร้างขึ้น  

       ไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดี  เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด  ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว  ที่เรียกว่า  “Atherosclerosis” ไขมันไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบสำคัญ และถ้าในร่างกายมีไขมันชนิดนี้มาก เมื่อผนังของหลอดเลือดแดงที่มีแผลหรือผิดปกติ ไขมันชนิดนี้จะแทรกเข้าไปใต้ชั้นผิวในของหลอดเลือด  กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ดึงเอาเม็ดเลือดขาว  เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ  ไฟบรินและสารอื่น ๆ ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดมีแผลเป็นหนา ตัวนูนขึ้น (Plaque) และถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันและเกิดหลาย ๆ ตำแหน่งจะเกิดหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ปริกริยานี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ โดยเฉพาะ ที่หลอดเลือดหัวใจ

       ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) เป็นไขมันที่ดี  ทำหน้าที่กำจัด คอเลสเตอรอลออก ไปจากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดต่างๆ 

 

เมื่อใดแพทย์จะรักษาท่าน

       ถ้าท่านมีไขมันคอเลสเตอรอลสูง  เช่น  มากกว่า 240 มก.% หรือค่ารวมของคอเลสเตอรอลในไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ สูงมากกว่าปกติ แพทย์จะตรวจดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าท่านมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ มีโรคหลอดเลือดในที่อื่นๆ  สูบบุหรี่ เบาหวานความดันโลหิตสูง  มีประวัติ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในครอบครัว หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน  สูงอายุ ถือว่าท่านมีอัตราเสี่ยงสูง ท่านหรือผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่

         ไขมันไตรกลีเซอไรด์มีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าไขมันคอเลสเตอรอล  แต่ถ้าสูงมากๆ ก็ต้องรักษา

        ถ้าท่านเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยุ่แล้ว ต้องรักษาทั้งไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง  

 

วิธีการรักษา

สำหรับไขมันในเลือดสูง เช่น คอเลสเตอรอลสูงมากกว่า 240 มก.% และไขมันไลโปโปรตีน ชนิด LDLสูงมากกว่า 160-180 มก.% รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

1. ผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหารเป็นเวลาประมาณ1-3 เดือน

2. หลัง 1-3 เดือน เจาะไขมันในเลือดซ้ำ ถ้าไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ยังสูงอยู่ การใช้ยาลดไขมันในเลือดอาจจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมียาลดไขมันในเลือดในท้องตลาดมีอยู่ 4 กลุ่ม  คือ ไฟบริกแอซิด สเตติน เรซิน และ ezetimibe  ยาในกลุ่มสเตตินมีผลการทดลองยืนยันชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการเสีนชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันแต่ละกลุ่มมีที่ใช้ และ ข้อดีข้อเสียต่างกัน  ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา

3.พยายามให้ค่าไขมันคอเลสเตอรอลรวมต่ำกว่า 160 มก.% และ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโป โปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก.% หรือลดลง 30-50% จากค่าเดิม

4. การควบคุมอาหารและการใช้ยาต้องทำควบคู่กันตลอดไป

 

หลักการควบคุมอาหาร

อาหารควรมีไขมันน้อยกว่า 30% มีคอเลสเตอรอลอยู่ระหว่าง 200-300 มก.% 

       ถ้าคอเลสเตอรอลสูง

1. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก ไข่แดง  ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต หัวใจ ปอด ลำใส้และสมอง) น้ำมันต่างๆ จากสัตว์  เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) หนังเป็ดหนังไก่ ไข่แดง ปลาหมึกตัวใหญ่  หอยนางรม เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงอาหารทอด  ให้เปลี่ยนเป็น ปิ้ง ย่าง นึ่ง อบ ต้ม แทน

3. น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารให้ใช้พวกน้ำมันที่มีกรดไขม้นชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมัน ข้าว โพด 

4. ผักสีเขียวรับประทานได้ไม่จำกัด

5. ลดน้ำหนัก


 ถ้าไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง

1. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก กะทิ ขนมหวานที่มีน้ำตาล

2. ออกกำลังกาย จะ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลง

3. ลดดื่ม สุรา เบียร์

4. ลดน้ำหนัก

 

สิ่งอื่นๆ ที่ท่านควรรู้

การเจาะเลือดหาระดับไขมันรวมในเลือด เพื่อตรวจค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ร่วมด้วย ควรงด อาหารอย่างน้อย 10-12 ชม.(ไม่ใช่ 6 ซม.) แต่น้ำเปล่าสามารถดื่มได้ แต่ถ้าต้องการตรวจเฉพาะ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ไม่ต้องงดอาหาร 

ยาลดไขมันในเลือดไม่ช่วยลดไขมันหน้าท้องไม่ช่วยลดน้ำหนักเพราะไขมันหน้าท้อง เป็นเซลล์ไขมันที่ร่างกายสะสม ซึ่งเป็นคนละตัวกับไขมันในเลือด

ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว  ระดับไขมันคอเลสเตอรรอลที่ต่ำกว่า 240 มก.%   และไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก. % ก็ถือว่ายอมรับได้

น้ำมันปลามีฤทธิ์ในการลดไขมันไตรกลีเซอไรด์  และมีฤทธิ์ในการเพิ่มไขมันไลโปปรตีน ชนิด ความหนาแน่นสูง แต่ไม่ลดไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL)

<