'โรคลมพิษ' อันตรายหรือไม่? ชี้ชัดสาเหตุ

โรคลมพิษ นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ  - อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี ถ้าพูดถึงโรคลมพิษ ทุกคนมักรู้จักกันดี เพราะเป็นโรคที่พบได้เสมอและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ก็เคยเป็นลมพิษบ้างแล้ว มีคนเคยกล่าวว่า คนทุกคนที่เกิดมามักจะต้องเคยเป็นลมพิษในช่วงชีวิตหนึ่ง ลมพิษเป็นปฏิกิริยาของเส้นเลือดในผิวหนังนั่นเอง ที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุทำให้มีลักษณะเฉพาะคือ มีผื่นแดงนูนขอบเขตชัดเจน ขอบอาจจะหยักนูนและมีอาการคันมาก บางคนขึ้นแค่เพียงบางแห่งของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักขึ้นทั้งตัว บางคนเป็นช่วงระยะเวลาเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นวันๆ แต่บางคนก็อาจจะขึ้นทุกวันเป็นเวลานานปีๆ ก็ได้ซึ่งเรียกว่า”ลมพิษเรื้อรัง”  ลมพิษมิได้แต่แม้จะเกิดในผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็อาจจะเกิดลมพิษได้เช่นเดียวกัน สาเหตุของโรคลมพิษมีมากมายอาจเกิดการแพ้สารบางชนิด เช่น จากการรับประทาน จากการสัมผัส จากการสูดดม หรือจากการถูกฉีดเข้าไปก็ได้ ลมพิษบางชนิดไม่ได้เกิดจากการแพ้ แต่อาจเกิดร่วมกับโรคบางชนิดได้เป็นต้น สาเหตุที่สำคัญของลมพิษแบ่งได้ คือ  อาหาร การแพ้อาหารเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยที่สุด อาหารที่เป็นสาเหตุมักเป็นพวกโปรตีน โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา นอกจากนั้น ไข่, ถั่ว หรือแม้ผลไม้ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้ ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตพบสาเหตุได้ง่าย เช่น การรับประทานกุ้งแล้วเกิดลมพิษ แต่ในบางครั้งผู้ป่วยไม่ได้สังเกตรายละเอียดของอาหาร เป็นต้น ทราบแน่ว่าแพ้กุ้ง แต่วันนั้นไม่ได้รับประทานกุ้ง แต่ลมพิษยังขึ้น ซึ่งตนเองได้รับประทานน้ำพริกหรือแกงที่มีกะปิ หรือใช้กุ้งแห้งเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นจึงควรสังเกตโดยละเอียด หรือในเด็กที่แพ้นมแล้วเกิดลมพิษ อาจเกิดอาการเมื่อเด็กรับประทาน ไอศกรีม หรือ ขนม เป็นต้น นอกจากอาหารต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว สารปรุงแต่งอาหารหรือขนม เช่น สีต่างๆโดยเฉพาะสีเหลืองหรือสีเขียวมักใช้สีประเภท Tartrazine ซึ่งพบในพวก สลิ่ม ขนมด้วง ข้าวพอง อมยิ้ม ฟักเชื่อมขาจีน ขนมชั้น วุ้นหวานกรอบ ครองแครง ฝอยทองกรอบ สารที่เป็นสีตัวนี้คนแพ้ได้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้ จึงควรให้ความสนใจ และสังเกตให้ละเอียด ยา เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของลมพิษ ลมพิษอาจเกิดทันทีทันใด ภายหลังที่รับประทานยาชนิดนั้น เช่น การฉีดหรือรับประทาน ซึ่งสังเกตได้ง่าย แต่บางรายอาจกินเวลานานเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งอาจทำให้สังเกตได้ยาก ยาที่สำคัญได้แก่ยาประเภท ปฏิชีวนะ โดยเฉพาะเพนนิซิลิน ซัลฟา นอกจากนั้นยาแก้ปวด ยานอนหลับ สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางเอกซเรย์หรือแม้กระทั่งวิตามิน ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้  โรคติดเชื้อ สามารถก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกันโดยเฉพาะในวัยเด็ก พบพยาธิในลำไส้เป็นสาเหตุได้บ่อยเช่น พยาธิตัวแบน เชื้อบิด นอกจากนั้นจากการติดเชื้อในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เชื้อราในช่องคลอดสตรี พยาธิไส้เดือน พบเป็นสาเหตุลมพิษวัยผู้ใหญ่ได้เสมอ ฟันผุก็เป็นสาเหตุลมพิษได้ การรักษาหรือการถอนฟันผุ ออกก็ทำให้เกิดลมพิษหายไปในผู้ป่วยบางราย แมลงอาจก่อให้เกิดลมพิษได้ทั้งการสัมผัส การกัด เช่น ไรแมว ไรสุนัข ไรนกริ้น ตัวผึ้ง บุ้งจากการต่อย เช่น แตน ต่อ หมารา มดแดงไฟ มดตะนอย ผึ้ง ซึ่งบางครั้งอาการรุนแรงมาก มีการบวมทั้งตัว หรือผู้ป่วยช็อค บางรายอาจเสียชีวิตในเวลาอันสั้นภายหลังถูกต่อย แพทย์ นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ ศูนย์ผิวหนัง รพ. วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง

การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง (Tilt Table Test)          เป็นการตรวจพิเศษที่ใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมองหัวใจ หรือความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system ) Tilt Table test เป็นการตรวจหาสาเหตุของการเป็นลมที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นลมที่พบบ่อยที่สุด   คำจำกัดความของ “อาการเป็นลมหมดสติ”          คือ การไม่รู้สติสัมปชัญญะอย่างเฉียบพลัน (โดยทั่วไปมักน้อยกว่า 1 นาที) อันเป็นผลมาจากสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่นโรคลมชัก เป็นต้น แม้ว่าการเป็นลมจะไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตราย ถึงแก่ชีวิต แต่การเกิดซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความกังวลและ อาจทำให้เกิดบาดแผลต่อร่างกาย หรือเกิดการผิดปกติทางสมองได้   ข้อบ่งชี้ในการทดสอบ           การทดสอบชนิดนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ หรือเป็นลมง่าย เช่น ยืนเข้าแถวนานๆ ถูกแดดร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนน้อย อดนอน ดื่มสุรามาก   หลักการทดสอบ           ทำได้ง่ายแม้เป็นผู้ป่วยนอกไม่ต้องนอนโรงพยาบาลการทดสอบจะกระทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศา ของเตียงได้ โดยปรับระดับเตียงจากนอนราบเป็นประมาณ 70-80 องศา เป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที บางครั้งอาจ จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย เพื่อให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ส่วนล่างของร่างกายซึ่งแพทย์จะวิเคราะห์ผลการทดสอบจากอัตราชีพจรความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ อาการของผู้ป่วยคือหน้ามืดเป็นลมขณะยืนทดสอบ และอาการจะดีขึ้นทันทีเมื่อปรับเตียงสู่แนวราบ    การเตรียมตัว         งดน้ำอาหารอย่างน้อย 3-6 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ เพื่อป้องกันการสำลักเนื่องจากการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะทดสอบ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Allergy Skin Testing          การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วย ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วยซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือดการทดสอบทางจมูก ( ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ) หรือการทดสอบทางผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนังเพราะทำได้ง่ายรวดเร็ว ให้ผลทันทีและสิ้นเปลืองน้อยกว่า ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง          หลักการดูและรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการใช้ยา คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แต่เนื่องจากรอบตัวคนเรานั้น มีสารก่อภูมิแพ้อยู่มากมาย การที่จะหลีกเลี่ยงให้หมดทุกอย่าง คงทำได้ยาก แต่ถ้าเราทราบว่าเราแพ้สารใดแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ โดยตรง ก็จะทำให้ผลการรักษาโรคดีขึ้น นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ต้องทำการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ทุกราย จำเป็นต้องได้รับการทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารใดเพื่อจะได้รักษาด้วยน้ำยาที่ตรงกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ด้วย ทดสอบได้ตั้งแต่อายุเท่าไร            โดยทั่วไปสามารถทดสอบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนและในผู้สูงอายุน้อยกว่า 6 เดือนและในผู้สูงอายุ อาจให้ผลลบลวงได้ เพราะความไวของผิวหนังน้อย การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ      1. งดยาแก้แพ้ก่อนมารับการทดสอบ 7 วัน      2. ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ต้องงดก่อนมาทดสอบประมาณ 7 วัน      3. ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วยเพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ      4. ยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง ก็มีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบควรงดก่อนเช่นกัน      5. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ           เป็นสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้มาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีหลายชนิด ตัวอย่าง สารสกัดจากไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว ม้า กระต่าย เป็ด ไก่ ห่าน นก เศษซากของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ แมลงวัน เชื้อราชนิดต่างๆ เกสรพืช เช่น วัชพืช เฟิร์น ไม้ยืนต้น หญ้าต่างๆ อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด โดยต้องเป็นน้ำยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แยกแต่ละสารออกจากกันเป็นขวดๆ จึงจะให้ผลในการทดสอบที่เชื่อถือได้ซึ่งในการทดสอบน้ำไม่จำเป็นต้องทดสอบการแพ้ต่อทุกๆ สารแพทย์อาจใช้ชนิดของน้ำยามากน้อยต่างกัน แล้วแต่อายุและประวัติอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย วิธีทดสอบมี 2 วิธีคือ      1. วิธีสะกิด (Skin Prick Test SPT)           ทดสอบโดยการหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของผู้ป่วยใช้เข็มสะกิดเบาๆ ผ่านหยดสารและให้อยู่ในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยไม่ให้มีเลือดออก หลังจากนั้นเช็ดน้ำยาออก รออ่านผล 15 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่ทดสอบต่อสารนั้นๆ ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่นำมาใช้แทนการใช้เข็มสะกิด เป็นแท่งพลาสติกปลายแหลม (Duotip) ปลายเป็นง่ามคล้ายส้อม ใช้จุ่มน้ำยาที่จะทดสอบแล้วนำมาสะกิดที่ผิวหนังของผู้ป่วย โดยไม่ต้องหยดน้ำยาลงบนผิวหนังก่อน ทำให้สะดวกในการทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยเด็กเพราะเด็กจะให้ความร่วมมือดีกว่า การใช้เข็มจริง วิธีสะกิด (SPT) นี้ เป็นวิธีการทดสอบทางผิวหนังที่เป็นที่ยอมรับและแนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรก ในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงน้อย ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย น้ำยาที่ใช้ไม่ต้องนำมาเจือจางก่อน จึงทำให้น้ำยามีความคงทนดีกว่า และเวลาความสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกมากกว่าการตรวจด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal Skin Test)      2. วิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal Skin Test)           ทดสอบโดยการฉีดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ชั้นผิวหนังรออ่านผล 15 นาที ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กให้ความร่วมมือในการทดสอบน้อย เพราะเจ็บกว่าวิธีสะกิด นอกจากนั้นอาจเกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงได้บ่อยกว่า โดยเฉพาะถ้าฉีดสารหลายๆ อย่างเข้าไปพร้อมๆ กัน ผลข้างเคียงของการทดสอบอาจเกิดอาการแพ้รุ่นแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดอยู่ แต่โดยทั่วไปพบน้อยมาก (< 1%) อย่างไรก็ตามไม่ควรทำการทดสอบในผู้ป่วยที่กำลังมีอาการอยู่มากๆ เช่น มีอาการหอบหืดรุนแรง ส่วนอาการคันตรงบริเวณที่ทดสอบเกิดขึ้นได้บ่อยซึ่งอาจหายได้เอง หรือใช้ยาแก้แพ้ก็ได้ ด้วยความปรารถนาดีจาก คลินิก กุมารเวช รพ.วิภาวดี (ผู้ป่วยนอก) โทร. 0-2561-1111 , 0-2941-2800 กด 1 เวลาออกตรวจ 07.00 – 20.00 น.  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อะไรคือไขมันร้าย ไขมันดี ไตรกลีเซอไรด์

อะไรคือไขมันร้าย ไขมันดี ไตรกลีเซอไรด์          พูดถึงคลอเลสเตอรอลกันให้ละเอียดลึกซึ้งนอกจาก จะมีทั้งประโยชน์และโทษดังกล่าวแล้วแต่ถ้าพูดให้ชัดลงไปว่า แล้วเจ้าตัวที่เป็นผู้ร้ายจริงๆ คือตัวไหนกันแน่ เปรียบเหมือนพูดถึงรถยนต์บนท้องถนนทั้งหมด คือ คลอเลสเตอรอลรวม ก็มีรถที่คอยปล่อยควันดำ ทิ้งขยะ น้ำมันเครื่องลงท้องถนนซึ่งถูกเรียกว่า ไขมันร้าย (Bad Cholesterol) มีลักษณะโครงสร้างที่ใหญ่และมีความหนาแน่นต่ำ จึงเรียกศัพท์การแพทย์ว่า Low Density Lipoprotein ย่อว่า LDL-Cholesterol (LDL-C)          LDL-C นี้เอง คือผู้ร้ายตัวจริง ยิ่งมีมากก็ยิ่งก่อปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ในทางกลับกันคลอเลสเตอรอลอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีความหนาแน่นสูง เรียกว่า High Density Lipoprotein (HDL) เป็นพระเอกของร่างกายเรา หรือ ไขมันดี (Good Cholesterol) เปรียบเหมือนรถขนขยะของ กทม. คอยเก็บของเสียหรือไขมันส่วนเกินจากผนังหลอดเลือดกลับคืนสู่กระแสเลือด และนำไปยังโรงงานแปรรูปกำจัดขยะ คือ ตับ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากไขมันคลอเลสเตอรอลให้กลายเป็นน้ำดีเพื่อใช้ย่อยไขมันต่อไป         ทีนี้ทำอย่างไร เราจึงจะทราบตัวเรานี้มีระดับ LDL และ HDL สูงมากน้อยเท่าไร ก็ต้องหยิบกระดาษ ดินสอ มาบวกลบเลขกันสักเล็กน้อย โดยปกติการเจาะเลือดนั้น จะสามารถทราบระดับของคลอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันอีกชนิดเป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งและ HDL ได้และนำมาคำนวณโดยอาศัยสูตรดังนี้       LDL-C = Total Cholesterol – (Triglyceride/5)-HDL      ค่าปกติของ LDL ไม่ควรเกิน 160 มก.% ในคนปกติและไม่เกิด 130 มก.% ในผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบส่วน HDL ที่ดีควรเกินกว่า 45 มก.%         ถ้าต้องการจะลดระดับ LDL-C ในเลือด นอกจากลดการบริโภคอาหารที่อิ่มตัวสูง จะมีส่วนลดระดับ LDL ได้ด้วย ซึ่งเจ้าไขมันที่อิ่มตัวที่ว่านี้ นอกจากจะพบในไขมันสัตว์แล้ว ในน้ำมันพืชบางประเภท เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ จะมีไขมันประเภทนี้สูง ที่น่าวิตกก็คือ ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่ที่เราและลูกหลานของเรากำลังบริโภคกันอยู่อย่างเอร็ดอร่อย ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด มันทอด แมคโดนัลด์ KFC อาหารจานด่วน ต่างก็ประกอบจากน้ำมันที่ว่านี้ทั้งนั้น เพราะราคาถูกแถมไม่ค่อยเหม็นหืนเสียอีกด้วย มีการศึกษาที่พบว่าระดับ LDL-C ของคนในภูมิภาคเอเชีย กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก หลังจากอาหารข้ามชาติผุดขึ้นราวกัดดอกเห็ดและเป็นที่นิยมชื่นชอบของวัยรุ่นและคนทำงานทั่วไป จนกลายเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ไปแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันยิ่งเป็นกันมากขึ้น และยิ่งพบในคนอายุน้อยลงกว่าเมื่อสมัยก่อน  ด้วยความปรารถนาดีจาก  ศูนย์หัวใจวิภาวดี เพื่อน “หัวใจ” ที่ใกล้ตัวคุณ โทร. 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดส่องกล้องข้อกระดูก - แผลเล็ก เจ็บน้อย หายไว

ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องสามารถนำมาใช้ได้กับหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไทรอยด์ หรือแม้การผ่าตัดเต้านม เป็นต้น การผ่าตัดส่องกล้องช่วยให้คนไข้บาดเจ็บน้อยลง ด้วยขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็กลง พักฟื้นเพียงไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น   การผ่าตัดส่องกล้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery) เป็นการผ่าตัดแบบธรรมดา การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้เครื่องมือเพื่อเข้าไปช่วยในการผ่าตัด   การผ่าตัดส่องกล้องคืออะไร? Arthroscopy คือ ส่องกล้องเข้าไปมองดูในข้อ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนแพทย์จะใส่กล้องมีลักษณะเป็นท่อยาวๆ เข้าไปในข้อ แล้วมองดูผ่านกล้องตรงๆ ต่อมามี Video cameras และเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กพิเศษ  แพทย์สามารถจะตรวจหาความผิดปกติของข้อ และผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเล็กๆ เจาะรูใส่เข้าไปในข้อได้ โดยมองผ่านจอภาพที่ต่อออกมาจาก Video cameras ได้ชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยถูกต้อง และผ่าตัดรักษาได้ผลดีกว่า วิธีผ่าตัดแบบปกติ ที่ต้องเปิดแผลและตัดเนื้อเยื่อที่ดี เพื่อให้เห็นบริเวณผ่าตัดชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการผ่าตัดข้อ เพราะการจะเห็น ในข้อจำเป็นต้องเปิดเยื่อหุ้มข้อเป็นแผลเป็น และเกิดภาวะข้อยึดติดได้ง่าย และการเปิดแผลใหญ่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น และผิวข้อที่ถูกเปิดแผลใหญ่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงผิวข้อที่ถูกเปิดออกมาถูกอากาศนานๆ ระหว่างผ่าตัด มีผลเสียต่อกระดูกอ่อนผิวข้ออาจทำให้ผิวเสียได้   การผ่าตัดส่องกล้อง สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติในข้อกระดูกได้เลย ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้าง เพียงแต่เจาะผ่านเยื่อหุ้มข้อเข้าไปในข้อ และขณะเดียวกันข้อที่รับการผ่าตัดยังอยู่ในสภาพที่มีเยื่อหุ้มข้อปิดโดยรอบ ลดภาวะติดเชื้อ และป้องกันผิวข้อไม่ให้แห้ง การหายของแผลผ่าตัดและเยื่อหุ้มข้อใช้ระยะเวลาสั้นกล้ามเนื้อและการฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อที่ได้รับการผ่าตัดกลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น  โดยที่คนไข้ไม่ต้องดมยาสลบแต่ใช้ยาชาเฉพาะจุดแทน การใช้วิธีส่องกล้องนี้ เพื่อวินิจฉัยโรคข้อกระดูก จะช่วยให้แพทย์ตรวจได้ตรงจุดมากว่าการทำ X-ray CT scan หรือ MRI เพราะเห็นสาเหตุ และรอยโรคได้โดยตรง    ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็ก - การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาข้อกระดูก จะมีแผลผ่าตัดที่เล็กกว่าการผ่าตัดปกติมาก โดยขนาดแผลจะอยู่ที่ 0.8-1.0 ซม.  ฟื้นตัวเร็ว - ระยะเวลาของการพักฟื้นในโรงพยาบาลจะสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเป็นธรรมดา ขึ้นอยู่กับโรคที่ผ่าตัด เช่น หากเป็นการผ้าตัดบริเวณลำไส้ใหญ่ จากเดิมใช้เวลาในโรงพยาบาล 7-14 วันจะลดเวลาลงเหลือเพียง 3-5 วันเท่านั้น ทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น ลดการติดเชื้อ - บางรายอาจจะไม่ต้องเย็บแผล การที่แผลผ่าตัดเล็กจะช่วยลดบาดแผลจากการผ่าตัด เพราะแพทย์ไม่จำเป็นที่จะต้องตัดเยื่อหุ้มข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด อีกทั้งยังช่วยคงความชุ่มชื้นของผิวข้อได้อีกด้วย    หลังผ่าตัดส่องกล้องจะเป็นอย่างไรบ้าง? การผ่าตัดส่องกล้องโดยทั่วไปจะใช้เวลาค่อนข้างเร็ว หลังจากการผ่าตัดคนไข้พักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อน แล้วถึงจะกลับไปพักต่อที่บ้านได้   การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ และยาอื่นๆ ตามแพทย์สั่ง ประคบอุ่นหรือเย็นตามคำแนะนำของแพทย์ พักผ่อนเยอะๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไว ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อขยับตัวได้ดี ระยะเวลาการฟื้นตัวของคนไข้แต่ละราย อาจต่างกันไป ขึ้นอยู่กับภาวะของข้อกระดูกและการผ่าตัด โดยที่แพทย์จะทำการติดตามอาการของคนไข้หลังได้รับการผ่าตัดจนหายดี      ข้อห้ามการผ่าแบบส่องกล้อง ควรเป็นคนไข้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย หรือเลือดมีการแข็งตัวไม่ดี จะทำให้คนไข้มีการเสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด คนไข้ที่เคยผ่านการฉายแสงหรือเคยผ่าตัดหลายครั้ง จนมีพังผืดค่อนข้างมากเพราะทำให้ยากต่อการส่องกล้องผ่าตัด อีกทั้งจะไม่มีพื้นที่ในการเป่าลมเพื่อขยายภายในช่องท้องทำให้ไม่มีพื้นที่ในการผ่าตัดได้สะดวก   แพทย์ นพ.แม็กซ์ ซอร์เจีย จิรพงศาธร แผนกศัลยกรรม  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ผู้ป่วย Tepid Sponge

การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ผู้ป่วย Tepid Sponge        การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ในเด็กเป็นหัตถการที่ใช้บ่อยมาก โดยเฉพาะในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 6 ปี ซึ่งมีโอกาสชักจากภาวะไข้สูงได้ การเช็ดตัวเด็กจะช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยใช้น้ำเป็นตัวนำความร้อนออกจากร่างกาย ข้อบ่งชี้      1. ผู้ป่วย อุณหภูมิ > 38.2 C      2. เด็กที่มีประวัติการชักไข้ > 38 C อุปกรณ์      1. กะละมังเช้ดตัว จำนวน 1-2 ใบใส่น้ำอุ่นประมาก 1/2 ของกะละมัง      2. ผ้าขนหนูผืนเล็ก จำนวน 2-4 ผืน      3. ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ขั้นตอนปฏิบัติ      1. เตรียมสถานที่ ที่จะเช็ดตัวเด็กและควรปิดแอร์      2. ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย      3. ปูผ้าเช็ดตัวรองส่วนที่เช็ด เพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน      4. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดน้ำให้หมาดพอควร เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า และพักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง      5. เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว      6. เช็ดแขนด้านไกลตัว จากปลายแขนเข้าหาต้นแขน และรักแร้เป็นการเช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อนทำซ้ำ 3-4 ครั้ง และพักผ้าไว้บริเวณข้อพับแขน และรักแร้      7. เช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน      8. เช็ดขาด้านไกลตัว จากปลายขาเข้าหาต้นขา และขาหนีบ 3-4 ครั้ง และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ      9. เช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน      10. นอนตะแคงเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นบริเวณคอทำซ้ำ 3-4 ครั้ง      11. เช็ดตัวให้แห้ง แล้วใส่เสื้อผ้าผู้ป่วยให้เรียบร้อย หมายเหตุ       - ผู้ป่วยเด็กมีไข้หมายถึง ผู้ป่วยเด็กมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.8 C       - การเช็ดตัวลดไข้ ควรทำนานประมาณ 10-20 นาที หรือตามความเหมาะสม ควรเปลี่ยนน้ำในอ่างบ่อยๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นคงที่ตลอดเวลา หลังการเช็ดตัวลดไข้ประมาณ 15 นาทีให้วัดอุณหภูมิผู้ป่วยซ้ำ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ

ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ การไหลเวียนของเลือด           การไหลเวียนของเลือดอาจอธิบายได้ง่าย ๆ ถ้าเราดูองค์ประกอบอันสำคัญ 3 ประการ คือ หัวใจ,หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ          หัวใจสูบฉีดโลหิตที่อุดมด้วยออกซิเจนและสารอาหารไปตามเครือข่ายอันสลับซับซ้อนของหลอดเลือดแดงเพื่อนำไปยังเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ออกซิเจนและสารอาหารจะผ่านสู่เซลล์ของระบบหลอดโลหิตที่มีชื่อว่า “หลอดเลือดฝอย( Capillaries )” ส่วนของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงานและเลือดที่พร่องออกซิเจนนี้จะสูบฉีดกลับไปที่ปอดเพื่อแลกเปลี่ยนให้อุดมด้วยออกซิเจนอีกครั้งก่อนจะไหลกลับไปที่หัวใจเพื่อเริ่มวงจรใหม่          หัวใจช่วยสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย ส่วนหลอเลือดดำจะใช้กลไกการต้านแรงโน้มถ่วง เพื่อขนส่งเลือดกลับไปยังหัวใจ การเต้นอย่างเป็นจังหวะของหัวใจ การหายใจที่ทำให้ทรวงอกเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อของร่างกาย ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขนส่งเลือดกลับสู่หัวใจ   การทำงานของหลอดเลือดดำและลิ้นของหลอดเลือดดำ           ภารกิจสำคัญของการนเลือดกลับสู่หัวใจเกิดขึ้นจากกลไกการบีบตัวของกล้ามเนื้อและส่วนที่เรียกว่าลิ้นของหลอดเลือดดำ การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องที่มองไม่เห็นของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะค่อย ๆ บีบหลอดเลือดดำและผลักดันให้เลือดไหลผ่านจากลิ้นหนึ่งยังอีกลิ้นหนึ่ง แต่ละลิ้น ประกอบด้วยแผ่นพับ 2 แผ่น ทำหน้าที่เหมือนบานประตูน้ำที่เป็นคู่ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงโน้มถ่วงของโลกดึงเลือดกลับลงสู่ส่วนขา            ขาของคนที่มีสุขภาพปกติจะมีหลอดเลือดดำที่มีผนังเรียบและยืดหยุ่น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในหลอดเลือดดำ เมื่อกล้ามเนื้อน่องบีบตัว ลิ้นของหลอดเลือดดำจะเปิดไปในทิศทางที่มุ่งสู่หัวใจเพื่อให้เลือดไหลผ่านไปพอกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลิ้นก็จะปิดเพื่อป้องกันเลือดไหลกลับ            แต่ถ้าผนังของหลอดเลือดดำเสียหายไปเพราะภาวะหลอดเลือดดำโป่งขดหรือเกิดลิ่มเลือดจนหลอดเลือดอุดตันก็จะโป่งพองจนหลอดเลือดอุดตันก็จะโป่งพองจนลิ้นไม่สามารถปิดได้ดี เมื่อร่างกายอยู่ในท่ายืนเลือดที่จะไหลกลับหัวใจก็จะหยุดนิ่งอยู่ที่ส่วนขา แรงดันภายใจหลอดเลือดดำซาฟีนัส ( Saphenousvein ) ที่อยู่ภายใต้ผิวหนังก็จะสูงขึ้น จนหลอดเลือดดำบวม อาการเริ่มแรกที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้สึกว่าขาเมื่อยล้า หรือปวดน่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลายืนนาน ๆ ต่อมาน้ำเลือดจะคั่งอยู่ที่ส่วนเท้าและข้อเท้าจนทกให้บวมผิวหนังที่ปกคลุมข้อเท้าจะบางลงและมีสีคล้ำหรืออาจแตกเป็นแผลที่เรียกว่าแผลเลือดคั่ง ( Venous stasis ulcer )

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเส้นเลือดขอด

โรคเส้นเลือดขอด         หลอดเลือดขอด ( Varicose Veins ) เป็นภาวะที่มี ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่หมายถึงความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณขา ซึ่งเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาจากแพทย์ที่พบบ่อยที่สุด        ในหลอดเลือดดำที่ขา เลือดจะถูกลำเลียงกลับไปยังหัวใจภายใต้ความดันประมาณ 20 มิลลิเมตรปรอท โดยที่เลือดในกล้ามเนื้อขาจะเข้าไปในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนเลือดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบนอกจะไหลไปตามหลอดเลือดดำ เมื่อมีความผิดปกติของการรวมกันของหลอดเลือดดำที่ตำแหน่งนี้จะทำให้ เลือดย้อนลงตามหลอดเลือดดำส่วนตื้น ทำให้มีการโป่งขยายตัวของหลอดเลือดดำส่วนปลายที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดขอด สาเหตุการเกิดหลอดเลือดขอด        ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดขอด ได้แก่           - อายุที่มากขึ้น จะพบหลอดเลือดขอดได้มากขึ้น กว่า 70% ของคนอายุ 70 ปีขึ้นไปจะพบหลอดเลือดขอด           - ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีโอกาสเกิดหลอดเลือดขอด เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า           - หลอดเลือดขอดพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย           - บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีหลอดเลือดขอดเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นผลจากการที่มีระดับของฮอร์โมนสูงขึ้น           - กลุ่มอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหลอดเลือดขอด           - หลอดเลือดขอดพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงเกินค่ามาตรฐาน           - หลอดเลือดขอดพบได้ 12% ของประชากรในประเทศตะวันตก ส่วนอุบัติการณ์ ในประเทศทางตะวันออกจะต่ำกว่า ทั้งนี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน          สำหรับกลไกที่เป็นต้นเหตุการณ์เกิดหลอดเลือดขอดยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าน่าจะเป็นความผิดปกติของผนังหลอดเลือดดำหรือวาล์วปิด-เปิดในหลอดเลือดดำเสียไป อาการแสดงของภาวะหลอดเลือดขอด          ผู้ป่วยจำนวนมากมายมาพบแพทย์ เนื่องจากลักษณะที่แลเห็นจากภายนอกมองดูไม่สวยงานของภาวะหลอดเลือดขอด ที่มีการขอดตัวของหลอดเลือดดำส่วนตื้น โดยจะมีขนาดประมาณ 3-15 มิลลิเมตร มักเริ่มเป็นที่น่องโดยที่ไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการ ปวดล้า หรือรู้สึกเมื่อยที่ขาหลังจาการยืนนาน ๆ มักมีอาการมากขึ้น ในตอนบ่ายหรือเย็น ผู้ป่วยจะรู้สึกดีเมื่อนอนราบและยกขาขึ้นสูง หลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0-5 มิลลิเมตร จะมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มักมีสีแดงหรือม่วง ส่วนหลอดเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตรมักมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวใต้ผิวหนังจัดเป็นหลอดเลือดขอดในระยะเริ่มต้น          หลอดเลือดขอดที่เป็นอยู่นาน อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาโดยมากจะเป็นการอักเสบของตัวหลอดเลือดขอดเอง หรือบางครั้งเกิดการอุดตัน แต่พบได้น้อยมาก ปัญหาเลือดออกมากหลังได้รับอุบัติเหตุที่หลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวหนังที่ค่อนข้างบาง ซึ่งอาจทำให้เสียเลือดในปริมาณมาก แต่สามารถแก้ไขได้ง่าย โดยให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูงและพ้นด้วยผ้ายืดซึ่งจะช่วยหยุดเลือดได้ ปัญหาแผลที่ บริเวณข้อเท้าสามารถพบได้ประมาณ 5%  การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดขอด          การวินิจฉัยหลอดเลือดขอด แพทย์มากอาศัยประวัติการตรวจร่างกายผู้ป่วยร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยาด้วย Doppler Ultrasound หรือ Duplex Ultrasound ซึ่งจะมีประโยชน์ ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดดำส่วนลึก เช่น เคยมีประวัติขาบวม หรือมีแผลที่บริเวณข้อเท้า หรือลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นหลอดเลือดขอดที่เป็นแต่กำเนิด เช่น Klippel-Trenaunay syndrome  การรักษาโรคหลอดเลือดขอด              การรักษาหลอดเลือดขอดมีหลายวิธีตั้งแต่การให้คำแนะนำ การใช้ถุงน่อง ทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืด การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด หรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ขนาดของตัวหลอดเลือดขอดและอาการของผู้ป่วย โดยมากสามารถให้การรักษาในระยะแรกโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งประจำที่อยู่นาน ๆ ควบคุมน้ำหนักตัว และหมั่นออกกำลังกายด้วยการเดิน เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบน่องซึ่งจะทำให้อาการของหลอดเลือดขอดลดลง การรัดขาที่มีหลอดเลือดขอดด้วยถุงน่องทางการแพทย์          อาการของหลอดเลือดขอดอาจจะบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืดซึ่งมีหลายขนาดและความยาว โดยชนิดที่เหมาะสมเป็นชนิดใส่ใต้เข่าที่ขนาดของความดัดประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอท การใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืดอาจมีประโยชน์ในภาวะหลอดเลือดขอดในระยะเริ่มต้น แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิด หรือทำให้หลอดเลือดขอดหายไปได้          ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพ้นผ้ายืดก็คือ การลืมใช้ หรือความไม่สะดวกในการสวมใส่จากสภาวะอากาศที่ร้อน นอกจากนี้แล้ว ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางหลอดเลือดแดงร่วมด้วย ซึ่งมีรายงานการเกิดภาวะขาดเลือดของขาถึงกับต้องทำการตัดขา ดังนั้นควรตรวจสอบโดยการตรวจคลำชีพจรที่ข้อเท้าเสมอก่อนการใช้ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด          วิธีนี้เหมาะกับหลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร ที่เป็นแขนงบริเวณผิวหนังโดยที่ยังไม่ปรากฏความผิดปกติของวาลว์ในตัวหลอดเลือดดำ ส่วนตื้นหรือใช้ในกรณีที่ ทำการผ่าตัดรักษาหลอดเลือดขอดไปแล้ว แต่ยังมีหลอดเลือดขอดเล็ก ๆ หลงเหลืออยู่ ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด      • หลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร      • หลอดเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร      • หลอดเลือดขอดเดี่ยว ๆ       • หลอดเลือดขอดบริเวณใต้เข่า ข้อห้ามของการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด      • ประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด      • หลอดเลือดขอดอักเสบ      • หลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาในหลอดเลือดดำส่วนลึก      • หลักการของการฉีดขาเข้าหลอดเลือดขอด คือการฉีดสารที่ทำให้หลอดเลือดดำตีบตันเข้าไปในหลอดเลือดขอดซึ่งสารที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งชนิดที่ใช้บ่อยมีชื่อว่า Hydroxpolyethoxidoxecaine ( Aethoxysclerol ) ซึ่งมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-3% ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด           ผลแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยแต่เป็นอันตรายรุนแรง คือ อาการแพ้สารที่ฉีดโดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคัน หรือมีผื่น แต่ถ้ารุนแรง อาจทำให้เกิดอาการช็อคจนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้           ในกรณีที่มีการฉีดสารไม่เข้าหลอดเลือดขอดอาจเป็นเหตุให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหรือ อาจเกิดหรือแผลบริเวณผิวหนังได้ นอกจากนี้การฉีดสารในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอักเสบได้ ส่วนการเกิดหลอดเลือดดำส่วนลึกตัน ( Deep Venous thrombosis ) พบได้น้อยมาก การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดขอด          ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด คือ           1. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาและมีวาล์วในหลอดเลือดดำผิดปกติ           2. เส้นเลือดขอดที่เกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก หรือ มีการอักเสบของหลอดเลือดขอด สำหรับการผ่าตัดรักษาในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยการใช้การตัดและดึงเอาหลอดเลือดขอดที่มีปัญหาออก ( Conventional Venous Stripping) และการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Endovenous laser )             การผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยการใช้การตัดและดึงเอาหลอดเลือดขอดที่มีปัญหาออก ( Conventional Venous stripping ) เป็นการผ่าตัดที่มักใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อล่งชี้ของการผ่าตัดทุกราย การผ่าตัดชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีแผลให้เห็นได้หลังผ่าตัดบริเวณขาหนีบและใต้เข่า อย่างไรก็ดีการผ่าตัดชนิดนี้ยังคงเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยหลอดเลือดขอด           การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Endovenous laser ) เป็นการรักษาหลอดเลือดขอดวิธีใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์รักษาหลอดเลือดขอดโดยที่ไม่มีบาดแผลให้เห็นหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ดีการผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่มากหรือคดเคี้ยวได้ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการรักษายังคงมีราคาแพง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคหลอดเลือดดำที่ขา การสังเกตอาการและวิธีปฏิบัติตัว

โรคหลอดเลือดดำที่ขา การสังเกตอาการและวิธีปฏิบัติตัว โรคหลอดเลือดดำที่ขา            ขาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ขาช่วยให้เราทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ได้อย่างมีอิสระและมั่นใจ ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ขาของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ควรกระดำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพึ่งขาทั้ง 2 ข้าง เป็นหลัก เช่น ครู พยาบาล จราจร แม่ครัว ช่างเสริมสวย พนักงานขาย เป็นต้น อาชีพเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้ขาทั้ง 2 ข้าง ยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ อย่างน้อยวันละ 4-6 ชั่วโมง            การยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดขา ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อขาเมื่อยล้า ถ้าได้นั่งพักหรือนวดเบา ๆ บริเวณที่ปวดเมื่อย อาการอาจทุเลาหรือลายไปได้ แต่ถ้าอาการปวดขาที่เกิดจากการผิดปกติในการทำงานของหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจไม่สะดวก เกิดการคั่งค้างของเลือดก็จะเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปวดขา เช่น อาจรู้สึกขาหนักถ่วง ๆ เมื่อยล้า บวม ชา หรือร้อนวูบวาบในบางครั้งมักเป็นตะคริวในเวลาเย็นหรือกลางคืน โดยที่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำ จนกระทั่งรบกวนความรู้สึกและการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน            อาการดังกล่าวถือเป็นอาการเริ่มต้นหรือสัญญาณเตือนของการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ขา ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดดำอาจมากขึ้นจนเห็นได้ชัด เช่น เส้นเลือดขอดอักเสบ แผลเรื้อรัง เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น   อาการที่สังเกตได้ อาการหรือสัญญาณเตือน เมื่อหลอดเลือดดำที่ขาเริ่มหย่อนสมรรถภาพ จะทำให้เกิดการไหลย้อนกลับและการคั่งค้างของเลือดภายในหลอดเลือดดำ คุณอาจรู้สึกถึงอาการต่าง ๆ เช่น ปวดขา ขาหนัก เมื่อยขา ชา ร้อน บวม เป็นตะคริวในเวลากลางคืน โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นบ่อย จนทำให้รู้สึกหงุดหงิดและประสิทธิภาพของการทำงานของขาลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลรบกวนคุณภาพชีวิตโดยรวม ปล่อยทิ้งไว้ ไม่สนใจดูแลขา...เส้นเลือดขอด....มาเยือน เมื่อเกิดการคั่งค้างของเลือดเป็นเวลานาน ๆ ผนังของหลอดเลือดจะถูกดันจนโป่งพองและสามารถเห็นได้จากผิวนอก ซึ่งเรียกว่า “เส้นเลือดขอด” เส้นเลือดขอด มักก่อความกังวลใจโดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องใส่กระโปรง และยังมีโอกาสลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ  อาการที่รุนแรงในภายหลัง เมื่อหลอดเลือดดำของขนาดใหญ่เสื่อมสภาพไป จะส่งผลกระทบถึงระบบหลอดเลือดฝอย และระบบน้ำเหลืองซึ่งอยู่ต่อเนื่องกัน ทำให้การหมุนเวียนเลือด และน้ำเหลืองผิดปกติ เกิดการคั่งค้างทำให้เกิดอาการบวมอักเสบ และลุกลามจนเป็นแผลเรื้อรังหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน   การรักษา  เมื่อเริ่มต้นมีอาการหรือสัญญาณเตือน ควรเริ่มต้นปรับพฤติกรรมบางอย่าง ในชีวิตประจำวัน โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แต่ในกรณีที่อาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะได้รับการพิจารณาให้รับประทานยาที่ช่วยรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย ในระยะที่มีเส้นเลือดขอด บวม แผลเรื้อรัง การรับประทานยาจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม หรือฉีดยาร่วมด้วย    ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ไม่ควรยืนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ถ้าจำเป็นควรเปลี่ยนอริยาบทบ่อย ๆ  หลีกเลี่ยงไม่ให้ขาสัมผัสกับความร้อน เช่น อาบน้ำที่ร้อนเกินไป ยืนบนพื้นร้อน ๆ อาบแดดนาน ๆ  สวมรองเท้าสูงไม่เกิน 5 ซม. ในกรณีที่ต้องยืนนาน ๆ ควรสวมถุงน่องที่ช่วยพยุง และกระชับกล้ามเนื้อขา ซึ่งมีแรงบีบรีดไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตรปรอท และควรสวมตั้งแต่เท้าจนถึงเหนือเข่า ออกกำลังกายที่ช่วยให้กล้ามเนื้อ และหลอดเลือดแข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยาน แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่รุนแรงเกินไป เช่น กระโดดสูง กระแทกเท้า ยกเท้าสูงประมาณ 45 องศา ขณะนอนพัก จนกระทั่งรู้สึก สบายขึ้น จึงนอนต่อในท่าปกติ ไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

10 วิธีบำบัดเด็กสมาธิสั้น

10 วิธีบำบัดเด็กสมาธิสั้น          ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เหมือนยิ่งเป็นปัญหาหนักอกให้กับคนดูแลเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากน้องๆ มักไม่ค่อยจะอยู่นิ่ง เพราะมีความซุกซนตามวัยแล้ว บางส่วนยังส่ออาการ “สมาธิสั้น” ให้พ่อแม่ได้เริ่มเห็น อาการของเด็กสมาธิสั้นนั้น ส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กชายมักเป็นเด็กที่มีสมาธิสั้นมากกว่าเด็กหญิง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลหรอกค่ะ เพราะเรามี 8 วิธีบำบัด เด็กสมาธิสั้น มาฝากคุณ      1. อย่าเปิดทีวี ให้มีเสียงดังจนเกินไป หรือสภาพแวดล้อมในบ้านต้องไม่วุ่นวายหรือมีการทะเลาะกันบ่อยครั้ง       2. หามุมสงบสำหรับเด็ก เพื่อให้เกิดสมาธิในการทำการบ้าน       3. ฝึกฝนวินัยให้เด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยละเลยหรือตามใจจนทำให้เด็กติดเกม      4. มีการสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน หากไม่แน่ใจให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่งสอนไปคืออะไรบ้าง       5. มีความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นอย่างจริงจังและจริงใจ       6. จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เกิดความมีระเบียบ ไม่ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง      7. อย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย       8. ไม่ควรจับกลุ่มให้เด็กสมาธิสั้นอยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะจะทำให้กลายเป็นเด็กที่เกเรก้าวร้าวได้      9. ส่งเสริมจุดแข็งข้อดีในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกดี และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง      10. จัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้ได้ใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ และใช้พลังงานส่วนเกินอย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว เช่น ออกกำลังกาย หรือเล่นดนตรี ตามที่เด็กสนใจ “สุขภาพใจ” ของเด็กๆ มีความสำคัญต่อพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก ผู้ปกครองควรอย่างใกล้ชิด แล้วอนาคตของชาติ ก็จะสดใสทั้งกายและใจได้ไม่ยาก”   

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<