เดินเร็วห่างไกลโรค

เดินเร็วห่างไกลโรค            แม้เป็นที่ทราบกันดีกว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ก็มีบุคคลส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถออกกำลังกาย           การเดินจึงเป็นทางเลือกแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เดินช้า เดินเร็ว และเดินแข่ง เดินช้า คือ การเดินที่ยังร้องเพลงได้ เพราะผิวปาก ฮัมเพลงได้เพราะ หรือลากเสียงยาวๆ ได้ เช่น การเดินจงกรม เดินซื้อของ เดินเล่น           เดินเร็ว หมายถึง การเดินเร็วติดต่อกันนานกว่า 10 นาทีต่อครั้ง เกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ คนปกติร่างกายแข็งแรงดี ควรเดินด้วยความเร็วได้ประมาณ 400-700 เมตร ในเวลา 6 นาที หรือเดินเร็วจนร้องเพลงไม่ได้ เพราะผิวปาก ฮัมเพลง ลากเสียงยาวๆ ไม่ได้ ถ้าเดินแล้วยังร้องเพลงเพราะ ลากเสียงยาวๆ ได้ แสดงว่ายังเดินช้าอยู่ ถ้าเดินเร็วจนพูดไม่เป็นคำ ไม่รู้เรื่องแล้ว ก็เป็นการเดินแข่ง(เดินเร็วไป)           เดินแข่ง เป็นกิจกรรมทางกายอย่างหนัก คือ เดินเร็วจนกระทั่งพูดไม่เป็นคำ คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะหายใจหอบเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน สำหรับเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ทนทาน ยืดหยุ่นให้ร่างกายผู้ที่ต้องการเดินเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคแห่งการพอกพูนสะสม การเดินเร็วก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเดินแข่ง วิ่ง เต้นแอโรบิคก็ได้          ประโยชน์ของการเดิน ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดหรือควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือด และเพิ่มไขมันดี(แอชดีแอล) ในเลือด ช่วยป้องกันและรักษาโรคความดันสูง ช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน เพิ่มความแข็งแกร่งหรือทนทานของกล้างเนื้อ            นอกจากนี้ การเดินช่วยลดโอกาสเกิดโรคและช่วยรักษาโรคเบาหวาน ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น (บทความนี้ นายแพทย์วิโรจน์ เจียมจรัสรังษี ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้เขียน ฝ่ายจัดทำจดหมายข่าวเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงนำมาลงในจดหมายข่าว เพื่อให้สมาชิกลองนำไปปฏิบัติ)           แผนการเดินยังช่วยคลายเครียด ทำให้หลับสนิท ลดอาการซึมเศร้า ยิ่งถ้าเดินปรับทุกข์ เดินคุยกับเพื่อนที่รู้ใจ ช่วยให้คลายทุกข์ไปได้มาก ไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่ สุรา บริโภควัตถุที่เป็นโทษหรือยาเสพติด เป็นต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเครียด กับการแสดงออกทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม

โรคเครียด กับการแสดงออกทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม โรคเครียด      โรคเครียด สามารถเกิดได้ทุกแห่งทุกเวลาอาจจะเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น การย้ายบ้าน การเปลี่ยนงาน ความเจ็บป่วย การหย่าร้าง ภาวะว่างงานความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว หรืออาจจะเกิดจากภายในผู้ป่วยเอง เช่นความต้องการเรียนดี ความต้องการเป็นหนึ่งหรือความเจ็บป่วย ความเครียดเป็นระบบเตือนภัยของร่างกายให้เตรียมพร้อมที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การมีความเครียดน้อยเกินไปและมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าความเครียดเป็นสิ่งไม่ดีมันก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว แน่นท้อง มือเท้าเย็น แต่ความเครียดก็มีส่วนดีเช่น ความตื่นเต้นความท้าทายและความสนุก สรุปแล้วความเครียดคือสิ่งที่มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตซึ่งมี่ทั้งผลดีและผลเสีย   ชนิดของความเครียด Acute Stress คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกันโดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิมฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ตัวอย่างความเครียด เช่น เสียง อากาศเย็นหรือร้อน ชุมชนที่คนมากๆ ความกลัว ตกใจ หิวข้าว เป็นต้น  Chronic Stress หรือความเครียดเรื้อรังเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างความเครียดเรื้อรัง เช่น ความเครียดที่ทำงาน ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเครียดของแม่บ้าน และความเหงา   ผลเสียต่อสุขภาพ      ความเครียดเป็นสิ่งปกติที่สามารถพบได้ทุกวัน หากความเครียดนั้นเกิดจากความกลัวหรืออันตราย ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะเตรียมให้ร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้ อาการทีปรากฏก็เป็นเพียงทางกาย เช่นความดันโลหิตสูงใจสั่น แต่สำหรับชีวิตประจำวันจะมีสักกี่คนที่จะทราบว่าเราได้รับความเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่มีทางหลีกเลี่ยง การที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังทำให้เกิดอาการทางกาย และทางอารมณ์         โรคทางกายที่เกิดจากความเครียด โรคทางเดินอาหาร โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคปวดหลัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดสุรา โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นหวัดง่าย อุบัติเหตุขณะทำงาน การฆ่าตัวตายและมะเร็ง        ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากความเครียด คุณอาการเหล่านี้หรือไม่ อาการแสดงออกทางร่างกาย คือ มึนงง ปวดตามกล้ามเนื้อ กัดฟัน ปวดศีรษะ แน่นท้อง เบื่ออาหาร นอนหลับยาก หัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย ท้องร่วง ท้องผูก จุกท้อง มึนงง เสียงดังให้หู คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง อาการแสดงออกทางด้านจิตใจ คือ วิตกกังวล ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ไม่มีความคิดริเริ่ม ความจำไม่ดี ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ        อาการแสดงออกทางด้านอารมณ์ คือโกรธง่าย วิตกกังวล ร้องไห้ ซึมเศร้า ท้อแท้ หงุดหงิด ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย นอนไม่หลับ กัดเล็บหรือดึงผมตัวเอง        อาการแสดงทางพฤติกรรม คือ รับประทานอาหารเก่ง ติดบุหรี่ สุรา โผงผาง เปลี่ยนงานบ่อย แยกตัวจากผู้อื่น อาการของผู้ที่มีภาวะที่เครียดมาก คือ อ่อนแรงไม่อยากจะทำอะไร มีอาการปวดตามตัว ปวดศีรษะ วิตกกังวล มีปัญหาเรื่องการนอน ไม่มีความสุขกับชีวิต เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อใดควรปรึกษาแพทย์ เมื่อคุณรู้สึกเหมือนคนหลงทาง หาทางแก้ไขไม่เจอ  เมื่อคุณกังวลมากเกินกว่าเหตุ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้  เมื่ออาการของความเครียดมีผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น การนอน การรับประทานอาหาร งานที่ทำ ความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง    ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต           ใครที่ต้องการบริจาคโลหิต อยากรู้ไหมคะ ว่าคุณต้องมีคุณสมบัติ อย่างไรบ้าง คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต อายุระหว่าง 17 ปีถึง 60 ปีบริบูรณ์ น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพทั่วไปสมบูรณ์ดี ไม่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ไม่เป็นไข้มาเลเรียมาในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา และไม่เป็นกามโรค โรคติดเชื้อต่างๆ ไอเรื้อรัง ไอมีเลือด เลือดออกง่ายผิดปกติ โรคเลือดชนิดต่างๆ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ ไม่อยู่ในระหว่างทานยาแก้อักเสบในระยะ 7 วันที่ผ่านมา ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติติดยาเสพติด งดการบริจาคโลหิตภายหลังผ่าตัด คลอดบุตรหรือแท้งบุตร 6 เดือน (ถ้ามีการรับโลหิตมาต้องงดบริจาคโลหิต 1 ปี) สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองก่อนมาบริจาคโลหิต ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ควรมีสุขภาพสมบูรณ์ดีทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาแก้อักเสบใดๆ ควรรับประทานอาหารมาก่อน และเป็นอาหารที่ย่อยง่ายไม่มีไขมัน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคอย่างน้อย 24 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ก่อน และหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี ข้อปฏิบัติหลังบริจาคโลหิต นอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันทีจะเวียนศีรษะเป็นลมได้ ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ และดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1 วัน ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากเวียนศีรษะให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ดจนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการบวมช้ำ งดกิจกรรมที่ใช้กำลังและเสียเหงื่อที่ทำให้อ่อนเพลียได้   แล้วอย่าลืม ไปบริจาคโลหิตกันนะคะ ที่สภากาชาดไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แผลไฟไหม้ / น้ำร้อนลวก

แผลไฟไหม้ / น้ำร้อนลวก          จากเหตุการณ์น่ากลัวที่เกิดขึ้นที่ผับดังเมื่อหลายปีก่อน เชื่อว่า ชาวสุขภาพคงเห็นภาพน่ากลัว ที่ไม่ได้เผยแพร่บ้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงคิดขึ้นมาทันทีคือ การรักษาบาดแผลไฟไหม้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแผลติดเชื้อง่าย และผู้ป่วยก็มีความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เราเลยฝากความรู้เรื่องเกี่ยวกับ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ให้ทุกท่านอ่านกันนะคะ    ไฟไหม้ / น้ำร้อนลวก   ลักษณะทั่วไป           บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก    เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะมี อาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก   (กินบริเวณกว้าง และ แผลลึก) มักมีจะภาวะแทรกซ้อน ทำให้ทุพพลภาพหรือตายได้   สาเหตุ           มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ สิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่พบได้แก่ ความร้อน เช่น น้ำร้อน (หม้อน้ำ กระติกน้ำ กาน้ำ ไอน้ำ) น้ำมันร้อน ๆ (ในกระทะ) ไฟ (เตาไฟ ตะเกียง บุหรี่ ประทัด พลุ)วัตถุที่ร้อน (เช่น เตารีด จานชามที่ใส่ของร้อน) ไฟฟ้าช็อต สารเคมี เช่น กรด ด่าง รังสี เช่น แสงอัลตราไวโอแลต (แสงแดด) รังสีเรเดียม รังสีโคบอลต์ ระเบิดปรมาณู เป็นต้น   อาการ           อาการขึ้นกับ ขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล ขนาด หมายถึงบริเวณพื้นที่ของบาดแผล แผลขนาดใหญ่   (กินบริเวณกว้าง) จะมีอันตรายกว่าแผล ขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีโอกาส  ติดเชื้อถึงขั้นเป็นโลหิตเป็นพิษ   ถึงตายได้ การประเมินขนาดกว้างของบาดแผล นิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าคิดหยาบๆ ให้เทียบเอาว่า แผลขนาดหนึ่งฝ่ามือ (ของผู้ป่วย) เท่ากับ 1% ของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น   ถ้าแผลมีขนาดเท่ากับ 10 ฝ่ามือ ก็คิดเป็นประมาณ 10% เป็นต้น ทางการแพทย์ได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นมาตรฐานทั้งในเด็กและ ผู้ใหญ่ ซึ่งสะดวกในการคิดคำนวณ   ความลึก ผิวหนังมีความลึก 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) เราแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกเป็น 3 ขนาด ด้วยกัน ดังนี้  ก. บาดแผลดีกรีที่ 1 หมายถึง เซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น  หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย สามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้ จึงมีโอกาสหายได้สนิทและไม่มีแผลเป็น (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ)มักเกิดจากการถูกแดดเผา (อาบแดด) การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือด หรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียด ๆ และไม่นาน ผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลจะมีลักษณะแดงบวมเล็กน้อย และปวดแสบปวดร้อน ไม่มีตุ่มพอง หรือหนังหลุดลอก  มีลักษณะแบบเดียวกับรอยแดดเผา ซึ่งถือเป็นบาดแผลไหม้ดีกรีที่ 1 แบบหนึ่ง บาดแผลดีกรีที่ 1 ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และโปรตีน  จึงไม่ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง ที่เกิดบาดแผล มักจะหายได้เองและไม่มีอันตรายร้ายแรง ข. บาดแผลดีกรีที่ 2 หมายถึงบาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น (ทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด) และหนังแท้ ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า)   แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและ ไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ)    มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟบาดแผลจะมีลักษณะแดงและพุเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก และใหญ่ ผิวหนังอาจ หลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการเจ็บปวด อาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีนและเกลือแร่ และติดเชื้อได้ง่าย ค. บาดแผลดีกรีที่ 3 หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด    รวมทั้ง ต่อมเหงื่อ ขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล  ผิวหนังทั้งชั้นจะหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ หรือแดงสลับขาว หรือเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม    มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำ       หรือติดเชื้อรุนแรงได้ แผลมักจะหายยาก และเป็นแผลเป็นในการเกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแต่ละครั้ง อาจมีบาดแผลที่มีความลึกขนาดต่าง ๆ กัน ในคนเดียวกันได้ และบางครั้งในระยะแรก อาจแยกบาดแผลดีกรีที่ 2 และ 3 ออกจากกันไม่ชัดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดนี้ ล้วนถือเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรง และควรคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผล   ตำแหน่ง บาดแผลบนใบหน้า อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มาก ถ้าถูกบริเวณตา อาจทำให้ตาบอดได้ แผลที่มือและตามข้อพับต่าง ๆ อาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อต่าง ๆ มีแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้เหยียดออกไม่ได้  ถ้าสูดควันไฟเข้าไปในปอดระหว่างเกิดเหตุ อาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจเกิด การอักเสบ กลายเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ อาจรุนแรงจนหายใจไม่ได้ ถึงตายได้   การปฐมพยาบาล           เมื่อพบคนที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรรีบให้การช่วยเหลือ ก่อนส่งโรงพยาบาล ดังนี้   ก. บาดแผลดีกรีที่ 1  รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน และป้องกัน มิให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น อาจใช้น้ำเย็นราด หรือแช่ในน้ำใส่น้ำแข็ง หรือ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ หรือใช้ถุงพลาสติก ใส่น้ำแข็งผสมน้ำเล็กน้อยวางตรงบริเวณที่มีบาดแผล อย่างน้อย 20 นาที    หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนลดลง   (ผลิตภัณฑ์ช่วย เจลว่านหางจรเข้) ปิดแผลด้วยผ้ากอซ หรือผ้าสะอาด ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือมีตุ่มใส ควรไปหาหมอ   ข. บาดแผลดีกรีที่ 2  รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ใช้ผ้าสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้ผ้ากอซ หรือผ้าสะอาดปิดไว้ ถ้าบาดแผลกว้าง เช่น ประมาณ 10-15 ฝ่ามือ (10-15%) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้รวดเร็ว หรือเกิดที่บริเวณหน้า (รวมทั้งปาก และจมูก) ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดที่ตา หู มือ เท้า  หรืออวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้ง่าย    ควรส่งโรงพยาบาลทันที ขณะที่รอส่งโรงพยาบาล  อาจให้การช่วยเหลือ เบื้องต้นโดย 2.1 เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากควรตัดออก เป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก เพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม 2.2 ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ 2.3 ถ้ามีกำไล หรือแหวน ควรถอดออก    หากปล่อยไว้ นิ้วหรือข้อมืออาจบวมทำให้ถอดออกยาก 2.4 ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ในการเดินทางไปถึงสถานพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรืออาจให้กินน้ำส้มคั้นใส่เกลือก็ได้ ควรให้ดื่มครั้งละ  1/4-1/2 แล้ว ทุก ๆ 15 นาที 2.5 ควรใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูงเล็กน้อย 2.6 ให้พาราเซตามอล 1-2 เม็ด เพื่อระงับปวด และอาจให้ไดอะซีแพม ขนาด 5 มิลลิกรัม 1/2-1  เม็ด     ค. บาดแผลดีกรีที่ 3           เนื่องจากเป็นบาดแผลลึกซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้ จึงควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบาดแผลมีขนาดมากกว่า 10% (ในเด็ก ) หรือ 15% (ในผู้ใหญ่) ก่อนส่งโรงพยาบาล อาจให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับบาดแผลดีกรีที่ 1 และ 2 ดังกล่าว     การรักษา            สำหรับการรักษา ในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาจกระทำ ดังนี้   ก. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลดีกรีที่ 1           ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมสเตอรอยด์   หรือเจลว่านหางจรเข้ขององค์การเภสัชกรรมบางๆหรือทาด้วยวาสลิน หรือน้ำมันมะกอก และให้ยาแก้ปวดถ้ารู้สึกปวด   ข. ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3 1. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ในกรณีต่อไปนี้ บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ (2%) บาดแผลดีกรีที่ 2 มีขนาดมากว่า 10 ฝ่ามือ (10%) ในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือ (15%) ในผู้ใหญ่ บาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ตามข้อพับต่าง ๆ บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ มีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทาง    2. ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในข้อ 1. อาจให้การรักษาโดย ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เพียง 2-3 อัน เกิดที่ฝ่ามือ ไม่ควรใช้เข็มเจาะ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (Merthiolate) แล้วปิดด้วยผ้ากอซ ตุ่มจะค่อย ๆ แห้งและหลุดล่อนไปเองใน 3-7 วัน ถ้ามีตุ่มพองที่แขนขา หลังมือ หลังเท้า หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว ให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) เจาะเป็นรู    แล้วใช้ผ้ากอซที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง ใช้โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดทา แล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อน ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อขริบเอาหนังที่พองออก แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมซัลฟาไมลอน (Sulfamylon), ขี้ผึ้งแบกตาซิน (Bactacin), น้ำยาโพวิโดนไอโอดีน, ครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน (Silver sulfadiazine) หรือ พ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์ (Predex spray) ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา ให้ใช้ผ้าพัน ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ ควรล้างแผลและใส่ยา วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น ควรให้ยาแก้ปวด   และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ถ้าบาดแผลไม่ดีขึ้น ใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการติดเชื้อ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร) ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)   ข้อแนะนำ การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่แนะนำในปัจจุบันคือ รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบทันทีหลังเกิดเหตุ อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่องทา บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว    ดังนั้นจึงควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ (เหยียดไม่ได้) สามารถป้องกัน  ได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรก ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก    ถ้ามีบาดแผลกว้าง แพทย์จะให้น้ำเกลือชนิดริงเกอร์แล็กเทต (Ringer's lactate)  ในวันแรกอาจให้ขนาด 4 มล. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่บาดแผล 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8 ชั่วโมงแรก อีกครึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้หมดใน 16 ชัวโมงต่อมา วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือ และพลาสมา  ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว (หรือหลัง 1 สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง โดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลดีกรีที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10% ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษายากและมักจะมีอัตราตายสูง ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาล โดยรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อก นานอย่างน้อย 5 นาที แล้วส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก   การป้องกัน           ควรหาทางป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำรอนลวก โดย อย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่น ๆ ที่มีความร้อนไว้ใกล้มือ   เด็ก อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย อย่าประมาท จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น อ้อ ข้อสำคัญ ระบบการป้องกัน และเคลื่อนย้ายหนีไฟ สำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประกอบการทุกรายค่ะ   ข้อมูลสาระสุขภาพ จากรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หลีกเลี่ยง 6 วิธี ที่ทำลายสมองของคุณ

หลีกเลี่ยง 6 วิธี ที่ทำลายสมองของคุณ          สมองมนุษย์ถึงแม้จะวิเศษเพียงใด แต่ก็เปราะบางอ่อนไหวต่อสิ่งกระตุ้น ทั้งที่เป็นสารเคมีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและกัมมันตภาพรังสี เสมือนหนึ่งไม่มีตัวตน แต่มีผลอย่างสำคัญต่อสมอง คือ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ใครๆ ก็อยากมีสมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีอยู่มากมายที่โดยปกติก็เคยเป็นคนเก่ง แต่ก็กลับกลายเป็นคนที่ใช้สมองได้อย่าง ไม่มีประสิทธิภาพ ในวันนี้จะขอกล่าวถึง 6 วิธี ที่จะทำลายประสิทธิภาพการทำงานของสมองของคนเราที่คุณอาจมองข้ามไป      1. โกหกเป็นประจำ การโกหกเป็นประจำทำให้สมองต้องทำงานหนักกว่าปกติ จริงๆแล้วสมองของคนเรายิ่งทำงานหนักก็ยิ่งดี แต่คนโกหกที่เป็นประจำ สมองต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ ในการที่จะต้องพยายามจำสิ่งที่ได้โกหกเอาไว้ และก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของการใช้สมองทำงานหนักอย่างไม่สร้างสรรค์ การโกหกเป็นประจำจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำลายประสิทธิภาพการทำงานของสมอง       2. คิดในทางไม่ถูกต้อง การใช้สมองคิดในทางที่ไม่ถูกต้อง คือ การทำผิดทำนองคลองธรรม ผิดกระบวนการ ผิดจริยธรรม ผิดจรรยาบรรณ หรือผิดกฎหมาย เช่น การคดโกง การประจบผู้บังคับบัญชา การคอร์รัปชั่น หรือทำผิดกฎหมาย ทำผิดประเพณีปฏิบัติที่ดีงาม โดยที่ไม่ต้องได้รับการลงโทษ สิ่งเหล่านี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำลายประสิทธิภาพการทำงานของสมองของเรา       3. หมกมุ่นอบายมุข การคิดหมกมุ่นอยู่กับอบายมุข เช่น การพนัน หวย ฯลฯ ทำให้สมองต้องทำงานหนักทั้งเวลาตื่นและหลับ เพราะเวลาตื่นก็จะหมกมุ่นหาแต่ เลขเด็ด ตีความหมายของการฝันให้เป็นตัวเลข เวลาหลับก็จะฝันแต่เรื่องเป็นตัวเลข พบเห็นสิ่งผิดปกติในธรรมชาติก็จะคิดเป็นตัวเลข การหมกมุ่นกับอบายมุขนั้น ทำลายทั้งประสิทธิภาพการทำงานของสมองและคุณภาพชีวิต       4. เจ้าคิด เจ้าแค้น คนเจ้าคิดเจ้าแค้นเป็นประจำ จะมีสภาพเป็นคนหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ไม่เป็นมงคล สมองจะถูกทำลายเสมือนหนึ่งถูกอาบด้วยยาพิษเป็นประจำ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นการทำลายสมอง       5. เครียด ฟุ้งซ่าน ความเครียด ความฟุ้งซ่าน ทำให้สมองต้องทำงานหนักอย่างผิดทาง ทำให้สมองหลั่งสารหรือขาดสารบางอย่างที่หล่อเลี้ยง จึงกระตุ้นให้สมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดอาการซึมเศร้าหรือฟุ้งซ่านอย่างหนัก ถึงขั้นขาดสติ ยั้งคิด ทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้       6. ไม่ยอมคิด ตรงกันข้ามกับคนที่คิดมากอย่างผิดทาง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงอย่างหนัก คนที่ไม่ยอมคิดอะไรเป็นพิเศษขึ้นมาเลย นอกเหนือไปจากการคิดเพื่อใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ เช่น การกินอาหาร การทำงานตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดเท่านั้น เผินๆ อาจดูคล้ายผู้บรรลุในสัจจะแห่งชีวิต แต่นั่นก็เป็นสาเหตุในการทำลายประสิทธิภาพของสมองอีกทางหนึ่ง ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ส.ม.ท.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างมีความสุข

ทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างมีความสุข ทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างมีความสุข นพ.วิชนาท สีบุญเรือง แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ รพ.วิภาวดี      ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้จำเป็นต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน หรือการพักผ่อนหย่อนใจในโลกไซเบอร์ แต่ถ้าเราทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างไม่ถูกสุขลักษณะ จะก่อให้เกิดปัญหาในร่างกาย เช่น ภาวะปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เอ็นอักเสบ หรือวุ้นในตาเสื่อม เป็นต้น ลองนำ 10 วิธี ของเราไปปฏิบัติ แล้วคุณจะสามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีความสุข      1. ควรตรวจสายตาก่อนทำงานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และตรวจวัดสายตาซ้ำเป็นระยะ ๆ      2. ผู้ที่แพ้แสงสว่าง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนปฏิบัติงานร่วมกับคอมพิวเตอร์      3. ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ ๆ ไม่ควรนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไป       4. จอจัดแสงที่จอแสดงภาพ (Monitor) ควรเหมาะสม คือไม่ควรมีแสงกระพริบ หรือวูบวาบ และควรมีความสว่างหรือความเข้มของแสงที่เหมาะสม คือ ควรปรับให้ ไม่สว่างหรือมืดเกินไป      5. ระยะจากสายตามายังจอคอมพิวเตอร์ ควรมีมุมก้มประมาณ 20 องศา ระยะห่าง 18-22 นิ้ว      6. การวางตำแหน่งมือที่แป้นพิมพ์ ข้อศอก ควรตั้งฉากกับลำตัว(ประมาณ 90-120 องศา) เพื่อลดแรงยกที่หัวไหล่      7. การจับ Mouse ไม่ควรให้ข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่บิดเอียงออกทางด้านนอกลำตัว ควรจับในท่าที่ข้อมือเอียงหรือบิดน้อยที่สุด      8. เก้าอี้ ควรสามารถปรับระดับสูงต่ำ ตามสรีระของผู้ใช้งานได้ และต้องมีพนักพิงที่ปรับระดับได้ และที่พักแขน ส่วนเบาะรองนั่งควรมีลักษณะโค้งลาดลง ไม่เป็นสันคม และไม่กดที่ใต้ตำแหน่งของเข่า      9. จอแสดงภาพต้องสามารถปรับมุมก้มเงย หรือเอียงได้      10. หากปวดกล้ามเนื้อหรือเอ็นเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ ที่สำคัญ การทำงานทุกการทำงานต่อเนื่องกัน 2 ชั่วโมง ควรมีการหยุดพักประมาณ 10 นาที ด้วยนะครับ  ขอบคุณหนังสือ วิทยาการจัดสภาพงานเพื่อเพิ่มผลผลิตและความปลอดภัย และหนังสือสุขอนามัยของผู้ทำงานกับคอมพิวเตอร์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง            จากการอบรม เรื่องเกี่ยวกับการทำ GMP ของโรงงานผลิตอาหารต่างๆ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Clean food มีเกร็ดต่างๆมาเล่าให้ฟัง Info เลยสรุปมาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นสังเขปนะคะ จริงๆมีมากกว่านี้ แต่แค่นี้ก็พอ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็นทุกข์ค่ะ กินเข้าไป กินเข้าไป (เถอะค่ะ)   อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง พวกขนมปังปี๊บ กระบวนการผลิตบางแห่งไม่ดี ไส้สับปะรด เป็นมันแกวหรือพืชอื่น ๆ กวนใส่น้ำตาล และใส่กลิ่นกับแกนสัปปะรดไปนิดหน่อย เชอรี่บนขนมเค้กราคาถูกตามตลาดสด คือ มะเขือเปาะฟอกสีจนใสเป็นวุ้น แล้วย้อมสีแดง (ผงฟอกสีทำให้เป็นโรคไต) พวกที่ใช้สารฟอกสีอื่นๆ เช่น มะม่วงกวน (แผ่นใส ๆ)  ยอดมะพร้าวขาว ๆ  ซูชิในตลาดนัดที่อากาศร้อน แบคทีเรียจะเจริญเติบโตเร็ว ชูชิต้องเสริฟเย็นเท่านั้น  เอแคลร์กับลูกชุบ หรือขนมอะไรที่ต้องมีการปั้น ๆ ถู ๆ ต้องพึงระวังสุขอนามัย ควรซื้อกับร้านค้าที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงเท่านั้น ลูกอมสีอื่น ๆ เช่น ฟ้า เขียว ม่วง เป็นสีที่ขายไม่ดีไม่ควรซื้อเพราะใช้สีที่เก็บไว้นาน ทานลูกอมสีแดง ขาว ได้ ปลายหน้าร้อนต่อต้นหน้าฝน ไม่ควรกินอาหารทะเล เพราะฝนเริ่มตกจะชะฝุ่นบนพื้นดินลงทะเลและสัตว์ทะเลจะกินเข้าไป จะมีแต่ไวรัส แบคทีเรีย โอกาสท้องเสียมีสูง พวกอาหาร Pack สำเร็จมา wave ที่บ้าน wave ได้ ครั้งเดียวเท่านั้นไม่ควรล้าง Package มาใส่ wave ซ้ำเพราะสารพิษจะออกมา โยเกริ์ตต่างๆ จะมีแป้งผสมอยู่ประมาณ 20% ควรทานโยเกริ์ต Home made ถ้วยเล็ก ๆ (ลองหยดไอโอดีนพิสูจน์ดูก็ได้ จะพบว่าโยเกริ์ตเป็นสีน้ำเงิน)  น้ำปลาเปิดขวดแล้ว ควรมีอายุการใช้ไม่เกิน 1 เดือน ระวังเชื้อราตามคอขวดที่เปิดแล้วต่าง ๆ  กระดาษหนังสือพิมพ์อย่าเอามาห่อผักแช่ตู้เย็น(มีสารพิษ จากหมึก) อาหารกระป๋องถ้าใช้ไม่หมดควรเอาออกจากกระป๋องใส่ภาชนะอื่นแช่ตู้เย็น ฟองน้ำล้างจานที่มีน้ำยาผสมน้ำทิ้งไว้(เป็นน้ำ ๆ) ทิ้งไว้ได้ไม่เกิน  1  ชั่วโมง แบคทีเรียจะขึ้น ควรเททิ้งไป อาหารหมักดองต้องระวังมีไวรัสที่ทำลายกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผักกาดดองตามท้องตลาด ในโรงงานบางแห่งจะมีกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด (ใช้คนลงไปในอ่างดอง เราไม่แน่ใจว่าคนนั้นๆ มีโรคหรือไม่) ควรใช้ผักกาดดองกระป๋องที่เชื่อถือได้ เบียร์สดจะไม่ถูกกรอง ยีสต์ที่ตายแล้วออก  เราจะกินศพยีสต์เข้าไปด้วย (เบียร์ขวดจะถูกกรองไปแล้ว) แต่กินได้ ไม่เป็นไร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หน้าร้อน กับ 9 โรคร้ายที่ต้องระวัง

หน้าร้อน กับ 9 โรคร้ายที่ต้องระวัง           ไม่เพียงอากาศเท่านั้นที่ร้อนระอุ ช่วงนี้ผู้คนมักเจ็บไข้ได้ป่วยกันง่ายขึ้นทั้งจากน้ำดื่ม อาหารที่ไม่สะอาดและอาหารเสียง่าย ทำให้โรคร้ายทยอยกันมาให้เห็น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจที่ถือเป็นภัยสุขภาพก็ต้องระวัง ร้อนนี้มีโรคอะไรที่ต้องระวังบ้างไปดูกัน โรคอุจจาระร่วง โรคนี้เกิดจากเชื้อโรค ต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า3ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วร่างกายจะสูญเสีย น้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมากและมักเกิดขึ้นในเวลารวดเร็วหลังจากทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ อาหารทะเล ฯลฯ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจมีถ่ายเหลวเป็นน้ำ มักไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจดื่มหรือให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง โรคบิด ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก คล้ายถ่ายไม่สุด โดยทั่วไปแบ่งเป็น2ชนิด ได้แก่ บิดชิเกลลา (Shigellosis)หรือบิดไม่มีตัวและบิดอะมีบา (Amebiasis)หรือบิดมีตัว ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการทานอาหารหรือน้ำที่ถูกปนเปื้อน อาหารส่วนใหญ่ที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค คือ อาหารจำพวกนม ผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ และอาหารอื่นๆ ที่ถูกปนเปื้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ สัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ตามตัว อาจมีหนาวสั่นได้ คนไข้ซึมลง อาจเพ้อ อหิวาตกโรค (Cholera) เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio Cholerae)เข้าสู่ร่างกายโดยการทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ เชื้อโรคจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม ทั้งนี้ เพราะอากาศเปลี่ยนไปมาหรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ร่วมกับร่างกายที่อ่อนแอ เมื่อรู้สึกตัวว่าเป็นหวัดให้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ และแยกนอนร่วมกับผู้อื่น หากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ โรคผิวหนัง ในหน้าร้อนอาจทำให้เราเกิดเม็ด ผดผื่นคัน สามารถป้องกันได้ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายและรักษาความสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกหรือน้ำที่ไม่สะอาด โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งที่มีสุนัขเป็นพาหะหลักที่นำเชื้อไวรัสมาสู่คน โดยสุนัขบ้าอาจกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผลเชื้อไวรัส โรคพิษสุนัขบ้านี้ เมื่อมีอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญ ควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน เพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน โรคเครียด เป็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในหน้าร้อน ทำให้เกิดอาการปวดหัว นอนไม่หลับ โมโหและหงุดหงิดง่าย จนกระทบไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง วิธีคลายเครียดง่ายๆ คือ หนีร้อนไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เช่น ในห้องแอร์ ใต้ร่มไม้ หรือหางานอดิเรกทำ ฝึกนั่งสมาธิ เป็นต้น   โรคหน้าร้อนป้องกันได้ ดังนี้ เลือกทานอาหาร-น้ำดื่ม เน้นความสด ใหม่ สะอาด หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ2-3ครั้ง ครั้งละ30นาที แต่ร้อนๆ อย่างนี้ ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน อากาศต้องถ่ายเทสะดวก ส่วนห้องแอร์ก็ต้องเย็นอย่างพอเหมาะด้วยอุณหภูมิ25องศาเซลเซียส ไม่อย่างนั้นพอออกไปข้างนอกห้องอาจทำให้เกิดอาการวูบได้ง่ายๆ อยู่บ้านดีกว่า นอกจากจะประหยัดในยุคเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ การอยู่บ้านยังทำให้เราเย็นสบาย ไม่ต้องกลัวโรคลมแดด แต่หากจำเป็นควร สวมหมวก หรือกางร่มก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด กู๊ดบายแอลกอฮอล์ ร้อนๆ แบบนี้ อย่าริคลายเครียดด้วยเครื่องดื่มมึนเมา โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ดิจิตอลแมมโมแกรมกุญแจสำคัญในการต่อสู้มะเร็งเต้านมของคุณผู้หญิง

ด้วยประสิทธิภาพ ในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้อย่างแม่นยำ ภายในเวลาที่รวดเร็วของดิจิตอลแมมโมแกรม จึงกลายเป็นเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิต อันเนื่องมาจากโรคมะเร็งในผู้หญิงทั่วโลก เพราะมะเร็งเต้านม จัดเป็นโรคที่ยากจะระบุถึงสาเหตุและวิธีการป้องกัน อีกทั้งจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ในระยะเริ่มต้น การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปีนั้น จะช่วยให้พบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น จึงถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ความแตกต่างของดิจิตอลแมมโมแกรมและแมมโมแกรมทั่วไป การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมเป็นการตรวจเอกซเรย์เต้านมซึ่งเครื่องแมมโมแกรมทั่วไปจะบันทึกภาพไว้บนแผ่นฟิล์มต้องใช้เวลามากกว่าการใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม เพราะเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม นั้นจะบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี บางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเต้านมก่อนวัย 35 เนื่องจากพบปัจจัยเสี่ยงมากกว่าผู้อื่น เช่น มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน เป็นต้น ด้วยความปรารถนาดีจาก แผนก X-Ray รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา ลักษณะโรค โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae มียุงลาย Aedes aegypti, Ae. albopictus เป็นพาหะนำโรค วิธีการติดต่อ ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้ ระยะฟักตัว โดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อ ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2 – 4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้  ความแตกต่างระหว่างDF/DHF กับการติดเชื้อ Chikungunya  1. ใน chikungunya มีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าใน DF/DHF คนไข้จึงมาโรงพยาบาลเร็วกว่า 2. ระยะของไข้สั้นกว่าในเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบใน chikungunya ได้บ่อยกว่าใน DF/DHF โดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน 3. ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าใน DF/DHF 4. ไม่พบ convalescent petechial rash ที่มีลักษณะวงขาวๆใน chikungunya 5. พบผื่นได้แบบ maculopapular rash และ conjunctival infection ใน chikungunya ได้บ่อย กว่าในเดงกี 6. พบ myalgia / arthralgia ใน chikungunya ได้บ่อยกว่าในเดงกี 7. ใน chikungunya เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งสูงกว่าในเดงกี ถึง 3 เท่า ระบาดวิทยาของโรค การติดเชื้อ Chikungunya virus เดิมมีรกรากอยู่ในทวีปอาฟริกา ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2501 โดย Prof.W McD Hamnon แยกเชื้อชิคุนกุนยา ได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร ในทวีปอาฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อชิคุนกุนยา มีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือ primate cycle (rural type) (คน-ยุง-ลิง) ซึ่งมี Cercopithicus monkeys หรือ Barboon เป็น amplifyer host และอาจทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆ (miniepidemics) ได้เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้อยู่ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก ทำให้เกิด urban cycle (คน-ยุง) จากคนไปคน โดยยุง Aedes aegypti และ Mansonia aficanusเป็นพาหะ ในทวีปเอเซีย การแพร่เชื้อต่างจากในอาฟริกา การเกิดโรคเป็น urban cycle จากคนไปคน โดยมี Ae. aegypti เป็นพาหะที่สำคัญ ระบาดวิทยาของโรคมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อที่นำโดย Ae. aegypti อื่นๆ ซึ่งอุบัติการของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย การรักษา  ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (specific treatment) การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<